ข่าว/กิจกรรม

วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ (5 ธันวาคม)

UploadImage

วันพ่อแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเป็นวันชาติ อีกทั้งยังมีเลขมงคลอีกคือเลข ๙ ซึ่งเป็นเลขที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

กิจกรรมวันพ่อแห่งชาติจัดติดต่อกันทุกปีตั้งแต่ พ.ศ. 2523 โดยการริเริ่มของ คุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันพ่อได้แก่ ดอกพุทธรักษา ซึ่งมีชื่ออันเป็นมงคล
 

ประวัติ

วันพ่อแห่งชาติ ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา หลักการเหตุผลที่มีการจัดตั้งวันพ่อแห่งชาติขึ้น เนื่องจากพ่อเป็นบุคคลผู้มีพระคุณและมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัว สังคม ที่ผู้เป็นลูกจะต้องเคารพเทิดทูนและตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสังคมควรที่จะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็น "วันพ่อ"

ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ก็ได้มีการประกาศจากรัฐบาลของประเทศไทยว่า "วันพ่อแห่งชาติ" ของประเทศไทย จะยังคงไว้ ให้เป็นวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีต่อไปตามเดิม

วัตถุประสงค์


กิจกรรม

  1. ประดับธงชาติไทยบริเวณอาคารบ้านเรือน
  2. จัดพิธีศาสนสงฆ์ ทำบุญตักบาตร อุทิศเป็นพระราชกุศล เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
  3. จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลหรือเรียกว่า จิตอาสา
 


พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 – 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559) เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ด้วยพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จนสวรรคต เป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[1]

พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ที่โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และได้ทรงหยุดยั้งการกบฏ เช่น กบฏเมษาฮาวายใน พ.ศ. 2524 และกบฏทหารนอกราชการใน พ.ศ. 2528 กระนั้น ในสมัยของพระองค์ได้มีการทำรัฐประหารโดยทหารหลายคณะ เช่น จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใน พ.ศ. 2500 กับพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ใน พ.ศ. 2549 ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ทรงครองราชย์ เกิดรัฐประหารโดยกองทัพ 11 ครั้ง รัฐธรรมนูญ 16 ฉบับ และนายกรัฐมนตรี 27 คน

ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่เคารพพระองค์[ อนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ และผู้ใดจะละเมิดมิได้ ส่วนประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ว่า การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์เป็นความผิดอาญาคณะรัฐมนตรีหลายชุดที่ได้รับการเลือกตั้งมาก็ถูกคณะทหารล้มล้างไปด้วยข้อกล่าวหาว่านักการเมืองผู้ใหญ่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพกระนั้น พระองค์เองได้ตรัสเมื่อปี พ.ศ. 2548 ว่า สาธารณชนพึงวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ได้

พระองค์ทรงเป็นที่สรรเสริญในประเทศไทยเกี่ยวกับพระราชดำริในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โคฟี แอนนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์แด่พระองค์ ด้านสินทรัพย์ของพระองค์ นิตยสาร ฟอบส์ จัดอันดับให้พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชทรัพย์มากที่สุดในโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2551 ถึง พ.ศ. 2556 เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 พระองค์มีพระราชทรัพย์ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ดูหมายเหตุด้านล่าง)[10] สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ใช้ทรัพย์สินเพื่อสวัสดิการสาธารณะ เช่น เพื่อพัฒนาเยาวชน แต่ได้รับการยกเว้นมิต้องจ่ายภาษีและให้เปิดเผยการเงินต่อพระองค์ผู้เดียว พระองค์ยังทรงอุทิศพระราชทรัพย์ในโครงการพัฒนาประเทศไทยหลายโครงการ โดยเฉพาะในทางเกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การส่งเสริมอาชีพ ทรัพยากรน้ำ สวัสดิการทางคมนาคม และสวัสดิการสาธารณะ

นับตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 พระองค์ประทับรักษาพระอาการพระโรคไข้หวัดและพระปัปผาสะอักเสบ ณ โรงพยาบาลศิริราชตลอดมา แต่พระอาการทรุดลงตามลำดับ จนสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 สิริพระชนมพรรษา 88 ปี 302 วัน

 

ปฐมวัย

พระราชสมภพ

ลายพระหัตถ์ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ทรงลงพระปรมาภิไธยของพระองค์เองไว้ว่า "สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร"

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชสมภพในราชสกุลมหิดลอันเป็นสายหนึ่งในราชวงศ์จักรี ณ โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐ อันเป็นที่ซึ่งพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีกำลังทรงศึกษาวิชาการอยู่ เมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ ปีเถาะ นพศก จุลศักราช 1289 ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระโอรสองค์ที่สามในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในกาลต่อมา) และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (สกุลเดิม ตะละภัฎ, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในกาลต่อมา) มีพระนามเมื่อแรกประสูติอันปรากฏในสูติบัตรว่า "เบบี สงขลา" (อังกฤษBaby Songkla) ต่อมาคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช เมื่อได้รับพระราชทานนาม มีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า "เล็ก"

 
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในปี พ.ศ. 2488

พระนามภูมิพลอดุลเดชนั้นพระบรมราชชนนีได้รับพระราชทานทางโทรเลขจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2470 โดยทรงกำกับตัวสะกดเป็นอักษรโรมันว่า "Bhumibala Aduladeja" ทำให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเข้าพระทัยว่าได้รับพระราชทานนามพระโอรสว่า "ภูมิบาล" ในระยะแรกพระนามของพระองค์สะกดเป็นภาษาไทยว่า "ภูมิพลอดุลเดช" ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเองทรงเขียนว่า "ภูมิพลอดุลเดช" โดยทรงเขียนทั้งสองแบบสลับกันไป จนมาทรงนิยมใช้แบบหลังซึ่งมีตัว "ย" สะกด

พระนามของพระองค์มีความหมายว่า

  • ภูมิพล - ภูมิ หมายความว่า "แผ่นดิน" และ พล หมายความว่า "พลัง" รวมกันแล้วหมายถึง "พลังแห่งแผ่นดิน"
  • อดุลยเดช - อดุลย หมายความว่า "ไม่อาจเทียบได้" และ เดช หมายความว่า "อำนาจ" รวมกันแล้วหมายถึง "อำนาจที่ไม่อาจเทียบได้"

เมื่อ พ.ศ. 2471 ได้เสด็จกลับสู่ประเทศไทยพร้อมพระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเชษฐาธิราช โดยประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 สมเด็จพระบรมราชชนกสวรรคต ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมายุไม่ถึงสองพรรษา

การศึกษา

 
(ด้านหน้า จากขวามาซ้าย) พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร; สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

พ.ศ. 2475 เมื่อเจริญพระชนมายุได้ 4 พรรษา เสด็จเข้าศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยจนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2476 จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยพระบรมราชชนนีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเพื่อการศึกษาและพระพลานามัยของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซาน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2477 ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ แล้วทรงเข้าชั้นมัธยมศึกษา ณ เอกอลนูแวลเดอลาซุอิสรอม็องด์ (École Nouvelle de la Suisse Romandeเมืองชายี-ซูร์-โลซาน (Chailly-sur-Lausanne)

เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ก็ได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์เป็น "สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดช" เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 พระองค์ได้โดยเสด็จฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นเวลา 2 เดือน โดยประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้นเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์จนถึง พ.ศ. 2488 ทรงรับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์จากโรงเรียนฌีมนาซกลาซิกก็องตอนาลเดอโลซาน (Gymnase Classique Cantonal de Lausanne) แล้วทรงเข้าศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซาน แผนกวิทยาศาสตร์ โดยเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

 

พระมหากษัตริย์ไทย

ต้นรัชกาลและราชาภิเษกสมรส

วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตอย่างกระทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ในวันเดียวกัน รัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (พระยศในขณะนั้น) ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไปจากนั้นทรงเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่เปลี่ยนสาขาจากวิทยาศาสตร์ ไปเป็นสาขาสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ซึ่งในช่วงเวลานั้นพระองค์ยังทรงพระเยาว์และเสด็จพระราชดำเนินศึกษาต่อ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราวในครั้งแรก ซึ่งได้แก่ พระสุธรรมวินิจฉัย (ชม วณิกเกียรติ)พระยานลราชสุวัจน์ (ทองดี นลราชสุวัจน์) และสงวน จูฑะเตมีย์ สมาชิกพฤฒสภา ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และพระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา)

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงเล่าว่า ระหว่างประทับรถพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เพื่อทรงศึกษาเพิ่มเติมที่สวิตเซอร์แลนด์ ก็ทรงได้ยินเสียงราษฎรคนหนึ่งตะโกนว่า "ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน" จึงทรงนึกตอบในพระราชหฤทัยว่า "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้"[ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้] ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักในหน้าที่พระมหากษัตริย์ของพระองค์ ดังที่ได้ตรัสตอบชายคนเดิมนั้นในอีก 20 ปีต่อมา

หลังจากที่จบการศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์เสด็จเยือนกรุงปารีส ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ซึ่งเป็นธิดาของเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นครั้งแรก[26] ในขณะนั้น ทั้งสองพระองค์มีพระชนมายุ 21 พรรษาและ 15 พรรษาตามลำดับ ใน พ.ศ. 2490 พระองค์ทรงมีพระราชหัตถเลขาแสดงความพอพระราชพฤทัยในรัฐประหารในปีนั้น ซึ่งเป็นรัฐประหารของฝ่ายกษัตริย์นิยม

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ในระหว่างเสด็จประทับยังต่างประเทศ ขณะที่พระองค์ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเฟียส ทอปอลิโน จากเจนีวาไปยังโลซาน ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ กล่าวคือ รถยนต์พระที่นั่งชนกับรถบรรทุกอย่างแรง ทำให้เศษกระจกกระเด็นเข้าพระเนตรขวา พระอาการสาหัส หลังการถวายการรักษา พระองค์มีพระอาการแทรกซ้อนบริเวณพระเนตรขวา แพทย์จึงถวายการรักษาอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง หากแต่พระอาการยังคงไม่ดีขึ้น กระทั่งวินิจฉัยแล้วว่าพระองค์พระเนตรขวาบอด จึงได้ถวายการแนะนำให้พระองค์ทรงพระเนตรปลอมในที่สุด ทั้งนี้ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการเป็นประจำจนกระทั่งหายจากอาการประชวร อันเป็นเหตุที่ทำให้ทั้งสองพระองค์มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 และเสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครในปีถัดมา โดยประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ต่อมาวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ภายในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ในโอกาสนี้พระองค์ทรงพระราชดำริว่า ตามโบราณราชประเพณี เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

 

ผนวช

 
 
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชขณะทรงผนวช

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชเสด็จฯ ออกผนวชเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม–5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงได้รับฉายาว่า ภูมิพโลภิกขุ หลังจากนั้น พระองค์เสด็จฯ ไปประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหารระหว่างที่ผนวชนั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ปีเดียวกัน

ระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้า–เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัยนอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพิเศษอื่น ๆ เช่นในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงร่วมสังฆกรรมในพิธีผนวชและอุปสมบทนาคหลวงในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในวันที่วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2499 เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต จากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย

อนึ่ง ในการทรงพระผนวชครั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช พระราชอุปัชฌาจารย์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

 

เสด็จสวรรคต

 
 
พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เมื่อครั้งดำรงพระบรมราชอิสริยยศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระปรอทต่ำ หายพระทัยเร็ว มีพระเสมหะ พระปับผาสะซ้ายอักเสบ มีพระโลหิตเป็นกรด และพบว่ามีน้ำคั่งในช่องเยื่อหุ้มพระปัปผาสะเล็กน้อย คณะแพทย์จึงทำการรักษาด้วยพระโอสถปฏิชีวนะ และใช้สายสวนเข้าหลอดพระโลหิตดำเพื่อฟอกพระโลหิต แต่มีพระความดันพระโลหิตต่ำจึงใช้เครื่องช่วยหายพระทัย พระอาการไม่คงที่ ก่อนที่พระอาการจะทรุดลงไปอีก มีการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต จนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 พระอาการประชวรได้ทรุดหนักลงตามลำดับ และสวรรคตเมื่อเวลา 15.52 น. รวมพระชนมายุ 88 พรรษา ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี 4 เดือน 4 วัน

วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปโรงพยาบาลศิริราช เพื่อเคลื่อนพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไปยังพระบรมมหาราชวัง มีพระราชพิธีถวายสรงน้ำพระบรมศพ ณ พระที่นั่งพิมานรัตยา มีการเชิญพระบรมศพลงสู่พระหีบ ประดิษฐานหลังพระแท่นแว่นฟ้าทอง ประกอบพระโกศทองใหญ่ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง

รัฐบาลประกาศให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐและสถานศึกษาทุกแห่ง ลดธงครึ่งเสา 30 วัน และให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่รัฐไว้ทุกข์ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันหยุดราชการ เพื่อให้ประชาชนน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ต่อมาในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้เฉลิมพระปรมาภิไธยพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมชนกนาถขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ เรื่อง พระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย คำอ่าน และสรรพนาม คำขึ้นต้น คำลงท้าย ในการกราบบังคมทูล กราบทูล ได้ระบุพระปรมาภิไธยอย่างย่อไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันสำคัญของชาติไทย เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, วันชาติไทย และวันพ่อแห่งชาติ และเป็นวันหยุดราชการ



ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย 
วันพ่อแห่งชาติ - วิกิพีเดีย (wikipedia.org)
 
 
view: 45 shares: