ข่าว/กิจกรรม

CEO TALK#07 เคล็ดลับ การสร้างกำไรและการสร้างธุรกิจใหม่ ในมุมมองธุรกิจการขนส่ง : คุณสุรทิน ธัญญะผลิน (รองนายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์)

UploadImage
 

CEO TALK#07 เคล็ดลับ การสร้างกำไรและการสร้างธุรกิจใหม่ ในมุมมองธุรกิจการขนส่ง

แล้วมาคุยกันแบบเจาะลึก ฟังบรรยายพิเศษในหัวข้อ เคล็ดลับ การสร้างกำไรและการสร้างธุรกิจใหม่ ในมุมมองธุรกิจการขนส่ง
วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน 2561 เวลา 09.00-12.00 น. ณ อาคาร 11 ชั้น 3 ห้องเธียเตอร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม 
โดย คุณสุรทิน ธัญญะผลิน





คุณสุรทิน ธัญญะผลิน รองนายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์และเป็นเจ้าของธุรกิจขนส่งสินค้ายาวนานกว่า 30 ปี ทั้งยังมีแนวคิดที่ทันสมัยตลอดเวลา ด้วยประสบการณ์การทำงานและการศึกษาค้นคว้าดีกรีระดับปริญญาเอก คุณสุรทินได้เล่าถึงมุมมองที่มีต่อการใช้ Drone ขนส่งสินค้าในต่างประเทศ พร้อมวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการใช้โดรน (Drone) เพื่อการขนส่งสินค้าในประเทศไทย

แนวคิดเริ่มแรกDrone ใช้เพื่อส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปยังพื้นที่ห่างไกล หรือในจุดที่ไม่สามารถใช้การขนส่งแบบปกติได้ ขณะที่ประเทศฝั่งตะวันตกอย่าง สหรัฐฯ การใช้อุปกรณ์การจัดส่งสินค้าที่เรียกว่า Droneได้ถูกพูดถึงมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเจ้าพ่อวงการขายของทางอีคอมเมิร์ซอย่าง Amazon ที่นำโดรนมาใช้ในการจัดส่งสินค้าภายใต้ชื่ออย่าง Amazon Prime โดยชูจุดเด่นการส่งสินค้าภายในวันเดียว ซึ่งการจัดส่งสินค้าโดยโดรนเป็นการจัดส่งสินค้าทางอากาศที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า มีต้นทุนที่ต่ำกว่าการขนส่งโดยใช้เจ้าหน้าที่จัดส่งสินค้าทางถนน ด้านการใช้โดรนในประเทศจีนก็กำลังกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซรายใหญ่อย่างJD.com และอาลีบาบาเช่นเดียว แต่อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการใช้โดรนเพื่อส่งสินค้ายังเป็นสิ่งใหม่และสร้างความท้าทายให้กับผู้ประกอบการไทยอยู่ไม่น้อย
 
UploadImage

ความแตกต่างระหว่างการใช้Droneขนส่งสินค้ากับ Drone ทั่วไป

คุณสุรทิน ได้ให้ความเห็นว่า ในอดีตและปัจจุบันโดรนถูกนำมาใช้งานในหลากหลายด้าน เช่น การถ่ายภาพมุมสูงหรือถ่ายทอดสด การฉีดพ่นปุ๋ยและสารเคมีต่างๆ ทางการเกษตร การสำรวจสภาพการจราจรและลักษณะทางภูมิศาสตร์ การตรวจสอบด้านความปลอดภัยและความมั่นคง ซึ่งในระยะหลัง โดรนถูกนำมาใช้ร่วมกับการค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ เช่น ดินถล่ม หรือแผ่นดินไหว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการใช้โดรนเป็นพาหนะในการขนส่งสินค้า เริ่มต้นจากบริษัท Google และ Amazon ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าลักษณะของการขนส่งสินค้าด้วยโดรน แตกต่างจากการขนส่งสินค้าทั่วไป ด้วยคุณสมบัติที่สามารถขนส่งสินค้าในพื้นที่แคบ หรือมีข้อจำกัด อันตอบโจทย์การขนส่งแบบเดลิเวอรี่ได้ดีกว่าการขนส่งด้วยรถบรรทุก ยิ่งไปกว่านั้น โดรน ยังมีข้อแตกต่างที่ชัดเจน คือ กระบวนการทำงานที่แม่นยำผ่านการคำนวณพื้นที่ลงจอด และระบบความปลอดภัยที่จะช่วยลดการสูญหายหรือชำรุดของสินค้า 

 

โอกาสและอุปสรรคการใช้Droneเพื่อการขนส่งสินค้าในประเทศไทย

มุมมองความเป็นไปได้ของการใช้โดรนเพื่อขนส่งสินค้าในประเทศไทยของคุณสุรทินสะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่า โดรนจะเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการขนส่งที่ดีและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งลดต้นทุนด้านการขนส่งได้จริง แต่ในประเทศไทยก็ยังพบอุปสรรคในหลายๆ ด้าน อาทิ

1.ความท้าทายทางเทคโนโลยี

โดรนทำงานบนแบตเตอรี่ที่สามารถบินได้ในรัศมี 25 กิโลเมตร (ไปและกลับ รัศมีเท่ากับ 12-15 กิโลเมตร) ดังนั้นจะต้องมีคลังสินค้า (อาจจะชั่วคราว) หรือ สถานีชาร์จ หรือเปลี่ยนแบตเตอรี่ ทำให้ไม่เกิดความคล่องตัวเท่าที่ควร และแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะต้องสร้างคลังสินค้าในทุกๆ รัศมี 12 กิโลเมตรในเขตเมือง เนื่องจากที่ดินมีราคาแพง และยากต่อการสรรหา ทางแก้ไขอาจจะเป็นการเพิ่มประจุแบตเตอรี่เพื่อให้บินได้นานขึ้น แต่ย่อมมาพร้อมกับความสามารถในการบรรทุกสินค้าที่น้อยลงเช่นกัน การใช้โดรนสำหรับการจัดส่งสินสินค้าในเขตชุมชนหนาแน่น จะต้องเผชิญกับตึกสูง เสาไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งการคำนวณเพื่อหลีกเลี่ยงการชนโดรนด้วยกันเอง รวมถึงการคำนวณหาพื้นที่ลงจอดเพื่อส่งพัสดุในที่ปลอดภัย ซึ่งเทคโนโลยีในการหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ยังต้องรอการพัฒนาด้วยระบบการบินอัจฉริยะ และยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี เพื่อให้รูปแบบการคำนวณสมบูรณ์เหมือนการขับรถยนต์ไร้คนขับ

การจัดส่งพัสดุด้วยโดรน คือ การบังคับแบบอัตโนมัติโดยไม่มีคนเกี่ยวข้อง ดังนั้น สมองกลของโดรนจะต้องมีความสามารถใกล้เคียงกับมนุษย์อย่างน้อยจะต้องสามารถคำนวณจุดจอดที่เหมาะสมด้วยตัวเอง นั่นหมายถึง การมีแผนที่ความละเอียดสูง ระบุตำแหน่งพิกัดด้วยดาวเทียม ดังเช่นประเทศที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และประเทศแถบอียูที่มีความพร้อมทางด้านฐานข้อมูลทางภูมิศาสตร์ไม่กี่ประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้สมองกลของโดรนสามารถแยกแยะตำแหน่งจุดหมายปลายทางเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องมีจุดสังเกตที่ทำให้สมองกลสามารถจำแนกได้อย่างชัดเจน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว การจัดส่งในหมู่บ้านที่สร้างจากแบบพิมพ์เขียวเดียวกัน มีหลังคาสีเขียว รั้วอลูมิเนียมที่เหมือนกันทั้งหมู่บ้าน รวมถึงสนามหญ้าหน้าบ้านที่มีขนาดเท่าๆ แม้แต่การจัดส่งโดยใช้บุรุษไปรษณีย์ก็ยังมีความผิดพลาด เช่นกันกับการใช้โดรนก็ยังประสบความยากลำบากในการจำแนกความแตกต่างของบ้านแต่ละหลัง

2. สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง

ความเสี่ยงของสภาพแวดล้อมของอากาศที่แปรปรวน พายุฝน ฟ้าผ่า ระหว่างการจัดส่ง เป็นอุปสรรคทำให้โดรนอาจจะร่วงจากฟ้า หรือสมองกลเกิดความเสียหาย ทำให้พัสดุสูญหายระหว่างทางได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อส่วนหนึ่งของต้นทุนการชดใช้สินค้าที่เสียหาย

3. อุปสรรคทางด้านกฎหมาย

โดรนเริ่มพัฒนาจากประเทศที่มีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง แต่กฎหมายยังอนุญาตในขั้นการทดลอง ซึ่งก็น่าจะอุปมัยได้กับประเทศอื่นๆ ที่มีเทคโนโลยีต่ำกว่าเช่นประเทศในแถบเอเชียของเรา ปัจจุบันยังไม่มีประเทศไหนในโลกที่ได้รับอนุญาตให้ใช้โดรนบินอย่างอิสระ แม้แต่หน่วยงานควบคุมการบินของสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration-FAA) ก็ยังไม่อนุมัติการส่งสินค้าแบบอัตโนมัติทางโดรน ทำให้การใช้งานโดรนยังอยู่ในช่วงการให้ใบอนุญาตการบินชั่วคราว รัศมีการบินที่ 150 เมตรจากจุดปล่อยเท่านั้น 

ประเทศที่มีความอ่อนไหวด้านความมั่นคงย่อมจะยากลำบากในการขอใบอนุญาต สาเหตุหลักคือ โดรนเป็นอุปกรณ์การบินขนาดเล็ก ซึ่งเรดาร์ของทหาร ไม่สามารถตรวจจับได้ (ไม่เหมือนเครื่องบินทั่วๆ ไป) ตัวอย่างความยุ่งยากของการขอใบอนุญาตในสหรัฐอเมริกา การทดลองบินจะต้องผ่านองค์กรของรัฐบาล คือ หมายเลขของโดรน (Unique Identification Number (UIN)), ใบอนุญาตเครื่องบินอัตโนมัติ (Unmanned Aircraft Operator Permit (UAOP)) และใบอนุญาตอื่น ๆ ที่ขอละเว้นไม่กล่าวถึง และกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียที่โดรนติดกล้องบินถ่ายทำภาพยนตร์ในศาสนสถาน ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายจนนำสู่การประท้วงของชาวบ้านในพื้นที่

4. ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย

การนำโดรนมาใช้ในการบินผ่านบ้าน หรือสิ่งปลูกสร้างอาจจะเป็นการรบกวนความเป็นส่วนตัวกับบุคคลอื่น อีกทั้งในต่างประเทศที่มีข่าวที่ผ่านมาผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ก็พบว่ามีผู้ก่อการร้ายขนสิ่งผิดกฎหมาย หรือยาเสพติดผ่านโดรนได้ 

5. ต้นทุนและกำไร

ต้นทุนการจัดส่งสามารถแบ่งเป็นสองส่วนใหญ่ คือ ค่าใช้จ่ายสำหรับยานพาหนะ และค่าแรงของพนักงานขับรถ สำหรับการจ้างพนักงานส่งสินค้าอาจจะแพงในประเทศที่เจริญแล้ว ราคาค่าแรงขั้นต่ำในอเมริกาปี 2559 อยู่ที่ชั่วโมงละ$10.50/ชั่วโมง (346 บาท) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย โตเกียว ประเทศญี่ปุ่นที่ $9..20/ชั่วโมง (303บาท) ขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 300 บาท/วัน (อัตราแลกเปลี่ยนที่ 33บาท/1เหรียญ) อย่างไรก็ตามต้นทุนสำหรับการผลิตโดรนหนึ่งเครื่องจะอยู่ที่ $2,000 (60,000บาท) นั่นคือการลงทุนในการริเริ่มธุรกิจการจัดส่งสินค้าด้วยโดรนที่มหาศาล และหมายถึงระยะเวลาที่คืนทุน รวมถึงกำไรจากต้นทุนที่ลดลงเนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้พนักงานและผู้ช่วยสำหรับการจัดส่งอีกต่อไป

UploadImage
อย่างไรก็ตาม คุณสุรทิน เชื่อว่า อนาคตอันใกล้ อาจมีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะริเริ่มการใช้โดรนเพื่อจัดส่งสินค้า แต่คงจะไม่ใช่ภายใน 2-3 ปีนี้แน่นอน อันเนื่องมาจากปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้แนวความคิดนี้มีความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ ยังคงต้องอาศัยความก้าวหน้าของแบตเตอรี่ การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงผู้ถืออำนาจรัฐที่ต้องมีทัศนคติที่เปิดกว้างพร้อมรับต่อความทันสมัยของโลกที่เปลี่ยนไปด้วย หากแต่ในธุรกิจการขนส่งอย่างเร่งด่วน (Express) ผู้ประกอบการก็ต้องเตรียมความพร้อมโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรภายในองค์กรให้สามารถใช้งานกับเครื่องมือเหล่านั้นได้อย่างชาญฉลาด และเมื่อถึงวันนั้นการนำโดรนมาใช้ในการขนส่งก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ลงทะเบียนร่วมกิจกรรม : https://goo.gl/forms/ikDb6wHyRQTELTgI2
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
02 558 6888 ต่อ 3001 (คุณพลอย)
Line ID : @gradspu

#GraduateCollegeOfManagement
#sripatumuniversity 
#WeCreateProfessionalsByProfessionals 
#สร้างมืออาชีพด้วยมืออาชีพ
view: 851 shares: