ข่าว/กิจกรรม

ม.ศรีปทุม หนุนโมเดล BCG ผลิตวิศวกรไฟฟ้ารุ่นใหม่ ใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาสังคม

UploadImage

มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายโอกาส กระจายรายได้ และนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง จึงมุ่งผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพในการประกอบอาชีพ ผ่านการเรียนรู้จากการลงมือทำจริง โดยมีคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญครอบคลุมทุกองค์ความรู้เกี่ยวกับวิศวกรรมไฟฟ้า และได้รับการยอมรับจากภาครัฐและเอกชน ทั้งยังมีผลงานวิจัยและมีการพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อต่อยอดองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง


เทคโนโลยีสมัยใหม่กำลังพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมไทยสู่การปฏิรูปเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ ซึ่งนอกจากจะเน้นการแข่งขันด้านผลิตภาพแล้ว ภาคอุตสาหกรรมยังหันมาเน้นความยั่งยืนของห่วงโซ่การผลิตด้วย ทั้งนี้ วิศวกรรมไฟฟ้าเป็นสาขาที่กำลังเติบโตและมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการใช้ระบบไฟฟ้า เพื่อสร้างเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรม และแก้ปัญหาสังคมมากมาย เช่น ระบบพลังงานโซลาร์ ที่เชื่อมโยงกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน) อันเป็นเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม

 

ผศ.ดร.ภรชัย จูอนุวัฒนกุล อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า วิศวกรไฟฟ้าเป็นสาขาที่สามารถทำงานในสิ่งที่จับต้องได้ และใกล้ชิดกับการใช้ชีวิตของทุกคน ซึ่งสาขานี้เติบโตอย่างมากตั้งแต่มีการเริ่มใช้ไฟฟ้าในศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน หลากหลายอุตสาหกรรมใช้ประโยชน์จากวิศวกรรมไฟฟ้า เช่น การสื่อสาร สาธารณูปโภค เทคโนโลยี การขนส่ง และงานภาครัฐบาล วิศวกรรมไฟฟ้าเป็นสาขาวิศวกรรมสมัยใหม่ที่ใช้ฟิสิกส์ อิเล็กทรอนิกส์ และแม่เหล็กไฟฟ้า ในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้หรือผลิตกระแสไฟฟ้า การได้ทำงานด้านวิศวกรรมไฟฟ้ามีประโยชน์ทั้งส่วนบุคคลและสังคม เพราะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลกระทบเชิงบวกโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนและสังคม ทำให้วิศวกรไฟฟ้ามีโอกาสก้าวหน้าในสายงานสูง เป็นได้ทั้งพนักงานในองค์กรหรือเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ และยังเป็นอาชีพที่มีค่าตอบแทนที่แข่งขันได้

 

สำหรับหลักสูตรวิศวกรรมไฟฟ้าที่ ม.ศรีปทุม ได้รับการรับรองจากสภาวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย นักศึกษาจบแล้วสามารถไปยื่นสอบ กว. หรือใบประกอบวิชาชีพทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ได้ และการเรียนสาขานี้ไม่ได้ยากอย่างที่หลายคนคิด เพราะอาจารย์จะสอนให้เห็นภาพและเข้าใจได้ง่าย แถมใช้งานได้จริง

 

“ผมเน้นสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ผ่านแนวคิดและหลักการ IPO คือ 1.กระบวนการ I เป็นการเตรียมร่างกาย ให้มีความอดทน จิตใจมีสมาธิ และสติปัญญามีวิธีคิด 2.กระบวนการ P มี 5 ขั้นตอน คือ 1. เรียนรู้ให้สามารถอธิบายได้ 2. เข้าใจจนสามารถเขียนได้ 3. นำไปใช้นำเสนอได้ 4. ฝึกฝนจนสามารถสอนผู้อื่นได้ 5. สร้างวิธีคิดที่เป็นของตนเองได้ 3.กระบวนการ O คือ ภารกิจให้ผู้เรียนสอนผู้เรียนด้วยกันเองผ่านกิจกรรมและภารกิจ”

 

ผศ.ดร.ภรชัย กล่าวด้วยว่า ตนได้เป็นกรรมการร่าง TOR ระบบโซลาร์ฟาร์มของกองทุนหมู่บ้าน ภายใต้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (สทบ.) โดยมีเป้าหมายของโครงการคือ ภาครัฐต้องการยกระดับรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะบางหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกลนั้น น้ำประปาและไฟฟ้ายังไปไม่ถึง โดยรัฐวางเป้าผลิตไฟฟ้าในหมู่บ้านให้ได้ 1 เมกะวัตต์ ต่อ 1 ชุมชน เป้าหมายผลิตติดตั้งรวม 800 เมกะวัตต์ ใน 800 หมู่บ้าน เพราะต้องการผลักดันให้มีโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็กเกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและเป็นเจ้าของโครงการได้ ซึ่งผมต้องการมีส่วนส่งเสริมการยกระดับชุมชน และให้คนในหมู่บ้านนั้นๆ มีความสามารถในการดูแลระบบโซลาร์ฟาร์มด้วยตนเองได้ ผ่านการให้คำแนะนำด้านเทคโนโลยีและแบตเตอรี่

 

ม.ศรีปทุมให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานสีเขียว โซล่าเซลล์ มีการสอนตั้งแต่การออกแบบระบบโซลาร์ฟาร์ม โซลาร์รูฟท็อป หรือแม้กระทั่งโซลาร์ปั้ม มุ่งเน้นโอกาสงานใหม่ๆ ให้กับนักศึกษา ซึ่งการออกแบบระบบโซลาร์ 3 ส่วนนี้ อยู่ในรายวิชา Problem–based Learning เอาโจทย์ที่เป็นปัญหาของประเทศไทยจริงๆ เป็นตัวตั้งต้นให้นักศึกษาได้วิเคราะห์ และมีการเชิญวิทยากรจากสภาวิชาชีพวิศวกร บริษัทเอกชน เช่น บริษัท สยาม โซล่าร์ เซลล์ จำกัด มาให้คำแนะนำ และให้นักศึกษาจับกลุ่มทำงานเป็นทีม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์

 

“คนที่สนใจอยากเรียนวิศวกรรมไฟฟ้า ต้องเริ่มจากความตั้งใจที่ มีวินัย อดทน และความพยายาม หมั่นฝึกฝนสิ่งที่เรียนตั้งแต่ต้นจนจบด้วยตนเองและทำซ้ำๆ จนเกิดความเชี่ยวชาญ อย่าลืมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ และสามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ข้อสำคัญที่สุดไม่เข้าใจอะไร ติดขัดอะไรขอให้กล้าถามอาจารย์หรือผู้สอนได้เสมอ” ผศ.ดร.ภรชัย กล่าวทิ้งท้าย

view: 142 shares: