ชาววิศวะฯ ม.ศรีปทุม ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้แนวคิด BCG
ชาววิศวะฯ ม.ศรีปทุม ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้แนวคิด BCG
ในระยะหลังมานี้ หลายคนคงเคยได้ยิน อักษรย่อ BCG บางท่านอาจจะทราบความหมาย แต่หลายท่านอาจจะยังสงสัยว่า BCG ย่อมาจากอะไร ซึ่งแท้จริงแล้ว คำว่า BCG เป็นคำเรียกย่อของ โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG Model” ซึ่งเป็นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ BCG Model มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และสอดรับกับหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญที่ทุกภาคส่วนกำลังเร่งหาทางปรับตัวให้สอดคล้องไปกับทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าวนี้ รวมถึงในแวดวงการออกแบบและการวางผังเมือง ที่เปรียบเสมือนรากฐานอันสำคัญของระบบสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
และเมื่อ วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิษณุ อัมพรายน์ จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม อาจารย์ผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านการวางแผนการขนส่ง ในฐานะรองผู้จัดการโครงการ ได้เข้าร่วมประชุม ที่ห้องประชุมนราทัศน์ฮอลล์ โรงแรมอิมพีเรียลนราธิวาส ตำบลบางนาค อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
ซึ่งภายในงานประกอบไปด้วยการเสวนา ในหัวข้อเรื่อง “การขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยภายใต้แนวคิด BCG” และการนำเสนอร่างผังนโยบายระดับภาค ภาคใต้ รายสาขา แผนงานและโครงการการพัฒนา โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรอิสระ และภาคประชาชนโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งในระบบ On-site และ Online
และผลจากการจัดประชุมในครั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองจะได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นไปประมวล และปรับปรุงร่างผังนโยบายระดับภาค ภาคใต้ ให้มีความครบถ้วน พร้อมทั้งขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในประเด็นที่กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ในขณะนี้ อย่างเช่น แนวคิด BCG ซึ่งถือเป็นแนวทางการพัฒนาที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติอย่างน้อย 5 เป้าหมาย ได้แก่ การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลาย ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งยังสอดรับกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย
โดยคาดว่าจะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบภายในปี พ.ศ. 2566 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ นำไปใช้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป