แนะนำหน่วยงาน
ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม (Sripatum University Busienss Incubator) เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาการดำเนินงานมากว่า 9 ปี อยู่ภายใต้กลุ่มงานวิจัยและบริการวิชาการ เป็น 1 ในหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยศรีปทุม ในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพ พร้อมให้บริการวิชาการแก่สังคมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สนับสนุนให้เกิดการกระจายองค์ความรู้ รวมทั้งนำองค์ความรู้และทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย พัฒนาต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์
พันธกิจหลักประกอบด้วย 2 ด้าน ได้แก่ ด้านการบ่มเพาะธุรกิจ และด้านการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักศึกษา ศิษย์เก่า อาจารย์ และบุคคลทั่วไป นำองค์ความรู้และทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย ไปพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เรียกว่า “ผู้ประกอบการ” ซึ่งจะมีกระบวนการในการถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ และเสริมทักษะความรู้ทางธุรกิจ โดยที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญ ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้น (Pre-incubatees) ซึ่งมีแนวความคิดจะประกอบธุรกิจ และมีการพัฒนาแนวความคิดนั้น โดยการเริ่มเข้าสู่กระบวนการผลิต การจัดการ การตลาด การลงทุน กระทั่งเริ่มมีช่องทางการตลาด สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ เพื่อพัฒนาสู่บริษัทเริ่มต้น (Start-up Company) ซึ่งจะมีการบริหารจัดการโดยมุ่งหวังการเจริญเติบโตและอยู่รอด มีผลกำไรจากการประกอบการ มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ซึ่งถ้าสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้จนกระทั่งมีผลประกอบการผ่านการประเมินตามเกณฑ์และระยะเวลาที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำหนด ก็จะได้รับการผลักดันเข้าสู่ระดับบริษัทเต็มรูปแบบ (Spin-off Company) ซึ่งจะได้รับการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ จนกระทั่งมีความเข้มแข็ง ยืนหยัดอยู่ได้ในโลกของธุรกิจจริง มีผลประกอบการในอัตราที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ระยะเวลาและเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะเป็นผู้ประกอบการตัวจริง ที่พร้อมดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไป
นับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ได้ดำเนินการบ่มเพาะพัฒนาธุรกิจของ “ผู้ประกอบการ” ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ และเรามีความพร้อมที่จะดำเนินการบ่มเพาะพัฒนาธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการต่อไป ซึ่งเป้าหมายในการดำเนินงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 นั้น มีเป้าหมายให้เกิดการจัดตั้งบริษัทเริ่มต้น (Start-up Company) อย่างน้อย 2 ธุรกิจ และพัฒนาธุรกิจให้เป็นบริษัทเต็มรูปแบบ (Spin-off Companies) อย่างน้อย 1 ธุรกิจ นอกจากนั้นมีแผนดำเนินกิจกรรมสร้างความตระหนัก กระตุ้นความมีจิตวิญญาณผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Spirit) แก่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้และทรัพย์สินทางปัญญา พัฒนาสู่เชิงพาณิชย์อย่างมีทิศทางและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ จึงเชื่อมั่นว่าเราเป็น 1 ในหน่วยบ่มเพาะธุรกิจชั้นนำ ที่พร้อมให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมาย ภายใต้พันธกิจของหน่วยงาน ด้วยกลยุทธ์การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ความพร้อมของทีมผู้บริหารและทีมงานมืออาชีพ มุ่งมั่นพัฒนาองค์ความรู้และทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยให้เกิดมูลค่าสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจแก่กลุ่มเป้าหมาย ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงส่งเสริมผลักดันธุรกิจ ให้มีแผนดำเนินงานรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) สามารถดำเนินธุรกิจอย่างมีระบบและมีศักยภาพได้อย่างยั่งยืน
ปรัชญา
ส่งเสริมให้ความรู้ บ่มเพาะ และพัฒนาธุรกิจในระดับเริ่มต้น ให้เกิดความยั่งยืน และพัฒนา สู่ระดับสากล
วิสัยทัศน์
เป็นหน่วยบ่มเพาะธุรกิจชั้นนำ ในการให้บริการแก่ผู้ประกอบการ บุคลากรและนักศึกษา โดยมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจให้ ประสบความสำเร็จอย่างมีศักยภาพโดยทีมงานมืออาชีพ
พันธกิจ
1. ด้านการบ่มเพาะธุรกิจ
1.1 จัดโครงการฝึกอบรมเสริมสร้างทักษะการดำเนินธุรกิจด้านต่าง ๆ ให้แก่ คณาจารย์ บุคลากร นิสิต นักศึกษา ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศรีปทุม รวมทั้งผู้ประกอบการภายนอก
1.2 พัฒนาหลักสูตรส่งเสริมความรู้ เพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนธุรกิจ และสามารถดำเนินธุรกิจได้ด้วยตนเองภายภายใน 2 ปี
1.3 ผลักดันให้เกิดวิสาหกิจใหม่ๆ และเป็นแหล่งจ้างงาน ลดปัญหาการว่างงานและช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวม
1.4 ให้ความรู้ ข้อมูล และแนะแนวทางในการแก้ปัญหา ให้สามารถก่อตั้งธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมเพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
2. ด้านการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา
2.1 ดำเนินการประสานงานการจดทะเบียนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
2.2 จัดสรรสิทธิประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2.3 บริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา
2.4 ส่งเสริมให้มีการนำเอาผลงานวิจัยและพัฒนาความพร้อมด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยศรีปทุม เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม
2.5 พัฒนาการเป็นผู้ประกอบการใหม่ ส่งผลให้มีการสร้างงานและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
วัตถุประสงค์
1. เพื่อส่งเสริมให้มีการนำเอาผลงานวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยไปเชื่อมโยงกับ ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม โดยการพัฒนาเจ้าของผลงานไปสู่การเป็นผู้ประกอบการใหม่ อันจะส่งผลให้มีการสร้างงานเพิ่มขึ้น ช่วยลดปัญหาการว่างงาน และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวม
2. เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา และสิทธิประโยชน์จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย รวมถึงการดำเนินการป้องกันพิทักษ์สิทธิอันชอบธรรมในผลงานวิจัยนั้น มีแนวทางที่ชัดเจนและเป็นธรรม อันจะเป็นการส่งเสริม สนับสนุนให้คณาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยทำการค้นคว้า วิจัย พัฒนา เพื่อสร้างสรรค์ผลงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาในสาขาต่าง ๆ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้
3. เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการใหม่ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การ เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในภูมิภาคอาเซียน (Creative Industrial Hub of ASEAN) โดย การจัดประเภทอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย 15 กลุ่มย่อย คือ งานฝีมือและหัตถกรรม การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การแพทย์แผนไทย อาหารไทย ศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ การพิมพ์และสื่อการพิมพ์ การกระจายเสียง ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ ดนตรี งานออกแบบ แฟชั่น งานโฆษณา สถาปัตยกรรม ซอฟต์แวร์ รวมทั้งสาขาอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ และผู้ประกอบการใหม่ถนัดหรือมีประสบการณ์
4. เพื่อให้ความรู้ ข้อมูล และเสนอแนะแนวทางแก่ผู้ประกอบการใหม่ให้สามารถก่อตั้งธุรกิจและดำเนินธุรกิจ ต่อไปได้อย่างมีระบบ มีความมั่นใจ มีคุณภาพคู่คุณธรรม ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมในทุกด้านเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน
5. เพื่อสร้างความตื่นตัวในการเป็นเจ้าของธุรกิจ