หัตถกรรมเครื่องทองลงหิน (บริษัท บรอนซ์คราฟ จำกัด) “Bronzecraft”



หากความงามที่สร้างขึ้นไม่ใช่เพียงรูปกายทว่าหมายถึงความงามที่ตาสัมผัสและใจสัมผัส 

ดังเช่นหัตถศิลป์ที่ล้ำค่า กาลเวลาสืบสานเรื่องราววัฒนธรรม

ชีวิตที่ดำรงอยู่ด้วยใจรักของเหล่าผู้สร้างศูนย์หัตถกรรมทองลงหิน ภายใต้ บริษัท บรอนซ์คราฟ จำกัด 

1. ชื่อธุรกิจ                       : บริษัท บรอนซ์คราฟ จำกัด
  1.1 ผู้ประกอบการ : 1. นายสมคิด  ด้วงเงิน          ประธานกรรมการ
     2. นางสาวปัญจรีย์ ด้วงเงิน     กรรมการผู้จัดการ
  3. นายสมภพ  ด้วงเงิน          กรรมการผู้จัดการ
   
1.2 ผลิตภัณฑ์ : หัตถกรรมเครื่องทองลงหิน (Bronzecraft)
  
  
(1) อุปกรณ์บนโต๊ะอาหาร (เช่น ช้อน ส้อม ช้อนกาแฟ ตะเกียบ ทัพพี)
(2) ของที่ระลึก (เช่น พวงกุญแจ ที่คั่นหนังสือ กำไรข้อมือ)
   
1.3 ข้อมูลการติดต่อ : ที่อยู่: 13 ซอยพหลโยธิน 47 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดพร้าว 
             เขตจตุจักร กทม. 10900
  โทร: 025792861, 0819363447,  0860607283
  email:  bronzecrafttakit@gmail.com, takidshop2484@gmail.com
  Websitehttp://www.bronze-craft.com/
  Facebookhttps://www.facebook.com/BBRONZECRAFT
      
2. ที่มาของธุรกิจ : ศูนย์หัตถกรรมเครื่องทองลงหิน สืบทอดภูมิปัญญามายาวนานกว่า 60 ปี แต่เนื่องจากสังคมเปลี่ยนไป จึงทำให้ชาวชุมชนที่ทำอาชีพเครื่องทองลงหิน หันไปประกอบอาชีพอื่นๆ ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไป จึงทำให้ต้องการจะพัฒนาภูมิปัญญาไทยให้เป็นที่รู้จักของกลุ่มลูกค้า และสร้างรายได้ให้กับชาวชุมชนมากขึ้น ดังนั้น จึงแสวงหาองค์ความรู้และที่ปรึกษาด้านธุรกิจจนได้รับคำแนะนำและโอกาสจากมหาวิทยาลัยศรีปทุม ทำให้เกิดความรู้ เพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจจนสามารถจัดตั้งธุรกิจในนาม บจก.บรอนซ์คราฟ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2555
        
3. กุญแจสู่ความสำเร็จ : บจก.บรอนซ์คราฟ หัตถศิลป์ล้ำค่า ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยพัฒนาฝีมือการออกแบบ การผลิตสม่ำเสมอ

 วิดีโอแนะนำบริษัท

BRONZECRAFT CO.,LTD. (Version THAI)

BRONZECRAFT CO.,LTD. (Version ENG) 

 ประวัติความเป็นมาของเครื่องทองลงหินในประเทศไทย

เครื่องทองลงหิน (Bronze Ware) หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างในสมัยโบราณว่า “เครื่องม้าล่อ” (เอกสารเก่าในประวัติศาสตร์จะพบว่า มีการใช้คำว่า “ม้าฬ่อ”) จากหลักฐานทางศิลปวัตถุตามแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยประมาณ 2,500-3,500 ปี ต่อเนื่องมา จากยุคทองแดง (Copper Age) ซึ่งมีอายุประมาณ 3,500-5,000 ปี ทั้งนี้ วัฒนธรรมยุคทองแดงเป็นสายวัฒนธรรมที่สืบต่อมาจาวัฒนธรรม ยุคหินใหม่ ในยุคโลหะผสมหรือยุคสัมฤทธิ์ (Bronze Age) พบเครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น อาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้ แหวน กำไล เป็นต้น

ประเทศไทยรู้จักทองสัมฤทธิ์ หรือทองลงหินมาช้านาน โดยสังเกตได้จากพระพุทธรูป และศิลปวิทยาการอันเป็นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เหล่านี้ ได้สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยเชียงแสน และสุโขทัย วัตถุดิบในการผลิต ได้แก่ ทองแดงและดีบุก แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าได้ มาจากแหล่งใด และมีส่วนผสมในอัตราส่วนเท่าใด ส่วนโล่โก๊ะ จากจีนที่ช่างไทยใน กรุงรัตนโกสินทร์ นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องทองลงหินได้มาจากประเทศ จีน เท่าที่ทราบจีนได้ประดิษฐ์โล่โก๊ะขึ้น เพื่อใช้ในการรบหรือการแสดงดนตรีจีน โล่โก๊ะถ้าตีหนักๆ ก็จะแตกไม่สามารถซ่อมได้เพราะเสียงจะไม่กังวานเหมือนเดิม ยกเว้นนำมาหลอมทำใหม่ แต่วัตถุดิบของจีนในสมัยนั้นคงหาได้ง่ายและไม่แพง จีน จึงไม่นิยมหลอมทำใหม่ แต่จะส่งออกมาขายต่างประเทศ และเป็นสินค้าที่ไทยรับซื้อ มาผลิตเป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องทองลงหินในสมัยนั้น

สมัยรัชกาลที่ 3 ต่อรัชกาลที่ 4 ประเทศไทยกำลังรุ่งเรืองด้วยช่างฝีมือหลายแขนง จึง มีการซื้อโล่โก๊ะหรือทองม้าฬ่อจากจีนมาหลอมทำเป็นขันน้ำพานรอง ถาดตะบันหมาก และเครื่องดนตรีไทย เช่น ฉิ่ง ฉาบ ตลอดจนได้หล่อเป็นพระพุทธรูป ลำกล้องปืน ซึ่ง ประเทศไทยเราเรียกงานหัตถกรรมอันทรงคุณค่าเหล่านี้ว่า “ทองลงหิน” นั่นเอง จน กระทั่ง คุณเกลียว บุนนาค ที่กรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้วิเคราะห์ แยกธาตุจึงทราบว่าแร่ธาตุดังกล่าวมี ทองแดง และดีบุก เป็นส่วนประกอบ จึงได้เริ่ม ผสมขึ้นใช้เองในประเทศไทยและไม่จำเป็นต้องซื้อจากต่างประเทศอีกต่อไป ดังนั้น จึงทำให้อุตสาหกรรมประเภทนี้ได้รับความนิยมมากในเวลาต่อมา

 ความเป็นมาหัตถกรรมทองลงหิน

จุดเริ่มต้นเกิดขึ้น ณ ตำบลตรอกสารพัดช่าง บางลำภู ตำบลบางขุนพรหม คนไทยชื่อ นายสำราญพูลสวัสดิ์ มีความสนใจเครื่องทองลงหิน จึงไปขอศึกษาอาชีพเปลี่ยนจากการทำขันลงหิน มาเป็นการทำเครื่องชุดสำหรับรับประทานอาหารแบบชาวตะวันตก ไม่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากจีน โดยได้รับความช่วยเหลือจากนายเกลียว บุนนาค นักวิทยาศาสตร์ของกรมวิทยาศาสตร์ ทำสูตรผสมเนื้องโลหะเครื่องทองลงหิน และจัดตั้งธุรกิจ ในนาม “บริษัท ส.สำราญไทยแลนด์ จำกัด” ที่ ถนนเพชรบุรี กรุงเทพฯ ฝึกสอนวิชาชีพแก่บรรดาลูกหลานและเพื่อนบ้านในท้องถิ่น ถือเป็นบริษัทของคนไทยแห่งแรกที่ผลิตเครื่องทองลงหินและส่งขายต่างประเทศ

ปี 2497 ได้มีสองตระกูล คือ ตระกูลเสียงสุวรรณ และตระกูลหงษ์ขจร ย้ายเข้ามาจากอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งแต่เดิมนั้นประกอบอาชีพทำนา และเมื่อย้ายถิ่นเข้ามากรุงเทพฯ จึงได้เริ่มทำเครื่องทองลงหิน โดยเป็นลูกจ้างในระยะแรกให้กับโรงงานของ บริษัท ส.สำราญไทยแลนด์ จำกัด และได้ขยับขยายออกมาบุกเบิกตั้งรากฐานขึ้นที่ชุมชนประดิษฐ์โทรการแห่งนี้ โดยสร้างโรงงานผลิตเครื่องทองลงหินขึ้น และได้ชักชวนคนในตระกูลหงษ์ขจร นำโดย นายเรียน นายสิ่ว นายใย นายจรูญ นายเจริญ นายกำจร นายบุญช่วย และนายหนู ส่วนตระกูลเสียงสุวรรณ นำโดย นายใช้ นายซุ่น นายไล้ นายซ้ง และยังมีตระกูลอื่น ๆ ประกอบด้วย ตระกูลนิลวิเวก ตระกูลนาคภักดี ตระกูลจันทชาติ ตระกูลบังเกิดสุข ตระกูลหลงศิริ และตระกูลวังศิลาบัติ เป็นตระกูลในยุคแรก ๆ ที่เข้ามาทำหัตถกรรมเครื่องทองลงหินในชุมชนประดิษฐ์โทรการ ในช่วงแรก ๆ นั้น ชาวชุมชนได้ทำหัตถกรรมทองลงหินกันทุกครอบครัว จึงมีชื่อเรียกกันในแถบนี้ว่า “ชุมชนโรงช้อนบางบัว”

ปี พ.ศ. 2499 ชาวบ้านที่อาศัยอยู่เดิมได้ชักชวนญาติพี่น้องของตนเองและคนที่รู้จัก เข้ามาทำอาชีพหัตถกรรมทองลงหินเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่มีอยู่ 10 ครอบครัวเป็น 100 กว่าครอบครัว จนสูงสุดเป็น 150 ครอบครัว ซึ่งในช่วงปี พ.ศ.2508-2510 นั้น ตระกูลด้วงเงินได้เริ่มเข้ามาทำอาชีพหัตถกรรมทองลงหินเช่นกัน แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่ในปัจจุบันเหลือผู้ผลิตงานหัตถกรรมทองลงหินเหล่านี้ไม่ถึง 50 ครอบครัว จากจำนวนผู้ผลิตที่ลดน้อยลงนี้ จึงทำให้ผู้ผลิตได้มีการรวมตัวกันขึ้น เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อมาบริหารงานและกิจกรรมของกลุ่ม

ปี พ.ศ.2500 มีแกนนำที่สำคัญ คือ นายกลม ชื่นใจเล็ก นายกำจร หงษ์ขจร และนายละม่อม (มานะ) หลงศิริ จัดตั้งเป็นบริษัทเพื่อผลิตและจำหน่ายสินค้าในเชิงธุรกิจกันเอง แต่ในการรวมกลุ่มครั้งแรกนั้น ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากประสบปัญหาในด้านเงินทุนและแรงงาน

ปี พ.ศ.2512 ได้มีการรวมตัวกันขึ้นอีกครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาการตัดราคา โดยมีนายกำจรและนายบุญช่วย หงส์ขจร เป็นแกนนำ ซึ่งได้รับงบประมาณสำหรับการพัฒนาและขยายโรงงาน ดังนั้น การรวมกลุ่มของสมาชิกจึงเป็นการรวมกลุ่มแบบหลวม ๆ และสมาชิกส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ชัดเจน ในการจัดตั้งบริษัท จึงต้องยุบไปเนื่องจากขาดประสบการณ์และความชำนาญในการบริหารงาน

ปี พ.ศ. 2528 ได้มีการรวมตัวกันขึ้นอีกครั้งโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้จัดตั้งเป็นกลุ่มอาชีพบ้านบางบัว แต่แล้วก็ต้องสลายไปในที่สุด เพราะผู้ผลิตไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน จึงไม่ให้ความร่วมมือ ในปี พ.ศ.2532 สำนักงานเขตจตุจักร ได้เข้ามาจัดตั้งเป็นชุมชนประดิษฐ์โทรการ 47-49 และในปีถัดมา (พ.ศ.2533) จึงได้จัดตั้งศูนย์หัตถกรรมทองลงหินขึ้น โดยมีแกนนำที่สำคัญ คือ นายสมคิด ด้วงเงิน นายจิระศักดิ์ ม่วงคำ นายวิสัย เอี่ยมสำอาง และนายบุญช่วย หงส์ขจร ได้ดำเนินการในนามผลิตภัณฑ์เครื่องทองลงหิน ชุมชนประดิษฐ์โทรการ 47-49 มาจนถึงปัจจุบัน

จนกระทั่งปี พ.ศ.2553 คุณสมคิด ด้วงเงิน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะจากศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ในการบ่มเพาะธุรกิจนั้น ประกอบด้วย การให้คำปรึกษาและการดูแลอย่างใกล้ชิดในเรื่องการจัดตั้งและเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ การให้คำปรึกษาเฉพาะทาง ในด้านการผลิต เทคโนโลยี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านการตลาด ด้านการบริหารจัดการ และด้านการเงิน จากที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยศรีปทุม จากการได้รับองค์ความรู้และแนวความคิดดังกล่าวทำให้ คุณสมคิด ด้วงเงิน มีเจตนารมณ์ที่ต้องการให้การผลิตเครื่องทองลงหินนั้นสืบทอดต่อไป จึงได้จัดตั้ง “บริษัท บรอนซ์คราฟ จำกัด” ขึ้น เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2555 เพื่อที่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ