รู้จักคณะ
การใช้ภาพเส้นกราฟเศรษฐกิจและลูกโลก หมายถึง ความสำคัญของระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกระทบกันไปทั้งโลก ดังนั้นหากต้องการที่จะยืนหยัดในกระแสเศรษฐกิจโลก ก็ต้องสร้างเสริมความเข้มแข็งทางความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุมได้รับอนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัย (ชื่อในขณะนั้น) ให้เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรเศรษฐศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชา เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ ในปีการศึกษา 2538 และได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2542 โดยมุ่งมั่นในการสร้างบัณฑิตให้มีความรู้และทักษะด้านการบริหารจัดการเศรษฐกิจธุรกิจ นอกเหนือไปจากการศึกษาหลักในสาขาเศรษฐศาสตร์เพื่อให้บัณฑิตสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเสนอแนะทางเลือกในการตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีการและแนวทางในการพัฒนางานและแก้ไขงานหรือธุรกิจขององค์กรทั้งของภาคเอกชนและภาครัฐ
อนึ่งนอกเหนือไปจากการเรียนการสอนตามหลักสูตรปกติแล้วคณะเศรษฐศาสตร์ยังได้จัดโครงการเสริมหลักสูตรรายวิชา ซึ่งประกอบด้วยการบรรยายพิเศษและการศึกษาและดูงาน ทั้งนี้ เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นและเข้าใจการดำเนินงานและธุรกิจให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
เนื่องจากการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจส่วนหนึ่งเป็นการศึกษาด้านนามธรรมคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ให้ความสำคัญกับการพัฒนาวัฒนธรรมทางวิชาการของนักศึกษา โดยมุ่งดำเนินการฝึกฝนอบรมนักศึกษาในชั้นปีต่างๆ ให้ทำการศึกษาโดยวิธีการฟัง การบรรยาย การอ่านตำรา การอภิปราย การสัมมนา และการเขียนรายงานอย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถพัฒนาสติปัญญาของตนให้เชี่ยวชาญ ส่วนด้านความฉลาดทางอารมณ์ ได้จัดโครงการอบรมและสัมมนาผู้นำนักศึกษา มีการจัดโครงการและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันของนักศึกษาในชั้นเรียนต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาออกไปสู่สังคมมีความสามารถในการปรับและพัฒนาตนเองให้สามารถทำงานและอาศัยอยู่ในสังคมร่วมกับบุคคลอื่นๆ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ
คณะเศรษฐศาสตร์ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ธุรกิจขึ้นในปีการศึกษา 2548 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการวิชาการด้านการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ การวิจัย การจัดสัมมนาและการฝึกอบรมแก่หน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้คณาจารย์ นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ได้เพิ่มประสบการณ์ในการวิเคราะห์ปัญหาทางเศรษฐกิจและได้ใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยศรีปทุมสู่สาธารณชน
รู้จักคณบดี
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์
จากการเรียนรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมา ผศ.ดร. รวิภา ลาภศิริ เล็งเห็นว่าเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนโลกธุรกิจอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Service Industry ผลงานดุษฎีนิพนธ์หัวข้อ “Customer Response to Sales Force Automation in the Insurance Industry” จึงได้รับรางวัล “TheRunner-up Award for Dissertation Research” ซึ่งเป็นการประกวดดุษฎีนิพนธ์ระดับโลก จัดโดย American Marketing Association: AMA ณ เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นรางวัลที่การันตีได้ถึงความเชี่ยวชาญในองค์ความรู้ดังกล่าว และยังเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้รับรางวัลจากเวทีนี้ จนถึงปัจจุบัน…
นอกจากนี้ยังได้รับการรับรองความเป็นนักการตลาดมืออาชีพในระดับนานาชาติ (ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค) จากการได้รับ Certificate of Certified Professional Marketer (Asia Pacific), Asia Pacific Marketing Federation (APMF) อีกด้วย
วุฒิการศึกษา :
ปริญญาเอก: Ph.D. (International Business)
Asian Institute of Technology
ปริญญาโท: M. B. A. (Marketing English Program)
National Institute of Development Administration (NIDA)
ปริญญาตรี: วิทยาศาสตร์บัณฑิต (เศรษฐศาสตร์เกษตร)
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ประสบการณ์การทำงาน :
มหาวิทยาลัยศรีปทุม บางเขน
ตำแหน่ง: ผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรฐานและบริการการศึกษา
มหาวิทยาลัยศรีปทุม บางเขน
ตำแหน่ง: ผู้อำนวยการศูนย์วิทยบริการ
มหาวิทยาลัยศรีปทุม บางเขน
ตำแหน่ง: อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ
รางวัลที่ได้รับ :
The Runner-up Award for Dissertation Research, “Customer Response to Sales Force Automation in the Insurance Industry”, in the American Marketing Association (AMA) National Dissertation Competition for the Sales Management Track; AMA Summer Marketing Educators’ Conference, Boston, MA, USA, 2004.
การบริหารคณะ
สารจากคณบดี
“คุณธรรมนำวิชาการ เชี่ยวชาญการประยุกต์”
ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ทั้งที่เกิดจากภาวะราคาน้ำมันแพง ที่เป็นผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องกำหนดมาตรการต่างๆเพื่อช่วยคลี่คลายและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งการรณรงค์ให้ช่วยกันประหยัดพลังงาน รวมทั้งการส่งเสริมการปลูกพืชที่สามารถผลิตพลังงานทดแทนได้เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ความต้องการน้ำมันและอาหารในระดับโลกได้เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาอาหารภายในประเทศไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารไปเลี้ยงประชากรในหลายๆภูมิภาคของโลก คนไทยก็ยังต้องได้รับผลกระทบต่อภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งกระบวนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อมูล โดยอาศัยวิธีการทางด้านเศรษฐศาสตร์ และเศรษฐมิติ จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่ ที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ และเอาใจใส่ต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเช่นนี้
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ให้ความสำคัญของการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ และมุ่งเน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้จริงจากการศึกษา วิเคราะห์ ขบคิด ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี โดยคณะเศรษฐศาสตร์ได้การจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ด้วยการปฏิบัติจริง จึงได้จัดตั้งศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ เพื่อให้เป็นแหล่งฝึกทักษะการทำงานวิจัยให้แก่นักศึกษาของคณะ โดยนักศึกษาจะมีความรู้และประสบการณ์จริงกับการทำงานวิจัย เคียงคู่กับคณาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิของคณะ จึงขอต้อนรับนักศึกษากำลังก้าวเข้ามาเป็น”สมาชิกใหม่”ของคณะเศรษฐศาสตร์ครับ
“คุณธรรมนำวิชาการ เชี่ยวชาญการประยุกต์”
แผนพัฒนาคณะเศรษฐศาสตร์ ปี 2553-2557
แผนพัฒนาคณะเศรษฐศาสตร์ ปี 2553-2557 ไฟล์แนบ
แผนประจำปีคณะเศรษฐศาสตร์ ปี 2554
แผนประจำปีคณะเศรษฐศาสตร์ ปี 2554 ไฟล์แนบ
วิสัยทัศน์
เป็นคณะที่มีความโดดเด่นด้านการวิจัย (Research Faculty) และผลิตบัณฑิตเศรษฐศาสตร์ให้เป็นนักวิจัย สามารถวิเคราะห์และประเมินโครงการโดยมีความสมบูรณ์ทางสติปัญญา อารมณ์ และบุคลิกภาพ ด้วยการแสวงหาความรู้ มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ที่ทันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน และสามารถประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพอย่างมีคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณที่ดีงามพันธกิจ
- มุ่งพัฒนาคณะเศรษฐศาสตร์ให้มีความแข็งแกร่ง และมีความโดดเด่นด้านการวิจัย
- มุ่งสร้างบัณฑิตเศรษฐศาสตร์ให้เป็นนักวิจัยและวิเคราะห์และประเมินโครงการโดยมีความสมบูรณ์ทางสติปัญญา อารมณ์และบุคลิกภาพ ด้วยการแสวงหาความรู้ มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ที่ทันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน และสามารถประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพอย่างมีคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณที่ดีงาม