โดย อาจารย์บุษรินทร์ จีนเกิดทรัพย์ คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการค้าระหว่างประเทศ
เป็นกระบวนการที่ให้สิทธิกับผู้นำของเข้าในการนำสินค้าเข้ามาจากต่างประเทศทางทะเลหรือทางอากาศที่จะสามารถยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและยื่นชำระค่าภาษีอากร (ถ้ามี) ล่วงหน้า ก่อนที่เรือ/อากาศยานจะเข้ามาถึง ณ ท่า/สนามบินที่เป็นด่านศุลกากรได้ ซึ่งจะสามารถช่วยให้ผู้นำของเข้าสามารถรับสินค้าได้ทันทีเมื่อเรือมาถึง (กรณียกเว้นการตรวจ) ข้อมูลบัญชีสินค้าอากาศยาน รายงานเรือเข้า และข้อมูลสินค้าสำหรับเรือล่วงหน้าจะถูกส่งมายังระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร เพื่อให้ผู้นำของเข้าสามารถส่งข้อมูลใบขนได้ล่วงหน้าก่อนเรือ/อากาศยานมาถึง โดยผู้นำของเข้าสามารถติดตามสถานะของการดำเนินการผ่านระบบ E-Tracking ของ กรมศุลกากรเพื่อวางแผนล่วงหน้าในการรับมอบของเมื่อเรือ/อากาศยานมาถึงได้ทันที
สำหรับการนำของเข้าทางเรือ : จะต้องรายงานเรือเข้าและยื่นบัญชีสินค้าสำหรับเรือให้กระทำล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ก่อนเรือมาถึงท่า ยกเว้นสายเดินเรือที่เดินทางมาจากประเทศกัมพูชา และประเทศเวียดนามให้กระทำล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงก่อนเรือมาถึงท่า
สำหรับการนำของเข้าทางอากาศยาน : การรายงานอากาศยานเข้าและยื่นบัญชีสินค้าสำหรับอากาศยานให้กระทำภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากอากาศยานออกจากท่าอากาศยานต้นทาง
ประโยชน์ของ (Pre – Arrival Processing)
เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้นำของเข้าได้มีทางเลือกในการผ่านพิธีการศุลกากรเพื่อนำสินค้าเข้ามาจากต่างประเทศได้ล่วงหน้าก่อนสินค้าจะมาถึง ซึ่งจะทำให้สินค้าที่ไม่มีความเสี่ยงสามารถส่งมอบสินค้าได้ทันทีเมื่อสินค้ามาถึง เป็นการลดระยะเวลา ค่าใช้จ่าย รวมทั้งระบบโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศ
กระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึง (Pre-Arrival Processing) จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 สำหรับท่า/สนามบินที่เป็นด่านศุลกากรทั่วประเทศ ส่วนสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 1 มีนาคม 2561
ทำไมประเทศไทยต้องมี Pre – Arrival Processing
เพราะว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของ WTO โดยหนึ่งในพันธกรณีที่มีความสำคัญและมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันก็คือ พันธกรณีภายใต้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Agreement หรือ TFA) ซึ่งเป็นความตกลงที่มีวัตถุประสงค์ให้ประเทศสมาชิก อำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน เพื่อความราบรื่นของการค้าระหว่างประเทศ โดยในส่วนของประเทศไทยได้กำหนดกลไกเพื่อรองรับ ตามความตกลง TFA ไปกว่าร้อยละ 90