RCEP เขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก
RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) (อาร์เซ็ป) คือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ และจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ RCEP มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน (50% ของประชากรโลก) มีขนาด GDP ประมาณ 30% ของโลก หาก RCEP มีผลบังคับใช้ จะเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก การเจรจาเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในการประชุมอาเซียนที่ประเทศกัมพูชาเมื่อปี 2555 และครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในการประชุมอาเซียนซัมมิต ครั้งที่ 35 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2562 ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก แต่ยังไม่สามารถลงนามร่วมกันได้ เนื่องจากอินเดียยังไม่เห็นด้วย
3 ประเด็นสำคัญ คือ
1. สินค้าจากจีน รวมทั้งสินค้าจากประเทศอื่น จะไหลทะลักเข้ามาในอินเดีย – อินเดียเกรงว่าสินค้าจากจีน เช่น เหล็ก สิ่งทอ ชิ้นส่วนรถยนต์ รวมทั้งสินค้าจากประเทศอื่น เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทนมจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ยางพาราจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย จะไหลทะลักเข้ามาในอินเดีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs และกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์อินเดีย
2. เป้าหมายของอินเดียยังไม่ได้รับการตอบรับ ได้แก่ – การเปิดเสรีธุรกิจบริการ – การเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะสูงด้านคอมพิวเตอร์มายังอาเซียน – การเปิดตลาดข้าว Basmati อินเดีย มายังฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
3. กรอบระยะเวลาในการลดภาษีสินค้าระหว่างกันเป็น 0% เร็วเกินไป – อินเดียกังวลว่า หากจะเริ่มทยอยลดภาษีระหว่างกันเป็น 0% ในปี 2023 (พ.ศ.2566) ทางอินเดียจะปรับตัวไม่ทัน จึงต้องการให้เริ่มนับจากปีที่ได้ข้อสรุปการเจรจาปี 2019 (พ.ศ.2562) ไปอีก 10 ปี เพื่อช่วยยืดเวลาปรับตัว ทั้งนี้ สมาชิกทั้งหมด 16 ประเทศต้องทำงานต่อ เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถลงนามความร่วมมือได้ภายในปี 2563