4D When Animation Goes Beyond the Screen

UploadImage
 

4D When Animation Goes Beyond the Screen

 

ดูหนังทะลุจอแบบ 4 มิติ

เชื่อว่าทุกคนคงคุ้นเคยกับการชมภาพยนตร์ที่ฉายบนจอแบบ 2 มิติอยู่แล้ว สำหรับภาพยนตร์ที่พิเศษจึงจะมองเห็นวัตถุลอยออกมาให้ตืนเต้นตกใจ แต่ต้องใส่แว่นสำหรับดูภาพยนตร์ชนิดนั้นที่เรียกว่าภาพยนตร์ 3 มิติ ส่วนภาพยนตร์ 4 มิติ หรือที่เรียกกันว่า ภาพยนตร์ 4D นั้นพิเศษกว่า เพราะเป็นการผสมผสานเทคนิคการฉายภาพยนตร์แบบ 3 มิติที่ใช้แว่นดู เข้ากับเทคนิคที่เกิดขึ้นกับที่นั่ง หรือบรรยากาศโดยรอบระหว่างชมภาพยนตร์ ยกตัวอย่างเช่น การเคลื่อนไหวที่นั่ง การสั่นสะเทือน การพ่นละอองน้ำ กลิ่น รวมถึงเทคนิคทางแสงสีเสียงอื่นๆ เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสบรรยากาศที่ใกล้เคียงกับการอยู่ในเหตุการณ์จริงมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีเทคนิคที่เกิดขึ้นกับบรรยากาศโดยรวม เช่น กลิ่น ควันไฟ ฟองสบู่ เทคนิคฝน ฟ้าผ่า หิมะ ที่เรียกว่า 5D ด้วย แต่คำจำกัดความว่า 5D รวมไปถึง 6-7D นั้น เป็นการให้คำจำกัดความตามความเข้าใจของผู้ผลิตแต่ละเจ้า ไม่ได้มีการแบ่งแยกอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

ส่วนมากภาพยนตร์ 4D จะจัดฉายในโรงที่จัดไว้สำหรับฉาย 4D โดยเฉพาะ เพื่อให้ควบคุมเทคนิคต่างๆได้อย่างเต็มที่  ต้องใช้ทุนการก่อสร้างและดูแลค่อนข้างสูง เนื่องจากกลไกและเทคนิคต่างๆต้องทำให้เข้ากับภาพยนตร์เรื่องนั้นๆโดยเฉพาะ และมีความยาวไม่นานนัก จึงพบว่าโรงภาพยนตร์ 4D ส่วนใหญ่ จึงเป็นส่วนหนึ่งในสวนสนุกชั้นนำ อย่างเช่น ดิสนีย์แลนด์ ยูนิเวอร์แซลสตูดิโอ หรือในเมืองไทยเองก็มีอยู่ที่สวนสนุกดรีมเวิร์ลด์ หรือที่ก่อนหน้านี้เคยมีอยู่ที่ TK Park แห่งเก่า ซึ่งผู้เขียนเองได้มีส่วนร่วมในการทำ animation สำหรับฉายในโรงภาพยนตร์ 4D ของดรีมเวิร์ลด์ด้วย จึงอยากแบ่งปันประสบการณ์ในการทำงาน 4D ว่าแตกต่างกับการทำanimation ประเภทอื่นๆอย่างไรบ้าง

โดยยกตัวอย่างจากโรงภาพยนตร์ 4D Adventure ของสวนสนุก ดรีมเวิร์ลด์

ประการแรกคือ การเขียนบทและ Storyboard สำหรับเครื่องเล่น 4D Adventure ต้องคำนึงถึงความตื่นเต้น เร้าใจ โชว์เอฟเฟคท์ของเครื่องเล่นอย่างเต็มที่ ทั้งเสียง กลิ่น ละอองน้ำ ควันไฟ ส่วนภาพในจอก็ควรมีวัตถุลอยไปมา ลอยเข้าหากล้อง หรือ ยื่นเข้าหากล้อง

ประการที่สอง การทำ Animation 4D ต้องมีมุมกล้องและการจัดวางวัตถุที่แสดงถึงระยะใกล้-ไกลเห็นชัดเจน กล้องไม่ควรเคลื่อนไหวเร็วมากนักเนื่องจากผู้ชมจะปรับสายตาไม่ทัน และไม่ได้รับรู้ถึงระยะใกล้ไกล/วัตถุเด้งไม่เด้ง

ประการที่สาม เวลาทำให้วัตถุเคลื่อนไหว ต้องคำนึงถึงความต้องการให้วัตถุเด้งออกมาเห็นชัดเจน จึงไม่ควรให้เคลื่อนไหวเร็วมากเช่นเดียวกับกล้อง แต่ในบางครั้งที่มีเทคนิคอื่นๆเป็นจุดเด่น เช่นการจั๊กจี้ หรือการพ่นละอองน้ำ  ก็อาจจะให้ความสำคัญกับระยะใกล้-ไกลของวัตถุน้อยลงได้บ้าง

ประการที่สี่ Animation 4D ที่ทำเพื่อฉายในโรง4D Adventure ที่ดรีมเวิร์ลด์นั้น เป็นการผสมผสานการถ่ายทำคนจริงเข้ากับ 3D Animation จึงต้องทำการเคลื่อนไหวให้เข้ากับภาพของนักแสดงที่ถ่ายทำมาก่อนหน้านั้นด้วย

ประการสุดท้าย การทำ 4D Animation โดยใช้โปรแกรม Maya จะมี tool กล้องชื่อ Studio Camera ที่รองรับการสร้างภาพ 3 มิติ ซึ่ง Studio Camera นี้จะประกอบด้วยกล้อง 3 ตัวที่แทนมุมกล้องปกติ กล้องที่แสดงผลทางด้านซ้าย และกล้องที่แสดงผลทางด้านขวา เวลา render ก็จะใช้เฉพาะกล้องซ้ายขวาเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องใช้เวลา Render และ Composite เพิ่มขึ้นกว่าเดิมเป็น 2 เท่าเช่นกัน จึงควรต้องวางแผนงานเผื่อเวลาไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เนิ่นๆ

การทำภาพยนตร์ 4มิตินัน แม้จะมีรายละเอียดปลีกย่อยบางประการที่แตกต่างจากภาพยนตร์ประเภทอื่นแต่สิงสำคัญที่เหมือนกันคือ อารมณ์ร่วม เพียงผู้ชมเดินออกจากโรงด้วยรอยยิ้มอย่างมีความสุข คนที่อยู่เบื้องหลังอย่างพวกเราก็ภูมิใจไปด้วยเช่นกัน