7 ขั้นตอนการทำวิจัยให้สำเร็จ
28
May
พันโท วีรยุทธ สุขมาก
หัวหน้านายทหารการเงิน
กรมสารบรรณทหารบก
นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชี
คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
7 ขั้นตอนการทำวิจัยให้สำเร็จ
1. ค้นหาความถนัด/ความเชี่ยวชาญ ของตนเองให้เจอ เช่น ด้านบัญชีการเงิน บัญชีบริหาร ด้านตรวจสอบบัญชี ด้านภาษี ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทางการบัญชี เป็นต้น เก็บข้อมูลจากงบการเงิน แบบสอบถาม และการสัมภาษณ์ ที่สำคัญต้องเป็นข้อมูลที่สามารถเข้าถึง และเก็บข้อมูลได้ง่าย
2. ค้นหาคีย์เวิร์ด ในเรื่องที่จะทำวิจัย เพื่อใช้ในการสืบค้นข้อมูล และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ในเบื้องต้นค้นหามาอย่างน้อย 20 ผลงาน จากนั้นให้ดูที่กรอบ ตัวแปร และกระบวนการวิจัย ที่น่าสนใจ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้การงานวิจัยของตนเอง สำคัญจะต้องไม่ซ้ำซ้อน หรือเป็นการคัดลอกผลงาน โดยจะต้องเป็นงานวิจัยที่สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ และมีประโยชน์ในเชิงวิชาการ เชิงการนำไปใช้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. ลงมือทำ โดยเริ่มเขียนจาก บทที่ 2 ก่อน แนะนำให้เขียนในลักษณะแบบจำลองความคิด (Conceptual model) ซึ่งแสดงแนวคิดของระบบ หรือกระบวนการ โดยใช้ ภาพเขียน หรือภาพวาด แสดงโครงสร้างของระบบ รวมถึงจัดทำตารางสังเคราะห์ตัวแปร เพื่อนำไปเขียนบทที่ 1 กำหนดชื่อเรื่อง ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา คำถามในการวิจัย วัตถุประสงค์ในการวิจัย กรอบแนวคิดในการวิจัย สมมติฐานการวิจัย ขอบเขตงานวิจัย นิยามศัพท์เฉพาะ จากนั้นเขียนบทที่ 3 วิธีดำเนินการวิจัย ในบทนี้จะกล่าวถึงกลุ่มประชากร และกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือวิจัย และการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ การเก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น ตลอดจนทำแบบสอบถาม (กรณีเก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม) และแบบสัมภาษณ์ (กรณีมีการสัมภาษณ์เชิงลึก)
4. อบรม โดยเข้ารับการอบรมหลักจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (Human Research Ethics) ก่อนเก็บรวบรวบข้อมูล ในกรณีเก็บจากแบบสอบถาม และการสัมภาษณ์ ซึ่งหากไม่ผ่านการอบรมดังกล่าว อาจไม่ได้รับการตีพิมพ์ เพื่อเผยแพร่ผลงานในอนาคต
5. เก็บรวบรวมข้อมูล เมื่อทำการเก็บรวบรวมข้อมูลได้ครบถ้วนแล้ว จึงนำไปรันสถิติผ่านโปรแกรมสำเร็จรูป ไม่ว่าเป็น SPSS LISREL และ AMOS เป็นต้น อาจต้องเข้ารับการอบรมด้านสถิติเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง ให้มีความเชี่ยวชาญด้านสถิติ จนสามารถรันสถิติ และแปลผลสถิติได้
6. ปิดเล่ม เขียนบทที่ 4 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งจะค่อนข้างเยอะ เนื่องจากนำผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาเขียนในเชิงพรรณนา มีการจัดทำตารางต่างๆ เพื่อแสดงผลการวิเคราะห์ และเขียนบทที่ 5 สรุปผลการวิจัย แนะนำให้เขียนสรุปตามวัตถุประสงค์ จะทำให้เขียน และอภิปรายผลการวิจัยได้ง่ายขึ้น
7. ให้ความสำคัญ มีวินัย มุ่งมั่น และตั้งใจ ในทุกขั้นตอน เข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษาอย่างสม่ำเสมอ จะให้ทำงานวิจัยมีโอกาสประสบความสำเร็จได้เร็วมากยิ่งขึ้น