เทคนิคการวางแผนการทำวิทยานิพนธ์เพื่อความสำเร็จ

UploadImage
 
UploadImage

ดร.ธารทิพย์ สีตาล
ครูวิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
วิทยาลัยพณิชยการบึงพระพิษณุโลก สถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 3
ศิษย์เก่าหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาวิชาการบัญชี
คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
 
เทคนิคการวางแผนการทำวิทยานิพนธ์เพื่อความสำเร็จ
 
          การทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกให้ประสบความสำเร็จ มีทั้งปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอก และโดยเฉพาะปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยผู้วิจัยใช้เทคนิค 3 การเข้าพบเพื่อความสำเร็จในการทำวิจัย ดังนี้
          1. การเข้าพบตนเอง คือ การคุยกับตนเองในสิ่งที่กำลังทำ เพื่อเป็นแรงผลักดันในการติดตามรายงานความคืนหน้าจากการทำวิจัย การตั้งเป้าหมาย วางแผนการทำงานในแต่ละขั้นตอน เพื่อให้การทำวิจัยประสบความสำเร็จตามตารางระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ สามารถปรับได้ตามความเหมาะสมในประเด็นต่อไปนี้
             1.1. การเลือกหัวข้อปัญหาเพื่อจัดทำวิทยานิพนธ์ จากความสนใจ ความถนัด ในสาขาวิชาที่กำลังศึกษา โดยการทบทวนวรรณกรรมและวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี ผลประกอบการทางด้านบัญชี  ผลประกอบการทางด้านตลาดทุน ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากฐานข้อมูลทั้งใน และต่างประเทศ
             1.2. การศึกษาค้นคว้า ทฤษฎีจากวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูทิศทางการพัฒนาความสอดคล้อง/ไม่สอดคล้อง ในการนำมาต่อยอดหัวข้อการวิจัยเพื่อจัดทำวิทยานิพนธ์ 
             1.3. การกำหนดวัตถุประสงค์ ตั้งกรอบแนวคิด การตั้งสมมติฐาน ในการคาดคะเนทิศทางคำตอบของปัญหาที่จะทำในการวิจัยเพื่อจัดทำวิทยานิพนธ์ สร้างเครื่องมือ เพื่อวางแผนการทำงานในการเก็บข้อมูลปฐมภูมิ/ทุติยภูมิ จากแหล่งต่าง ๆ 
             1.4. การวิเคราะห์ การแปลผลข้อมูล ซึ่งเป็นขั้นตอนหลังจากมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ผู้วิจัยต้องใช้สถิติที่มีความเหมาะสม  และสอดคล้องกับข้อมูล เพื่อตอบวัตถุประสงค์ของการวิจัยที่ได้ตั้งไว้ 
             1.5. การเขียนรายงานการวิจัยเพื่อจัดทำวิทยานิพนธ์ รายงานข้อมูล ข้อค้นพบ เป็นการเขียน     อภิปรายผล  ยืนยันความสอดคล้อง หรือข้อขัดแย้งกับผู้วิจัยท่านอื่นอย่างไร ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ (Research Contribution) รวมทั้งการตรวจสอบเอกสารอ้างอิง/บรรณานุกรม เพื่อความถูกต้องอีกครั้งก่อนจัดพิมพ์ 
          **สิ่งสำคัญ การเผยแพร่ผลในการวิจัยเพื่อจัดทำวิทยานิพนธ์ ในแต่ละขั้นตอนควรวางแผนตีพิมพ์วิทยานิพนธ์ในระดับชาติ และระดับนานาชาติ เพี่อให้เสร็จทันเวลาตามเงื่อนไขในการจบการศึกษา 
 
          2. การเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษา เป็นสิ่งที่สำคัญและไม่ควรมองข้าม มีความกล้าที่จะเข้าพบ กล้าขอความคิดเห็น  เพื่อรายงานความคืบหน้าจากการทำวิจัย  รวมถึงการขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงาน/องค์กร ต่าง ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์หรือเครือข่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชา หรือหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่กำลังศึกษา เพื่อสร้างคุณค่า และมุมมองแปลกใหม่ ลดทอนข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือขาดความน่าเชื่อถือ ต่อยอดข้อมูลที่ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่าย ข้างต้น โดยผู้วิจัยสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ และมีความรู้ความสามารถที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิในหน่วยงานหรือองค์การที่ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี  ประกอบด้วย  3 องค์การหลัก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยที่ให้ความสำคัญกับการสร้างการกำกับดูแลกิจการที่ดี  
 
          3. การเข้าพบโลกออนไลน์ ท่องโลกกว้างจากการค้นหาฐานข้อมูล ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ในประเทศ /ต่างประเทศ เพื่อหาข้อมูลสนับสนุน/หรือข้อแตกต่าง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อจัดทำวิทยานิพนธ์
 
**ถ้าคิดจะสำเร็จ ก็ต้องรีบลงมือทำ ตามกรอบระยะเวลา ที่ต้องรู้คุณค่าทุกวินาที**