3 ประโยชน์ของการวางแผนภาษี

UploadImage
 
UploadImage

สุรเดช เล็กแจ้ง (TA)
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรวจสอบและที่ปรึกษาบริษัท เอส แอล เค จำกัด 
และเจ้าของเพจภาษีรู้ไว้ได้เปรียบ
นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชี
คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
 
3 ประโยชน์ของการวางแผนภาษี
 
          การวางแผนภาษี ไม่ใช่เรื่องการหลบหนีหรือหลีกเลี่ยงภาษี แต่เป็นการทำให้เสียภาษีอย่างประหยัด ถูกต้อง และครบถ้วน
          1. ประหยัด
              คงปฏิเสธไม่ได้ หากท่านเป็นผู้บริหารธุรกิจว่า หนึ่งในเป้าหมายหลักในการบริหารของท่านคือ ทำอย่างไรธุรกิจจะเดินหน้าต่อไปได้อยากราบรื่น ก้าวหน้าอย่างมั่นคงมั่งคั่ง ดังนั้น หากท่านสามารถบริหารจัดการภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฏหมายในอัตราที่ต่ำสุด ประหยัดสุด จะถือได้ว่าท่านเป็นผู้ประสบความสำเร็จในการประยุกต์ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการบริหารภาษี ยิ่งในโลกธุรกิจปัจจุบัน การแข่งขันและนวัตกรรมที่รวดเร็วผ่านโซเชียล เพื่อให้ได้มาซึ่งผลกำไรต้องอาศัยมุมมองของผู้บริหาร ผนวกกับนักบริหารบัญชีภาษีแนวใหม่ ที่ต้องมีมุมมองกว้างไกล คาดการณ์อนาคตได้ใกล้เคียงมากที่สุด ความรู้ความสามารถจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญให้ธุรกิจอยู่รอด แต่มีจริยธรรมในการทำงานด้วย
          2. ถูกต้อง
              ท่านผู้บริหาร นักบริหารบัญชีภาษี ลองถามตัวท่านเองว่า หากอยากเปิดกิจการขายของ หรือเป็นให้บริการ เราควรเปิดในรูปแบบใด เป็นบุคคลธรรมดา หรือเปล่านิติบุคคลดี ถ้าเป็นนิติบุคคลเราควรเปิดเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นบริษัทจำกัด แล้วมันมีข้อดีข้อเสียอย่างไร อันไหนเสียภาษีต่ำที่สุด ต้องเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มทันทีเลยหรือเปล่า หรือว่ายังไม่ควรเข้าดี แล้วธุรกิจที่เราต้องการจะทำได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือเปล่า แล้วรายได้ รายจ่ายดังกล่าวต้องมีการหัก ณ ที่จ่าย นำส่งใคร อย่างไร เมื่อไรบ้าง เอ๊ะกฎหมายล่าสุดเห็นมีเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากธนาคาร 400 รายการ และยังมีเรื่องดอกเบี้ยที่ไม่เกินสองหมื่นบาทอีก มันคืออะไร เราควรต้องวางแผนภาษีไปแนวทางไหนดี ทำไมต้องวางแบบนี้ ประหยัดแน่นะ ถูกต้องตามกฎหมายหรือเปล่า แล้วท่านเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรจะมาตรวจสอบ มาประเมินหรือเปล่า เห็นบางคนเสีย เบี้ยปรับ เงินเพิ่มเป็นล้านเลย บางคนก็เข้าข่ายติดถูกเรื่องการใช้ใบกำกับภาษีปลอมอีก เป็นต้น จะเห็นว่าการที่จะทำให้ประหยัด ให้ถูกต้องนั้น ก็ต้องมีการวางแผนภาษีอย่างมีความรู้ความเข้าใจ
          3. ครบถ้วน
              ในช่วงต้นปี 2566 นี้ มีผู้ประกอบการได้รับจดหมายจากกรมสรรพากรหลายท่านมาก และบางท่านก็ถูกประเมินยื่นรายได้ขาด ยื่นไม่ครบถ้วน ไม่ได้เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ทำให้ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมไปถึงเสียเบี้ยปรับสองเท่าของภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ เงินเพิ่ม 1.5% ของภาษีที่ต้องชำระ หลายท่านเสียเป็นล้าน สิบล้าน กันเลยทีเดียว เป็นเพราะความไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือไม่สนใจ ทำให้ต้องล้มละลาย เสียหายในตัวเลขที่สูงมาก หากเพียงแต่ท่านยื่นให้ครบถ้วน ท่านจะไม่ต้องเสียหายขนาดนี้ 
          ทุกรูปแบบของการทำธุรกิจ การวางแผนภาษี จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด ประหยัดมากสุด ถูกต้องที่สุดและครบถ้วนปลอดภัย หากปราศจากการวางแผนภาษี ก็เหมือนปล่อยธุรกิจให้ไปตามชะตา แล้วธุรกิจจะยั่งยืนแค่ไหน ดังนั้น ไม่ว่าจะยุคไหนไหน ภาษีนั้นสำคัญเสมอ