ความรู้และทักษะสำคัญในการก้าวสู่นักบัญชีนิติวิทยา

UploadImage
 
UploadImage

พัชรพร หนูประเสริฐ
พนักงานบัญชี
บริษัท พี อาร์ โอ ซี บิซิเนส จำกัด
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต
คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
 
ความรู้และทักษะสำคัญในการก้าวสู่นักบัญชีนิติวิทยา
 
          จากข่าวการทุจริตและอาชญากรรมที่ซับซ้อน ตรวจสอบยากขึ้น และมีผลกระทบทางลบโดยกว้างกับผู้มีส่วนได้สีย ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของ “การบัญชีนิติวิทยา” ซึ่งเป็นการตรวจสอบเพื่อพิสูจน์เกี่ยวกับการทุจริตทางการเงินที่เกิดขึ้น การบัญชีนิติวิทยามีบทบาทมากขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน นำไปสู่อาชีพที่ต้องการและสามารถเพิ่มมูลค่าได้ในอนาคตของประเทศไทยทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน การเตรียมความพร้อมในด้านความรู้และทักษะจึงจำเป็นต้องมีสำหรับนักบัญชีนิติวิทยา
          1. ความรู้เกี่ยวกับการทุจริต (Fraud Knowledge) ควรมีความรู้และทักษะที่จะทราบถึงสัญญาณบอกเหตุเกี่ยวกับการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้น (Warning Signs) รวมถึงหาจุดอ่อนของระบบการควบคุมภายในที่จะทำให้เกิดการทุจริตได้
          2. ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย (Knowledge of Law) ควรมีความรู้ทั้งกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนการตรวจสอบและระบุประเด็นที่จะสืบสวนได้อย่างเหมาะสม
          3. ความรู้เกี่ยวกับกฎของหลักฐาน (Rules of Evidence) ควรมีความรู้ในเรื่องของกฎเกณฑ์ของหลักฐานทางกฎหมาย เพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะและคุณสมบัติของหลักฐานทางกฎหมายที่ใช้ประโยชน์ในศาลได้
          4. ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ (Business Knowledge) ควรมีความรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงสภาพเศรษฐกิจ การบริหารงานและการปฏิบัติงานของกิจการ เพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยง ระบุปัญหา วางแผนและการปฏิบัติงานตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
          5. ทักษะความสามารถด้านสืบสวน (Investigative Competency) ควรมีทักษะในการตั้งประเด็นในการสืบสวน ช่างสังเกต ตรวจสอบ วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ มีเชาว์ปัญญาในการสืบสวนและเข้าใจถึงสัญญาณเตือนของการทุจริต 
          6. ทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Skill) ควรมีความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ในระดับที่ปฏิบัติงานได้ เนื่องจากปัจจุบันมีความซับซ้อนทางการเงินโดยการประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ จึงควรเข้าใจสภาพแวดล้อมของระบบสารสนเทศที่กิจการใช้เพื่อประเมินความเสี่ยงและวิธีสืบสวนให้บรรลุวัตถุประสงค์ของงานได้
          7. ทักษะการวิเคราะห์งบการเงิน (Financial Statement Analysis) ควรสามารถเปรียบเทียบและเก็บข้อมูลจากงบการเงินย้อนหลังอย่างน้อย 3 ปี จนถึงปีที่เกิดเหตุการณ์ทุจริต สามารถวิเคราะห์งบการเงินในกลุ่มบริษัท ความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของตัวเลขทางการเงินของกลุ่มบริษัทและความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของกรรมการและผู้ถือหุ้นกันในระหว่างกลุ่มได้
          8. ทักษะการติดต่อสื่อสาร (Communications Skill) เนื่องจากอาจจะต้องทำหน้าที่เป็นพยานในศาล จึงควรมีทักษะด้านการสื่อสารอย่างมีประสิทธิผลทั้งวาจาและรายงาน รวมถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ในการติดต่อและประสานงานกับบุคคลต่างๆ จึงควรมีทัศนคติที่เป็นมิตร เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ดีในการปฏิบัติงาน
 
 
แหล่งที่มาของข้อมูล
1. สมชาย ศุภธาดา, การบัญชีนิติวิทยา Forensic Accounting : องค์ความรู้เชิงบูรณาการสู่ยุคดิจิทัล, พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์ตำรวจ, 2564, หน้า 13-14.
2. ประภารัตน์ ศรีวรพงษ์พันธ์. (2564). Forensic Accounting การบัญชีนิติวิทยา (ออนไลน์). สืบค้นจาก :   
http://www.tfac.or.th/upload/9414/ooYMfmTUgy.pdf [1 พฤศจิกายน 2565]
3. ณัฐวุฒิ สิ้นเคราะห์ และพรทิวา แสงเขียว. (2565). อิทธิพลของทักษะวิชาชีพบัญชีที่มีต่อความพร้อมในการทำงานด้านบัญชีนิติเวชของผู้ทำบัญชีในเขตกรุงเทพมหานคร. วารสารการบริหารจัดการและนวัตกรรมท้องถิ่น ปีที่ 4 ฉบับที่ 3 เดือนสิงหาคม 2565
4. ศิลปพร ศรีจั่นเพชร. (2553). มารู้จักกับการบัญชีสืบสวน. วารสารวิชาชีพบัญชี ปีที่ 6 ฉบับที่ 17 ธันวาคม 2553: หน้า 22-28
5. Kanyanat Kalaphat. (2560). บัญชีนิติเวช (forensic accounting) (ออนไลน์). สืบค้นจาก :