3 ลักษณะสำคัญของงานตรวจสอบภายในภาครัฐ
28
May
ณัฏฐณิชา เพ็ชรพังงา
นักวิชาการตรวจสอบภายในปฏิบัติการ
สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง กระทรวงการคลัง
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต
คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
3 ลักษณะสำคัญของงานตรวจสอบภายในภาครัฐ
ปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนได้ให้ความสำคัญในการตรวจสอบภายใน ซึ่งในมุมมองหน่วยงานภาครัฐได้กำหนดให้มีหน่วยตรวจสอบภายใน โดยกรมบัญชีกลางได้กำหนดมาตรฐานและหลักเกณฑ์การตรวจสอบภายในไว้อย่างชัดเจน ผู้ตรวจสอบภายในมีหน้าที่ประเมินผลโดยอิสระภายในองค์กร เพื่อช่วยให้ผู้บริหารทุกระดับสามารถปฏิบัติงานตามความรับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ งานตรวจสอบภายในมี 3 ลักษณะสำคัญ ดังนี้
1. การกำกับดูแล การปฏิบัติงานตรวจสอบภายในต้องสามารถประเมินและให้คำแนะนำที่เหมาะสมในการปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแลของหน่วยงานของรัฐผ่านการประเมินการออกแบบ นำไปสู่การปฏิบัติและความมีประสิทธิผลของกิจกรรมหรืองานโครงการ รวมทั้งวัตถุประสงค์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณหน่วยงานของรัฐ รวมถึงการกำกับดูแลเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐได้มีส่วนสนับสนุนวัตถุประสงค์และยุทธศาสตร์หน่วยงานของรัฐ
2. การบริหารความเสี่ยง การปฏิบัติงานตรวจสอบต้องประเมินความมีประสิทธิผล และสนับสนุนให้เกิดการปรับปรุงกระบวนการบริหารความเสี่ยงทั้งในส่วนของการกำกับดูแลการดำเนินงาน และระบบข้อมูลสารสนเทศ ซึ่งต้องประเมินโอกาสในการเกิดทุจริตและวิธีการบริหารความเสี่ยงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ซึ่งผู้ตรวจสอบภายในต้องนำความรู้ที่ได้รับจากการปฏิบัติงานให้คำปรึกษา มาใช้ในการประเมินผลกระบวนการบริหารความเสี่ยงของหน่วยงาน
3. การควบคุม การปฏิบัติงานตรวจสอบภายในต้องมีส่วนสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการควบคุมที่เหมาะสมและเพียงพอด้วยการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการควบคุม รวมทั้งสนับสนุนให้มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ตรวจสอบภายในต้องนำความรู้ในเรื่องของการควบคุมภายในที่ได้รับจากการบริหารงานให้คำปรึกษา มาใช้ในการประเมินผลการควบคุมของหน่วยงานของรัฐ
ดังนั้น การปฏิบัติงานตรวจสอบภายในต้องสามารถประเมินและช่วยสนับสนุนให้มีการปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยง และการควบคุมของหน่วยงานของรัฐ โดยใช้วิธีการที่เป็นระบบ หลักเกณฑ์ และอาศัยความเสี่ยงของหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ การตรวจสอบภายในจะมีความน่าเชื่อถือและเพิ่มคุณค่า เมื่อผู้ตรวจสอบภายในมีการปฏิบัติงานในเชิงรุก และการประเมินผลของผู้ตรวจสอบภายในได้ก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
แหล่งที่มาของข้อมูล :
1. หลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการตรวจสอบภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม