“อยากลอง” จุดเริ่มต้นของผู้ตรวจสอบภายใน

UploadImage
 
UploadImage

นางสาวนงนภัส ใจจร (CPIAT)
Senior Audit Associate บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน)
ศิษย์เก่า หลักสูตรบัญชีบัณฑิต
คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม

           “จบบัญชี มีงานทำ” คำแนะแนวที่ยังจำได้จนถึงทุกวันนี้ ทำให้เด็กบ้านนอกอย่างเรา อยากเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนบัญชี ม.ศรีปทุม  ตั้งแต่เริ่มเรียนปี 1 ถึง ปี 4 เราเป็นเด็กเน้นกิจกรรม ไม่ค่อยเน้นเรียน (ฮ่าๆๆๆ) แต่ก็ได้รับโอกาสให้ไปฝึกงานที่บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และยังได้ลองเป็นผู้ช่วยผู้สอบบัญชี เราคิดว่าคงเป็นโชคดีที่มีโอกาสได้ลองทำ มันทำให้รู้จักตัวเองว่ายังไม่ใช่สิ่งที่อยากทำ อีกอย่างตอนเรียนปี 4 มีวิชาที่ยังไม่ค่อยเข้าใจ คือ ตรวจสอบภายใน จึงเกิดความ”อยากลอง”และกลายเป็นจุดเริ่มต้น ตั้งแต่อายุ 22 ที่เริ่มทำงานเป็นผู้ตรวจสอบภายใน จนเวลาผ่านมา 15 ปี  วันนี้จึงอยากแชร์ เพื่อเป็นไอเดียให้สำหรับคนที่สนใจวิชาชีพผู้ตรวจสอบภายใน แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไงดี??
           1. เริ่มจากถามตัวเองก่อนว่า “อยากลอง” ไหม การเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองทำ มันทำให้เรารู้ตัวเองว่าชอบ/ไม่ชอบ เร็วขึ้น
           2. ทำความเข้าใจลักษณะงานตรวจสอบภายใน สามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย หรืออยากอ่านประสบการณ์จากรุ่นพี่ สามารถเข้ากลุ่มผู้ตรวจสอบภายในบน Facebook ได้
           3. เลือกธุรกิจที่สนใจ ส่วนตัวเราให้ความสำคัญมาก เพราะ ผู้ตรวจสอบภายใน ควรเข้าใจธุรกิจและความเสี่ยง รวมถึงหากองค์กรไม่ให้ความสำคัญกับผู้ตรวจสอบภายใน การทำงานของเราจะยากขึ้นหลายเท่าตัว
           4. ช่วงแรกของการทำงาน ต้องมีความอดทนมากและใส่ใจเรียนรู้ให้มากที่สุด เพราะ วิชาชีพตรวจสอบภายใน ต้องมีความรู้ที่หลากหลาย เพื่อใช้ประกอบการตรวจ แถมต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา (มีเรื่องใหม่ๆ ไม่จบไม่สิ้น ฮ่าๆๆ)
           5. หากรู้ตัวเองว่า “ชอบ” ขอให้ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง เพราะเราคิดว่า เงินเดือน/ค่าตอบแทน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความสามารถ
           6. คุณสมบัติผู้ตรวจสอบภายใน ที่อาจจะใช้ประเมินตัวเองได้แบบคร่าวๆ (ถ้าใจอยากลอง ข้ามข้อนี้ไปเลยค่ะ) เช่น
               - ชอบงานท้าทาย ไม่จำเจ (ดูเป็นคนเบื่อทำงานซ้ำๆ)
               - ทำงานเป็นทีมได้ (ทำคนเดียว ร่างพักจ้า)
               - ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ (อ่านเก่ง สรุปเก่ง เข้าใจได้เร็ว)
               - รับแรงกดดันได้ เพราะบางครั้ง อาจจะเจองานยาก แต่เวลาน้อย
               - มีความความเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมงานและอ่อนน้อมถ่อมตน มันทำให้เราน่ารักขึ้น (เก่ง แต่นิสัยแย่ คงไม่มีใครอยาเข้าใกล้)