5 มาตรฐานการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานภาครัฐ
05
Apr
นที ก้อนคำ
เจ้าพนักงานการเงินและบัญชี
กรมส่งเสริมการเกษตร
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต
คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
5 มาตรฐานการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานภาครัฐ
การควบคุมภายในถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐสามารถขับเคลื่อน การปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ได้ โดยมาตรฐานการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานภาครัฐ มีดังนี้
1. สภาพแวดล้อมการควบคุม (Control Environment) เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดําเนินงานที่ส่งผลให้มีการนําการควบคุมภายในมาปฏิบัติทั่วทั้งหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น ผู้กำกับดูแลและฝ่ายบริหารต้องสร้างบรรยากาศให้ทุกระดับตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมภายใน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อ องค์ประกอบอื่นของการควบคุมภายใน
2. การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) เป็นกระบวนการที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นประจำ เพื่อระบุและวิเคราะห์ความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐ รวมถึงการกำหนดวิธีการในการจัดการความเสี่ยงนั้น
3. กิจกรรมการควบคุม (Control Activities) เป็นการปฏิบัติที่กำหนดไว้ในนโยบายและกระบวนการดําเนินงาน เพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิบัติตามการสั่งการของฝ่ายบริหารจะลดหรือควบคุมความเสี่ยงให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ และควรนําไปปฏิบัติทั่วทุกระดับของหน่วยงานของรัฐ ทั้งกระบวนการและขั้นตอนการดําเนินงาน
4. สารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication) ถือเป็นสิ่งจําเป็นสำหรับหน่วยงานของรัฐที่จะช่วยให้มีการดำเนินการตามการควบคุมภายในที่กำหนด สนับสนุนให้บรรลุวัตถุประสงค์ การสื่อสารจึงเป็นช่องทางเพื่อให้ทราบถึงสารสนเทศที่สำคัญในการควบคุมการดําเนินงานของหน่วยงานของรัฐ ช่วยให้บุคลากรเข้าใจถึงความรับผิดชอบและความสำคัญของการควบคุมภายในที่มีต่อการบรรลุวัตถุประสงค์
5. กิจกรรมการติดตามผล (Monitoring Activities) เป็นการประเมินผลระหว่างการปฏิบัติงาน การประเมินผลเป็นรายครั้ง หรือเป็นการประเมินผลทั้งสองวิธีร่วมกัน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าได้มีการปฏิบัติตามหลักการในแต่ละองค์ประกอบ กรณีที่ผลการประเมินการควบคุมภายใน จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยงานของรัฐ ให้รายงานต่อฝ่ายบริหารและผู้กำกับดูแลอย่างทันเวลา
แหล่งที่มาของข้อมูล : กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง