3 สิ่งควรรู้…เกี่ยวกับภาษีขายของออนไลน์

UploadImage
 
UploadImage

กิตติพงศ์ พิทักษ์วงษ์โยธิน
นักวิชาการเงินและบัญชีปฏิบัติการ
สำนักงานอัยการสูงสุด
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต
คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
 
3 สิ่งควรรู้…เกี่ยวกับภาษีขายของออนไลน์
 
     ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาใช้งาน ทำให้รูปแบบการขายและการประกอบอาชีพมีการเปลี่ยนแปลงไป หนึ่งในอาชีพที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากก็คือการขายของออนไลน์ หากร้านค้าขายดีมีเงินหมุนเวียนในระบบค่อนข้างสูง ภาครัฐจึงต้องเข้ามาควบคุมดูแลที่เรียกว่าภาษีขายของออนไลน์
     1. รู้จักกับภาษีออนไลน์ เป็นภาษีจากการขายของหรือการค้าขายออนไลน์ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
        1.1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : กรณีเป็นพ่อค้าแม่ค้าธรรมดา มีวิธีการคำนวณ 2 แบบ คือ
             1.1.1 (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย วิธีนี้สำหรับรายได้ที่ไม่ถึง 1 ล้านบาทต่อปี
             1.1.2 รายได้ x 0.5% วิธีนี้จะใช้สำหรับรายได้ที่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี 
แล้วนำทั้ง 2 แบบมาเปรียบเทียบกัน แบบไหนได้ตัวเลขมากกว่าให้ใช้แบบนั้นในการยื่นแบบชำระภาษี
        1.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล : กรณีที่ร้านค้านั้น ๆ มีการจดทะเบียนเป็นบริษัท วิธีการคำนวณภาษีคือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ แล้วนำกำไรสุทธิที่ได้มาคิดภาษีตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล
     2. ข้อควรรู้เรื่องภาษีออนไลน์ (E-PAYMENT) ภาษี E-PAYMENT เป็นการส่งข้อมูลยอดเงินของเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารที่เปิดทั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลให้แก่สรรพากร โดยมีเงื่อนไข คือ 
        2.1 มีเงินเข้าบัญชี 3,000 ครั้งต่อปี ไม่ดูจำนวนเงิน
        2.2 มีเงินเข้าบัญชี 400 ครั้งต่อปี และ จำนวนเงิน (นับเฉพาะฝั่งเงินรับฝากเข้า) รวมเกิน 2 ล้านบาท
     3. พ่อค้าแม่ค้าต้องทำอย่างไรบ้าง สำหรับการเตรียมตัวไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด โดยปกติแล้วการค้าขายออนไลน์จะต้องมีการบันทึกข้อมูลลูกค้า การใช้จ่าย ลงทุน รวมถึงการรับเงินอยู่แล้ว สิ่งที่พ่อค้าแม่ค้าทุกคนต้องทำเพิ่มขึ้นมาก็คือ
        3.1 บันทึกทุกอย่าง ทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อสามารถตรวจสอบรายรับรายจ่ายได้ 
        3.2 ไม่ทิ้งหลักฐานเกี่ยวกับการค้า เมื่อกรมสรรพากรมีคำถามเกี่ยวกับรายรับรายจ่าย นอกจากจะได้เห็นบันทึกรายรับรายจ่าย ยังมีหลักฐานทางธุรกรรมเพื่อยืนยันว่าเราได้ดำเนินการโอนรับ จ่าย หรือลงทุนตามจริงด้วย
        3.3 ติดตามข่าวการเงิน โดยเฉพาะด้านภาษีที่มีการอัปเดตในแต่ละปี แต่หากไม่มีความรู้ด้านการเงินอาจทำให้พลาดในการเสียเงินมากเกินความจำเป็นหรือจ่ายภาษีซ้ำซ้อนเกิดขึ้นได้
        3.4 หาความรู้เกี่ยวกับภาษีเงินได้ รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อที่จะสามารถจัดการรายรับรายจ่ายในแต่ละปี รู้ว่าต้องเสียภาษีเท่าไหร่ ลดหย่อนภาษีได้ด้วยวิธีใดบ้าง เพื่อสามารถใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด
 
 
แหล่งที่มาของข้อมูล : 1. https://www.tidlor.com/th/article/lifestyle/shopping/online-sales-tax.html
                    2. https://www.bangkokbiznews.com/business/980497