ข้อสงสัย สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ:แจ้งเพื่อทราบ หรือ ต้องขออนุญาต?
08
Dec
ภาพประกอบจาก มติชนออนไลน์
http://www.ryt9.com/s/tpd/2219515
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นพดล ปกรณ์นิมิตรดี
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 และจะมีผลให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวัน กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ อาจจัดได้ว่าเป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่ใช้ระยะเวลายาวนาน กว่าจะเดินทางมาถึงจุดที่ได้มีกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้บังคับ
กฎหมายการชุมนุมสาธารณะ จะสามารถพลิกโฉมประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ตกอยู่ภายใต้ห้วงเวลาแห่งการชุมนุมประท้วงยาวนานหลายปีเหลือเกินได้หรือไม่ หรือทว่า กฎหมายการชุมนุมสาธารณะ จะเป็นความหวังของผู้คนในสังคมไทยที่อยากเห็นการเมืองใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมได้หรือไม่ คือคำถามที่น่าคิด น่าค้นหา
ในอดีตรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
มาตรา 63 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะกรณีการชุมนุมสาธารณะ...
มาตรา 63 นี้ ถูกกล่าวอ้างมาโดยตลอด เสมือนใบเบิกทางว่า ฉันมีเสรีภาพในการชุมนุม ใครก็ห้ามฉันไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญรับรอง ในขณะนั้นแม้จะยังไม่มีกฎหมายการชุมนุมสาธารณะตามความในวรรคสองของมาตรา 63 ก็ยังเคยได้ยินบางคนบอกพูดผ่านสื่อแสดงความเห็นว่า มาตรา 63 วรรคสอง ขัดกับมาตรา 63 วรรคแรก ใช้ไม่ได้ ก็มี เล่นทำเอางงกับความเห็นนี้ ทั้งๆ ที่วรรคสองของมาตรา 63 คือข้อยกเว้นของกฎหมาย
แม้ขณะนี้สังคมจะมีพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อรอคอยการมาถึงของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับใหม่ แต่ความที่ปรากฏในพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะบางมาตรา ก่อเกิดคำถามที่น่าคิดว่า ประชาชน ชาวบ้าน ที่เขาจะขอใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ ต้องแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง โดยไม่สามารถจัดชุมนุมได้ทันทีเหมือนแต่ก่อน หากผู้รับแจ้ง อันหมายความถึงหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะหรือบุคคลอื่น ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นผู้มีหน้าที่รับแจ้งการชุมนุมสาธารณะ อนุญาตให้จัดการชุมนุมก็แล้วไป ที่เหลือก็ว่าตามกติกา แต่ถ้าหากไม่อนุญาต ประเด็นข้อกฎหมายที่น่าคิดก็คือ
มาตรา 11 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้รับแจ้งเห็นว่าการชุมนุมสาธารณะที่ได้รับแจ้งนั้นอาจขัดต่อมาตรา 7 หรือมาตรา 8 ให้ผู้รับแจ้งมีคำสั่งให้ผู้แจ้งแก้ไขภายในเวลาที่กำหนด
การชุมนุมสาธารณะที่ขัดต่อมาตรา 8 คือประเด็นปัญหาที่น่าศึกษา เมื่อพิจารณาศึกษาบทบัญญัติแห่ง มาตรา 8 อันบัญญัติว่า "การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้า-ออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ ดังต่อไปนี้
(1) สถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ
(2) ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ
(3) โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน
(4) สถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือสถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ
(5) สถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด"สถานที่ต่างๆ ตามข้อ 1-4 มีเหตุผลโดยตัวของมันเอง ที่ผู้ชุมนุมไม่ควรไปกีดขวางทางเข้า-ออก หรือรบกวนการทำงาน แต่กรณีการเปิดช่องให้รัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะใช้มาตรา 8
(5) สกัดการชุมนุมจากผู้ประท้วง เพราะที่ผ่านมา การชุมนุมสาธารณะ หรือการชุมนุมประท้วง ส่วนใหญ่มักเป็นการชุมนุมที่พุ่งเป้าหมายไปยังรัฐบาล เพื่อหวังกดดันให้ได้ในสิ่งที่ผู้ประท้วงชุมนุมต้องการ
อันที่จริงการชุมนุมสาธารณะ ควรมีกติกาการชุมนุมมานานแล้ว เพื่อบอกว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ สถานที่ไหนไม่ควรชุมนุม การมีกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และสมควรอย่างยิ่ง แต่เงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการชุมนุมสาธารณะ โดยผู้รับแจ้งต้องไม่ขัดข้อง คือปัญหาที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ ต้องตอบคำถามที่ชัดเจน ปราศจากข้อสงสัยให้แก่สังคม และผู้ที่ประสงค์จะชุมนุม หรือประท้วงเรียกร้องให้ได้ว่า เหตุผลใดจึงไม่อนุญาต ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่จึงน่าจะเป็นปัญหาสำคัญข้อหนึ่งของการบังคับใช้กฎหมายการชุมนุมสาธารณะ โดยผู้รับแจ้งอาจจะกลายเป็นเป้า หรือคู่กรณีไปด้วยอีกคน ก็เป็นได้
แม้กฎหมายมาตรา 10 จะใช้ถ้อยคำว่า ผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ให้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง แต่การตามกฎหมายนี้ กลับมิใช่เรื่องของการแจ้งเพียงเพื่อทราบเฉยๆ เพราะกฎหมายเปิดช่องให้ผู้รับแจ้งใช้ดุลยพินิจ หากเห็นว่าการชุมนุมสาธารณะนั้นขัดต่อกฎหมาย และสั่งให้แก้ไขแล้วทำไม่ได้ อาจมีคำสั่งห้ามชุมนุม ฉะนั้น ประเด็นเรื่องของการแจ้งการชุมนุมจึงน่าจะเป็นเพียงประเด็นเดียวที่ทำให้กฎหมายการชุมนุมสาธารณะเกิดคำถามหรือข้อสงสัยต่างๆ นานา เช่นว่า กฎหมายฉบับนี้ รับรองเสรีภาพในการชุมนุม หรือเป็นเรื่องการขออนุญาตใช้สิทธิโดยนัยทางอ้อม การชุมนุมสาธารณะเป็นเรื่องของสิทธิ หรือเสรีภาพ? และที่สำคัญ อาจนำไปสู่ปัญหาการตีความกฎหมายได้หรือไม่
แต่อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมร้อยละ 90% ของเนื้อหากฎหมายฉบับนี้ ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก และเป็นกติกาที่ควรมีสำหรับการชุมนุมมานานแสนนานแล้วสำหรับสังคมไทย
อ่านต่อได้ที่ : http://www.ryt9.com/s/tpd/2219515