วางแผนอย่างไรให้เสียภาษีป้ายน้อยที่สุด
01
Jun
กฤชนล คุณชื่น
เจ้าพนักงานสรรพากรปฏิบัติงาน
สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 23
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต
วางแผนอย่างไรให้เสียภาษีป้ายน้อยที่สุด
ภาษีป้ายเป็นภาษีที่จัดเก็บจากป้ายแสดงชื่อยี่ห้อ หรือเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบการเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะแสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใดๆ ด้วยอักษรภาพหรื่องเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึก หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่นๆ ทั้งรูปภาพ โลโก้ ตัวอักษรภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศ ทั้งป้ายทั่วไป ป้ายผ้าไบ ป้ายบิลบอร์ด หรือป้ายไฟโฆษณาล้วนต้องเสียภาษีป้ายทั้งสิ้น
โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษี คือ เจ้าของป้ายหรือผู้ครอบครองป้าย ถ้าไม่อาจหาตัวผู้ครอบครองป้ายนั้นได้ ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือที่ดินที่ป้ายนั้นติดตั้งอยู่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย
อัตราภาษีป้ายใหม่ ภาษีป้ายเป็นภาษีซึ่งองค์กรปกครองท้องถิ่นมีหน้าที่ในการจัดเก็บ เพื่อหารายได้มาพัฒนาท้องถิ่นของตน โดยมีการปรับอัตราภาษีป้ายใหม่เพื่อให้การจัดเก็บภาษีป้าย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยใช้บังคับสำหรับป้ายที่ต้องเสียภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ดังนี้
ประเภทที่ 1 ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน
(ก) ป้ายที่มีข้อความที่เคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ ให้คิดอัตรา 10 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
(ข) ป้ายนอกจาก (ก) ให้คิดอัตรา 5 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
ประเภทที่ 2 ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ และหรือปนกับภาพ และหรือเครื่องหมายอื่น
(ก) ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความเครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ ให้คิด 0. อัตรา 52 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
(ข) ป้ายนอกจาก (ก) ให้คิดอัตรา 26 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
ประเภทที่ 3 ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใด ๆ หรือไม่ และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
(ก) ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความเครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ ให้คิดอัตรา 52 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
(ข) ป้ายนอกจาก (ก) ให้คิดอัตรา 50 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
ทั้งนี้ หากคำนวณแล้วมีภาษีป้ายที่ต้องเสียต่ำกว่า 200 บาท ใช้ชำระภาษีเป็นเงิน 200 บาท เจ้าของป้ายหรือผู้ครอบครองป้ายจะต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี (แบบ ภ.ป.1) ภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี หากติดตั้งป้ายใหม่หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในป้าย ต้องยื่นแบบ ภ.ป.1 ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ติดตั้งใหม่หรือเปลี่ยนแปลงข้อความใหม่หากเจ้าของป้ายได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษี (แบบ ภ.ป.3) ให้ชำระภาษีภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน ถ้าชำระภายในกำหนด และมีภาษีที่ต้องชำระเกิน 3,000 บาท สามารถผ่อนชำระได้ 3 งวด งวดละ เท่าๆ กัน
บทลงโทษ
1. ไม่ยื่นแบบฯ ภายในกำหนดเวลาต้องเสียเงินเพิ่ม ร้อยละ 2 ต่อเดือนของค่าภาษี
2. ไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลาต้องเสียค่าปรับ ร้อยละ 10 ของค่าภาษี
3. หากยื่นแบบฯ ไม่ตรงความจริงทำให้ชำระภาษีขาดไป ต้องเสียค่าปรับร้อยละ 10 ของค่าภาษี
หากคิดจะติดป้าย ต้องดูว่าป้ายของเราเข้าข่ายต้องเสียภาษีหรือไม่ เป็นป้ายประเภทไหนต้องเสียอัตราเท่าไหร่ โดยควรวางแผนจัดทำป้ายให้ดี เพื่อเสียภาษีอย่างถูกต้องและประหยัดที่สุดจะได้ไม่ต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นมากเกินความจำเป็น ดังนั้น ก่อนจะทำป้ายเราต้องคำนึงถึงเงินค่าภาษีป้ายที่จะต้องเสียในแต่ละปีด้วย