การส่งเสริมการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ
01
Jun
อพัฏศศิ นวะสิทธิ์
เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการวิชาชีพระดับกลาง
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
สังกัด สำนักกลยุทธ์และพัฒนากองทุน
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต
การส่งเสริมการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ
การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (Thai Direct Investment Abroad: TDI) เป็น ธุรกรรมการลงทุนที่ผู้ลงทุนซึ่งมีถิ่นฐานในประเทศไทยมีต่อธุรกิจที่มีถิ่นฐานในต่างประเทศที่เป็นกิจการในเครือ โดยที่ผู้ลงทุนถือหุ้นของกิจการในเครือ หรือกิจการที่นำเงินไปลงทุนตั้งแต่ร้อยละ 10 ขึ้นไป ครอบคลุมถึง
1) เงินลงทุนในทุนเรือนหุ้น (Equity Investment)
2) การกู้ยืมระหว่างบริษัทในเครือ (Direct Loans)
3) กำไรที่นำกลับมาลงทุน และ
4) ตราสารหนี้และสินเชื่อการค้าที่เป็นธุรกรรมระหว่างบริษัทในเครือด้วยกัน
โดยวัตถุประสงค์ของ TDI แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
(1) ขยายตลาด
(2) แสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ
(3) ลดต้นทุน และ
(4) แสวงหาเทคโนโลยี
ลักษณะของธุรกิจในประเทศปลายทางที่ออกไปลงทุนเป็น 3 ประเภท คือ
(1) การลงทุนในธุรกิจเดิม
(2) ธุรกิจที่เชื่อมโยงกับธุรกิจในประเทศ และ
(3) ธุรกิจใหม่ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเดิมในประเทศ
TDI เป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในเวทีระดับโลก เพื่อลดปัญหาการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรในประเทศและการแสวงหาโอกาสทำธุรกิจใหม่ๆ นำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้ในระยะยาว โดยธุรกิจที่ออกไปลงทุนต่ำงประเทศสามารถเลือกลงทุนด้วยเงินทุนของตนเองทั้งหมด (Wholly owned) หรือร่วมทุน (Joint venture) กับธุรกิจในต่างประเทศภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับของประเทศนั้นๆ
การสนับสนุนให้ภาคเอกชนออกไปลงทุนยังต่างประเทศเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้บรรลุเป้าหมายหลักทางเศรษฐกิจ คือ ให้มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินได้ในภาวะที่มีเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก ประเทศไทยสามารถนํามาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรงหรือการลงทุนในหลักทรัพย์ นอกจากจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในยามที่มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าจำนวนมากแล้ว ยังจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวอีกด้วย