บริหารภาษีอย่างไรให้ถูกกฎหมาย

UploadImage
 
UploadImage

ร้อยตรี พุฒิพงศ์ อินเมืองแก้ว
นายทหารรับจ่ายเงิน กรมการสัตว์ทหารบก
กรมการสัตว์ทหารบก จังหวัดนครปฐม
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต
 
บริหารภาษีอย่างไรให้ถูกกฎหมาย
 
          1. วางโครงสร้างเงินทุนของกิจการ การวางแผนภาษีควรเริ่มกันตั้งแต่จัดตั้งบริษัท สำหรับกิจการที่ตั้งขึ้นมาแล้วก็สามารถทำได้ แต่จะก็ยุ่งยากกว่าการตั้งที่ใหม่ กล่าวคือโครงสร้างเงินทุนของกิจการ เงินทุนของทุกธุรกิจประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ เงินทุนจดทะเบียน และเงินกู้ ทั้ง 2 ส่วนนี้ต้องการผลตอบแทนจากกิจการ ถ้าทุนมาจากทุนจดทะเบียนหรือเจ้าของ กิจการต้องจ่ายผลตอบแทนโดยเงินปันผล (เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีไม่ได้) และถ้าเงินทุนมาจากเงินกู้ คุณต้องจ่ายดอกเบี้ย (เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้) ดังนั้นถ้ากิจการเริ่มต้นธุรกิจ และมีเงินลงทุนอยู่จำนวนหนึ่ง แทนที่จะนำมาเงินทั้งหมดเป็นทุนจดทะเบียน ให้แบ่งบางส่วนมาให้กิจการกู้ยืม เป็นวิธีเปลี่ยนจากการจ่ายเงินปันผล เป็นการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้แทน กิจการสามารถบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 
          2. วางโครงสร้างผู้ถือหุ้นของกิจการ (การใช้สิทธิเครดิตภาษี) ตามมาตรา 47 ทวิ ผู้ถือหุ้นที่ได้รับเงินปันผลจะได้รับเครดิตภาษีเงินปันผล เท่ากับส่วนของภาษีที่กิจการได้จ่ายไป กล่าวคือ ผู้รับเงินปันผลจะได้รับภาษีที่กิจการเสียให้สรรพากรคืนมา เพราะจะต้องนำรายได้เงินปันผลนี้ไปยื่นภาษีบุคคลธรรมดาอีกครั้ง มาตรานี้ มีไว้เพื่อป้องกันการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน  การใช้ประโยชน์จากกฎหมาย 2 ส่วนหลัก ๆ คือจากมาตรา 47 ทวิ ที่สามารถขอเครดิตภาษีได้ และส่วนที่ 2. คืออัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับการยกเว้น 150,000 บาทแรก วิธีการนี้ทำเพียงครั้งเดียว จึงคุ้มค่าที่จะให้ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีมาช่วยดูแลให้
          3. การจ้างรับเหมา หรือจ้างทำงานให้ ถ้ากิจการทำธุรกิจในลักษณะจ้างรับเหมา คือหาวัสดุ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์มาทำงาน กิจการอาจจะเปลี่ยนวิธีการรับรู้รายได้ เพื่อลดภาระภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย เช่น กิจการรับจ้างรับเหมา 10,000 บาท ซึ่งจะต้องหัก ณ ที่จ่าย 300 บาท ถ้ากิจการรู้ว่ามีต้นทุนค่าวัสดุอุปกรณ์อยู่ 5,000 บาท ก็จัดทำสัญญาเฉพาะค่าแรงเหมือนเป็นการจ้างทำงาน หรือจ้างทำของ 5,000 บาท ก็จะหัก ณ ที่จ่ายแค่ 150 บาทเท่านั้น สำหรับค่าวัสดุอุปกรณ์ที่เหลือเป็นความรับผิดชอบของผู้ว่าจ้าง ซึ่งกิจการอาจจะช่วยจัดหาวัสดุอุปกรณ์แทนลูกค้าตามปกติได้
          4. ทำเอกสารรายจ่ายอย่างถูกต้อง ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ถูกนำไปเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามโดยที่ไม่จำเป็น เพราะว่าผู้ขายไม่มีหลักฐานการรับชำระเงิน หรือใบเสร็จที่สมบูรณ์ให้ แต่สรรพากรก็มีหลายวิธีให้กิจการได้เลือกใช้ แม้ว่ากิจการจะไม่ได้รับใบเสร็จที่สมบูรณ์ เช่น ทำใบสำคัญจ่าย และให้ผู้รับเงินเซ็น พร้อมสำเนาบัตรประชาชน, จ่ายเงินผ่านบัญชีธนาคารหรือจ่ายด้วยเช็คขีดคร่อมผู้รับเงินเพราะสามารถระบุตัวผู้รับเงินได้ และกิจการควรเลือกคู่ค้าที่สามารถออกเอกสารที่ถูกต้องได้ เพื่อลดต้นทุนทางภาษีที่กิจการต้องแบกรับภาระไว้เอง
          5. ใช้ขาดทุนสะสมมาหักภาษี หลายๆ กิจการลืมเอาผลขาดทุนภายใน 5 ปี นำมาหักค่าใช้จ่ายภาษีได้ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ทำให้กิจการต้องเสียภาษีมากกว่าที่ควร ผู้ประกอบการอย่าลืมให้นักบัญชีที่เป็นผู้จัดทำบัญชีให้กิจการยกผลขาดทุนสะสม 5 ปีมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายภาษีได้
          การประหยัดภาษี ยังมีอีกหลากหลายวิธีที่กิจการสามารถเลือกนำมาปรับใช้เพื่อให้กิจการมีค่าใช้จ่ายทางภาษีที่ลดลง และที่สำคัญเป็นวิธีที่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย ไม่ส่งผลกระทบต่อกิจการ และยังได้ทำหน้าที่ของประชาชนคนไทยได้อย่างสมบูรณ์