การปรับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย TFRS

UploadImage
 
UploadImage

ปารเมศ อักษรดี
หัวหน้าสำนักงานทนายความ
สำนักงานทนายความ PM.Law Services
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต

 
การปรับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย TFRS
 
          วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในกลางปี พ.ศ. 2540 ทำให้สะท้อนถึงปัญหามาตรฐานการบัญชีของไทยที่ไม่เป็นสากล  ทำให้งบการเงินของบริษัทมหาชนจำกัดไม่ได้ส่งสัญญาณเตือนภัยให้นักลงทุน และไม่สะท้อนฐานะทางการเงินที่แท้จริงของกิจการ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องยกระดับมาตรฐานการบัญชีไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ มาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย TFRS เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ช่วยสื่อสารและรวบรวมธุรกรรมออกมาเป็นรูปแบบทางการเงินที่เข้าใจง่ายแก่นักลงทุนตลอดจนผู้ใช้รายงานทางการเงินอื่น ๆ ธุรกิจจะต้องมีธุรกรรมประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นรายการซื้อ รายการขาย รายการรับชำระเงิน และรายการจ่าย ชำระเงิน รวมถึงมีธุรกรรมเกิดขึ้นใหม่ ๆ เช่น การควบรวมกิจการ ธุรกรรมเหล่านี้สามารถสะท้อนเนื้อหาที่แท้จริงของรายการแสดงอยู่ในรูปแบบของงบการเงินได้โดยใช้แนวทางที่กำหนดไว้ใน TFRS  กิจการที่ถูกกำหนดให้ใช้ TFRS เป็นแนวทางการปฏิบัติเป็นกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะที่มีลักษณะของกิจการที่มีตราสารทุนหรือตราสารหนี้ของกิจการที่มีการซื้อขายต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ในประเทศหรือต่างประเทศ หรือการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์(Over the Counter) รวมทั้งตลาดในท้องถิ่นและในภูมิภาค เพื่อวัตถุประสงค์ในการออกขายหลักทรัพย์ใด ๆ ต่อประชาชนและกิจการที่ดำเนินธุรกิจหลักในการดูแลสินทรัพย์ของกลุ่มบุคคลภายนอกในวงกว้าง เช่น  สถาบันการเงิน บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกินวินาศภัย บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือบริษัทมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชน หรือกิจการอื่น ๆ ที่อาจมีการกำหนดเพิ่มเติม ซึ่งต้องปฏิบัติตามมาตรฐานรายงานทางการเงินที่ได้กำหนดให้ใช้มาตรฐาน Publicly Accountable Entities : PAEs ที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่จัดขึ้นตามรายงานทางการเงินระหว่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ มาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย TFRS มาตรฐานการบัญชีไทย TAS การตีความมาตรฐานการบัญชีของไทย TSIC  และการตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย TFRIC
          ดังนั้น การปรับเปลี่ยนและยกระดับมาตรฐานการบัญชีไทย เพื่อให้งบการเงินสะท้อนถึงฐานะทางการเงินของกิจการอย่างแท้จริง จะทำให้ข้อมูลโปร่งใสและตรวจสอบได้ง่ายมากขึ้น ช่วยให้นักลงทุนนำเอาข้อมูลทางการเงินในกิจการนั้น ๆ มาใช้ในการตัดสินใจในการลงทุนได้ง่ายขึ้น