ความสำคัญการจัดทำงบกระแสเงินสด

UploadImage
 
UploadImage
 
ความสำคัญการจัดทำงบกระแสเงินสด
The importance of preparing the cash flow statement
 
ปรีย์ธนิสร์  ประจักรจิตร์
PREETHANIS PRAJAKJIT
Preethanis13@gmail.com
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
 
บทคัดย่อ 
          ในงบการเงินที่กิจการควรให้ความสำคัญ คือ งบกระแสเงินสด เป็นรายงานที่จัดทำขึ้นเพื่อแสดงการเปลี่ยนแปลงของเงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสดในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเพื่อแสดงการได้มาและใช้ไปของ “เงินสด” พูดง่ายๆ ก็คือรายงานที่จะแสดงให้เห็นถึงกระแสเงินไหลเข้า  และ กระแสเงินไหลออก ของกิจการ  ซึ่งเป็นข้อมูลสำหรับงวด ที่เกี่ยวกับเงินสดรับ เงินสดจ่ายและรายการเทียบเท่าเงินสดที่มีสภาพคล่องสูงสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดด้วยจำนวนที่แน่นอน และให้ข้อมูลในรูปแบบของเงินสด ในการจัดเตรียมงบกระแสเงินสด แบบฟอร์มงบกระแสเงินสด มักเกี่ยวข้องกับ 3 กิจกรรม ที่ล้วนเป็นกิจกรรมที่สำคัญในการดำเนินกิจการ ประกอบด้วยกิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมลงทุน และกิจกรรมจัดหางาน ดังนั้นงบกระแสเงินสดจึงแสดงเงินสดที่มีผลมาจากกิจกรรมระหว่างงวด ในรูปแบบผลกระทบยอดคงเหลือ ของเงินสดต้นงวดและปลายงวด ดังนั้นจึงเป็นรายการสินทรัพย์หมุนเวียนที่มีความสำคัญรายการหนึ่งของ บริษัท หรือ องค์กร ซึ่งผู้บริหารขององค์กรได้รับทราบเกี่ยวกับรายการเงินสด ก็จะทำให้รับรู้ว่า กิจการมีความสามารถในการเข้ามาของเงินสด และการจ่ายออกไปของเงินสด และยังช่วยให้มีการวางแผนและการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการจัดทำงบกระแสเงินสด สร้างความสัมพันธ์ของการบริหารและการบัญชี 
 
คำสำคัญ : กระแสเงินสด, กิจกรรมดำเนินงาน, กิจกรรมลงทุน, กิจกรรมจัดหาเงิน
 
Abstract 
          In the financial statements that the entity should pay attention to is the cash flow statement. It is a report prepared to show the change in cash. and cash equivalents at any given time to show the acquisition and use of “cash”. In other words, a report that shows the inflow and outflow of an entity, which is the data for the period. relating to cash received Cash payments and highly liquid cash equivalents can be converted into cash with a fixed amount. and provide information in the form of cash in preparing the cash flow statement cash flow statement form Usually involves 3 activities that are all important activities in the business. It consists of operating activities, investment activities and recruitment activities. Therefore, the statement of cash flows shows cash that results from activities during the period. in balance effect form of cash at the beginning and end of the period Therefore, it is one of the important current assets of a company or organization. which the executives of the organization have been informed about the cash transactions It will be recognized that the entity has the ability to come in of cash. and the disbursement of cash It also allows for effective planning and decision-making. affect the preparation of the cash flow statement Build a relationship of management and accounting.
 
Keywords: Cash flows, Operating Activities, Investing Activities, Financing Activities
 
บทนำ 
          ในการจัดทำงบกระแสเงินสดมีความแตกต่างระหว่างกำไรสุทธิทางบัญชีและกระแสเงินสด กำไรสุทธิทางบัญชี คือ รายได้หักด้วยต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของกิจการ สำหรับ กระแสเงินสด คือ การเข้าออก (รายการได้มาและใช้ไป)ของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด การจัดทำงบกระแสเงินสดเป็นการคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงานตามเกณฑ์เงินสด แต่การจัดทำงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จนั้นโดยทั่วไปกิจการจัดทำตามเกณฑ์คงค้าง เกณฑ์คงค้างจะคำนึงรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละงวดโดยไม่สนใจการรับเงินและจ่ายเงินหรือไม่ส่วนเกณฑ์เงินสดจะคำนึงถึงจำนวนเงินที่ได้รับและจ่ายไปใช้ในระหว่างงวดเป็นการยึดเงินสดเป็นหลัก โดยการหลักการจัดทำงบกระแสเงินสด กิจการต้องจัดงบกระแสให้เป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานการบัญชีและต้องแสดงงบกระแสเงินสดเป็นส่วนหนึ่งของงบการเงินของกิจการ กิจการต้องเสนอกระแสเงินสดที่เกิดจากกิจการดำเนินงาน กิจการลงทุนและกิจการจัดหาเงินในลักษณะที่เหมาะสมของธุรกิจจำแนกกิจกรรมจะให้จะให้ข้อมูลที่ทำให้ผู้ใช้งบการเงินสามารถประเมินผลกระทบของกิจการจากแหล่งนั้นต่อการแสดงฐานะทางการเงิน ในการจัดทำงบกระแสเงินสดจะต้องทำความเข้าในถึงความแตกต่างระหว่างเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดกับรายการที่ไม่ใช้เงินสด เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด คือ เงินสดในมือและเงินฝากธนาคารที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม,เงินลงทุนที่มีสภาพคล่องสูงซึ่งพร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นเงินสดในจำนวนที่ทราบได้ รายการที่ไม่ใช้เงินสด คือ รายการลงทุนและรายการจัดหาเงินที่มิได้มีการใช้เงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสดต้องไม่นำมารวมในงบกระแสเงินสดแต่ต้องทำการเปิดเผยไว้ในส่วนอื่นของงบการเงิน
          ตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 7 เรื่อง “งบกระแสเงินสด” กำหนดให้กิจการต้องเปิดเผยรายการ กระแสเงินสดจากภาษีเงินได้เป็นรายการแยกต่างหาก และต้องจัดประเภทเป็นกระแสเงินสดจากกิจกรรม ดำเนินงาน เนื่องจากกิจการต้องคำนวณภาษีเงินได้จากกำไรขาดทุนของกิจการซึ่งเป็นผลการดำเนินงาน เว้นแต่ในกรณีที่ระบุโดยเจาะจงได้ว่าเป็นของกิจกรรมลงทุนหรือกิจกรรมจัดหาเงิน กล่าวคือ หากกิจการ สามารถระบุได้ในทางปฏิบัติว่ากระแสเงินสดของภาษีเงินได้นั้นเป็นของรายการที่ก่อให้เกิดกระแสเงินสดที่ จัดเป็นกิจกรรมลงทุนหรือกิจกรรมจัดหาเงิน กระแสเงินสดของภาษีเงินได้ดังกล่าวจะถูกจัดประเภทเป็น กิจกรรมลงทุนหรือกิจกรรมจัดหาเงินตามรายการที่เกิดขึ้น เช่น กิจการอาจจัดรายการภาษีที่เกี่ยวข้องกับ การขายที่ดินไว้ในกิจกรรมลงทุนในลักษณะเดียวกันกับกระแสเงินสดรับจากการขายที่ดิน เป็นต้น ทั้งนี้ ในกรณีที่กิจการปันส่วนกระแสเงินสดของภาษีเงินได้ไปสู่กิจกรรมมากกว่าหนึ่งกิจกรรม กิจการต้องเปิดเผย ภาษีเงินได้ที่จ่ายทั้งจำนวนด้วย อย่างไรก็ตาม หากกิจการไม่สามารถระบุรายการกระแสเงินสดของภาษีเงิน ได้ในทางปฏิบัติว่าเป็นของกิจกรรมใด กิจการมักจัดกระแสเงินสดของภาษีเงินได้ดังกล่าวเป็นกระแสเงินสด จากกิจกรรมดำเนินงาน
 
วัตถุประสงค์
          1. เพื่อศึกษาแนวทางและหลักการในการจัดทำงบกระแสเงินสด
          2. เพื่อให้ทราบถึง งบกระแสเงินสด เกี่ยวกับเงินสดรับและเงินสดจ่าย รายการเทียบเท่าเงินสดที่มีสภาพคล่องสูง และการเปลี่ยนแปลงของเงินสดด้วยจำนวนที่แน่นอน
          3. เพื่อทราบถึงข้อมูลในรูปของเงินสด ที่เกี่ยวกับกิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมลงทุนและกิจกรรมจัดหางาน
 
เนื้อหาบทความ
การวิเคราะห์งบกระแสเงินสด
          การวิเคราะห์งบกระแสเงินสด เพื่อ ตรวจสอบการได้มาและใช้ไปของเงินสดในบริษัท ซึ่งจะเป็นส่วนอธิบายของงบดุลและงบกำไรขาดทุนอีกทีหนึ่ง งบกระแสเงินสดจะมีส่วนสำคัญมากเกี่ยวกับสภาพคล่องของบริษัท ซึ่งบางท่านอาจจะเคยได้ยินว่า “เงินสดคือพระเจ้า” นั่นหมายความว่า ยิ่งบริษัทมีเงินสดในมือมากเท่าไหร่ จะแสดงถึงความสามารถในการดำเนินการหรือตอบสนองการกระทำใดของบริษัทได้อย่างทันทีทันใด เปรียบเทียบกับบริษัทที่มีสินทรัพย์เป็นพันล้านแต่มีเงินสดอยู่เพียงแค่สามล้าน และหนี้สินระยะสั้นอีก หากไม่สามารถขายสินค้าได้ บริษัทก็จะขาดสภาพคล่องทันทีและต้องทำการกู้ยืมเงินมาเพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งการกู้ยืมก็นำมาซึ่งดอกเบี้ยและหนี้สิน มาเสริมหนี้สินส่วนที่มีอยู่แล้วให้มากยิ่งขึ้นไปอีก แสดงให้เห็นถึงการดำเนินการที่ไม่รัดกุม
          1. ลักษณะของการบริหารของผู้บริหาร ถ้าผู้บริหารมีความกล้าได้กล้าเสียนั่นหมายถึงเป็นคนที่ชอบความเสี่ยง จะมุ่งเน้นกำไรของธุรกิจสูง ความเสี่ยงจึงต้องสูงตามไปด้วย ซึ่งจะเน้นการเก็บเงินสดไว้ในมือน้อย ก็จะเป็นข้อต่างกันกับผู้บริหารที่เน้นสภาพคล่องของเงินสูงก็จะมีเงินสดในมือมาก ก็จะทำกิจการแบบค่อยเป็นค่อยไป จะเน้นความเสี่ยงต่ำ ในขณะเดียวกันกำไรต่อหุ้นก็จะมองที่สูงๆ
          2. ผู้บริหารเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลหรือไม่ เนื่องจากต้องมองลึกลงไปถึงความแข็งแกร่งของธุรกิจในอนาคตข้างหน้า และสามารถมีโอกาสที่จะสร้างกำไรและสามารถแบกรับความเสี่ยงในอนาคตที่จะเกิดขึ้นด้วยหรือไม่
          3. ดูความสามารถในการชำระหนี้ ดูได้จากกระแสเงินสดในกิจกรรมในการดำเนินงาน ถ้าเป็นบวกแสดงว่าบริษัทสามารถนำกำไรมาชำระหนี้ได้ ถ้าเป็นลบแสดงว่าบริษัทต้องกู้เงินมาชำระหนี้
 
งบกระแสเงินสด 
           แต่ดั้งเดิมจะกำหนดให้เป็น กระแสเงินสดได้มา – กระแสเงินสดใช้ไปซึ่งก็จะไม่ถูกต้องนัก จึงต้องมีการจัดทำงบกระแสเงินสดที่จำเป็นต้องพิจารณาถึงรูปแบบของการใช้ไปของเงินสดด้วยทั้งนี้เนื่องจากการได้มาของเงินสดของกิจการอาจสามารถหาได้จากการดำเนินงาน หรือจากการขายสินทรัพย์ จากการกู้ยืม จากการออกตราสารของธุรกิจ ดังนั้น งบกระแสเงินสดในปัจจุบันจึงกำหนดเป็นแบบเต็มรูปแบบจึงจะสามารถแบ่งการได้มา หรือการใช้ไปของเงินสดได้ดังนี้คือ
          1. กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน  (Cash Flows from Operating Activities) คือ เงินสดรับจ่ายจริงที่ได้จากการดำเนินกิจการ โดยไม่สนใจรายได้ที่ยังไม่ได้รับและค่าใช้จ่ายที่ยังไม่ได้จ่ายเงิน กระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน คำนวณจากกำไรสุทธิปรับด้วยรายการที่ไม่ได้รับหรือจ่ายเงินจริง เช่น ค่าเสื่อมราคาและบวกหรือลบการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์หมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียนโดยหากสินทรัพย์หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น แสดงว่ามีการใช้ไปของเงินสด จึงต้องนำมาหักออกและหากหนี้สินหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น แสดงว่าธุรกิจยังไม่ได้ชำระเงินทำให้เงินสดในมือเพิ่มขึ้นจำต้องนำไปบวกกลับกับกำไรสุทธิ
กระแสเงินสดรับ ได้แก่  
             – กระแสเงินสดจากการขายสินค้าและ/ หรือบริการ
             – เงินสดรับจากเงินปันผลของกิจการ
             – เงินสดรับจากดอกเบี้ย
             – เงินสดรับอื่น ๆ เช่น เงินค่าเช่า ค่าทำเนียม ค่านายหน้า เป็นต้น
กระแสเงินสดจ่าย ได้แก่  
             – เงินสดจ่ายค่าซื้อวัตถุดิบหรือสินค้า
             – เงินสดจ่ายค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกิจการ
          2.  กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน (Cash Flows from Investing Activities) คือ กระแสเงินสดรับจ่ายจริงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในการลงทุนของธุรกิจในส่วนของที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ เงินลงทุน หากมีการลงทุนเพิ่ม เช่น ซื้อเครื่องจักร แสดงว่ามีการใช้ไปของเงินสด ในทางตรงข้าม หากมีการขายสินทรัพย์ออกไป จะถือว่าเป็นแหล่งได้มาของเงินสด  ทั้งนี้ ในกรณีที่สัญญานำไปใช้เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงของรายการที่สามารถระบุได้ กระแสเงินสดที่เกิดจากสัญญา ให้จัดประเภทในลักษณะเดียวกับกระแสเงินสดของรายการที่ถูกป้องกันความเสี่ยง
กระแสเงินสดรับ ได้แก่
              - เงินสดรับจากการขายที่ดิน อาคาร
              - เงินสดรับจากดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนจากการลงทุน
กระแสเงินสดจ่าย ได้แก่
              - เงินสดจ่ายจากการซื้อที่ดิน อาคาร หรืออุปกรณ์
              - เงินสดจ่ายจากการซื้อสินทรัพย์เพื่อการลงทุนอื่น ๆ
          3. กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน (Cash Flows from Financing Activities)  คือ กระแสเงินสดรับจ่ายจริงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในแหล่งที่มาของเงินทุน ทั้งที่เป็นการกู้ยืมระยะสั้น และระยะยาว เช่น เงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารและกรรมการ พันธบัตร หุ้นกู้ และตั๋วสัญญาใช้เงิน การนำหุ้นทุนออกจำหน่าย และการจ่างเงินปันผล โดยหากธุรกิจมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น จะทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้น สำหรับเงินปันผลจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น จะทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินลดลง
เงินสดเพิ่มขึ้นหรือลดลงสุทธิ จะเท่ากับผลรวมของกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมลงทุนและกิจกรรมจัดหาเงิน และถ้ารวมเงินสดเพิ่มขึ้นหรือลดลงสุทธิ กับเงินสดต้นปี จะเท่ากับยอดเงินสดคงเหลือปลายปีในงบดุลนั่นเอง
กระแสเงินสดรับ ได้แก่
            - เงินสดรับจากการกู้ยืมเงิน
            - เงินสดรับจากการเพิ่มทุนหรือจำหน่ายหุ้นกู้
กระแสเงินสดจ่าย ได้แก่
            - เงินสดจ่ายจากการปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น
            - เงินสดจ่ายชำระเงินกู้ยืม
            - เงินสดจ่ายเพื่อไถ่ถอนหุ้นกู้
 
ข้อมูลการจดทำงบกระแสเงินสด 
ในการจดทำงบกระแสเงินสดจะต้องอาศัยข้อมูลจาก 3 แหล่งคือ 
          1. งบดุล ณ วันต้นงวด และงบดุล ณ วันสิ้นงวด ในงวดเดียวกัน เพื่อนามาเปรียบเทียบว่า สินทรัพย์หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ ณ. วันต้นงวด และ ณ. วันสิ้นงวดมีการเปลี่ยนแปลงในทาง เพิ่มขึ้นหรือลดลง
          2. งบกำไรขาดทุนของงวดนั้น ๆ ซึ่งแสดงถึงรายได้และค่าใช้จ่ายของงวดนั้น ๆ โดยใช้เกณฑ์สิทธิหรือเกณฑ์พึงรับพึงจ่ายในการบันทึกบัญชี รายได้และค่าใช้จ่ายจึงต้องนำรายได้ และ ค่าใช้จ่ายที่บันทึกบัญชี ตามเกณฑ์สิทธิมาปรับเพื่อให้เป็นเกณฑ์เงินสดหรือกำไรเงินสด 
          3. ข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยดูจากบัญชีแยกประเภท หรือรายละเอียดเพิ่มเติม ว่าเกี่ยวข้องกับเงินสดรับ หรือเงินสดจ่าย
 
วิธีการในการจัดทำงบกระแสเงินสด มีได้ 2 วิธี คือ 
          1) วิธีทางตรง (Direct Method) เป็นวิธีที่ แสดงกระแสเงินสดรับและเงินสดจ่ายตามลักษณะหน้าที่เกิดขึ้นของทั้ง 3 กิจกรรมคือ กิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมลงทุน และกิจกรรมการจัดหาเงิน ทำงบกระแสเงินสดโดยวิธีการคำนวณกระแสเงินสด ซึ่งจะประกอบไปด้วย ยอดขายลงยอดเป็นเงินที่เก็บได้จากลูกค้า ต้นทุนขายลงยอดด้วยจำนวนที่ซื้อหรือชำระสินค้าไป ส่วนเงินสดใช้ไปเช่นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แทนด้วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสุทธิ เช่น เงินสดรับจาก ลูกค้า เงินสดจ่ายให้แก่เจ้าหนี้การค้า เงินสดรับจากเงินปันผล เงินสดจ่ายค่าดอกเบี้ย เงินสด จ่ายค่าภาษีเงินได้ เป็นต้น ทั้งนี้ มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 7 เรื่อง งบกระแสเงินสด สนับสนุนให้กิจการแสดงกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานด้วยวิธีทางตรง เนื่องจากเป็น วิธีที่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการประมาณการกระแสเงินสดรับและกระแสเงินสดจ่ายจาก กิจกรรมดำเนินงานได้ในอนาคตชัดเจนกว่าวิธีทางอ้อม นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารยังสามารถนำข้อมูลไปเปรียบเทียบกับงบประมาณเงินสดของกิจการเพื่อช่วยในการปรับปรุงการบริหารทางการเงินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
          2) วิธีทางอ้อม (Indirect Method) เป็นวิธีที่แสดงเริ่มต้นด้วยกำไรขาดทุนตามเกณฑ์คงค้าง ปรับปรุงด้วยผลกระทบของรายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับเงินสด เช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย หนี้สงสัยจะสูญ เป็นต้น รวมทั้งผลกำไรหรือขาดทุนอันเนื่องมาจากกระแสเงินสดจากกิจกรรม ลงทุนหรือกิจกรรมจัดหาเงิน เช่น ผลกำไรจากการขายที่ดิน ส่วนลดหรือส่วนเกินมูลค่าหุ้นกู้ที่ ตัดจำหน่ายในระหว่างงวด เป็นต้น ตลอดจนปรับปรุงด้วยรายการค้างรับ ค้างจ่าย รับล่วงหน้า และจ่ายล่วงหน้าของเงินสดรับและเงินสดจ่ายที่ เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในอดีตหรือใน อนาคต เช่น การเปลี่ยนแปลงในลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือและเจ้าหนี้การค้าที่เกิดจากการ ดำเนินงานในระหว่างรอบระยะเวลารายงาน เป็นต้น ทั้งนี้ รูปแบบของการนำเสนองบกระแสเงินสดด้วยวิธีทางอ้อมจะแตกต่างจากการนำเสนองบกระแสเงินสดด้วยวิธีทางตรงเฉพาะกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานเท่านั้น ซึ่งในทางปฏิบัติกิจการมักจัดทำางบกระแสเงินสดโดยวิธี ทางอ้อมมากกว่าวิธีทางตรง เนื่องจากเป็นวิธีที่จัดท าได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วกว่า 
นอกจากนี้ งบกระแสเงินสดด้วยวิธีทางอ้อมยังช่วยให้ผู้ใช้งบการเงินสามารถทราบถึงสาเหตุของความแตกต่างระหว่างกำไรขาดทุนตามเกณฑ์คงค้างกับกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน
 
ขั้นตอนการจัดทำ งบกระแสเงินสด 
          1. สรุปรายการในงบดุลโดยแบ่งออกเป็นรายการยอดดุลเดบิต และรายการยอดดุลเครดิต โดย
จำแนกบัญชีประเภทสินทรัพย์และบัญชีส่วนลดมูลค่าหุ้นกู้เป็นรายการยอดดุลเดบิตและบัญชีปรับมูลค่าต่าง ๆ เช่น บัญชีค่าเสื่อมราคาสะสม บัญชีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และบัญชีประเภทหนี้สินและส่วนทุนเป็นรายการยอดดุลเครดิต เป็นต้น
          2. บันทึกยอดคงเหลือยกมาต้นงวด (ยอดคงเหลือของปลายงวดก่อน) และยอดคงเหลือยกไป (ยอด
คงเหลือของปลายงวดปัจจุบัน) ของแต่ละบัญชีลงในกระดาษทำการตามช่องที่ระบุ “ยอดคงเหลือต้นงวด” และ “ยอดคงเหลือปลายงวด”
          3. บันทึกจำนวนเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระหว่างงวดบัญชี ลงในช่อง “รายการกระทบระหว่างปี” 
โดยอาศัยหลักการที่ว่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นทางด้านเดบิตและลดลงทางด้านเครดิต ขณะที่หนี้สิน ส่วนทุนและบัญชีปรับมูลค่า (ยกเว้นส่วนลดมูลค่าหุ้นกู้) เพิ่มขึ้นทางด้านเครดิต และลดลงทางด้านเดบิต
          4. ตรวจสอบยอดคงเหลือของแต่ละบัญชี ณ วันสิ้นงวด โดยการกระทบยอดคงเหลือยกมาต้นงวด
กับรายการปรับปรุงซึ่งจะต้องได้ยอดเท่ากับยอดคงเหลือ
          5. รวมยอดเดบิตและเครดิต หากยอดดุลเดบิตสูงกว่ายอดดุลเครดิตให้บันทึกผลต่างระหว่างยอดดุล
เดบิตและเครดิตที่เกิดขึ้นลงในช่อง “รายการกระทบระหว่างปี” ทางด้านเดบิตของบัญชี “เงินสดและเงินฝากธนาคาร” และทางด้านเครดิตของรายการ “เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดสุทธิเพิ่มขึ้น” และทางด้านเครดิตของรายการ “เงินสดและเงินฝากธนาคาร”
          6. นำยอดคงเหลือในบัญชี “เงินสดและเงินฝากธนาคาร” ณ วันต้นงวดบวก (หัก) กับรายการเดบิต 
(เครดิต) ในช่อง “รายการกระทบระหว่างปี” ที่บันทึกไว้ หากการบันทึกรายการเป็นไปอย่างถูกต้องผลลัพธ์ที่คำนวณได้จะต้องมีจำนวนเท่ากับยอดคงเหลือในบัญชี “เงินสดและเงินฝากธนาคาร” ณ วันปลายงวด
          7. คัดลอกรายการทั้งหมดที่บันทึกไว้ในกระดาษทำการ ภายใต้หัวข้อ “กิจกรรมดำเนินงาน” 
“กิจกรรมลงทุน” และ “กิจกรรมจัดหาเงิน” ลงในงบกระแสเงินสด โดยเริ่มต้นด้วย “เงินสดสุทธิได้จากกิจกรรมดำเนินงาน” “เงินสดสุทธิได้จากกิจกรรมลงทุน” และ “เงินสดสุทธิได้จากกิจกรรมจัดหาเงิน” พร้อมทั้งแสดงยอดเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดสุทธิเพิ่มขึ้นระหว่างงวด เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดสุทธิเพิ่มขึ้น ระหว่างงวดจะต้องมีจำนวนเท่ากับผลรวมของเงินสดสุทธิได้จากกิจกรรมดำเนินงาน เงินสดสุทธิได้จากกิจกรรมลงทุนและเงินสดสุทธิได้จากกิจกรรมจัดหาเงิน นอกจากนี้ให้แสดงการกระทบยอดเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดสุทธิเพิ่มขึ้น ระหว่างงวดโดยรวมรายการเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดสุทธิเพิ่มขึ้นระหว่างงวดกับ “เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดต้นงวด” ผลรวมที่เกิดขึ้นจะต้องมีจำนวนเท่ากับ “เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดปลายงวด”
 
ประโยชน์ของงบกระแสเงินสด
การจัดทำงบกระแสเงินสดนั้นถือว่ามีประโยชน์มาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุคคลที่จัดทำบริษัท ธุรกิจส่วนตัว หรือ ธุรกิจ SME โดยประโยชน์ของงบกระแสเงินสด ได้แก่
          - ใช้ประเมินสภาพคล่องของกิจการ ซึ่งเป็นประโยชน์กับทั้งนักลงทุน และเจ้าของกิจการเอง แถมยัง
ช่วยให้อ่านงบบัญชีกระแสเงินได้ง่ายขึ้น แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจ่ายเงิน เช่น จ่ายค่าสินค้าและบริการ เงินเดือนพนักงาน เป็นต้น
          - เป็นเครื่องมือวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีตของโครงสร้างกระแสเงินสดของกิจการ และเป็นเครื่องมือใช้วางแผนทางการเงินในอนาคต
          - เพื่อให้ผู้บริหารทราบถึงแหล่งที่มาและที่ไปของกระแสเงินสดภายในกิจการ
          - ใช้ตรวจสอบความสามารถในการทำกำไรและกระแสเงินสดสุทธิ
          - ใช้ประเมินความสามารถของกิจการในการชำระหนี้ การจ่ายปันผล ความจำเป็นในการกู้ยืมเงิน
          - ใช้ข้อมูลจากกระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน ทำให้ทราบว่ากิจการนำเงินไปใช้สำหรับลงทุนเท่าไหร่และอย่างไรบ้าง
          - เพื่อให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเงินของธุรกิจ ว่าเป็นส่วนของหนี้สินหรือส่วนของเจ้าของ สามารถนำไปประเมินความเสี่ยงของกิจการในอนาคตได้
          - ข้อมูลจากกระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน ทำให้ทราบว่ากิจการนำเงินไปใช้ สำหรับลงทุนเท่าไหร่ และอย่างไร
          - ข้อมูลจากกระแสเงินสดจากกิจกรรมการจัดหา ทำให้ทราบว่ากิจการมีการกู้ยืมเงิน ชำระหนี้ ออกหุ้นเพิ่มทุน จ่ายเงินปันผล เท่าไหร่บ้าง
 
กระแสเงินสดที่เป็นเงินตราต่างประเทศ 
          ในกรณีที่เป็นกระแสเงินสดจากรายการเงินตราต่างประเทศ กิจการต้องบันทึกกระแสเงินสดที่เกิด จากรายการที่เป็นเงินตราต่างประเทศนั้นเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานของกิจการที่นำเสนองบการเงิน โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานกับสกุลเงินตราต่างประเทศ ณ วันที่ เกิดรายการกระแสเงินสดนั้น ส่วนรายการกระแสเงินสดของบริษัทย่อยในต่างประเทศ กิจการต้องแปลง ค่ากระแสเงินสดของบริษัทย่อยในต่างประเทศนั้นด้วยอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินที่ ใช้ในการดำเนินงานกับสกุลเงินตราต่างประเทศ ณ วันที่เกิดรายการกระแสเงินสดนั้น งบกระแสเงินสดมีข้อดี คือ เป็นงบที่ตบแต่งบัญชียากที่สุด
 
สรุป
          การจัดทำงบกระแสเงินสด สำหรับบริษัท หรือ องค์กร มีหลักการแสดงการเคลื่อนไหวของเงินสดเป็น 3 กิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมการดำเนินงาน กิจกรรมการลงทุน และกิจกรรมการจัดหาเงิน งบกระแสเงินสด ถือเป็นงบการเงินประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะมีประโยชน์ต่อทั้งการใช้วิเคราะห์ภายในกิจการเอง และยังมีประโยชน์ต่อบุคคลภายนอกอย่าง นักลงทุน หรือ ผู้ให้บริการแหล่งเงินทุนอีกด้วย
          ผู้บริหารส่วนใหญ่จะมีความเข้าใจผิดในเรื่อง งบประมาณเงินสดกับงบกระแสเงินสด งบประมาณเงินสด คือ งบที่แสดงรายการเงินสดยกมาต้นงวดรวมกับเงินสดที่คาดว่าจะได้รับและจ่ายออกไปในอนาคตทำให้เห็นเงินสดคาดว่าจะเกินหรือขาดของกิจการสำหรับ งบกระแสเงินสด คือ งบแสดงการเปลี่ยนแปลงของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดของกิจการที่เกิดขึ้นระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีโดยทำการจำแนกเงินสดจากกิจการดำเนินงาน กิจกรรมลงทุนและกิจการจัดหาเงิน โดยสรุปได้ว่า งบประมาณเงินสด เป็น งบพยากรณ์ในอนาคตและงบกระแสเงินสด เป็น งบที่แสดงผลในอดีต
          ในการจัดทำ งบกระแสเงินสด ต้องใช้ข้อมูลที่ต้องใช้ก่อนการจัดทำงบกระแสเงินสด ซึ่งประกอบไปด้วย งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ งบแสดงฐานะการเงินเปรียบเทียบและรายละเอียดเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในงวด เช่น การซื้อขายสินทรัพย์ การจ่ายเงินปันผลเป็นต้น สำหรับขั้นตอนการจัดทำงบกระแสเงินสด 1.) รวบรวมข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำงบกระแสเงินสด 2.) เปรียบเทียบงบแสดงฐานะการเงิน ๒ งวดบัญชี 3.) วิเคราะห์รายการว่ากิจกรรมใด กิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมลงทุนและกิจกรรมจัดหาเงิน 4.) วิเคราะห์รายการว่าเป็นกระแสเงินสดรับ คือ รายการใดที่ทำให้เงินสดเพิ่มและกระแสเงินสดจ่าย คือ รายการดีที่ทำให้เงินสดลดและ 5.) นำกระแสเงินสดทั้ง 3 กิจกรรมมารวมกัน
          งบกระแสเงินสดนั้นเป็นการพิจารณาประสิทธิภาพของการบริหารงาน ซึ่งดูจากกิจกรรมในการดำเนินงาน ถ้าเป็นบวกก็แสดงว่าการบริหารงานนั้นมีประสิทธิภาพมีความน่าเชื่อถือ และถ้ามีการจ่ายปันผลมากนักลงทุนก็จะพอใจซึ่งเงินปันผลนั้นต้องมาจากกำไรไม่ใช่การกู้ยืม
 
ข้อเสนอแนะ
          งบกระแสเงินสด ในส่วนนี้จะเป็นการ ประมาณการความต้องการเงินทุนและงบดุล ภายในกิจการ ซึ่งกิจการแต่ละประเภทจะมีความต้องการในด้านต่าง ๆ แตกต่างกันไป การวางแผนทางการเงินจะเกี่ยวข้องกับกิจการ ตลอดจนเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ในกิจการ ดังนั้น การวิเคราะห์ความต้องการเงินทุนนี้ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาถึง  การวิเคราะแบบแนวนอน การวิเคราะห์แบบแนวตั้งหรือแนวดิ่ง และการวิเคราะห์แบบแนวโน้ม ซึ่งเทคนิคในการวิเคราะห์งบการเงินต่าง ๆ ช่วยในการส่งผลต่อ การลงทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายในกิจการ การจัดหาแหล่งที่มาของเงินทุนทั้งทุนส่วนของเจ้าของและจากแหล่งอื่น
 
บรรณานุกรม 
          กรมสรรพากร. (2563). ประโยชน์ที่ได้รับจากการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต. สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2563, จากเว็บไซต์: https://rdserver.rd.go.th/publish/index.php?page=benefit
          กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม. (2559). การจัดทำงบกระแสเงินสดแบบง่าย, จากเว็บไซต์: https://bsc.dip.go.th/th/category/financial-accounting/fs-SimpleStatement
          ดร.วรศักดิ์ ทุมมานนท์ (2560). งบกระแสเงินสดและการจัดทำงบกระแสเงินสด จากการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต. จากเว็บไซต์: https://www.dbd.go.th/download/article/article_20181002095333.pdf
          มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี การจัดการเรียนรู้. (2558). งบกระแสเงินสดมีความสำคัญต่อผู้บริหารในการตัดสินใจ จากการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต. สืบค้นเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2558, จากเว็บไซต์: https:// งบกระแสเงินสดมีความสำคัญต่อผู้บริหารในการตัดสินใจ | การจัดการความรู้ (ubu.ac.th)
          วันฤดี สุขสงวน, ธาริณี พงศ์สุพัฒน์ และนิพนธ์ เห็นโชคชัยชนะ. การบัญชีบริหาร (Managerail Accounting) พิมพ์ครั้งที่ 6. บริษัท เอเชียดิจิตอลการพิมพ์ จำกัด 2551,555 หน้าจากการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต. จากเว็บไซต์:http://www.elfms.ssru.ac.th/nawaporn_th/file.php/1/1-557/file_inter/unit5.pdf
          บริษัท ปังปอน จำกัด. (2563). งบกระแสเงินสดของภาษาบัญชี ,งบกระแสเงินสดที่ต้องให้ความสนใจ จากการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต. จากเว็บไซต์: งบกระแสเงินสด อีก 1 ตัวอย่าง Excel (ทางตรง) การวิเคราะห์ ppt มาตรฐาน แบบฝึกหัด (xn--b3cf3alb5cxfdh8a1v.com)
          สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2563). คู่มืออธิบาย TAS 7 จากการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต. 
สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2563, จากเว็บไซต์: https:// i2Lcp7Grdy.pdf (tfac.or.th)
          เอิญ สุริยะฉาย ,Mr.LikeStock (2563). งบกระแสเงินสด จากการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต. จากเว็บไซต์: งบกระแสเงินสด (Statement of Cash Flow) ครบทั้ง 3 กิจกรรม เข้าใจง่าย (mrlikestock.com)
          Donlaya C, Moneywecan.com(2562).งบกระแสเงินสด จากการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต. จากเว็บไซต์: รู้สักนิดก่อนลงทุน ! งบกระแสเงินสด คืออะไร แบบทางตรง ทางอ้อมต่างกันอย่างไร (moneywecan.com)
          My Account Cloud Accounting (2562). การวิเคราะห์งบกระแสเงินสด, จากเว็บไซต์: https:// myAccount Cloud Accounting (myaccount-cloud.com)