การบริหารจัดการและการควบคุมภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

UploadImage
 
UploadImage

การบริหารจัดการและการควบคุมภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
MANAGEMENT AND INTERNAL CONTROL OF LOCAL GOVERNMENT ORGANIZATIONS

นันท์นภัส รักเดชะ
NANNAPHAT RAKDACHA
ceerynannaphat@gmail.com
 
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม


บทคัดย่อ
           วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้เพื่อศึกษาการบริหารจัดการและการควบคุมภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้จัดให้มีการควบคุมภายในให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนดซึ่งการควบคุมภายในถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินงานตามภารกิจมีประสิทธิผลประสิทธิภาพและช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากการผิดพลาดความเสียหายความสิ้นเปลืองความสูญเปล่าของการใช้ทรัพย์สินหรือการกระทำอันเป็นการทุจริต มาตรฐานการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐนี้ได้จัดทำขึ้นตามมาตรฐานสากลของ The Commize of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission: COSO 2013 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการกำหนดประเมินและปรับปรุงระบบการควบคุมภายในของอันจะทำให้การดำเนินงานและการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์เป้าหมายและมีการกำกับดูแลที่ดี         
 
คำสำคัญ : การควบคุมภายใน, การบริหารจัดการ, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
 
Abstract
           The objective of this study was to study the management and internal control of local government organizations. In order to provide internal control in accordance with the standards and criteria prescribed by the Ministry of Finance, internal control is an important factor that will help the operation of the mission to be effective and efficient. and help prevent or reduce the risk of mistakes, damage, wastage, wastage of property use or fraudulent actions. This internal control standard for government agencies is based on the international standards of The Commize of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission: COSO 2013. To be used as a framework for determining, assessing and improving the internal control system which will enable the operation and administration of the local government organization Achieve objectives, goals and have good governance.
 
Keywords : Internal control, Management, local government organizations

บทนำ
          ในการประกอบธุรกิจไม่ว่าจะเป็นองค์กรประเภทใด หรือขนาดใดก็ตาม เจ้าของหรือผู้บริหารองค์กรย่อมมุ่งหวังให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้รวมทั้งมีความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องและมั่นคง หากแต่โอกาสที่องค์กรจะประสบกับความเสี่ยง ความเสียหายจากการดำเนินงานหรือมีการทุจริตอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา สำหรับองค์กรขนาดเล็กที่มีปริมาณธุรกิจไม่มากเจ้าของ หรือผู้บริหารอาจดำเนินธุรกิจด้วยตนเอง โดยควบคุมดูแลได้อย่างทั่วถึงและสามารถบริหารงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่เมื่อองค์กรมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีปริมาณธุรกิจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจ มีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น ประกอบกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงและแข่งขัน กันอย่างรุนแรง เจ้าของ หรือผู้บริหารเพียงคนเดียวไม่อาจควบคุมดูแลได้อย่างทั่วถึง และไม่สามารถบริหารงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงใช้ระบบการควบคุมภายในเป็นเครื่องมือควบคุมการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ ช่วยป้องกันและรักษาทรัพย์สินขององค์กร และช่วยให้การปฏิบัติงาน ในขั้นตอนต่าง ๆ เป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม รวมทั้งป้องปราม หลีกเลี่ยง หรือลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด ระบบการควบคุมภายในจึงมีความจำเป็นและเกี่ยวข้องกับความสำเร็จในการดำเนินงานขององค์กรอย่างมาก
          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๖๒ วรรคสามบัญญัติให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังเพื่อให้ฐานะการเงินการคลังมีเสถียรภาพมั่นคงและยั่งยืนโดยกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกรอบการดำเนินการการคลังงบประมาณวินัยรายได้รายจ่ายทั้งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณการรับทรัพย์สินเงินคงคลังและหนี้สาธารณะดังนั้นจึงได้กำหนดพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ หมวด ๔ การบัญชีการรายงานและการตรวจสอบมาตรา ๗๙ ให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีการตรวจสอบภายในการควบคุมภายในและการบริหารจัดการความเสี่ยงโดยให้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนดซึ่งการควบคุมภายในถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินงานตามภารกิจมีประสิทธิผลประสิทธิภาพประหยัดและช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากการผิดพลาดความเสียหายความสิ้นเปลืองความสูญเปล่าของการใช้ทรัพย์สินหรือการกระทำอันเป็นการทุจริตมาตรฐานการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐนี้ได้จัดทำขึ้นตามมาตรฐานสากลของ The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission: COSO 2013
          องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่มีความใกล้ชิดกับภาคประชาชนที่สุดย่อมต้องเผชิญกับความเสี่ยงและต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายในเพื่อใช้เป็นกลไกที่จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บรรลุวัตถุประสงค์การควบคุมภายในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้าน ได้แก่ ด้านการดำเนินงานด้านการรายงานและด้านการปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบ ให้มีประสิทธิภาพแม้ต้องประสบสถานการณ์วิกฤต อันจะส่งผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นในระบบการให้บริการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระบบการให้บริหารภาครัฐในภาพรวมต่อไป
          จากที่กล่าวมาข้างต้นผู้ศึกษาจึงมีความสนใจศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการและการควบคุมภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาการควบคุมภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
วัตถุประสงค์
          1.  เพื่อศึกษาเป็นแนวทางในการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายในและการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสภาวะวิกฤตหรือเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆที่เกิดขึ้นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
          2. เพื่อให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความเชื่อมั่นในศักยภาพ แม้ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรงและส่งผลกระทบจนทำให้การดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องหยุดชะงัก

แนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยว
          การบริหารจัดการและการควบคุมภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
          ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน Policy Brief มีปัจจัยหลายประการที่มีส่วนส่งเสริมให้การบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสบความสำเร็จทั้งในระดับองค์กรและระดับโครงการ โดยสรุปได้หลักๆ ดังนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ มีการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์ให้กันภายในระหว่างบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีกลไกในการส่งเสริมการทำงานร่วมกันที่เป็นระบบ ผู้บริหารมีภาวะความเป็นผู้นำสูง บุคลากรในองค์กรมีความรู้ความสามารถและมีความรับผิดชอบ การบริหารงานมีการรับฟังความคิดเห็นจากภายนอก และมีความคล่องตัว มีการแปลงวิสัยทัศน์ นโยบาย และยุทธศาสตร์ ขององค์กรมาสู่การปฏิบัติงานอย่างแท้จริง เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนริเริ่มกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการติดตามและประเมินผลโครงการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด มีความเพียงพอของงบประมาณ
 
          ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ในระดับองค์กร)
          (1) มีการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาท้องถิ่น
          องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องมีการทำการวิเคราะห์หาจุดอ่อนจุดแข็ง (SWOT  Analysis) ขององค์กร โดยการระดมความคิดเห็นจากบุคลากรในองค์กร เพื่อให้บุคลากรในองค์กรมีทิศทางในการปฏิบัติงานที่มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน โดยการวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นและเสนอแนะแนวทางแก้ไขร่วมกัน ทั้งนี้ได้คำนึงถึงสภาพภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมในการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์  นอกจากนั้นแล้วยังต้องคำนึงถึงยุทธศาสตร์และเป้าหมายของการดำเนินงานของจังหวัด เพื่อให้การดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปในทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกับแผนพัฒนาในระดับที่สูงกว่า
           (2) การสร้างความรู้ ความเข้าใจและถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่บุคลากรในองค์กร
           ผู้บริหารขององค์กรทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ โดยผู้บริหารได้นำเอาพื้นฐานความรู้และประสบการณ์เชิงธุรกิจมาประยุกต์ใช้กับการบริหารองค์กร รวมทั้งมีแนวความคิดในเรื่องการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นที่เป็นอิสระมุ่งสู่การรับใช้ประชาชนมาถ่ายทอดความรู้และมุมมองให้แก่บุคลากรในองค์กร เพื่อให้ทุกคนมีความรู้และมุมมองในการดำเนินงานเปิดกว้างและไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพการทำงานให้แก่บุคลากร
           (3) การส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกัน
           มีการส่งเสริมการทำการงานอย่างบูรณาการ โดยการทำงานร่วมกันระหว่างกอง/ฝ่ายต่างๆ หรือส่งเสริมการทำงานเป็นทีม มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด เช่น ในการจัดเก็บภาษีอากร กองคลัง ต้องประสานงานให้ผู้ช่วยพัฒนาชุมชนกองส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ทำงานในพื้นที่ช่วยจัดเก็บภาษีให้ หรือประสานงานให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานอำเภอจัดเก็บภาษีให้ นอกจากนี้ยังต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างนักการเมือง ข้าราชการ และประชาชน และทำงานเป็นทีมจากหน่วยงานภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงาน
           (4) ลักษณะผู้บริหารมีภาวะความเป็นผู้นำ
           ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีลักษณะความเป็นผู้นำสูง มีความรู้ความสามารถ กล้าคิด กล้าเปลี่ยนแปลง กล้ารับผิดชอบในการตัดสินใจในการดำเนินงาน มีความมุ่งมั่นในการทำงาน กระตือรือร้น ใฝ่เรียนรู้ คิดเร็ว ทำเร็ว และมีความคิดริเริ่มในโครงการใหม่ๆ หรือนวัตกรรมเสมอ โดยนำความรู้และประสบการณ์มาประยุกต์ใช้กับการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนั้นผู้บริหารยังต้องมีทัศนคติที่เปิดกว้าง รับรู้ รับฟังสิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีความเสียสละ และอุทิศตนในการทำงานเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น
          (5) บุคลากรในองค์กรมีความรู้ความสามารถและมีความรับผิดชอบ
          ต้องมีการส่งเสริมให้บุคลากรในองค์กรได้เข้ารับการอบรมและศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ทำให้บุคลากรสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้นบุคลากรในระดับปฏิบัติงานต้องมีความรอบรู้ มีความกระตือรือร้นในการทำงาน มีความรับผิดชอบสูง และอุทิศตน ทุ่มเทการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร รวมทั้งบุคลากรยังต้องมีความคล่องตัวในการยอมรับกับการเปลี่ยนแปลง มีการเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ร่วมกัน
          (6) การบริหารงานที่มีความคล่องตัว
          ส่งเสริมให้องค์กรมีการบริหารงานที่มีความคล่องตัว โดยการมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบ เพื่อลดขั้นตอนในการทำงานให้สั้นลง ทั้งนี้ผู้บริหารจะเป็นผู้กำหนดนโยบายหรือทิศทางการทำงาน ในขณะที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องนำแผนและนโยบายลงสู่การปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร หากผู้ปฏิบัติงานมีปัญหาอุปสรรคในการทำงานจะร่วมกันแก้ไขปัญหาระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน โดยมีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานเป็นประจำ
          (7)  การรับฟังความคิดเห็นจากภายนอก
          ในการพัฒนาการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภายนอก ได้แก่ ผู้ที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน เพื่อช่วยในการเสริมสร้างความรู้ความสามารถให้แก่บุคลากรภายในองค์กรและเสนอแนะแนวทางในการดำเนินงานและโครงการ เช่น การตั้งสภาที่ปรึกษา รวมทั้งการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถบริหารงานและเสนอโครงการตรงตามความต้องการของประชาชน เพื่อให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจมากที่สุด นอกจากนั้นยังเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและบุคคลภายนอก เช่น การจัดตั้งสถาบันพัฒนาผู้นำท้องถิ่น โดยมีวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้และร่วมมือในการดำเนินโครงการ รวมทั้งการศึกษาดูงานหรือโครงการที่ดีและประสบความสำเร็จ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับองค์กรของตน
 
          ความหมายของการควบคุมภายใน
          ความหมายของการควบคุมภายในซึ่งเป็นที่ยอมรับและนํามาประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน กำหนดขึ้นโดยคณะกรรมการจากสถาบันวิชาชีพ 5 สถาบันในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แก่สถาบันผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งสหรัฐอเมริกา (American Institute of Certified Public Accountants หรือAICPA) สถาบันผู้ตรวจสอบภายในสากล (Institute of Internal Auditors หรือ IIA) สถาบันผู้บริหารการเงิน(Financial Executives Institute หรือ FEI) สมาคมนักบัญชีแห่งสหรัฐอเมริกา (American Accounting Association หรือ AAA) และสถาบันนักบัญชีเพื่อการบริหาร (Institute of Management Accountants หรือIMA) ซึ่งรู้จักในนามของ The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission หรือ COSO ได้ร่วมกันศึกษาพัฒนาความหมายและแนวคิดของการควบคุมภายใน ดังนี้
          การควบคุมภายใน (Internal Control)
           กระบวนการปฏิบัติงานที่บุคลากรในองค์กรโดยคณะกรรมการบริหาร ผู้บริหารทุกระดับ และพนักงานทุกคนมีบทบาทร่วมกันในการจัดให้มีขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นอย่างสมเหตุสมผลว่าการปฏิบัติงานจะบรรลุวัตถุประสงค์ของการควบคุมภายใน
แนวคิดการควบคุมภายในของ COSO
องค์ประกอบของการควบคุมภายในตามแนวคิดของ COSO มี 5 ประการ ได้แก่
 1. สภาพแวดล้อมการควบคุม (Control Environment)
 2. การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment)
 3. กิจกรรมการควบคุม (Control Activities)
 4. ข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication)
 5. การติดตามประเมินผล (Monitoring)
             องค์ประกอบของการควบคุมภายในทั้ง 5 ประการนี้ จะมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน โดยเริ่มจากแนวทางการดำเนินธุรกิจของผู้บริหารเชื่อมโยงไปสู่กระบวนการบริหารจัดการ เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ขององค์กร
            ลักษณะของการควบคุมภายในที่ดี ดังนี้
            1. ไม่เสียค่าใช้จ่ายเกินควร วิธีการควบคุมภายในที่กำหนดหากมากเกินไปจะทำให้สิ้นเปลืองทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย รวมถึงการควบคุมที่มากเกินไปอาจทำให้เจ้าหน้าที่ขาดกําลังใจในการปฏิบัติงาน
            2. ควบคุมในจุดที่สำคัญ วิธีการควบคุมภายในที่กำหนดควรฝัง หรือแทรกอยู่ในกระบวนการปฏิบัติงานตามปกติ โดยเฉพาะจุดที่สำคัญ ซึ่งหากไม่ควบคุมแล้วจะมีผลกระทบที่สำคัญ เกิดความเสียหาย การสูญเสีย การรั่วไหล หรือการทุจริตได้ง่าย
            3. เหมาะสมและเข้าใจง่าย วิธีการควบคุมภายในที่กำหนดควรให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าใจง่ายสามารถสะท้อนผลจากการประเมินได้อย่างชัดเจน เป็นธรรม ถูกต้องและทันกาล เพื่อให้ทราบถึงผลเสียหายและสามารถแก้ไขได้โดยเร็ว
            4. สอดคล้องกับเป้าหมาย วิธีการควบคุมภายในที่กำหนดควรมีการเชื่อมโยง สอดคล้องกับแผนงาน วัตถุประสงค์ เป้าหมายและตัวชี้วัดที่กำหนด รวมทั้งให้ผลการประเมินที่แม่นยํา
           5. ทันกาล ผลการประเมินที่ล่าช้า ไม่ทันกาลย่อมไม่เกิดประโยชน์ การควบคุมในปัจจุบันจึงนิยมการควบคุมในระหว่างการปฏิบัติงานเพื่อสามารถทราบผล และแก้ไขได้ทันท่วงที

          ประเภทการควบคุมภายในที่สำคัญ
          การควบคุมด้านบัญชี
           เป็นการกำหนดวิธีการและมาตรการต่าง ๆ เพื่อใช้ในการป้องกัน ดูแลรักษาสินทรัพย์และเอกสารหลักฐานให้ปลอดภัยจากการทุจริต ผิดพลาดทั้งปวง และเนื่องจากคณะกรรมการดำเนินการมีหน้าที่รับผิดชอบให้มีการจัดทำบัญชีและงบการเงินตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและระเบียบต่างๆ รวมทั้งรับผิดชอบต่อความถูกต้องและความครบถ้วนของข้อมูลในงบการเงินด้วยซึ่งการควบคุมด้านบัญชีทำให้การจัดทำบัญชีและงบการเงินเป็นไปอย่างถูกต้องและเชื่อถือได้
           การควบคุมด้านบริหาร
           เป็นการจัดแบ่งส่วนงานภายใน การแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบการกำหนดระเบียบปฏิบัติวิธีการและมาตรการต่าง ๆ ที่ทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบและนโยบายที่กำหนด ซึ่งการควบคุมด้านบริหารแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ การควบคุมด้านบริหารจัดการ และการควบคุมด้านบริหารธุรกิจ
           การควบคุมเฉพาะเรื่อง
           นอกจากการควบคุมด้านบัญชีและการควบคุมด้านบริหารแล้วคณะกรรมการดำเนินการควรให้ความสำคัญกับการควบคุมเฉพาะเรื่อง ได้แก่การควบคุมด้านเงินลงทุนการควบคุมด้านที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ การควบคุมด้านเงินเบิกเกินบัญชีธนาคาร การเบิกจ่ายตามงบประมาณ รวมถึงการควบคุมด้านการใช้โปรแกรมระบบบัญชีคอมพิวเตอร์
           ข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น
1. กำหนดนโยบายการบัญชีไม่เหมาะสม
2. ไม่มีการควบคุมเอกสารทางบัญชีทำให้มีเอกสารสูญหาย เสียหาย
3. เอกสารประกอบการบันทึกบัญชีไม่สมบูรณ์ไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วน
4. บันทึกรายการบัญชีโดยไม่ผ่านการอนุมัติจากผู้มีอำนาจ
5. การบันทึกบัญชีไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นไปตามระเบียบ
6. การบันทึกบัญชีการจัดทำบัญชีย่อยและทะเบียนต่างๆ ไม่เรียบร้อย ไม่เป็นปัจจุบัน
7. ยอดรวมบัญชีย่อยไม่ถูกต้องตรงกับบัญชีแยกประเภททั่วไป (บัญชีคุมยอด) เป็นประจำ
8. การจัดทำงบการเงินไม่เป็นไปตามรูปแบบที่ภาครัฐกำหนด
9. การเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินไม่เพียงพอ
10. ไม่สามารถปิดบัญชีประจำปีได้ทันตามกำหนด
11. เจ้าหน้าที่การเงินที่ทำหน้าที่รับ - จ่ายเงินและเก็บรักษาเงินและบันทึกบัญชี
12. รับเงินแล้วไม่บันทึกการรับเงิน หรือบันทึกบัญชีไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน
13. เก็บรักษาเงินในมือเกินกว่าความจำเป็น
14. มีการปลอมแปลงเอกสารการจ่ายเงิน
15. ไม่ทำทะเบียนคุมเอกสาร
16. การจัดซื้อจัดจ้าง หรือก่อสร้างไม่เป็นไปตามวิธีปฏิบัติ หรือหลักเกณฑ์ภาครัฐ
17. การจัดซื้อจัดจ้างไม่เป็นไปตามงบประมาณประจำปีที่กำหนด
18. บันทึกทะเบียนคุมสินทรัพย์ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ไม่เป็นปัจจุบัน
 
          สาเหตุที่อาจทำให้ระบบการควบคุมภายในไม่มีประสิทธิผล มีดังนี้
          1. การละเว้น หรือไม่ปฏิบัติตามระบบการควบคุมภายในที่กำหนด (Breakdown) เช่น เจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจระบบการควบคุมภายในที่จัดให้มีขึ้น ซึ่งอาจมีสาเหตุจากไม่มีคู่มือการปฏิบัติงานหรือคู่มือการปฏิบัติงานไม่ชัดเจน และอาจมีสาเหตุจากความประมาทเลินเล่อ ไม่เอาใจใส่ขาดความระมัดระวัง ตัดสินใจผิดพลาด เป็นต้น
          2. มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Abnormal Course) ระบบการควบคุมภายใน ที่กำหนดไว้อาจไม่เหมาะสม หรือไม่ครอบคลุม เนื่องจากมีบางรายการที่เกิดขึ้นและแตกต่างจากรายการตามปกติ เช่น ระหว่างปีนําระบบบัญชีคอมพิวเตอร์มาใช้ในการประมวลผลข้อมูลทางการบัญชีและจัดทำงบการเงิน หากแต่วิธีการควบคุมภายในที่กำหนดไว้ไม่ครอบคลุมถึงการตรวจสอบความถูกต้องของการนําเข้าข้อมูล ในระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
          3. การร่วมมือกันกระทำการทุจริต (Collusion) เป็นการสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างเจ้าหน้าที่ด้วยกันเอง หรือบุคคลภายนอกโดยหลีกเลี่ยง หรือละเว้น ไม่ปฏิบัติตามระบบการควบคุมภายในที่กำหนดเพื่อหาประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งการร่วมมือกันเช่นนี้นอกจากจะเป็นสาเหตุให้การ ควบคุมภายในไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์แล้ว ยังเป็นการยากที่จะค้นพบการกระทำที่มิชอบนั้นอีกด้วย
          4. การก้าวก่ายหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการ (Management Override) ด้วยการใช้อำนาจสั่งการเป็นอย่างอื่น หรือให้เจ้าหน้าที่ละเว้น ไม่ปฏิบัติตามระบบการควบคุมภายใน ที่กำหนดเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เช่น สั่งการให้จัดทำรายงานผลการดําเนินงานและฐานะการเงินด้วยข้อมูลที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงเพื่อปกปิดความผิดพลาดในการบริหารงาน เป็นต้น
          5. ค่าใช้จ่ายที่จัดให้มีการควบคุมภายในสูงกว่าค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้น หรือไม่คุ้มค่ากับประโยชน์ที่จะได้รับ (Cost – Effective) คณะกรรมการดำเนินการอาจตัดสินใจละเว้นการควบคุมภายในดังกล่าว เช่น ตามหลักการควบคุมภายในที่ดีควรแบ่งแยกหน้าที่รับผิดชอบการจัดทำบัญชีการจัดซื้อและการตรวจรับสินค้าออกจากกัน แต่พิจารณาเห็นว่าการจัดจ้างเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นไม่คุ้มค่ากับความเสียหาย จึงกําหนดให้เจ้าหน้าที่อื่นซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่จัดทำบัญชีและจัดซื้อ เป็นต้น
 
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
          ณัฐวุฒิ ตันติเศรษฐ (2558)ได้ศึกษา ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของงบการเงิน และประสิทธิผลในการตัดสินใจของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าความเป็นมืออาชีพของพนักงานบัญชี และความสามารถของระบบสารสนเทศทางบัญชีมีความสัมพันธ์ทางบวกต่อคุณภาพของงบการเงินโดยรวม
          ถาวร พรามไทย (2558) ได้ศึกษา ผลกระทบของการติดตามประเมินผลการควบคุมภายในที่มีต่อคุณภาพข้อมูลทางบัญชีของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาพบว่า ผู้ตรวจสอบภายในสถานศึกษา มีความคิดเห็นด้วยเกี่ยวกับการมีการติดตามประเมินผลการควบคุมภายในโดยรวม และเป็นรายด้าน อยู่ในระดับมากได้แก่ ด้านการติดตามผล ด้านกิจกรรมการควบคุม ด้านการรับรองคุณภาพ และด้านการรายงานการติดตามผลและผู้ตรวจสอบภายในสถานศึกษามีความคิดเห็นด้วยเกี่ยวกับการมีคุณภาพข้อมูลทางบัญชีโดยรวมและเป็นรายด้าน อยู่ในระดับมาก ได้แก่ ด้านความเข้าใจได้ ด้านความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ ด้านความเชื่อถือได้และด้านการเปรียบเทียบกันได้
           นิสา ผาสุขศาตร์(2560) ได้ศึกษาผลกระทบของคุณภาพการตรวจสอบภายในสมัยใหม่ที่มีต่อประสิทธิภาพการจัดทำรายงานทางบัญชีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งการทดสอบสมมติฐานที่กำหนดตามกรอบแนวคิด ผู้วิจัยทดสอบผลกระทบระหว่างคุณภาพการตรวจสอบภายในสมัยใหม่ 3 ด้าน ได้แก่1. ด้านการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ 2. ด้านประสิทธิภาพผลการควบคุมภายใน 3. ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีว่าส่งผลอย่างไรต่อประสิทธิภาพการจัดทำรายงานทางบัญชีโดยการวิเคราะห์การถดถอยพหุ (MultipleRegression Analysis)เมื่อพิจารณารายด้านทั้ง 3 ด้าน ได้แก่1. ด้านการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ 2. ด้านประสิทธิผลการควบคุมภายใน 3. ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี ด้านค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ด้านการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี
 
สรุป
          1.การบริหารจัดการและการควบคุมภายในนั้นมีความจำเป็นและสำคัญมากต่อธุรกิจทุกประเภทรวมถึงหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารจึงมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงการบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลเพื่อปรับปรุงและพัฒนาการตรวจสอบภายในให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
          2.การส่งเสริมให้บุคลากรภายในองค์กรมีส่วนรวมในการกำหนดการวางแผนการควบคุมภายใน ในทุกขั้นตอนร่วมคิด ร่วมทำ ศึกษาหาข้อมูลให้ครอบคลุมก่อนการดำเนินการตามแผน ส่งผลให้การปฏิบัติงานมีความรวดเร็วถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และมีความน่าเชื่อถือไปด้วย
         3.ประสิทธิผลการควบคุมภายในเป็นเรื่องสำคัญในการให้ความเชื่อมั่น ในความถูกต้อง เชื่อถือได้และความทันต่อเวลาของรายงานทางการเงิน ผู้บริหารควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพัฒนาและปรับปรุงการควบคุมภายในให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล รวมทั้งให้บุคลากรในองค์กรมีการตระหนักและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อให้การรายงานทางบัญชีขององค์กรมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการจัดทำรายงานทางบัญชีเป็นหัวใจสำคัญในด้านการนำเสนอข้อมูลทางการเงิน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการบริหารงานของผู้บริหารในการตัดสินใจการวางแผนและกำหนดนโยบายต่างๆ ในการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จในอนาคตต่อไป
          4.การกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นปัจจัยในการการปรับปรุงประสิทธิภาพขององค์กร จะทำให้องค์กรมีระบบการบริหารและการจัดการที่มีคุณภาพ รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส และมีผลการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐาน ทั้งในด้านการจัดทำ และการนำเสนอข้อมูลทางการเงิน เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่องค์กร ซึ่งจะสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายรายงานทางการเงิน หรือเน้นการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องของนโยบาย ทัศนคติ หรือทุกเรื่องผสมผสานกัน ซึ่งในบางครั้งการจัดให้มีระบบการควบคุมภายในขึ้นทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและอาจไม่คุ้มค่ากับประโยชน์ที่จะได้รับ จึงควรพิจารณาจัดให้มีระบบการควบคุมภายในขึ้นในจุดที่สำคัญก่อน ซึ่งหากไม่มีการควบคุมแล้วจะทำให้เกิด ความเสียหาย สูญเสีย รั่วไหล หรือทุจริตได้ง่าย
 
ข้อเสนอแนะ
          1) องค์กรควรส่งเสริมให้บุคลากรทุกคนของในองค์กร รวมถึงผู้บริหารคำนึงถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลการควบคุมภายใน และการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจให้กับพนักงานทุกระดับ เพื่อให้เกิดความเข้าใจเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เกิดทัศนคติที่ดีต่อองค์กร และปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาคุณภาพของรายงานการเงินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
          2) หน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำผลการศึกษาเกี่ยวกับ.การบริหารจัดการและการควบคุมภายในไปใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาวางแผนการควบคุมภายในที่มีความเหมาะสมกับองค์กร เพื่อข้อมูลการควบคุมภายในเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการบริหารงานของผู้บริหารในการตัดสินใจการวางแผนและกำหนดนโยบายต่างๆ ในการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จในอนาคตต่อไป

บรรณานุกรม
กระทรวงการคลัง. (2561). มาตรฐานการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ.(2561). จากเว็บไซด์: https://audit.tu.ac.th/uploads/audit/pdf/Internal%20Control%20BE%202561.pdf
กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น.(2561),การจัดทำรายงานการติดตามประเมินผลการควบคุมภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากเว็บไซด์:http://johttp://www.dla.go.th/upload/ebook/
ณัฐวุฒิ ตันติเศรษฐ. (2558).“ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของงบการเงินและประสิทธิผลในกาตัดสินใจของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย”.วารสารบริหารธุรกิจ ศรีนครินทรวิโรฒ, 6(2),
ถาวร พรามไทย. (2558). “ผลกระทบของการติดตามประเมินผลการควบคุมภายในที่มีต่อคุณภาพข้อมูลทางบัญชีของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา”.วิทยานิพนธ์ บช.มหาสารคาม, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
นิสา ผาสุกศาตร์. (2560).“ผลกระทบของคุณภาพการตรวจสอบภายในสมัยใหม่ที่มีต่อประสิทธิภาพการจัดทำรายงานทางบัญชีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา”.การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ มหาวิทยาลัยศรีปทุมครั้งที่12 ประจำปี2560 วันที่14 ธันวาคม 2560 : 371 – 372
วิมล ชาตะมีนา, วชิรา วราศรัย และ รุ่งทิพย์ จินดาพล. (2551). “ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการบริหารจัดการและดำเนินโครงการของ อบจ.แพร่และของ อบจ.พิษณุโลก”รายงานวิจัยเลขที่RDG5040021., สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย