สินทรัพย์ไม่มีตัวตน สร้างกำไรมหาศาล

UploadImage
 
UploadImage

สินทรัพย์ไม่มีตัวตน สร้างกำไรมหาศาล
Intangible Assets Generate Huge Profits
 
ธีรกานต์ สวัสดิ์กุลสิริ
THEERAKAN SAWATKULSIRI
E-mail: maxpassive@hotmai.com
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม


บทคัดย่อ
          วิกฤต กับ โอกาส มักจะมาคู่กันเสมอ สิ่งที่สำคัญคือการยอมรับว่าโลกเปลี่ยน ซึ่งข้อเท็จจริงก็คือการเปลี่ยนแปลงของกระแสเงินสด (Cash Flow) ที่เคลี่อนย้ายไปในสินทรัพย์ที่อยู่ในความต้องการของตลาดในขณะช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง จากอดีตจนถึงปัจจุบันการเคลื่อนย้ายของกระแสเงินเหล่านี้ จะเป็นไปตามกระแสโลกแบ่งคลื่นความเปลี่ยนแปลงเป็นสามคลื่นตามแนวคิดของอัลวิน ทอฟเลอร์ (Alvin Toffler) ประกอบด้วย คลื่นลูกที่หนึ่ง (Frist Wave) เป็นการปฏิวัติเกษตรกรรมที่ใช้เวลานานหลายพันปีเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจแบบยังชีพสู่ระบบเศรษฐกิจแบบการค้า คลื่นลูกที่สอง (Second Wave) เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม ด้วยระบบการผลิตแบบเครื่องจักร และคลื่นลูกที่สาม (Third Wave) เป็นการปฏิวัติทางโทรคมนาคม เป็นความเปลี่ยนแปลงจากการติดต่อสื่อสารก่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ (international linkage) และ คลื่นลูกใหม่ซึ่งเป็นช่วงเวลาของศตวรรษที่ 21 คือ คลื่นลูกที่สี่ (Fourth Wave) การปฏิวัติความรู้ (Knowledge Revolution) เป็นยุคสมัยแห่งการสร้างสังคมแห่งองค์ความรู้ โดยเน้นปัจจัยคือ ความรู้ (Knowledge) เครื่องมือคือ ศาสตร์วิทยาการในแขนงต่างๆ และผู้นำแห่งการเปลี่ยนคลื่นลูกนี้ คือ IOT (Internet Of Thing) สร้างสินทรัพย์ที่อยู่ในความต้องการของตลาดเกิดขึ้น ทำกำไรมหาศาล นั่นคือ สินทรัพย์ไม่มีตัวตน (Intangible Asset) เป็นสินทรัพย์ที่สร้าง Disruption ในหลายธุรกิจ สินทรัพย์เหล่านี้ได้รับการยอมรับในวงกว้างจนสร้างเศรษฐีรายใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
 
คำสำคัญ : กำไร, ผลตอบแทนจากการลงทุน, สินทรัพย์ไม่มีตัวตน
 
Abstract
          Crisis and opportunity always together. The important thing is to accept that the world has changed. The fact is the change in cash flow that moves in an asset that is in demand at a particular moment in time. From the past to the present, the movement of these money flows Will be according to the world currents divided into three waves according to the concept of Alvin Toffler consists of the first wave it was an Agricultural revolution that took thousands of years to shift from a subsistence economy to a commercial economy. The second wave is the Industrial Revolution. with a mechanical production system and the third wave is a revolution in the Telecommunication industry. It is a change from communication that creates links between nations. The new wave of the 21st century is the Fourth Wave of Knowledge Revolution. It is the era of creating a knowledge society. Emphasis on the factor is knowledge tools are Science in various fields and the leader of this wave of change is IOT (Internet Of Thing), creating assets that are in the market demand, making huge profits, that is Intangible assets are assets that create Disruption in many businesses. Has been widely accepted to create new millionaires quickly.

Keywords : Profit, Return on Investment, Intangible Assets,
 
บทนำ
          การประกอบธุรกิจมีเป้าหมายเพื่อสร้างผลกำไรจากการดำเนินงาน ทุก ๆ ธุรกิจมีกลยุทธ (Strategy) มีแผนการทำงาน (Plan) มีกระบวนการ (Process) และ วัฒนธรรมองค์กรเพื่อสร้างความยั่งยืนของกิจการ หากนักลงทุนต้องการลงทุนในกิจการใด ๆ สิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอันดับแรกคือ ผลกำไรของกิจการนั้น ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากกลยุทธ แผน และกระบวนการทำงานนั้น โลกปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วใน เศรษฐียุคแรก คือกลุ่ม Baby Boomer คือ คนที่เกิดช่วงปี 2489 – 2507 หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติ ภาวะสงครามทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ขณะที่ผู้คนที่มีชีวิตรอดจากสงครามต่างต้องเร่งฟื้นฟูประเทศให้กลับมามีความเจริญอีกครั้ง ทำให้คนยุคนั้นต้องการแรงงานจำนวนมาก จึงนำมาซึ่งค่านิยมของการมีลูกหลาย ๆ คนเพื่อมาช่วยเป็นแรงงานฟื้นฟูประเทศ ยุคนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า “ลูกดก” หรือ “Baby Boom” เราจึงเรียกเด็กที่เกิดในยุคนั้นว่า “Baby Boomer” และคนกลุ่มนี้ที่มีฐานะดี จะมีที่ดินจำนวนมากและสร้างรายได้จากสินทรัพย์นั้นเรียกว่า Landlord Provider คือ มีที่ดินเพื่อสร้างรายได้ คนกลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มคนรวย ที่มีทั้งเงินและเวลา ยุคที่สองคือ เจ้าของอุตสาหกรรม เจ้าของโรงงานผลิตสินค้า นำไปสู่การให้ความสำคัญในเรื่องผลิตผล คนกลุ่มนี้จะยังได้รับอิทธิพลการเรียนรู้จากคนยุคแรก เรียกว่า คนเจเนอเรชั่น เอ็กซ์ (Generation X) คนยุคนี้จะเกิดอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2508-2522 อาจเรียกอีกชื่อว่า “ยับปี้” (Yuppie) ที่ย่อมาจาก Young Urban Professionals รุ่นนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ต่อจากยุค Gen-B แม้ว่าโลกยุคนั้นจะไม่ทันสมัยเท่ายุคนี้แต่คนรุ่นนี้ก็ถือว่าเป็นกลุ่มคนในช่วงโลกกำลังพัฒนาเริ่มต้น มีความเปลี่ยนแปลงหลากหลาย คนยุคนี้จะถูกสอนจากกลุ่มคนรุ่น Gen-B ให้รู้ถึงการประหยัด การอดทน เน้นให้เรียนหนังสือเพื่ออนาคต เน้นให้ทำงานกลุ่มราชการและรัฐวิสาหกิจมากกว่างานเอกชน หรือ บางคนก็หันมาเปิดกิจการตัวเอง คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนมีเงิน ที่มีอำนาจ และเป็นศูนย์กลางของครอบครัว จัดอยู่ในกลุ่มสร้างเนื้อสร้างตัวสร้างครอบครัวเพื่อวางรากฐานให้กับลูกหลานและคนรุ่นต่อๆ ไปเช่นเดียวกัน และสินทรัพย์ที่สร้างรายได้คือ การเป็นผู้ผลิต เป็นเจ้าของโรงงานต่างๆ และยุคต่อมาคือ เจเนอเรชั่น วาย (Generation Y) หรือ ยุค Millennials ซึ่งก็คือคนที่เกิดอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2523–2540 คนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง และค่านิยมที่แตกต่างระหว่างรุ่นปู่ย่าตายาย กับ รุ่นพ่อแม่ ซึ่งคนรุ่นนี้ถือเป็นกลุ่มวัยรุ่นตอนปลาย และ วัยทำงาน ในตอนนี้ที่อยู่ท่ามกลางความผันผวนในหลายๆ ด้านทั้งการเมือง การศึกษา เศรษฐกิจต่างๆ จะมีช่วงเวลาที่ได้เห็นความลำบากของคนกลุ่ม Gen-B บ้าง แต่ไม่ได้สัมผัสลึกซึ้งเหมือนคน Gen-X ดังนั้น คนกลุ่มนี้จะมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่ต้องการความเป็นอิสระ ต้องการได้รับประสบการณ์ การแชร์ และสิ่งแวดล้อม (Life Style : Wellness Provider) คนกลุ่มนี้จะมีมุมมองการเงินที่แตกต่างจากคนกลุ่ม Gen-B อย่างชัดเจน คือ ให้ความสำคัญกับความสุข (Happiness Center) มากกว่าการเป็นคนรวย หรือ คนมีเงินจำนวนมาก (Money Center) และสินทรัพย์ที่สร้างรายได้ให้คนกลุ่มนี้คือ Life Style ที่ชอบ จนกลายเป็นผู้มีอิทธิพล (Influencer) ในเรื่องนั้น พวกเขาจะแบ่งปัน Life Style ที่ทำ จนมีผู้ติดตามจำนวนมาก สร้างการเหนี่ยวนำผู้คน เกิดรายได้จากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือ สามารถทำธุรกิจจำหน่ายสินค้าได้ โดยช่องทางตนเอง ซึ่งเห็นได้ว่ามูลค่าเพิ่ม (Value Added) ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน (Intangible Asset) ที่พวกเขาได้สร้างขึ้นมาโดยบางคนรู้ตัว และ บางคนก็ไม่รู้ตัว ว่ามีสินทรัพย์นั้นแล้ว เราเรียกว่า “ค่าความนิยม” ตามมาตรฐานบัญชีฉบับที่ 38 (TAS38) และคนกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มคนที่สนใจเรื่องสุขภาพด้วย ดังนั้นหลายปีที่ผ่านมา กระแสสุขภาพที่นำเป็นกระแสลำดับที่ 1 จึงเติบโตขึ้นทุกปี เป็น (Wellness Provider) ผ่านการใช้ชีวิตที่เป็นอิสระ นั่นเอง และสุดท้าย คนกลุ่ม Z คนที่เกิดปี 2524 เป็นต้นมา โดยในปัจจุบันจะมีอายุตั้งแต่ 24 – 40 ปี ถือว่าเป็นยุครุ่นลูกรุ่นหลานของชาวเบบี้บูม คนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง และค่านิยมที่แตกต่างระหว่างรุ่นปู่ย่าตายาย กับ รุ่นพ่อแม่ ซึ่งในยุคนี้จะเป็นยุคที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตเป็นอย่างมาก ทำให้พ่อแม่ที่ค่อนข้างจะประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วจะดูแลเอาใจใส่ลูก ๆ เป็นอย่างดี จึงส่งผลต่อแนวคิดการเงินของคนต่าง Gen และพวกเขา ติดโซเชียลมีเดีย มีอิสระ และเปิดรับกับสิ่งใหม่ เลือกที่อยู่อาศัยที่ใกล้โรงเรียนหรือที่ทำงาน ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ตัวเองบนโซเชียลมีเดีย อิทธิพลของคนกลุ่มนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า Disruption ในหลายธุรกิจเช่น พวกเขาจะซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ เทรดหุ้นตั้งแต่เรียนมัธยม และ มีความรู้ทางการเงินหลายรูปแบบ เช่น สกุลเงินดิจิตอล, Facebook, IG เป็นอีกสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน แต่ส่งผลกับเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง ด้วยเหตุนี้เอง สินทรัพย์ไม่มีตัวตน จึงทำกำไรได้อย่างมหาศาล ยุคแห่งการ Disruption จาก IOT (Internet of thing) แค่เปิดมุมมองใหม่ ก็เปลี่ยนแปลงชีวิตได้ทันที, (TCDC.MC197 Generations Trend, 2020)
 
วัตถุประสงค์ 
          1. เพื่อศึกษาความสำคัญของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนกับการเคลื่อนย้ายกระแสเงินในเศรษฐกิจ
          2. เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการ นักลงทุน ผู้สนใจในการทำธุรกิจ มีแนวทางสร้างรายได้จากการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก
          3. เพื่อทราบถึงอิทธิพลของรูปแบบการสร้างรายได้ยุคใหม่ ที่ Disruption ธุรกิจดั่งเดิม
 
สินทรัพย์ไม่มีตัวตน (Intangible Asset)
          มาตราฐานบัญชีฉบับที่ 38 ให้คำนิยามสินทรัพย์ไม่มีตัวตน หมายถึง สินทรัพย์ที่ไม่เป็นตัวเงินที่สามารถระบุได้ และไม่มีลักษณะทางกายภาพ ต้องเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้ 1. ต้องสามารถระบุได้ 2.ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกิจการ 3.ต้องก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต 4. วัดต้นทุนได้อย่างน่าเชื่อถือ หากรายการใดไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น ให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายทันที่ ยกเว้นรายการที่เกิดจากการรวมธุรกิจ ให้ถือรายการดังกล่าวเป็นค่าความนิยมที่ต้องรับรู้ ณ วันที่ซื้อ (สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2563)
 
          การรับรู้รายการสินทรัพย์ไม่มีตัวตน การรับรู้รายการนี้ให้ถือปฏิบัติกับต้นทุนเริ่มแรกที่เกิดขึ้นเมื่อซื้อหรือสร้างสินทรัพย์ไม่มีตัวตนขึ้นภายในกิจการเอง และต้นทุนที่เกิดขึ้นในภายหลังเพื่อเพิ่ม หรือเปลี่ยนแทนบางส่วน หรือบำรุงรักษา จากเงื่อนไขข้างต้น สามารถพิจารณาเงื่อนไขทั้ง 4 ข้อ ดังนี้ 
          1. เป็นสินทรัพย์ที่ไม่เป็นตัวเงินที่สามารถระบุได้
             1.1. สามารถแยกเป็นเอกเทศได้ กล่าวคือ สามารถแยกหรือแบ่งจากกิจการ และสามารถขายโอน ให้สิทธิ ให้เช่า หรือแลกเปลี่ยนได้อย่างเอกเทศ หรือโดยรวมกับสัญญา เป็นสินทรัพย์หรือหนี้สินที่สามารถระบุได้ โดยไม่คำนึงว่ากิจการตั้งใจจะแยกเป็นเอกเทศหรือไม่ หรือ
             1.2. ได้มาจากการทำสัญญาหรือสิทธิทางกฏหมายอื่นๆ โดยไม่คำนึงถึงว่าสิทธิเหล่านั้นจะสามารถโอนหรือสามารถแบ่งแยกจากกิจการ หรือจากสิทธิและภาระผูกพันอื่นๆ เช่น การซื้อ Software เพื่อใช้งาน ไม่สามารถโอนหรือขายให้ผู้อื่นได้ เพราะได้สิทธิการใช้งานตามกฏหมาย
          2. การควบคุม  สินทรัพย์ไม่มีตัวตนต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกิจการมีอำนาจที่จะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตที่เกิดจากสินทรัพย์นั้น และสามารถจำกัดไม่ให้ผู้อื่นเข้าถึงประโยชน์ดังกล่าว โดยปกติการควบคุมมักเกิดจากสิทธิตามกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ จะถือว่าอยู่ภายใต้การควบคุมของกิจการหาก กิจการมีอำนาจที่จะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตที่เกิดจากสินทรัพย์นั้น สินทรัพย์ไม่มีตัวตนถือว่าอยู่ภายใต้การควบคุมของกิจการหากกิจการมีอํานาจที่จะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตที่เกิดจากสินทรัพย์นั้น และสามารถจํากัดไม่ให้ผู้อื่นเข้าถึงประโยชน์ดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ความรู้ทางการตลาดและความรู้ทางเทคนิคอาจก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต กิจการสามารถควบคุมประโยชน์เชิงเศรษฐกิจเหล่านั้นได้ กิจการอาจมีส่วนแบ่งตลาดหรือกลุ่มลูกค้าที่คาดว่าจะดําเนินการค้ากับกิจการต่อไป เนื่องจากกิจการได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าและความจงรักภักดีของลูกค้าที่มีต่อสินค้าหรือบริการของกิจการ
          3. มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่สินทรัพย์จะก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตที่กิจการจะได้รับจากสินทรัพย์ไม่มีตัวตน อาจรวมถึงรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการ ต้นทุนที่ประหยัดได้หรือประโยชน์อื่นที่เกิดขึ้นจากการใช้สินทรัพย์ไม่มีตัวตนนั้น โดยกิจการอาจรวมถึง รายได้จากการขายผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการ, ต้นทุนที่ประหยัดได้ หรือ ประโยชน์อื่นจากการใช้สินทรัพย์ไม่มีตัวตน
          4. ราคาทุนของสินทรัพย์สามารถวัดมูลค่าได้อย่างน่าเชื่อถือ กิจการต้องวัดมูลค่าสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเมื่อเริ่มแรกด้วยราคาทุน ซึ่งเป็นต้นทุนทางตรงที่เกี่ยวกับการจัดเตรียมสินทรัพย์เพื่อให้พร้อมที่จะใช้ประโยชน์ได้ตามความประสงค์ของผู้บริหารกิจการ รวมทั้งต้นทุนการกู้ยืมซึ่งต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 23 (ปรับปรุง 2557) เรื่องต้นทุนการกู้ยืม
สินทรัพย์ไม่มีตัวตนแยกออกเป็น สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่มีอายุการใช้งานจำกัดตามข้อบังคับของกฎหมายหรือตามสัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร สิทธิการเช่า สัมปทาน รายชื่อลูกค้า สัญญาต่างๆ และสินทรัพย์ที่ไม่จำกัดอายุการใช้งาน เช่น เครื่องหมายการค้า ค่าความนิยมที่สามารถระบุได้ สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่มีอายุการใช้งานจำกัด ได้แก่
           1. สิทธิบัตร (Patent) หมายถึง หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์คิดค้นหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะตามที่กำหนดในกฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบว่าด้วยสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่เกี่ยวกับการประดิษฐ์คิดค้นหรือการออกแบบ เพื่อให้ได้สิ่งของ เครื่องใช้ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น การประดิษฐ์รถยนต์ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ หรือการออกแบบขวดบรรจุน้ำดื่ม ขวดบรรจุน้ำอัดลม หรือการออกแบบลวดลายบนจานข้าว ถ้วยกาแฟ ไม่ให้เหมือนของคนอื่น เป็นต้น สิทธิบัตรยังแบ่งออกเป็น
               1.1 สิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Invention patent) หมายถึง สิทธิในการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ หรือมีการประดิษฐ์ที่ดีกว่าเดิมเกี่ยวกับลักษณะองค์ประกอบ โครงสร้าง หรือกลไกของผลิตภัณฑ์ กรรมวิธีในการผลิต การรักษา ตลอดจนการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ตามปรกติ สิทธิบัตรการประดิษฐ์มีอายุ 20 ปี นับจากวันที่กิจการขอจดทะเบียน
               1.2 สิทธิบัตรการออกแบบ (Product design patent) หมายถึง สิทธิในการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เกี่ยวกับรูปร่าง ลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์ สิทธิบัตรการออกแบบจะมีอายุ 10 ปี นับจากวันที่ขอรับสิทธิบัตร ราคาทุนของสิทธิบัตรได้จากราคาซื้อรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ
          2. ลิขสิทธิ์ (Copyrights) หมายถึง สิทธิแต่ผู้เดียวที่กฎหมายรับรองให้ผู้สร้างสรรค์กระทำการใดๆเกี่ยวกับงานที่ตนได้ทำขึ้น อันได้แก่ สิทธิที่จะทำซ้ำ ดัดแปลง หรือนำออกโฆษณา ไม่ว่าในรูปลักษณะอย่างใดหรือวิธีใด รวมทั้งอนุญาตให้ผู้อื่นนำงานนั้นไปทำเช่นว่านั้นด้วย อายุของลิขสิทธิ์ การคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตามกฎหมายไทยจะกำหนดให้มีอายุการคุ้มครอง 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ผลงานเสียชีวิต กรณีเจ้าของเป็นนิติบุคคลจะเริ่มนับอายุตั้งแต่ผลงานถูกสร้างขึ้นมานับไปอีก 50 ปี หรือเริ่มนับเมื่อมีการโฆษณาเป็นครั้งแรก แล้วแต่ว่าอย่างไหนจะเกิดทีหลัง แต่การโฆษณาครั้งแรกนั้นจะต้องเกิดขึ้นภายใน 50 ปี นับตั้งแต่มีการสร้างสรรค์ผลงานนั้นขึ้นมา ถ้าพ้น 50 ปีไปแล้วโดยที่ยังไม่ได้มีการโฆษณา ถือว่าลิขสิทธิ์หมดอายุ โดยที่การโฆษณาในภายหลังจะไม่มีผลต่อการนับต่ออายุลิขสิทธิ์อีก การโฆษณานี้จะต้องเป็นการโฆษณาโดยความยินยอมของเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วยจึงจะนับเป็นการโฆษณาครั้งแรกที่ให้เริ่มนับอายุลิขสิทธิ์ได้
          3. สิทธิการเช่า (Leasehold) หมายถึง สิทธิที่ได้รับเหนืออสังหาริมทรัพย์ที่เช่าจากเจ้าของสินทรัพย์โดยตรงตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งปรกติจะมีระยะเวลานาน โดยผู้ให้เช่าจะได้รับค่าตอบแทนเป็นการแลกเปลี่ยน
          4. สัมปทานและการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Franchises and Licensing) หมายถึง สิทธิที่รัฐบาลหรือบุคคลให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเพื่อประกอบกิจการเฉพาะอย่างหรือเป็นตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หมายถึง การที่รัฐบาลมอบสิทธิให้เอกชนดำเนินกิจการบริการสาธารณะ หรือจัดทำประโยชน์เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ภายในระยะเวลาและเงื่อนไขตามที่รัฐบาลกำหนด เช่น สัมปทานป่าไม้ สัมปทานการเดินรถประจำทาง สัมปทานรถไฟฟ้า สัมปทานทางด่วน เป็นต้น
แต่ทั้งนี้ก็ไม่พบหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มใช้คำว่าสัมปทานตั้งแต่เมื่อใด สันนิษฐานเพียงว่าน่าจะเป็นคำค่อนข้างใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณไม่เกินร้อยปีมานี้เอง ซึ่งในสมัยโบราณยังไม่มีคำเรียกเฉพาะว่าสัมปทาน แต่จะใช้เรียกแตกต่างกันไปตามการให้สัมปทานในกิจการนั้นๆ เช่น สัมปทานป่าไม้ก็จะเรียกว่า “ให้เช่าทำป่าไม้” ส่วนสัมปทานรังนกก็จะเรียกว่า “ทำอากรรังนก” เป็นต้น ปัจจุบันคำว่าสัมปทานถือเป็นคำกลางที่ใช้ได้กับกิจการหลายประเภท แต่ในบางกรณีก็ยังถือว่าเป็นคำที่ไม่เป็นทางการนัก เช่น ในกฎหมายเกี่ยวกับเหมืองแร่จะไม่ใช้คำว่าสัมปทาน แต่จะใช้คำเฉพาะคือ ประทานบัตร ซึ่งหมายถึงหนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อแสดงสิทธิการทำเหมืองแร่ภายในเขตที่กำหนด
          5. รายชื่อลูกค้า (Customer list) เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า เช่น รายชื่อลูกค้า คำสั่งซื้อ คำสั่งผลิต เป็นต้น บางกิจการอาจเลิกผลิตสินค้าแล้ว แต่ลูกค้าเก่ายังคงต้องสั่งซื้อสินค้านั้น กิจการสามารถนำบัญชีรายชื่อลูกค้าขายต่อให้กับผู้ที่มาซื้อกิจการต่อ

สินทรัพย์ที่ไม่จำกัดอายุการใช้งาน
          1. เครื่องหมายการค้าและยี่ห้อการค้า (Trademark and Trade name) หมายถึง เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์หรือตราที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ ซึ่งเครื่องหมายที่ให้ความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 มี 4 ประเภทดังต่อไปนี้
          2. เครื่องหมายการค้า (Trade Mark) คือเครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายเกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เช่น มาม่า กระทิงแดง เป็นต้น
          3. เครื่องหมายบริการ (Service Mark) คือเครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับบริการ เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่น เช่น เครื่องหมายของสายการบิน ธนาคาร โรงแรม เป็นต้น
          4. เครื่องหมายรับรอง (Certification Mark) คือเครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการของบุคคลอื่น เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพของสินค้าหรือบริการนั้น เช่น เชลล์ชวนชิม แม่ช้อยนางรำ ฮาลาล (Halal) เป็นต้น
          5. เครื่องหมายร่วม (Collective Mark) คือเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ใช้โดยบริษัทหรือวิสาหกิจในกลุ่มเดียวกัน หรือโดยสมาชิกของสมาคม กลุ่มบุคคล หรือองค์กรอื่นใดของรัฐหรือเอกชน เช่น ตราช้างของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
         6. ค่าความนิยม (Goodwill) หมายถึง คุณค่าที่เกิดขึ้นภายในกิจการนั้นเอง คุณค่าที่เกิดขึ้นจนเป็นค่าความนิยมคือความสามารถในการหารายได้มากกว่ากิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน เกิดจากการมีความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า สถานที่ตั้งกิจการอยู่ในทำเลที่ดี การบริหารงานดีเป็นที่เชื่อถือ ประสิทธิภาพในการผลิตดี ผลประกอบการดี ทำกิจการค้ามานานจนเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป ทำให้เกิดความเชื่อถือ และเกิดจากการผูกขาดทำกิจการนั้นแต่เพียงผู้เดียว เป็นต้น เช่น ชาเขียวโออิชิ เป๊ปซี่ ฯลฯ กิจการที่ได้รับความนิยมจะตีราคาค่าความนิยมของตนเองขึ้นมาเป็นตัวเลขเพื่อบันทึกไว้ในบัญชีของกิจการไม่ได้

          ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA, (2562). ได้เสนอข้อมูล ค่าความนิยมจะเกิดขึ้นได้โดยการซื้อกิจการมาและกำหนดค่าความนิยมขึ้นจากการซื้อกิจการนั้นเท่านั้น มูลค่าของค่าความนิยมเกิดจากการจ่ายเงินส่วนหนึ่งเพื่อซื้อกิจการ เงินที่จ่ายเกินไปกว่าทุนของกิจการ (สินทรัพย์-หนี้สิน) ถือว่าเป็นต้นทุนของค่าความนิยม การจำหน่ายค่าความนิยมออกจากบัญชีเมื่อซื้อกิจการผู้อื่นมาดำเนินงานต่อโดยมีค่าความนิยมและได้บันทึกค่าความนิยมในบัญชีเรียบร้อยแล้ว กิจการจะคงค่าความนิยมไว้ในบัญชีต่อไป โดยถือว่าค่าความนิยมเป็นสินทรัพย์ที่มีอายุไม่จำกัด ตราบใดที่ค่าความนิยมยังคงอยู่และดีขึ้นเรื่อยๆ ให้คงจำนวนค่าความนิยมไว้ในบัญชีตลอดไป แต่เมื่อไรเจ้าของกิจการคิดว่าค่าความนิยมเริ่มลดลง อาจเป็นเพราะการบริหารงานเริ่มไม่ดี มีคู่แข่งที่ดีกว่า ฯลฯ เจ้าของกิจการอาจจะประมาณว่าค่าความนิยมจะคงอยู่ได้เพียง 5 ปี ก็ให้จำหน่ายค่าความนิยมออกจากบัญชีภายในระยะเวลา 5 ปี ค่าความนิยม (Goodwill) ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 3 (ปรับปรุง 2560) เรื่องการรวมธุรกิจคือ สินทรัพย์ที่แสดงถึงผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตที่จะได้รับจากสินทรัพย์อื่นที่ได้มาจากการรวมธุรกิจ ซึ่งไม่สามารถระบุและรับรู้เป็นรายการแยกออกมาให้ชัดเจนได้, ลัคนา พูลเจริญ (2555 :11) ได้กล่าวถึงค่าความนิยมไว้ว่า เป็นส่วนที่ทำให้กิจการสามารถหากำไรที่สูงกว่าระดับปกติของกิจการประเภทเดียวกัน อาจเนื่องมาจากชื่อเสียงของกิจการ ระยะเวลาในการดำเนินกิจการ ประสิทธิภาพในการผลิต ทำเลที่ตั้งการบริหารงาน การผูกขาดในสินค้า หรือกิจการอาจได้ค่าความนิยมมาจากการรวมธุรกิจซึ่งกิจการต้องกำหนดราคาทุนของค่าความนิยมตามมูลค่ายุติธรรม ณ วันซื้อธุรกิจส่วนค่าความนิยมที่เกิดขึ้นเองภายในกิจการ มาตรฐานการบัญชีเรื่องสินทรัพย์ไม่มีตัวตน กำหนดให้กิจการต้องไม่รับรู้เป็นสินทรัพย์เนื่องจากรายจ่ายที่เกิดขึ้นไม่สามารถระบุได้ภายใต้การควบคุมของกิจการซึ่งสามารถวัดมูลค่าราคาทุนได้อย่างน่าเชื่อถือ, อมรรัตน์ ดาวเรือง, ปานฉัตร อาการักษ์, วัฒนา ยืนยง, (2562)
 
กรณีการประเมินค่า เช่น การวัดค่าความนิยม แบ่งได้ 2 ประเภทคือ
          1. ค่าความนิยมแสดงถึงทรัพยากรที่ไม่มีตัวตน ซึ่งให้ประโยชน์ต่อกิจการในด้านจุดเด่นโดยเฉลี่ยของกิจการเกินระดับปรกติในด้านต่างๆ เช่น ความชำนาญ ความรอบรู้ทางเทคนิค การบริหารงาน การวิจัยและการส่งเสริมทางด้านการตลาด เช่น ร้านตัดผมร้านหนึ่งอาจมีคนเข้าไปใช้สอยมากเป็นพิเศษ จึงมีค่าความนิยมสูงกว่า
          2. ค่าความนิยมแสดงถึงกำไรที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเกินกว่ากำไรปรกติในอนาคต
 
วิธีการกำหนดค่าความนิยมมีหลายวิธีดังนี้
1.   ตามข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายกิจการ
2.   ใช้กำไรสุทธิส่วนที่เกินกว่าอัตราปรกติเป็นหลัก คูณกับจำนวนปีที่คาดว่าจะมีกำไรเกินปรกติ
3.   ใช้กำไรสุทธิส่วนที่เกินกว่าอัตราปรกติเป็นหลัก และคิดว่าถ้าต้องการให้ได้กำไรเพิ่มขึ้นอีกเท่าจำนวนนี้จะต้องลงทุนเพิ่มขึ้นอีกเท่าใด (www.crystalsoftwaregroup.com/intangible/)
          จากการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า รายการสินทรัพย์ไม่มีตัวตนสามารถสะท้อนถึงมูลค่าของกิจการได้คือ เป็นข้อมูลทางการเงินที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในการกำหนดราคาหลักทรัพย์หรืออาจกล่าวได้ว่าผู้ลงทุนและนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้ใช้ข้อมูลของรายการนี้ประกอบการตัดสินใจในเชิงเศรษฐกิจนั่นเอง, วรลักษณ์โรจนรัตน์ (2550:27;อ้างอิงจาก Ritterand Wells,2006: 843-863) พบว่า สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ระบุได้มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับราคาหลักทรัพย์และพบว่าสินทรัพย์ไม่มีตัวตนมีความสัมพันธ์กับมูลค่าตลาดของส่วนของผู้ถือหุ้น, วรลักษณ์ โรจนรัตน์ (2550 : 32;อ้างอิงจาก McCarthy and Schneider,1995:69-81) ได้ทำการศึกษาเรื่องการรับรู้และให้ความสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีต่อค่าความนิยม พบว่า มีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกับราคาหลักทรัพย์, มัลลิกา ตันติพงศ์อาภา (2562) ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสินทรัพย์ไม่มีตัวตนต่ออัตราส่วนความสามารถในการทํากําไร ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในกลุ่มเทคโนโลยีพบว่าสินทรัพย์ไม่มีตัวตน ที่ประกอบด้วย สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่สามารถระบุได้และค่าความนิยม กับอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น โดยภาพรวม และรายปี พ.ศ. 2559, 2560 และ 2561 มีความสัมพันธ์กันทางสถิติอย่างมีนัยสําคัญ
          ธุรกิจไทยต้องเร่งสร้างสินทรัพย์ไม่มีตัวตน (Intangible Assets) ทรัพย์สินทางปัญญาคือน้ำมันแห่งศตวรรษที่ 21” กล่าวโดย Mark Getty นักธุรกิจชาวไอริช-อเมริกันผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Getty Images, Inc. บริษัทในสหรัฐอเมริกาที่เป็นแหล่งรูปถ่ายหลายล้านรูปสำหรับให้ธุรกิจ เอเจนซี่ และผู้บริโภค ขออนุญาตหรือ license ไปใช้ประโยชน์ได้ โดย Mark เองเติบโตมาจากครอบครัว Getty ที่เคยสร้างรายได้มหาศาลจากธุรกิจน้ำมัน แต่ช่วงหลังได้สร้างความมั่งคั่งให้แก่ตนเอง ด้วยการอนุญาตหรือขายลิขสิทธิ์ภาพถ่ายที่มีอยู่ในสต๊อคของบริษัท ซึ่งเขาเองเคยให้สัมภาษณ์ใน The Economist ต่อด้วยว่าเมื่อ 100 ปีก่อน คนที่รวยที่สุดได้เงินมาจากการสกัดทรัพยากรธรรมชาติออกมา หรือการขนย้ายทรัพยากรดังกล่าว แต่ปัจจุบัน คนที่รวยที่สุดทั้งหมดล้วนแต่ได้เงินจากทรัพย์สินทางปัญญาของพวกเขา
 


          จากตาราง The largest Companies by Market Cap มูลค่าตามราคาตลาดหรือ Market Capitalization ของบริษัทมหาชน 5 อันดับแรกในตลาดหุ้นอเมริกา ในปี 2006 และปี 2011  มีความแตกต่างจากปี 2016 อย่างเห็นได้ชัด บริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันและแหล่งพลังงานต่างๆ เช่น Exxon, PetroChina, Royal Dutch Shell ซึ่งเคยมีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นในอเมริกา รวมถึงเศรษฐกิจการค้าของโลก และเคยติด Top 5 ในปี 2011 ได้ถูกแทนที่ด้วยกลุ่มบริษัทที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านดิจิตอลและอิเล็คทรอนิคส์ นั่นคือ Apple, Alphabet (บริษัทแม่ของ Google), Microsoft, Amazon, และ Facebook ในปี 2016 และในช่วงปีต่อๆ ไป ด้วยแนวโน้มการเติบโตแบบก้าวกระโดดของกลุ่มบริษัทดังกล่าวที่จะเข้าไปปรับเปลี่ยนหรือแม้กระทั้ง Disrupt รูปแบบธุรกิจใหม่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การร่วมมือของ Alphabet กับ Glaxo smith Kline เพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่พัฒนาจาก Verily Life Sciences หนึ่งในบริษัทลูกของ Alphabet สู่อุตสาหกรรมการแพทย์แห่งอนาคตโดยการพัฒนา Smart Contact lens เพื่อตรวจวัดปริมาณน้ำตาลกลูโคสในน้ำตาของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งด้วยเซ็นเซอร์นี้จะสามารถตรวจวัดและแปลงเป็นปริมาณน้ำตาลในเลือดได้อย่างแม่นยำ และ Google ก็ยังร่วมมือกับบริษัทยา Biogen ในการวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาล หรือ Big Data เพื่อทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของโรคเอ็มเอส หรือ Multiple Sclerosis ในผู้ป่วย ที่เกิดจากการอักเสบของปลอกประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง โดยปัจจัยเชิงชีวภาพและสภาพแวดล้อมจะถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อหาวิธีการป้องกันต่อไป อุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากยุคที่เคยขับเคลื่อนด้วยสินทรัพย์ที่มีตัวตน (Tangible Assets) เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ, ที่ดิน, ไร่นา, อาคาร, เครื่องจักร, โรงงาน ฯลฯ สู่ยุคที่ขับเคลื่อนด้วยสินทรัพย์ไม่มีตัวตนหรือจับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) ซึ่งรวมไปถึงทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) เช่น แบรนด์, โนว์ฮาว, สิทธิบัตร, ความลับทางการค้า, โดเมน, โค้ด, เนื้อหา, ดาต้าและฐานข้อมูล ฯลฯ ซึ่งจากผลการสำรวจของ Ocean Tomo ซึ่งเป็นสถาบันทางการเงินที่ทำหน้าที่ระดมเงินทุนให้เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา มูลค่า Intangible Assets เฉลี่ยของ 500 บริษัทในตลาดหุ้น S&P เมื่อปี 2015 อยู่ที่ 87% จากปี 1975 ที่ 17% ด้วยสถิติการเติบโตนี้นักวิเคราะห์คาดว่า Intangible Assets ในบริษัทเหล่านี้จะพุ่งขึ้นถึง 90% ก่อนสิ้นปี 2025 อย่างแน่นอน

สรุป
          เราคงปฎิเสธไม่ได้ว่า intangible assets (IA) เช่น แบรนด์ ดาต้า อัลกอริทึม ใบอนุญาต ใบรับรองมาตรฐาน สิทธิบัตร คอนเนคชั่น ฯลฯ เป็นตัวขับเคลื่อนประสิทธิภาพของธุรกิจที่สำคัญที่สุดในยุคนี้  โดย 90% ของมูลค่าสุทธิของกิจการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมนั้นได้มาจาก IA และมีเพียง 10% ของมูลค่าที่มาจาก tangible assets เช่น ที่ดิน โรงงาน เครื่องจักร อุปกรณ์สำนักงาน ฯลฯ แต่หลายๆ ธุรกิจก็ยังไม่รู้ว่า IA ที่ตนมีอยู่นั้นคืออะไร จะปกป้องและใช้มันอย่างไรให้ได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งขั้นตอนแรกที่ธุรกิจต้องทำคือการตรวจสอบ IA ทั้งหมดที่ตนเองมี สอบถามข้อมูล IA เพื่อรวบรวมจากทุกทีมงาน ทุกฝ่าย อย่าถามแต่พวกผู้บริหาร หรือ front office เช่น ทีมขาย การตลาด หรือพัฒนาธุรกิจ แต่ให้รวมไปถึงพนักงานที่อยู่ back office เช่น บัญชี กฎหมาย และ HR แล้วคุณจะเซอร์ไพรส์ว่า IA มีอยู่ทุกที่ในองค์กร ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ก็อาจจะไม่ได้รู้ว่าตัวเองมีส่วนช่วยในการสร้าง IA ชิ้นนั้นขึ้นมา เช่น HR อาจมีการสร้างโปรแกรมการอบรมภายในให้พนักงานช่างเทคนิคที่ต้องการพัฒนาทักษะเฉพาะด้าน หรือกลไกการให้รางวัลส่งเสริมทีมวิจัย เป็นต้น  ซึ่งพอเรารู้ว่าเรามีอะไรที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะขององค์กร เราจะเริ่มเห็นชัดขึ้นมาแล้วว่า IA แต่ละตัวมีองค์ประกอบอะไรที่สามารถขอรับความคุ้มครองเป็นทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property: IP) ได้บ้าง วิธีการปกป้อง IP ให้ครอบคลุมทุกรูปแบบ โดยมองให้เห็นโอกาสทางธุรกิจก่อนสำหรับการใช้ IA หรือ IP เป็นเครื่องมือนั้น ไม่ได้มีเพียงการใช้เองแต่เพียงผู้เดียว หรือ internal use เช่น ใช้เพื่อปกป้องสินค้าที่ตนขาย ใช้ปกป้องกระบวนการผลิตภายใน แต่ยังสามารถใช้ประโยชน์ด้วยช่องทางอื่นๆ ได้ เช่น: ขาย (assignment/sale) การอนุญาตใช้สิทธิ (licensing), การแฟรนไชส์ (franchising), การร่วมทุน/กิจการร่วมทุน (joint venture), การแยกตัวออกมาเป็นธุรกิจย่อย (spin-off), จากข้อมูลข้างต้น ความสัมพันธ์ของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนกับการเคลื่อนย้ายกระแสเงินในเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญอย่างมากโดยวัดมูลค่าทางสถิติได้ชัดเจนจากผลประกอบการของธุรกิจ ผู้ประกอบการ นักลงทุน ผู้สนใจในการทำธุรกิจ สามารถใช้เป็นแนวทางสร้างรายได้จากการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก และยังสามารถป้องกัน และ กระจายความเสี่ยงจากอิทธิพลของรูปแบบการสร้างรายได้ยุคใหม่ ที่ Disruption ธุรกิจดั่งเดิม เช่น การเติบโตของสกุลเงินดิจิตอล, การขยายตัวของช่องทางสื่อ Facebook, Youtube, IG, Line, ฯลฯ ตลอดจน Personal Influencer ล้วนแล้วแต่เป็น “สินทรัพย์ไม่มีตัวตน” ที่สร้างรายได้อย่างเติบโตได้.
 
ข้อเสนอแนะ
          จากการเติบโตของ IOT (Internet of thing) กระทรวงเทคโนโลยีดิจิทัลประเทศไทย ได้รวบรวมไว้ให้ผู้อ่านได้นำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งข้อมูลมีจำนวนมาก จึงเสนอให้ศึกษาเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลดังกล่าว เชื่อว่านักลงทุน ผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป จึงได้ประโยชน์และปรับใช้กับธุรกิจดั่งเดิม เพื่อไม่ให้ถูก Disruption จากคลื่นลูกที่ 4 นี้ และ เสนอให้วัดมูลค่ากิจการที่มีรายได้จาก “สินทรัพย์ไม่มีตัวตน” เก็บสถิติเพื่อหาความสัมพันธ์ของรายได้ กำไร ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เพิ่มเติม เพื่อสะท้อนความสัมพันธ์ที่ชัดเจน และเพิ่มความเชื่อมั่นในการตัดสินใจลงทุน พัฒนา ต่อไป
  
บรรณานุกรม 
          Roberto Saracco. (2021). Digital Reality Initiative.  Megatrends for 2021-2030. เรียกใช้เมื่อ 1 สิงหาคม 2564. จาก https://digitalreality.ieee.org/images/files/pdf/Megatrends1-18-2021.pdf
          รองศาสตราจารย์ธโสธร ตู้ทองคำ.(2559). รายวิชานโยบายสาธารณะในบริบทโลก. แนวคิดกระแสโลกและบริบทโลก. เรียกใช้เมื่อ 31 กรกฎาคม 2564. จาก https://www.stou.ac.th/Schoolnew/polsci/UploadedFile/82328-.pdf
          เกียรติพงษ์ อุดมธนะธีระ. (2561).  Wave Revolution (คลื่นการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก). เรียกใช้เมื่อ 31 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.iok2u.com/index.php/article/innovation/235-wave-revolution.
          ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน. (2562). การคาดการณ์อนาคตเทคโนโลยีดิจิทัลประเทศไทย ปี 2035. เรียกใช้เมื่อ 1 สิงหาคม 2564 จาก https://www.depa.or.th/storage/app/media/file/Second%20Deliverable%20RevVer%20TH%20V12%20140819%20FIN.pdf
          TCDC.MC197 Generations Trend. (2020). เรียกใช้เมื่อ 1 สิงหาคม 2564 จาก https://creativetalklive.com/insight-generations-trend-2020/
          อมรรัตน์ ดาวเรือง, ปานฉัตร อาการักษ์, วัฒนา ยืนยง, (2562). ความสัมพันธ์ระหว่างสินทรัพย์ไม่มีตัวตน กระแสเงินสด และผลการดำเนินงานกับราคาหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. ในการศึกษาค้นคว้าอิสระ สาขาวิชาการบัญชี, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย.
          มัลลิกา ตันติพงศ์อาภา. (2562) .ความสัมพันธ์ระหว่างสินทรัพย์ไม่มีตัวตนต่ออัตราส่วนความสามารถในการทํากําไร ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในกลุ่มเทคโนโลยี ในการศึกษาค้นคว้าอิสระ หลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศรีปทุม