ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

UploadImage
 
UploadImage
 
ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
Knowledge and understanding of personal income tax planning
 
อาภาวรรณ  สงวนหงษ์
APAWAN  SANGUANHONG
Pakae.0309@gmail.com
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
 

บทคัดย่อ
          บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอเกี่ยวกับการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยมีการศึกษา แนวคิด คำนิยาม วัตถุประสงค์ ผลงานวิจัย และประเด็นสำคัญต่าง ๆ ของการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมทั้งข้อดี และข้อเสียของการเสียภาษีของผู้มีหน้าที่เสียภาษี บทความนี้จะช่วยให้ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีทราบถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฎหมายกำหนดไว้ ว่าสามารถทำให้เกิดการประหยัดภาษีที่ต้องชำระได้อย่างไร รวมถึงสามารถเข้าใจวิธีการคำนวณภาษีที่ต้องเสียในแต่ละปีได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น   

คำสำคัญ : ความรู้ความเข้าใจ, การวางแผนภาษีเงินได้, บุคคลธรรมดา 

Abstract
          This article aims to present about personal income tax planning. The study included concepts, definitions, objectives, research results and important issues of tax planning. Individual income, including advantages and disadvantages of taxation of taxpayers. This article will help Taxpayers are aware of the tax benefits provided by law. how it can result in tax savings that must be paid as well as being able to understand how to calculate the tax that must be paid each year more accurately
 
Keywords : Knowledge and understanding, income tax planning, personal

บทนำ
          การเสียภาษีถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องและเป็นสิ่งทุกคนเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการเก็บภาษีมีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและสาธารณูปโภค รวมถึงด้านอื่น ๆ ตามความจำเป็น ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดเก็บภาษี หลายหน่วยงานขึ้นอยู่กับอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานนั้น ๆ กรมสรรพากรเป็นส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร โดยกำหนดหลักเกณฑ์บุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แหล่งเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เพราะการเสียภาษีเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ที่ฝ่าฝืนหรือหลีกเลี่ยงการเสียภาษีจะได้รับโทษทางอาญา อาจถูกปรับ หรือทั้งถูกปรับและถูกจำคุกได้
          ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น จึงมีความจำเป็นต้องมีการวางแผนภาษีอย่างถูกวิธี เพื่อช่วยให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้เสียภาษีอย่างถูกต้องและประหยัดที่สุด เพื่อสิทธิประโยชน์ของผู้เสียภาษีเอง
 
วัตถุประสงค์
          1. เพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
          2. เพื่อให้สามารถนำความรู้เรื่องการวางแผนภาษีไปใช้ในการเสียภาษีในแต่ละปีได้อย่างถูกวิธี

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
          ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาโดยมีสถานะ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
        1)   บุคคลธรรมดา
        2)   ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
        3)   ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
        4)   กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
        5)  วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
 
ข้อปฏิบัติของผู้มีหน้าที่เสียภาษีเมื่อมีเงินได้เกิดขึ้น
          1. ขอมีเลข และบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีเงินได้เกิดขึ้น กรณีเป็นผู้มีเงินได้ ที่ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน ได้แก่ เป็นคนต่างด้าว หรือกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
          เว้นแต่ ผู้มีเงินได้ ที่มีเลขประจำตัวประชาชน สามารถใช้ เลขประจำตัวประชาชน แทนเลขประจำตัว ผู้เสียภาษีอากรได้ โดยไม่ต้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรอีก
          ผู้มีเงินได้ที่มีภูมิลำเนา อยู่ในกรุงเทพมหานคร อาจยื่นคำร้อง ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ทั้ง 30 แห่ง หรือ สำนักสรรพากรพื้นที่ สาขา(อำเภอ)ทุกแห่ง
          สำหรับในต่างจังหวัด ยื่นคำขอได้ที่สำนักงานสรรพากร พื้นที่ (จังหวัด) และสำนักงานสรรพากร พื้นที่สาขา (อำเภอ) ทุกแห่ง แล้วแต่กรณี
         2. ยื่นแบบแสดงรายการ ปกติปีละ 1 ครั้ง เงินได้ ของปีใด ก็ยื่นแบบฯ ภายใน วันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป เว้นแต่ เงินได้ บางลักษณะ เช่น การให้เช่า ทรัพย์สิน เงินได้จาก วิชาชีพอิสระ เงินได้จาก การรับเหมา เงินได ้จากธุรกิจ การพาณิชย์ เป็นต้น จะต้อง ยื่นแบบฯ ตอนกลางปี สำหรับเงินได้ ที่เกิดขึ้นใน 6 เดือนแรก ภายใน เดือนกันยายน ของทุกปี

         เงินได้ที่ต้องเสียภาษี
         ตามกฎหมาย เงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เรียกว่า "เงินได้พึงประเมิน" หมายถึง เงินได้ของบุคคลใดๆ หรือหน่วยภาษีใดข้างต้นที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ของปีใดๆ หรือเงินได้ ที่เกิดขึ้นในปีภาษี ได้แก่
         1. เงินที่ได้รับจริง(เกณฑ์เงินสด)
         2. ทรัพย์สินซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงินที่ได้รับจริง  ที่ได้รับจริง(เกณฑ์เงินสด)
         3. ประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ที่ได้รับจริง(เกณฑ์เงินสด)
         4. เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้            
         5. เครดิตภาษีตามที่กฎหมายกำหนด       

          ประเภทเงินรายได้ที่ต้องเสียภาษี
          เนื่องจากผู้มีเงินได้ประกอบอาชีพแตกต่างกัน มีความยากง่ายหรือต้นทุนที่แตกต่างกัน เพื่อความ เป็นธรรม ในกฎหมายจึงได้แบ่งลักษณะเงินได้(พึงประเมิน) ออกเป็นกลุ่มๆ ตามความเหมาะสมเพื่อกำหนด วิธีคำนวณภาษีให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด ดังนี้
          1. เงินได้ประเภทที่ 1 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น
          - เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ
          - เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากนายจ้าง
          - เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ซึ่งนายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
          - เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ
          - เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน เช่น มูลค่าของการได้รับประทานอาหาร เป็นต้น
          2. เงินได้ประเภทที่ 2 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็น
          - ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด
          - เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส
          - เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้
          - เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
          - เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ
          - เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือ จากการรับทำงานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว
          3. เงินได้ประเภทที่ 3 ได้แก่ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะ เป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล
          4. เงินได้ประเภทที่ 4 ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร   เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น ฯลฯ เป็นต้น
               (ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ไม่ว่าจะมี หลักประกันหรือไม่ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว หรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอน กับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น เป็นผู้ออกและจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน รวมทั้งเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่น ๆ ที่ได้จากการให้กู้ยืมหรือจากสิทธิเรียกร้องในหนี้ทุกชนิดไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ตาม
              (ข) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กองทุนรวม หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายไทยให้จัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะสำหรับให้กู้ยืมเงิน ฯลฯ
              (ค) เงินโบนัสที่จ่ายแก่ผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
              (ง) เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน
              (จ) เงินเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งจากกำไรที่ได้มาหรือรับช่วงกันไว้รวมกัน
              (ฉ) ผลประโยชน์ที่ได้จากการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากันหรือรับช่วงกันหรือ เลิกกัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน
             (ช) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วนหรือโอนหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตั๋วเงิน หรือ ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก ทั้งนี้เฉพาะซึ่งตีราคา เป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
              เงินได้ประเภทที่ 4 ในหลาย ๆ กรณี กฎหมายให้สิทธิที่จะเลือกเสียภาษีโดยวิธีหักภาษี ณ ที่จ่าย แทนการนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นตามหลักทั่วไป ซึ่งจะทำให้ผู้มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามบัญชีอัตราภาษี ในอัตราที่สูงกว่าอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่าย สามารถประหยัดภาษีได้
          5. เงินได้ประเภทที่ 5 เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เงินหรือประโยชน์อย่างอื่น ที่ได้เนื่องจาก
         - การให้เช่าทรัพย์สิน
         - การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน
         - การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นโดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว
          6. เงินได้ประเภทที่ 6 ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้
          7. เงินได้ประเภทที่ 7 ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ
          8. เงินได้ประเภทที่ 8 ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 แล้ว
 
การคำนวณหักค่าใช้จ่ายเงินได้พึงประเมินแต่ละกรณี
         ค่าใช้จ่ายเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคำนวณภาษี ถือเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับหักเป็นต้นทุนในการทำงาน เพื่อให้ได้เงินได้หรือรายได้สุทธินั้นมาคิดภาษีตามบัญชีอัตราภาษี โดยมีอัตราการหักค่าใช้จ่ายมากหรือน้อยตามแต่ละประเภทของเงินได้ สรุปได้ดังนี้
 
ประเภทเงินได้ หักค่าใช้จ่าย
1. เงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส เบี้ยเลี้ยง 50% ไม่เกิน 100,000 บาท
หากมีเงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 ให้นำเงินได้ทั้ง 2 ประเภท
รวมกันแต่หักได้ไม่เกิน 100,000 บาท
2. เงินได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ฯลฯ
3. ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น 50% ไม่เกิน 100,000 บาท หรือตามจริง
4. ดอกเบี้ย เงินปันผล ส่วนแบ่งกำไร ฯลฯ หักค่าใช้จ่ายไม่ได้
5. รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อ การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน
    - บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง แพ
    - ที่ดินที่ใช้ในการเกษตร
    - ที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตร
    - ยานพาหนะ
    - ทรัพย์สินอื่น

ตามจริงหรืออัตราเหมา
30%
20%
15%
30%
10%
6. วิชาชีพอิสระ
    - ประกอบโรคศิลปะ
    - กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ประณีตศิลปกรรม
ตามจริงหรืออัตราเหมา
60%
30%
7. รับเหมาก่อสร้าง ตามจริงหรืออัตราเหมา 60%
8. รายได้อื่น นอกเหนือจาก 1-7 * ตามจริงหรืออัตราเหมา 40% และ 60%
 
การคำนวณหักค่าใช้จ่ายเงินได้พึงประเมินแต่ละกรณี
          ค่าลดหย่อนและยกเว้นเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบในการคำนวณภาษีที่กฎหมายกำหนดให้นำไปหักออกจากเงินได้ได้อีกหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว โดยมีการหักลดหย่อนกรณีต่าง ๆ แตกต่างกันออกไป สรุปได้ดังนี้
(1) กรณีบุคคลธรรมดา หรือผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี        
      1. ผู้มีเงินได้ 60,000 บาท   
      2.คู่สมรส (ไม่มีเงินได้) 60,000 บาท  
      3. ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ ไม่เกิน 120,000 บาท
      4. บุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ต้องเข้าเงื่อนไข ดังนี้     
        - บุตรชอบด้วยกฎหมาย หักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวน        
        - บุตรบุญธรรม หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน  
        - กรณีมีบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีชีวิตอยู่จำนวนตั้งแต่ 3 คน จะนำบุตรบุญธรรมมาหักอีกไม่ได้
        - กรณีมีบุตรชอบด้วยกฎหมายมีจำนวนไม่ถึง 3 คน ให้นำบุตรบุญธรรมมาหักได้รวมกับบุตรชอบด้วยกฎหมาย แต่รวมกันต้องไม่เกิน 3 คน       
        บุตรที่นำมาหักลดหย่อนต้องไม่มีเงินได้ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป และเข้าหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
        - เป็นผู้เยาว์        
       - บุตรมีอายุไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยหรืออุดมศึกษา
        - เป็นผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถอันอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดู
        การนับจำนวนบุตรให้นับเฉพาะบุตรที่มีชีวิตอยู่ตามลำดับอายุสูงสุดของบุตร โดยนับรวมบัตรที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการลดหย่อนด้วย
      5. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ โดยบิดามารดาต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนไม่เกิน 30,000 บาท หักค่าลดหย่อน คนละ 30,000 บาท และสามารถหักลดหย่อนสำหรับบิดามารดาของคู่สมรสได้อีกคนละ 30,000 บาท
      6. ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ หักค่าลดหย่อน คนละ 60,000 บาท
      7. ค่าเบี้ยประกันชีวิต (กรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป) ของผู้มีเงินได้หักค่าลดหย่อนและได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ หากคู่สมรสมีการประกันชีวิต และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อน สำหรับเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท แต่หากสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้
          (ก) ถ้าความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึง มาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว      
         (ข) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีและภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46
แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
         (ค) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีและภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามี ตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
      8. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ บิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรสต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เกิน 30,000 บาท    
      9. เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงในปีภาษี แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาทแต่ไม่เกิน 490,000 บาท ซึ่งไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างให้หักจากเงินได้   
     10. เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้รับยกเว้นเท่าที่จ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท 
     11. ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หักค่าลดหย่อนในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่นำมาเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี      
ทั้งนี้ ต้องเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปถึงอายุ 85 ปีหรือกว่านั้น และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เงินที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท  
     12. เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท       
     13. ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีนั้น แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมระยะยาวต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน แต่ไม่รวมถึงกรณีผู้มีเงินได้ไถ่ถอนหน่วยลงทุนรวมหุ้นระยะยาว เพราะทุพพลภาพหรือตาย    
     14. ดอกเบี้ยกู้ยืมที่จ่ายให้แก่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ หรือนายจ้าง สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืม หักค่าลดหย่อนตามจำนวนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท    
     15. เงินสมทบประกันสังคม หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง
     16. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และเงินฝากที่จ่ายไว้กับธนาคารที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท        
     17. เงินบริจาค       
            - เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา หักลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น      
            - เงินบริจาคสาธารณประโยชน์ หักลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ได้แก่ เงินบริจาคให้แก่กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้น เงินบริจาคในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน เงินบริจาคในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวก เงินบริจาคให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬา และเงินบริจาคเข้าโครงการฝึกอบรมอาชีพและการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดแก้ไข ฟื้นฟู และสงเคราะห์เด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนหรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม เงินบริจาคให้กองทุนพัฒนาสิ่งปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนเสริมงานวัฒนธรรม กองทุนเสริมศิลปะร่วมสมัย กองทุนส่งเสริมงานจดหมายเหตุหรือกองทุนโบราณคดี และเงินบริจาคให้สถานศึกษาของรัฐ โรงเรียนเอกชน (แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบ)
            - เงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หักลดหย่อนได้ 1.5 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน ร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ต้องบริจาค ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2560 และระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม - 31 ตุลาคม 2560 มติ ครม. เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ขยายระยะเวลาให้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560
            - เงินบริจาคทั่วไป หักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น
     เพิ่มเติม     
     ลดหย่อนตามมาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ   
       1. ค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (บ้านหลังแรก) หักลดหย่อนสำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ฯ ที่มีมูลค่าไม่เกิน 3,000,000 บาท แต่ไม่เกินร้อยละ 20 ของค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ฯ ที่เป็นอาคารพ้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุด ซึ่งได้จ่ายค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์และมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างวันที่ 13 ตุลาคม 2558 - 31 ธันวาคม 2559 ทั้งนี้ ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเป็นเวลา 5 ปีต่อเนื่องกัน นับแต่ปีภาษีที่มีการาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โดยให้ใช้สิทธิจำนวนเท่า ๆ กันในแต่ละปี
       2. ค่าซ่อมแซมบ้านและรถที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย
            2.1 ค่าซ่อมแซมบ้าน    
            ค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ที่จ่าย ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2559 - 31 พฤษภาคม 2560 และระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 - 31 ธันวาคม 2560 หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยทรัพย์สินนั้นได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในช่วงระยะเวลาดังกล่าวและอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่เกิดอุทกภัย
            2.2 ค่าซ่อมแซมรถ      
            ค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถที่จ่าย ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2559 - 31 พฤษภาคม 2560 และระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 - 31 ธันวาคม 2560 หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท โดยรถหรืออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถเสียหายจากการถูกน้ำท่วมเนื่องจากอุทกภัยในช่วงระยะเวลาดังกล่าวและอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่เกิดอุทกภัย และต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้เช่าซื้อรถ
       3. ชอปช่วยชาติ หักลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท จากการซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและขอหลักฐานใบกำกับภาษีเต็มรูป ระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2560

ตารางแสดงรายการสินค้าและบริการที่สามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนทางภาษี
(2) กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล หักค่าลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท     
          1. เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษาและการกีฬา หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน     
          2. เงินบริจาค หักได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
(3) กรณีกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท  
          1. เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษาและการกีฬา หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของ เงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน    
          2. เงินบริจาค หักได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
          นอกจากข้อมูลหลัก ๆ ที่แสดงให้เห็นเบื้องต้นแล้วยังมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นๆอีกมากมายที่นำมาพิจารณาการเสียภาษีดังนั้นผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องศึกษาและทำความเข้าใจจากกรมสรรพากรเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
          สุภาภรณ์ จุลวัฒฑกะ และประกัสสร กิติมโนรม (2561 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาเรื่องความเข้าใจในการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของพนักงานในเครือคุณาสัยกรุ๊ป โดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาระดับความเข้าใจและ ความสัมพันธ์ของปัจจัยส่วนบุคคลในการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของพนักงานเครือคุณาลัยกรุ๊ป โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย ใช้แบบสอบถาม จำนวน 157 คน และแบบสัมภาษณ์ผู้บริหาร จำนวน 12 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละและค่าสหสัมพันธ์แบบไคสแควร์ ผลการศึกษาพบว่า พนักงานในเครือคุณาลัยกรุ๊ปมีความเข้าใจในการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในภาพรวมอยู่ในระดับน้อย คือ การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้านหน้าที่ทางภาษีอากรด้านรายได้ และรายจ่าย ตามลำดับ ส่วนปัจจัยส่วนบุคคลไม่มีความสัมพันธ์ต่อความรู้ความเข้าใจในการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
          ธนพร พักสันเทียะ และสุพจน์ สกุลแก้ว (2563 : บทคัดย่อ) การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) คุณลักษณะส่วนบุคคลและวิธีเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้มีหน้าที่เสียภาษีในเขตตลาดเทศบาลตำบลสร้างคอม จังหวัดอุตรธานี (2) ความรู้ความเข้าใจในการวางแผนภาษีของผู้มีหน้าที่เสียภาษีในเขตตลาดเทศบาลตำบลสร้างคอม จังหวัดอุตรธานี และ (3) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความรู้ความเข้าใจในการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผลการวิจัย พบว่า ผู้มีหน้าที่เสียภาษีส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 73.60) สถานภาพสมรสแล้ว (ร้อยละ55.30) มีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาสูงสุด (ร้อยละ 44.88) ประกอบอาชีพค้าขายสูงสุด (ร้อยละ 81.52) ได้รับข้อมูลข่าวสารด้านภาษีเพียง 1 ช่องทาง (ร้อยละ 81.60) มากกว่า 1 ช่องทาง (ร้อยละ 19.40 มีวิธีเสียภาษี ดังนี้ (1) มีเงินไต้พึงประเมิน 1 ประเภท (ร้อยละ 81.6) มากกว่า 1 ประเภท ร้อยละ 184 (2) ผู้ที่ชำระภาษีโดยให้เจ้าพนักงานเป็นผู้ประเมิน (ร้อยละ 57.90) ยื่นเองตามแบบก.ง.ด.91 (ร้อยละ 28.90) ก.ง.ด.90 (ร้อยละ 13.20) (3) คำนวณภาษีโดยแยกคำนวณระหว่างสามี-ภรรยา (ร้อยละ 97.40) นำเงินได้ของสามีภรรยามารวมกันคำนวณภาษี (ร้อยละ 2.60) (4) ใช้สิทธิหักลดหย่อนตามแนวทางการวางแผนภาษี โดยหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตรูปแบบต่าง ๆ ตามกฎหมายกำหนดสูงสุด (ร้อยละ 28.6) ออมในกองทุนสำรองเสี้ยงชีพเกินร้อยละ 3 ของเงินเตือน ร้อยละ 16. 7 (5) เลือกเสียภาษีตามวิธีถูกหัก ณ ที่จ่าย (ร้อยละ 62.00) ไม่เลือกเสียภาษีตามวิธีถูกหัก ณ ที่จ่าย (ร้อยละ 38.00) (6) ยื่นแบบรายการชำระภาษีสิ้นปีทางอินเทอร์เน็ต (ร้อยละ 65 .8) ยื่นชำระภาษีสิ้นปีที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ (ร้อยละ 34.20) และ(7) ชำระภาษีสิ้นปี 2562 ภายในมีนาคม 2563 (ร้อยละ 60.50) ภายในเดือนสิงหาคม 2563 (ร้อยละ 23.76) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีความรู้ความเข้าใจในการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง มีความรู้ความเข้าใจระดับสูง (ร้อยละ27.25) มีความรู้ความเข้าใจในระดับปานกลาง (ร้อยละ 47.25) มีความรู้ความเข้าใจในระดับต่ำ (ร้อยละ 27.25) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อความรู้ความเข้าใจในการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมตาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ได้แก่ อาชีพประเภทเงินได้พึงประเมิน และแบบรายการชำระภาษีสิ้นปี
          จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทราบว่ายังมีผู้ที่ต้องสียภาษีอีกจำนวนมากที่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการวางแผนภาษี และการเสียภาษี หรือยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องจึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้มีหน้าที่เสียภาษีมากที่สุด

ข้อดีหรือประโยชน์ของการวางแผนภาษี มีดังนี้
         1.  เพื่อให้เสียภาษีได้อย่างถูกต้อง
          2.  เพื่อป้องกันโทษ และความรับผิดจากการเสียภาษีที่ผิดพลาด
          3.  เพื่อให้ได้รูปแบบแนวทางที่ประหยัดภาษีสูงสุด
          4.  ช่วยลดต้นทุนทำให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          5.  เพื่อรักษาความมั่งคั่งของผู้เสียภาษี
          6.  ช่วยบำรุงประเทศให้เจริญก้าวหน้าขึ้น หรือมีระบบขนส่งมวลชน ระบบสาธารณูปโภคที่ดีขึ้น
        
ผลกระทบจากการวางแผนภาษีที่ผิดพลาด
          1.  ต้องเสียภาษีเพิ่มเติม
          2.  ต้องเสียเบี้ยปรับ
          3.  ต้องเสียเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ยของข้อ 1. และ 2.)
          4.  ต้องรับโทษทางอาญา  (ปรับ,จำคุก)
          5.  อาจถึงขั้นสูญเสียธุรกิจที่สร้างสมมา
 
สรุป
          การวางแผนภาษีส่วนบุคคลหรือการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือการกำหนดแนวทางปฏิบัติในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้เสียภาษีได้อย่างถูกต้องและสามารถประหยัดภาษีได้สูงสุด ซึ่งไม่ใช่แนวทางการหลีกเลี่ยงภาษี แต่เป็นการใช้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มาคำนวณภาษีอย่างถูกต้องทำให้ภาษีที่ต้องจ่ายจริงสามารถลดลงจากเดิมที่ไม่ได้วางแผนภาษีได้ เรียกว่าทำให้เกิดการประหยัดในภาษีที่ต้องชำระอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นประโยชน์หลักของการวางแผนภาษี โดยแนวทางการวางแผนที่สามารถลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องชำระในบทความนี้ ประกอบด้วย แนวทางการลดเงินได้พึงประเมิน การเพิ่มค่าใช้จ่าย/ค่าลดหย่อน และการเลือกเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า
         
ข้อเสนอแนะ
          1. ควรมีการศึกษาความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนภาษีอย่างต่อเนื่องโดยมีการเพิ่มพูนความรู้และศึกษาข้อมูลใหม่ ๆ ตลอดเวลา เพื่อที่จะได้ไม่พลาดสิทธิประโยชน์ทางภาษีของตนเอง และสามารถชำระได้อย่างถูกต้องไม่ให้เกิดผลกระทบตามมาในภายหลัง
          2. การดำเนินการของระบบภาษีไทยยังคงต้องการการปรับปรุงทั้งอัตราภาษีให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ปรับปรุงข้อกฎหมายให้ทันสมัย รวมถึงการออกภาษีใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นการปรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและค่าครองชีพ การลดหย่อนภาษีเงินได้ที่สมเหตุสมผล การลดหย่อนหรือมาตรการทางภาษีที่เหมาะสมกับนักลงทุนและไม่เสนอประโยชน์กับนักลงทุนจนเกินความจำเป็น รวมถึงการออกแบบภาษีใหม่ ๆ ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ อาทิเช่น ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ภาษีบัณฑิต เหล่านี้ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันก็อาจกล่าวได้ว่าระบบภาษีไทยยังคงให้ประโยชน์แก่ประเทศชาติและคืนกลับสู่ประชาชนในระดับหนึ่ง แต่คาดว่าระบบจะดีกว่านี้ได้หากมีการปฏิรูปโครงสร้างภาษีอากรของประเทศไทยเสียใหม่
 
บรรณานุกรม
กรมสรรพากร. (2563). ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2564. จากเว็บไซต์  https://www.rd.go.th/548.html
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. (2564). การวางแผนภาษี. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2564. จากเว็บไซต์ https://www.set.or.th/set/financialplanning/lifeevent.do?name=wealth_ tax&innerMenuId=3
ธนพร พักสันเทียะ และสุพจน์ สกุลแก้ว. (2563). การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้มีหน้าที่เสียภาษีในเขตตลาดเทศบาลตำบลสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี. การประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 11 ปีการศึกษา 2563 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคใต้.
ธนิดา จิตร์น้อมรัตน์. (2559). การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างถูกต้อง. สุทธิปริทัศน์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 95 กรกฎาคม – กันยายน 2559 หน้า13.
ศิริรัตน์ พ่วงแสงสุข รณพร พิทักษ์มวลชน และ ไพสรณ์ สูงสมบัติ. (2561). ความรู้ ความเข้าใจ ในการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา. งานวิจัย คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร.
_________. (2563). ข้อดีของการวางแผนภาษี. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2564. จากเว็บไซต์  http://www.thaifinancialadvisor.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538623982