ความสำคัญของการวิเคราะห์งบการเงินโดยใช้อัตราส่วนทางการเงิน

UploadImage
 
UploadImage

ความสำคัญของการวิเคราะห์งบการเงินโดยใช้อัตราส่วนทางการเงิน
The Importance of Financial Statement Analysis 
by using Financial Ratio Analysis 
 
ฐาปกรณ์ เจียรนันทพิสุทธ์
Thapakorn Jearanantapisut
Thapakorn_29@hotmail.com
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม

บทคัดย่อ
          การให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์งบการเงินโดยใช้อัตราส่วนทางการเงิน เป็นหลักและแนวทางปฏิบัติสำคัญที่นักวิเคราะห์การเงิน ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแปลความหมายจากงบการเงินโดยผ่านอัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio Analysis) ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ อัตราส่วนวิเคราะห์ความคล่องตัวทางการเงิน (Liquidity Ratios)  อัตราส่วนวิเคราะห์ประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ (Activity Ratios) อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Leverage Ratios)   อัตราส่วนวิเคราะห์ความสามารถในการทํากําไร (Profitability Ratios) โดยอัตราส่วนเหล่านี้ ทำให้ทราบถึงสถานะการเงิน จุดแข็งจุดอ่อนของบริษัท และแนวโน้มในอนาคตของบริษัท ทำให้ผู้บริหารสามารถกำหนดแผนการบริหารการเงินให้เกิดประสิทธิภาพได้ หรือ การตัดสินใจของนักลงทุน แต่ยังคงมีข้อจำกัดในการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็น การตกแต่งบัญชี หรือ การใช้มาตรฐานและวิธีปฎิบัติทางบัญชีที่แตกต่างกัน อัตราเงินเฟ้อ หรือแม้กระทั้งการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมซึ่งอาจจะทำให้บิดเบือนได้หากมีการนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกันได้ แต่อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์งบการเงินย่อมเป็นเครื่องมือสำคัญที่นักวิเคราะห์การเงิน หรือ ผู้ใช้ข้อมูล ควรนำไปใช้ในการวิเคราะห์ประกอบการพิจารณาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio Analysis)  การวิเคราะห์แบบแนวนอน (Horizontal Analysis) การวิเคราะห์แบบแนวตั้งหรือแนวดิ่ง (Vertical Analysis) การวิเคราะห์แบบแนวโน้ม (Trend Analysis) เพราะเครื่องมือเหล่านี้ทำให้ทราบถึงรายละเอียดสำคัญของกิจการมากขึ้น
  
คำสำคัญ : การวิเคราะห์งบการเงิน, อัตราส่วนทางการเงิน, แนวโน้มของธุรกิจ, นักวิเคราะห์การเงิน
  
Abstract
          The Importance of Financial Statement Analysis by using Financial Ratio Analysis It is a key principle and practice those financial analysts. Used as a tool to interpret financial statements through Financial Ratio Analysis, which can be divided into 4 types. Liquidity Ratios, Activity Ratios, Leverage Ratios, Profitability Ratios. By these ratios make aware of the financial situation company strengths and weaknesses and future trends of the company. This allows executives to formulate an efficient financial management plan or investor's decision. But there are still limitations in the analysis of financial ratios. Window Dressing or the use of different accounting standards and practices inflation or even comparing industry averages, which can be distorted if the data is compared. however, analyzing financial statements is an important tool that financial analysts or data users should use in their analysis. Financial Ratio Analysis, Horizontal Analysis, Vertical Analysis, Trend Analysis, because these tools make you know the more details of the business.

Keywords: Financial Statement Analysis, Financial Ratios, Business Trends, Finance Analyst
 
บทนำ
         การประกอบกอบธุรกิจย่อมมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันออกไปในแต่ละองค์กรธุรกิจ แต่การประกอบธุรกิจนั้นไม่ว่าจะเป็นรูปแบบธุรกิจใดก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องการคือกำไร แต่ยังมีสิ่งอื่นที่ต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยง ความรับผิดชอบต่อสังคม กฎหมาย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กร รวมไปถึงหน้าที่ของนิติบุคคล ที่มีต่อหน่วยงานภาครัฐ ปัจจุบันนี้การประกอบธุรกิจนั้นมีความเกี่ยวเนื่อง และ ติดต่อประสานงาน หรือ ร่วมงานกับองค์กร หรือบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นหลักการทั่วไปของการดำเนินธุรกิจ และด้วยความคาดหวังของธุรกิจจะต้องเกิดความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน และเสริมสร้างธุรกิจให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแต่ละองค์กร ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน องค์กร หรือ นักลงทุนต่าง ๆ จึงได้มีการใช้เครื่องมือทางการเงิน เพื่อมาวิเคราะห์และใช้ประกอบในการตัดสินใจดังกล่าว การวิเคราะห์งบการเงินจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจดำเนินการต่าง ๆ เนื่องจากงบการเงินแสดงถึงข้อมูลโดยสรุปเกี่ยวกับความสามารถในการทำกำไรและสถานะทางการเงินในอดีต ซึ่งช่วยให้ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ สามารถประเมินผลการบริหารจัดการธุรกิจ และ รวมไปถึงแนวโน้มของธุรกิจได้ รวมไปถึงการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ (Economic Analysis) ที่เราได้เห็นกันในตลาดระบบเศรษฐกิจนั้น เน้นการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจที่เป็นมาหรือจากข้อมูลอดีตที่ผ่านมา ตลอดจนแนวโน้มของสภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเศรษฐกิจองค์รวมของโลกและแนวโน้มนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจที่ออกหลักทรัพย์หรือไม่ เพียงใด นอกจากนั้นยังรวมไปถึงการวิเคราะห์วัฏจักรธุรกิจ และนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลด้วย เช่น นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และอัตราดอกเบี้ย หรือแม้กระทั่งปัจจัยทางความเสี่ยง ทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ทั้งนี้ อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ สามารถส่งผลกระทบถึงผลกำไรของบริษัทรวมไปถึงทัศนคติ และความคาดหวังของนักลงทุน ซึ่งจะไปกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ หากอัตราการเติบโตของเศรษกิจลดลง ผลกำไรของบริษัทก็มีแนวโน้มที่จะลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้นักลงทุนมองภาพรวมยากหรือประเมินราคาหุ้นนั้นไม่ใกล้เคียงกับมูลค่าที่แท้จริง  การวิเคราะห์งบการเงินจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ผู้ที่สนใจหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง สามารถใช้เป็นเครื่องมือโดยใช้การวิเคราะห์ตามหลักการของอัตราส่วนทางการเงิน ทั้งนี้การวิเคราะห์งบการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจะต้องทำความเข้าใจแนวคิดพื้นฐานทางบัญชีและองค์ประกอบของงบการเงิน เพื่อให้สามารถอนุมานได้ถึงผลกระทบของการใช้วิธีการทางบัญชีที่แตงต่างกัน (ศูนย์สงเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน, 2556)
 
วัตถุประสงค์ 
          1. เพื่อศึกษาความสำคัญของการวิเคราะห์งบการเงินโดยใช้อัตราส่วนทางการเงิน
          2. เพื่อให้ทราบถึงแนวทางและหลักการณ์ในการวิเคราะห์งบการเงินโดยใช้อัตราส่วนทางการเงิน
          3. เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประกอบการพิจารณาแก่ผู้ที่สนใจที่ใช้ข้อมูลของกิจการ

การวิเคราะห์งบการเงิน
          การวิเคราะห์งบการเงินเป็นการนำข้อมูลจากงบการเงิน มาเปรียบเทียบ หาความสัมพันธ์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ โดยวัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์งบการเงินนั้นจะขึ้นอยู่กับความต้องการข้อมูลของผู้ใช้งบการเงินในการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน และ ผลการดำเนินงานของกิจการโดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ มาทำการประเมิน และ วิเคราะห์ผล เฉลิมขวัญ ครุธบุญยงค์ (2554:74) ได้ให้ความหมายของการวิเคราะห์งบการเงินว่า “ การวิเคราะห์งบการเงินเป็นกระบวนการค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน และ ผลการดำเนินงานของธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งจากงบการเงินของธุรกิจนั้น พร้อมทั้งนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาประกอบการตัดสินใจในการดำเนินงานต่อไปในอนาคต”
          ในการวิเคราะห์งบการเงินนั้น กิจจการควรมีงบการเงินอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป เพื่อที่จะได้เปรียบเทียบและดูแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง เมื่อรวบรวมข้อมูลงบการเงินมาได้แล้วก็จะสามารถเริ่มวิเคราะห์งบการเงินได้โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้ (ศูนย์สงเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, 2556)
          1. จัดวางข้อมูลรายงานงบการเงินในงบการเงินของปีต่าง ๆ ให้อยู่ในรูปแบบเดียวกันเพื่อง่ายต่อการวิเคราะห์และเปรียบเทียบ
          2. เลือกเครื่องมือที่จะใช้วิเคราะห์ ซึ่งได้แก่
              2.1 การย่อส่วนตามแนวดิ่ง (Common-size Analysis)
              2.2 การวิเคราะห์แนวโน้ม (Trend Analysis)
              2.3 การวิเคราะห์งบแสดงการเคลื่อนไหวของเงินทุน (Fund Flow Analysis)
              2.4 การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio Analysis)
          3. การอ่านและแปลความ
          4. การจัดทำรายงานและการใช้ประโยชน์

          จากความหมายข้างต้นสามารถทำให้สรุปได้ว่า การวิเคราะห์งบการเงินนั้น เป็นการนำเครื่องมือทางการเงิน มาวิเคราะห์ข้อมูลผ่านรายงานงบการเงิน เพื่อให้เห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานะทางการเงิน และผลการดำเนินงานของกิจการ โดยใช้รายงานของข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์และแปลความผ่านเครื่องมือดังกล่าว มาประกอบตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีต่อกิจการนั้น ทั้งนี้ในบทความนี้จะเป็นการศึกษาการวิเคราะห์งบการเงินโดยใช้เครื่องมือ การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio Analysis) เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของการวิเคราะห์งบการเงินโดยแปลความผ่านอัตราส่วนทางการเงิน
 
การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio Analysis)
          อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio Analysis) เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลในงบการเงินเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างรายการหนึ่งกับรายการหนึ่ง การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินจำเป็นต้องทำการเปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีต หรือเปรียบเทียบกับอัตราส่วนมาตรฐานหรืออัตราส่วนถัวเฉลี่ยของอุตสาหกรรม เพื่อให้ทราบถึงสถานะการเงิน จุดแข็งจุดอ่อนของบริษัท และแนวโน้มในอนาคตของบริษัททำให้ผู้บริหารสามารถกำหนดแผนการบริหารการเงินให้เกิดประสิทธิภาพได้ ซึ่งการเปรียบเทียบอัตราส่วนทางการเงินนั้น แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ ดังนี้ (การวิเคราะห์งบการเงิน, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, 2556)
          1. อัตราส่วนเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ซึ่งหาได้จากการเฉลี่ยอัตราส่วนทางการเงินของกลุ่มบริษัทที่ทำธุรกิจเดียวกันเพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการเปรียบเทียบ แต่วิธีนี้ค่อนข้างยุ่งยากและต้องใช้เวลานานในการเก็บข้อมูล
          2. อัตราส่วนการเงินในอดีตของกิจการ เป็นการเปรียบเทียบกับอัตราส่วนทางการเงินของกิจการเองในช่วงการดำเนินงานที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้มองเห็นภาพของกิจการได้ดีที่สุด
          3. อัตราส่วนทางการเงินของกิจการคู่แข่งขัน การเปรียบเทียบจะทำให้ทราบถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของกิจการเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทำให้สามารถกำหนดกลยุทธ์ในการแข่งขันได้ แต่มีข้อจำกัด คือข้อมูลงบการเงินที่จะนำมาวิเคราะห์เทียบกัน ควรจะมีระบบบัญชี วิธีการบันทึกบัญชี และรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันด้วย
 
ข้อจำกัดในการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน
          1. การเปรียบเทียบอัตราส่วนทางการเงินควรใช้ในการเปรียบเทียบกิจการที่ดําเนินงานเพียงประเภทเดียว บริษัทที่มีขนาดใหญ่มากและมีโครงสร้างธุรกิจหลายประเภทที่ไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอยู่ในกิจการเดียวกัน บางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่จะทราบว่าบริษัทนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมใด การนําเอาตัวเลขโดยรวมของทั้งบริษัทมาคํานวณอัตราส่วนอาจจะไม่มีความหมาย เพราะเกิดจากองค์ประกอบของธุรกิจหลายด้านประกอบกัน ดังนั้นการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินจึงมักจะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์บริษัทที่มีขนาดเล็ก และขอบเขตธุรกิจจํากัดอยู่เฉพาะด้านมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติ
          2. การเปรียบเทียบอัตราส่วนทางการเงินของกิจการกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม การที่อัตราส่วนออกมาดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอาจจะไม่ได้หมายความว่า กิจการนั้นดีกว่ากิจการอื่น ๆค่าเฉลี่ยของกิจการอุตสาหกรรม อาจไม่ได้สะท้อนผลการดําเนินงานที่ดีเสมอไป อัตราส่วนค่าเฉลี่ยมาตรฐานของอุตสาหกรรมเป็นเพียงค่าเฉลี่ยเท่านั้น การที่อัตราส่วนของกิจการดีกว่าอัตราส่วนเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ก็ไม่ได้หมายถึงกิจการมีประสิทธิภาพในการบริหารงานดีเช่นกัน โดยปกติแล้วค่าเฉลี่ยมาตรฐานของอุตสาหกรรมจะเป็นแนวทางประเมินสถานะทางการเงินโดยเฉลี่ยของบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้น ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่า อัตราส่วนค่าเฉลี่ยมาตรฐานของอุตสาหกรรมจะเป็นอัตราส่วนที่บริษัทต้องยึดถือเป็นเกณฑ์ในการประเมินสถานะทางการเงินเสมอไป
          3. ปัจจัยเกี่ยวกับฤดูกาล เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน อาจมีผลทําให้อัตราส่วนเบี่ยงเบนไป เช่น สินค้าชนิดเครื่องกันหนาว จะขายได้มากในช่วงฤดูหนาว อัตราการหมุนเวียนของสินค้าในช่วงฤดูหนาวจะสูงกว่าในช่วงฤดูอื่น ๆ ผู้วิเคราะห์อาจจะต้องอาศัยการหาค่าเฉลี่ยตามวงจรของฤดูกาลเพื่อให้สามารถวิเคราะห์ส่วนของรายได้อย่างครบถ้วน
          4. การตกแต่งบัญชี (Window Dressing) โดยฝ่ายบริหาร เพื่อให้งบการเงินดูดีกว่าที่ควรจะเป็น จะทําให้ผลการวิเคราะห์ต่างไปจากความเป็นจริงและไม่ได้ข้อมูลตามที่ต้องการ เช่น กรณีของ Enron และ WorldCom
          5. การใช้มาตรฐานและวิธีปฏิบัติทางบัญชีที่แตกต่างกัน อาจจะบิดเบือนหากนําเอามาเปรียบเทียบกันด้วย อัตราส่วนโดยตรง เช่น การบันทึกสินค้าคงคลัง หรือวิธีการตัดค่าเสื่อมราคา หรือการใช้วิธีเช่าซื้อในจํานวนสูงจะทําให้มูลค่าของสินทรัพย์ของกิจการต่ำกว่าความเป็นจริง เทียบกับกิจการที่ใช้สินทรัพย์แบบเดียวกันแต่ไม่ได้เช่าซื้อและใช้การจัดซื้อโดยตรง
          6. เป็นไปได้ยากที่จะมีกิจการใดมีอัตราส่วนทางการเงินดีทั้งหมด หรือ ไม่ดีทั้งหมด ส่วนใหญ่มักจะมีอัตราส่วนทางการเงินที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ผสมกันไป จึงยากที่จะบอกได้ว่าโดยภาพรวมแล้วกิจการดีหรือไม่ดี ยกเว้นจะกําหนดน้ำหนักความสําคัญของสัดส่วนทางการใดมากกว่าอัตราส่วนอื่น ๆ
          7. ในบางสถานการณ์การที่จะระบุบทสรุปว่า อัตราส่วนลักษณะใดที่ถือว่าดีและลักษณะใดที่ถือว่าไม่ดีก็ไม่อาจจะกระทําได้แบบชัดเจน เช่น สภาพคล่องที่สูงมากอาจจะมองว่าดีในด้านสภาพคล่องแต่ถ้ามากเกินไปก็แสดงถึงการมีสินทรัพย์ที่ไม่ทํารายได้สูงด้วย หรือการหมุนเวียนของสินทรัพย์ถาวรที่สูงอาจจะสะท้อนว่าการใช้สินทรัพย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หรืออาจจะมองว่ากิจการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรน้อยไปก็ได้
          8. อัตราเงินเฟ้อมีส่วนในการบิดเบือนตัวเลขหรือมูลค่าของรายการในงบการเงิน ทําให้มูลค่าตามงบการเงินไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง (True Values) ของกิจการ โดยอัตราเงินเฟ้อกระทบต่อค่าเสื่อมราคา ต้นทุนสินค้าคงคลัง กําไรของกิจการด้วย ในการพิจารณาผลการดําเนินงานของกิจการใด ๆ ในช่วงเวลาที่ยาวต่อเนื่องอาจจะต้องนําเอาอัตราเงินเฟ้อมาร่วมพิจารณาด้วย
 
ประเภทของอัตราส่วนทางการเงิน
          อัตราส่วนทางการเงินสามารถแบ่งเป็นเป็น 4 ประเภท (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, 2559) สามารถสรุปได้ดังนี้
          1. อัตราส่วนวิเคราะห์ความคล่องตัวทางการเงิน (Liquidity Ratios) เป็นอัตราส่วนวัดความสามารถในการชําระภาระผูกพันทางการเงินระยะสั้นเมื่อครบกําหนด ตามความหมายนี้สามารถแยกพิจารณาได้ 3 ประเด็นคือ (1) สินทรัพย์จะต้องมากกว่าหนี้สิน (2) มีความสามารถในการเปลี่ยนสินทรัพย์มาเป็นเงินสดได้เร็ว และ (3) เงินที่ได้จะต้องพอที่จะชําระหนี้ที่ครบกําหนด ซึ่งอัตราส่วนในกลุ่มนี้แบ่งได้เป็น 2 อัตราส่วนคือ อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio) และอัตราส่วนสินทรัพย์คล่องตัว (Acid Test Ratio หรือ Quick Ratio)
          2. อัตราส่วนวิเคราะห์ประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ (Activity Ratios) เป็นอัตราส่วนวัดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรของบริษัท อัตราส่วนในกลุ่มนี้เป็นอัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างยอดขายกับเงินลงทุนในรายการสินทรัพย์ต่าง ๆ แต่ละรายการตามที่ต้องการวิเคราะห์เช่น อัตราการหมุนของลูกหนี้อัตราการหมุนของสินค้า อัตราการหมุนของสินทรัพย์ถาวร ฯลฯ การคํานวณอัตราส่วนในกลุ่มนี้จึงเกี่ยวข้องทั้งงบแสดงฐานะการเงินและงบกําไรขาดทุนเบ็ดเสร็จความเร็วของอัตราการหมุนจากการใช้สินทรัพย์ที่วัดได้จะบอกถึงประสิทธิภาพจากการบริหารสินทรัพย์ประเภทนั้น ๆ
          3. อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Leverage Ratios) ธุรกิจที่มีโครงสร้างทางการเงินประกอบด้วยส่วนของหนี้สูงมากเมื่อเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้นแล้ว ธุรกิจนั้นจะมีความมั่นคงน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจที่มีส่วนของหนี้ตํ่าอัตราส่วนภาระแห่งหนี้นี้ใช้วัดความอ่อนแอทางการเงิน อันเกิดจากการก่อหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้วัดขนาดของเงินกู้ยืมที่ธุรกิจได้จัดหา และขนาดของกําไรที่สามารถลดลงได้ก่อนที่ธุรกิจนั้นจะประสบปัญหาการจ่าย เช่น อัตราส่วนแห่งหนี้ (Debt Ratio) อัตราส่วนความสามารถจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) อัตราส่วนความสามารถจ่ายค่าใช้จ่ายทางการเงิน (Fixed Charge Coverage Ratio) เป็นต้น
          4. อัตราส่วนวิเคราะห์ความสามารถในการทํากําไร (Profitability Ratios) เป็นอัตราส่วนวัดประสิทธิภาพในการบรหิารงานของฝ่ายบรหิาร ซึ่งอัตราส่วนประเภทนี้จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ (1) กลุ่มกําไรสัมพันธ์กับยอดขายซึ่งได้จากงบกําไรขาดทุน สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการควบคุมค่าใช้จ่าย การทํากําไรจากยอดขาย เช่น ผลตอบแทนกําไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ผลตอบแทนจากการดําเนินงาน (Operating Profit Margin) ผลตอบแทนจากกําไรสุทธิ (Net Profit Margin) (2) กลุ่มกําไรสัมพันธ์กับเงินลงทุนซึ่งได้จากงบกําไรขาดทุนเบ็ดเสร็จและงบแสดงฐานะการเงิน เช่น ผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวมและผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น
 
           การวิเคราะห์คุณภาพของบริษัทที่ใช้ในการตัดสินใจลงทุน เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านงบการเงินโดยใช้อัตราส่วนทางการเงินทั้ง 4 ด้าน เป็นเครื่องมือในการแปลผล เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนจากผลงานวิจัยของ ณัฐพล สุริยันต์ (2557) โดยผลวิเคราะห์พบว่าบริษัทที่ตัดสินใจลงทุนแบบเน้นคุณค่ามี จำนวน 9 บริษัท จากกลุ่มตัวอย่าง ทั้งหมด 22 บริษัท ผลงานวิจัยของ เสาวรส วิงสันเทียะ (2557) พบว่า หลักทรัพย์ที่มีอัตราผลตอบแทนที่ต้องการน้อยกว่าอัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ เป็นอัตราผลตอบแทนที่นักลงุทนควรลงทุน (Undervalued) มีหลักทรัพย์ที่ควรลงทุนอยู่เพียง 1 หลักทรัพย์ โดยผ่านการวิเคราะห์จากอัตราส่วนทางการเงิน และงานวิจัยของ ชัยสรรค์ รังคะภูติ (2558) ผลการวิจัยพบว่า ผลการศึกษานี้สามารถไปใช้เพื่อเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาถึงอัตราส่วนทางการเงิน ซึ่งประกอบด้วยอัตราผลตอบแทนกำไรสุทธิ อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวมอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น อัตราหนี้สินส่วนของผู้ถือหุ้น อัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น อัตราการหมุนเวียนปริมาณซื้อขาย ต่อราคาหุ้น การจ่ายเงินปันผล และการกำกับดูแลกิจการที่ดี นักลงทุนสามารถนำอัตราการเงิน ของธุรกิจการเงินไปใช้ในการพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ ในตลาดหลักทรัพย์ในอนาคตเพื่อทำการตัดสินใจลงทุนในระยะยาว ในอนาคตเป็นไปได้อย่างถูกต้องและมีประโยชน์สูงสุดแก่นักลงทุน และงานวิจัยของ ณิชดาภา นาคพงศ์ (2561) ได้ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้อัตราส่วนทางการเงินเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์
          จะเห็นได้ว่าอัตราส่วนทางการเงินนั้น เป็นเครื่องมือหลักที่นักวิเคราะห์การเงิน หรือ ผู้วิจัย ใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ และแปลความออกมา เพื่อให้ทราบถึงสถานะการเงิน จุดแข็งจุดอ่อนของบริษัท และแนวโน้มในอนาคตของบริษัททำให้ผู้บริหารสามารถกำหนดแผนการบริหารการเงินให้เกิดประสิทธิภาพได้ หรือ การตัดสินใจของนักลงทุน รวมไปถึงการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งตามความต้องการของผู้ใช้ผลการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินนั้น ๆ ด้วย
 
 
สรุป
          อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio) เป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์งบการเงิน ทำให้เห็นภาพรวมของบริษัท และความสามารถในการทำกำไรในเชิงเปรียบเทียบได้ง่ายขึ้น เพราะในงบการเงินนั้นประกอบด้วยข้อมูลมากมาย ยากต่อการตีความจึงได้นำเครื่องมือ การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน มาช่วยในการวิเคราะห์ ซึ่งการวิเคราะห์งบการเงินด้วยรูปแบบต่าง ๆ  ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ทำการวิเคราะห์แต่ทุกรูปแบบล้วนมีข้อมูลที่แสดงความสัมพันธ์กันคือเป็นเหตุเป็นผลต่อกันเช่น ผลการดำเนินงานที่ขาดทุน เนื่องจากมีอัตราค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่สูงเกินกว่ายอดขายหลังหักต้นทุนแล้ว ซึ่งผู้วิเคราะห์ต้องไปหาสาเหตุว่าเกิดจากรายการใดที่ผิดปกติ สภาพคล่องทางการเงินไม่มี เนื่องจากสินทรัพย์ส่วนใหญ่ลงทุนอยู่ในลูกหนี้ที่เรียกเก็บไม่ได้ สินค้าเก่าเก็บมีมาก จำหน่ายได้ช้า  ไม่ได้อยู่ในความต้องการของลูกค้า อีกทั้งเงินทุนจมอยู่ในสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนจำนวนมาก เช่น ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์  โดยสินทรัพย์เหล่านี้ไม่ได้ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์หรือรายได้  เป็นต้น นอกจากกนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ทั้งจากมุมของนักบริหาร นักลงทุน และสถาบันทางการเงินภายนอกที่จะให้สินเชื่อหรือเงินกู้ มันเป็นสิ่งที่จะทำให้เรามองภาพของธุรกิจในแง่มุมที่เราต้องการได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกันนั้น มันก็เป็นตัวช่วยในการเช็คความผิดปกติต่างๆ ที่เราจะมองไม่เห็นถ้าไม่มองผ่านอัตราส่วนทางการเงิน ซึ่งผลการวิเคราะห์เหล่านี้เป็นการแปลผลมาจากการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินเป็นเครื่องมือ โดยผ่านอัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio Analysis) ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ อัตราส่วนวิเคราะห์ความคล่องตัวทางการเงิน (Liquidity Ratios)  อัตราส่วนวิเคราะห์ประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ (Activity Ratios) อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Leverage Ratios)   อัตราส่วนวิเคราะห์ความสามารถในการทํากําไร (Profitability Ratios)
 
ข้อเสนอแนะ
          การวิเคราะห์งบการเงินเป็นกระบวนการที่ค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลดำเนินงานของกิจการว่ามีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร มีจุดดีจุดเสียที่รายการใดบ้าง และหาแนวทางการแก้ไขเพราะการวิเคราะห์จะช่วยให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากการวิเคราะห์งบการเงินโดยใช้ อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio Analysis) แล้วนั้น เราสามารถที่จะให้เครื่องมืออื่นๆ ในการวิเคราะห์งบการเงินได้ เช่น การวิเคราะห์แบบแนวนอน (Horizontal Analysis) การวิเคราะห์แบบแนวตั้งหรือแนวดิ่ง (Vertical Analysis) การวิเคราะห์แบบแนวโน้ม (Trend Analysis) ซึ่งเทคนิคการวิเคราะห์งบการเงินต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เราทราบถึงรายละเอียดของกิจการมากขึ้น นอกเหนื่อจากการใช้ อัตราส่วนทางการเงินเพียงอย่างเดียว 
 
บรรณานุกรม 
          กฤษฎา เสกตระกู. (2556).  การวิเคราะห์งบการเงิน. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรียกใช้เมื่อ 23 กรกฎาคม 2564. จาก https://www.set.or.th/dat/vdoArticle/attachFile/AttachFile_1472551305959.pdf
          กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม. (2559). เทคนิคการวิเคราะห์งบการเงิน. เรียกให้เมื่อ 31 กรกฎาคม 2564. จาก https://bsc.dip.go.th/th/category/financial-accounting/fs-ratio-formula-content
          เฉลิมขวัญ ครุธบุญยงค์. (2554). การวิเคราะห์รายงานทางการเงิน.กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น. 2554(74)
          ชัยสรรค์ รังคะภูติ. (2560). ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราส่วนทางการเงินและการตัดสินใจลงทุน ในหลักทรัพย์ของธุรกิจอุตสาหกรรมทางการเงิน ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. งานวิจัยนี้ ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากมหาวิทยาลัยศรีปทุม.
          ณิชดาภา นาคพงศ์. (2561).  การวิเคราะห์ความเสี่ยงด้วยเครื่องมืออัตราส่วนทางการเงินของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยศิลปากร
          ณัฐพล สุริยันต์. (2557). การวิเคราะห์คุณภาพบริษัทจากงบการเงิน. เรียกใช้เมื่อ 23 กรกฎาคม 2564
จาก http://dric.nrct.go.th/bookdetail.php?type=1&book_id=280660
          เสาวรส วิงสันเทียะ. (2557). การวิเคราะห์อัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ธุรกิจบ้านจัดสรร) โดยใช้ทฤษฎีการตั้งราคาหลักทรัพย์.บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต.