ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ควรรู้
01
Feb
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ควรรู้
PERSONAL INCOME TAX
รัชชวรรณ์ ศรีบวรเศรษฐ์
Ratchawan Sriborwornseth
ploy.ratchawan@gmail.com
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
บทคัดย่อ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษ ตามที่กฎหมายกำหนด และมีรายได้เกิดขึ้น ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี รายได้ที่เกิดขึ้นในปีใดๆ ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการตนเอง ตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนด ภายในเดือนมกราคม ถึงมีนาคมของปีถัดไป สำหรับผู้มีเงินได้บางกรณีกฎหมายยังกำหนดให้ยื่นแบบฯ เสียภาษีตอนครึ่งปี สำหรับรายได้ ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ที่ต้องชำระ และเงินได้บางกรณี กฎหมายกำหนดให้ ผู้จ่ายทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้ที่จ่ายบางส่วน เพื่อให้มีการทยอยชำระภาษี ขณะที่มีเงินได้เกิดขึ้นอีกด้วย
คำสำคัญ : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีอากร, ค่าใช้จ่าย, ค่าลดหย่อนภาษี
Abstract
Personal income tax is a tax collected from the general public or from a special tax authority as required by law and have an income according to the specified criteria usually stored annually. Income generated in any year Income earners are obliged to list themselves. According to the specified tax return form by January until March of the following year. For those who have income in some cases, the law still requires the submission of the form. Half-year tax is paid on actual income in the first half of the year. In order to alleviate the burden of taxes that must be paid and income in some cases the law requires. The payer is responsible for withholding tax on some of the income paid. in order to have a gradual tax payment while there is income coming up as well
Keywords : Personal Income Tax, , Taxation, Expense, Allowance
บทนำ
ประเทศไทยได้นำประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับในการจัดเก็บภาษีตั้งแต่ปีพ.ศ.2482 เป็นต้นมา ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถูกนำมาใช้ เป็นเครื่องมือในการจัดเก็บภาษีอากรที่มีบทบาทสำคัญต่อผลการจัดเก็บภาษีโดยรวมของประเทศไทยมาโดยตลอด
ภาษีอากรเป็นเครื่องมือทางการคลังที่สำคัญของรัฐบาลอย่างหนึ่ง ในการหารายได้เข้ามาเพื่อใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศ สนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่วางไว้ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานเป็นการสร้างเพื่อส่วนรวม เช่น การสร้างถนน สะพานลอย สะพานข้ามแม่น้ำต่างๆ การใช้จ่ายด้านความมั่นคง สนับสนุนด้านการศึกษา เป็นต้น และสนับสนุนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้การใช้นโยบายภาษี โดยการเปลี่ยนแปลงภาษี/อัตราภาษีก็มีส่วนในการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือตกต่ำได้ ภาษีอากรยังเป็นเครื่องมือในการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในกรณีที่ภาวะไม่ปกติ เช่น การกระตุ้นการจ้างงานในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ การนำเข้าวัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาดร้ายแรง การป้องกันภาวะเงินเฟ้อด้วยมาตรการทางภาษี และยังเป็นการกระจายรายได้ของกลุ่มคนร่ำรวยมาสู่คนยากจน ตามหลักการจัดเก็บภาษีคนรายได้สูงย่อมต้องรับภาระภาษีมาก ส่วนคนรายได้น้อยก็ควรเสียภาษีน้อยหรืออาจไม่ต้องเสียเลย นับว่าเป็นการดึงเอารายได้จากคนร่ำรวย มาสู่คนยากจนทางอ้อมวิธีหนึ่ง จึงถือได้ว่า “ภาษีอากร” เป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการดูแลระบบเศรษฐกิจทั้งด้านความมั่นคง การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้ (ดวงใจ พรหมมินทร์, 2561)
เมื่อถึงเวลาที่ต้องชำระภาษีเงินได้ บุคคลที่มีรายได้ตามเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็มักจะปรารถนาให้ทางราชการมีมาตรการต่างๆ ที่จะมาช่วยให้สามารถประหยัดรายจ่ายค่าภาษีที่ต้องจ่ายในทุกๆปี เพราะยิ่งรายได้มากขึ้น ค่าภาษีเงินได้ก็จะเพิ่มขึ้นตามรายได้ที่เพิ่ม และในประเทศไทยเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราก้าวหน้า ย่อมส่งผลให้ค่าภาษีเงินได้ที่ต้องจ่ายในบุคคลที่มีรายได้สูงเพิ่มขึ้นแบบก้าวหน้าตามไปด้วย นี้คือประเด็นสำคัญที่ทำให้ปัจจุบันการวางแผนภาษีส่วนบุคคลมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก (ธนิดา จิตร์น้อมรัตน์, 2559)
บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้บุคคลธรรมดา ที่มีเงินได้ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว นับแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม ให้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี ภายในวันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 31 มีนาคมของปีถัดจากปีที่มีเงินได้
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้รู้ และเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ควรรู้
2. เพื่อให้สามารถการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ถูกต้อง
คำสำคัญ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หมายถึง ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษ ตามที่กฎหมายกำหนด และมีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด
ภาษีอากร หมายถึง ภาษีอากรคือสิ่งที่รัฐบาลบังคับเก็บจากประชาชน และนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยมิได้มีสิ่งตอบแทนโดยตรงแก่ผู้เสียภาษีอากร
เงินได้ หมายถึง เงินต่างๆ ที่เราได้รับไม่ว่าจะเป็น ผลตอบแทนจากการทำงาน เช่น เงินเดือน หรือ ผลตอบแทนจากการลงทุน เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล เป็นต้น
ค่าใช้จ่าย หมายถึง จำนวนเงินที่เราใช้ไปเพื่อเป็นต้นทุน ระหว่างเกิดรายได้ ซึ่งรัฐบาลยอมให้นำค่าใช้จ่าย มาหักออกจากรายได้ เพื่อคำนวณภาษีเกณฑ์ของการหักค่าใช้จ่าย ขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ที่ได้รับ มาตรา 40(1) – 40(8)
ค่าลดหย่อนภาษี หมายถึง การใช้สิทธิรายการต่างๆ ที่กฎหมายยอมให้นำมาหักจากรายได้ หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาโดยมีสถานะ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
1) บุคคลธรรมดา
2) ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
3) ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
4) กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
5) วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
หลักการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
มีหลักการจัดเก็บ แบ่งเป็น 2 หลักการ
1) หลักแหล่งเงินได้ (Source Rule) สำ หรับเงินได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำ ในประเทศไทยหรือกิจการของนายจ้าง ในประเทศไทยหรือทรัพย์สินที่อยู่ ในประเทศไทย
2) หลักถิ่นที่อยู่ (Resident Rule) สำหรับผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยรวมกันถึง 180 วัน ในปีภาษีใด และ มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ในต่างประเทศ เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สิน ที่อยู่ในต่างประเทศ และผู้มีเงินได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยภายใน ปีภาษีเดียวกับปีที่เกิดเงินได้นั้น
ข้อปฏิบัติเมื่อผู้เสียภาษีมีเงินได้เกิดขึ้น
1. ขอมีเลขและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีเงินได้เกิดขึ้น (กรณีเป็นผู้มีเงินได้ ที่ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน ได้แก่ เป็นคนต่างด้าว หรือกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง) ผู้มีเงินได้ที่มีเลขประจำตัวประชาชน ใช้เลขประจำตัวประชาชน แทนเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรได้ โดยไม่ต้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรอีก
2. ยื่นแบบแสดงรายการปกติปีละ 1 ครั้ง เงินได้ของปีใดก็ยื่นแบบฯ ภายใน วันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไปเว้นแต่ เงินได้ บางลักษณะ เช่น การให้เช่า ทรัพย์สิน เงินได้จาก วิชาชีพอิสระ เงินได้จาก การรับเหมา เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ เป็นต้น จะต้อง ยื่นแบบฯ ตอนกลางปีสำหรับเงินได้ ที่เกิดขึ้นใน 6 เดือนแรก ภายใน เดือนกันยายน ของทุกปี
เงินได้ที่ต้องเสียภาษี
1) เงิน
2) ทรัพย์สินซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ที่ได้รับจริง (เกณฑ์เงินสด)
3) ประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ที่ได้รับจริง (เกณฑ์เงินสด)
4) เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้
5) เครดิตภาษีตามที่กฎหมายกำหนด
เงินได้พังประเมินขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ก็ต่อเมื่อมีเงินได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าเมื่อคำนวณภาษีแล้วจะมีภาษีต้องชำระเพิ่มเติมหรือไม่ก็ตาม ดังนี้เกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี
(1) บุคคลธรรมดาและผู้ถึงแก่ความตาย มีเงินได้พึงประเมิน ดังนี้
ประเภทเงินได้ | โสด | สมรส |
เงินเดือนเพียงอย่างเดียว | 120,000 | 220,000 |
เงินได้ประเภทอื่น | 60,000 | 120,000 |
ผู้มีเงินได้ประกอบอาชีพแตกต่างกัน มีความยากง่ายหรือต้นทุนที่แตกต่างกัน เพื่อความ เป็นธรรม ในกฎหมายจึงได้แบ่งลักษณะเงินได้ (พึงประเมิน) ออกเป็นกลุ่มตามความเหมาะสมเพื่อกำหนด วิธีคำนวณภาษีให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด
40 (1) เงินได้จากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง โบนัส เป็นต้น
40 (2) เงินได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ เช่น ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า เป็นต้น
40 (3) ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น
40 (4) ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ฯลฯ
40 (5) การให้เช่าทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นๆ ที่ได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เช่น จากการให้เช่าบ้าน เป็นต้น
40 (6) เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เช่น ทนายความ การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอิสระอื่นๆ
40 (7) เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น
40 (8) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 แล้ว
ค่าใช้จ่ายที่สามารถคำนวณหักภาษี
ค่าใช้จ่ายถือเป็นสิทธิประโยชน์ ทางภาษีอย่างหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ สำ หรับหักเป็นต้นทุนในการทำงานเพื่อให้ได้เงินได้หรือรายได้สุทธินั้นมาคิดภาษีตามบัญชีอัตราภาษี โดยมีอัตราการหักค่าใช้จ่ายมากหรือน้อยตามแต่ละประเภทของเงินได้ ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 629) พ.ศ.2560 สรุปได้ดังนี้
ประเภทเงินได้ | หักค่าใช้จ่าย |
1. เงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส เบี้ยเลี้ยง | 50% ไม่เกิน 100,000 บาท หากมีเงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 ให้นำเงินได้ทั้ง 2 ประเภท รวมกันแต่หักได้ไม่เกิน 100,000 บาท |
2. เงินได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ฯลฯ | |
3. ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น | 50% ไม่เกิน 100,000 บาท หรือตามจริง |
4. ดอกเบี้ย เงินปันผล ส่วนแบ่งกำไร ฯลฯ | หักค่าใช้จ่ายไม่ได้ |
ประเภทเงินได้ | หักค่าใช้จ่าย |
5. รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อ การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน - บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง แพ - ที่ดินที่ใช้ในการเกษตร - ที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตร - ยานพาหนะ - ทรัพย์สินอื่น |
ตามจริงหรืออัตราเหมา 30% 20% 15% 30% 10% |
6. วิชาชีพอิสระ - ประกอบโรคศิลปะ - กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ประณีตศิลปกรรม |
ตามจริงหรืออัตราเหมา 60% 30% |
7. รับเหมาก่อสร้าง | ตามจริงหรืออัตราเหมา 60% |
8. รายได้อื่น นอกเหนือจาก 1-7 * | ตามจริงหรืออัตราเหมา 40% และ 60% |
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายื่นแบบแสดงรายการ
1) แบบ ภ.ง.ด.90 แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี สำ หรับผู้มีเงินได้ในกรณีทั่วไป ตั้งแต่เงินได้ประเภทที่ 1 – 8 ที่ได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ให้ยื่นแบบฯ ภายในเดือนมีนาคม ของปีภาษีถัดไป
2) แบบ ภ.ง.ด.91 แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปีสำ หรับผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานประเภทที่ 1 เพียงอย่างเดียว ให้ยื่นแบบฯ ภายในเดือนมีนาคม ของปี
3) แบบ ภ.ง.ด.93 แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำ หรับใช้ยื่นก่อนถึงกำหนดเวลา การยื่นแบบฯ ให้ยื่นแบบฯภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ได้รับ เงินได้พึงประเมิน
4) แบบ ภ.ง.ด.94 แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี สำ หรับผู้มีเงินได้ประเภทที่ 5 – 8 ที่ได้รับมาตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง เดือนมิถุนายน และไม่ว่าจะมีเงินได้ประเภทอื่น รวมอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตามให้ยื่นแบบฯภายในเดือนกรกฎาคม ถึง เดือนกันยายน ของปีภาษีนั้น
5) แบบ ภ.ง.ด.95 แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำ หรับคนต่างด้าว ผู้มีเงินได้ จากการจ้างแรงงานจากสำ นักงานปฏิบัติการภูมิภาคให้ยื่นแบบฯ ภายในเดือน มีนาคม ของปีภาษีถัดไป
ประโยชน์ของการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารได้มาร่วมกันพัฒนาสร้างระบบสาธารณูปโภค สะพาน หรือถนนหนทางเพื่อเชื่อมต่อนำการพัฒนาและความเจริญเข้าไปสู่ชุมชนที่ห่างไกล หรือนำเงินดังกล่าวมาสร้างตึกอาคารเรียนเพื่อพัฒนาความรู้และการศึกษาให้แก่เยาวชน หรือบางส่วนก็นำมาสร้างและพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อประโยชน์ในการช่วยรักษาความเจ็บป่วยของประชาชนและต่างๆ อีกมากมาย
สรุป
ภาษีมีความสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมาก เพื่อนำมาใช้บริหารและพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทั้งทางเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข การคมนาคม การประชาสงเคราะห์ การป้องกันประเทศและรักษาความสงบภายในประเทศ สร้างสาธารณูปโภค
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ การยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นหน้าที่ของผู้มีเงินได้พึงประเมิน และหากไม่ปฏิบัติตามอาจต้องได้รับโทษานุโทษตามกฎหมาย ถือเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความโปร่งใสและความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ อันเป็นหลักธรรมาภิบาล และ เป็นเครื่องหมายของผู้ที่มีความกตัญญูต่อแผ่นดิน
ข้อเสนอแนะ
ผู้มีเงินได้พึงประเมินควรยื่นแบบแสดงรายการเงินได้บุคคลธรรมดาตามประเภทที่มีเงินได้ ภายในกำหนดให้ถูกต้องครบถ้วน หากไม่ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายในกำหนดจะเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ถือเป็นบทลงโทษเกี่ยวกับภาษีอากรอีกอย่างหนึ่งและอาจมีโทษทางอาญาด้วย
เนื่องจากบทความฉบับนี้ถูกจัดทำขึ้นด้วยการพิจารณา ไตร่ตรอง และสรุป จากผู้ทำซึ่งไม่ได้นำเนื้อหาของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาใส่โดยครบถ้วน ซึ่งหากผู้อ่านสนใจที่จะศึกษาในเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาร สามารถศึกษารายละเอียดได้จากกรมสรรพากร หรือ https://www.rd.go.th
บรรณานุกรม
กรมสรรพากร. (2559). ความรู้เรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: http://www.rd.go.th/publish/309.0.html
กรมสรรพากร. (2564). ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิทธิและหน้าที่. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: http://download.rd.go.th/fileadmin/download/insight_pasi/ personalincome_60.pdf
กรมสรรพากร. (2564). ความรู้เรื่องภาษีที่บุคคลธรรมดาควรทราบ. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์:https://www.rd.go.th/62337.html
ดวงใจ พรหมมินทร์. (2561). ความสัมพันธ์ระหว่างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ. วารสารเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
ธนิดา จิตร์น้อมรัตน์. (2559). การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ถูกต้องทำอย่างไร. วารสารสุทธิปริทัศน์
สำนักงานตัวแทนประกันชีวิตเอไอเอ. (2564). ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คืออะไร ใครมีหน้าที่ต้องเสียภาษีบ้าง. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: https://prakunaia.com