ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

UploadImage
 
UploadImage
 
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
Personal Income Tax
 
นางสาวทิพย์วรณ  ราชพิทักษ์
TIPPAWAN  RADPITAK
E-mail: gift546546546@hotmail.com
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม

 
บทคัดย่อ
          ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษ ตามที่กฎหมายกำหนด และมีรายได้เกิดขึ้น ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี รายได้ที่เกิดขึ้นในปีใดๆ ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการตนเอง ตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนด ภายในเดือนมกราคม ถึงมีนาคมของปีถัดไป สำหรับผู้มีเงินได้บางกรณีกฎหมายยังกำหนดให้ยื่นแบบฯ เสียภาษีตอนครึ่งปี สำหรับรายได้ ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ที่ต้องชำระ และเงินได้บางกรณี กฎหมายกำหนดให้ ผู้จ่ายทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้ที่จ่ายบางส่วน เพื่อให้มีการทยอยชำระภาษี ขณะที่มีเงินได้เกิดขึ้นอีกด้วย
 
คำสำคัญ :  ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ค่าลดหย่อนทางภาษี, ฐานภาษี
 
Abstract
          Personal income tax is a tax that is freed by the individual or the general public from special taxes as required by law and have an income according to the specified criteria Usually stored annually. Income generated in any year income earner Pages that must be presented to list themselves according to the prescribed tax return form by January until March of the following year for those who have income in some cases, the law still requires the submission of the form half year tax for the actual income in the first half of the year in order to alleviate the burden of taxes that must be paid and income in some cases in order to alleviate the burden of taxes that must be paid and income in some cases the law requires The payer is responsible for withholding tax on some of the income paid in order to have a gradual tax payment while there is income coming up as well
 
Keywords: Personal income tax, Tax deduction, Tax base
 
  
บทนำ
          ภาษีอากร (Taxation) เป็นเครื่องมือทางการคลังที่สำคัญของรัฐบาล ในการหารายได้เพื่อใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศ สนองต่อนโยบายของรัฐบาลโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นกิจการเพื่อส่วนรวม เช่น การสร้างถนน การใช้จ่ายด้านความมั่นคงด้านการศึกษา เป็นต้นและสนับสนุนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้การใช้นโยบายภาษีโดยการเปลี่ยนแปลงภาษี/ อัตราภาษีก็มีส่วนในการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือตกต่ำได้ เช่น การลดอัตราภาษีอากรเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเอกชน ในทางตรงกันข้าม หากเศรษฐกิจอยู่ในภาวะร้อนแรงอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมาก รัฐบาลจะดำเนินนโยบายในทิศทางตรงกันข้าม คือการเพิ่มอัตราภาษีและลดการใช้จ่ายลงเพื่อลดการบริโภคและการใช้จ่ายโดยรวมลง เป็นการชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจและลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ (ดวงใจ  พรหมมินทร์¹,รองศาสตราจารย์ ดร.อภิญญา วนเศรษฐ² 2561)
          จากสภาพเศรษฐกิจและโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมากทำให้ทางรัฐบาลต้องทำการแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างกฎหมายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขนาดใหญ่ซึ่งเริ่มมีการใช้บังคับสำหรับปีภาษี 2560 เช่น การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน เป็นต้น และนอกจากนี้ยังมีการแก้ไขปรับปรุงประมวลรัษฎากรอีกหลายประการซึ่งจะมีผลกระทบกับการคำนวณภาษีเงินได้และการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นอย่างมาก
          การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้ที่มีเงินได้ต้องนำเงินได้สุทธิซึ่งหมายถึงเงินได้พึงประเมินที่หักด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนมาคำนวณด้วยอัตราภาษีตามที่กฎหมายกำหนดดังนั้นเพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีของผู้มีเงินได้นอกจากกฎหมายจะยอมให้หักค่าใช้จ่ายออกจากเงินได้พึงประเมินที่ผู้มีเงินได้ได้มาในปีภาษีในการหักค่าลดหย่อนเพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งเมื่อทำการหักค่าลดหย่อนออกจากเงินได้พึงประเมินที่หักด้วยค่าใช้จ่ายแล้ว ก็จะเหลือเป็นเงินได้สุทธิที่ผู้มีเงินได้ต้องนำไปคำนวณด้วยอัตราภาษีตามที่กฎหมายกำหนด (สุเมธ ศิริคุณโชติ, 2562)
 
วัตถุประสงค์
  1. เพื่อศึกษา หลักการของกฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในการหักค่าลดหย่อนภาษีและฐานภาษี
  2. เพื่อให้ผู้มีรายได้มีหน้าที่เสียภาษี สามารถนำวิธีการ และข้อกำหนดตามหลักการไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
 
เนื้อหาของบทความ  (บทวิเคราะห์เกี่ยวกับ แนวคิด ทฤษฎี ผลงานวิจัย ประเด็นสำคัญ ข้อดีหรือประโยชน์)
ใครมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา?
          ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาโดยมีสถานะ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
           1)   บุคคลธรรมดา
           2)   ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
           3)   ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
           4)   กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
           5)   วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

เงินได้อะไรบ้างที่ต้องเสียภาษี?
ตามกฎหมาย เงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เรียกว่า "เงินได้พึงประเมิน" หมายถึง เงินได้ของบุคคลใดๆ หรือหน่วยภาษีใดข้างต้นที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ของปีใดๆ หรือเงินได้ ที่เกิดขึ้นในปีภาษี ได้แก่ เงิน ทรัพย์สินซึ่งอาจคำนวนได้เป็นเงิน ที่ได้รับจริง ประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้ และเครดิตภาษีตามที่กฎกมายกำหนด

ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นในระหว่างปีภาษีมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกกรณีหรือไม่?
          ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีภาษีจะมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ ก็ต่อเมื่อมีเงินได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าเมื่อคำนวณภาษีแล้วจะมีภาษีต้องชำระเพิ่มเติมหรือไม่ก็ตาม ดังนี้
           1.บุคคลธรรมดาและผู้ถึงแก่ความตาย มีเงินได้พึงประเมิน ดังนี้ เงินเดือนเพียงอย่างเดียว โสด 120,000 สมรส 220,000 เงินได้ประเภทอื่น โสด 60,000 สมรส 120,000
           2.ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท
           3. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท

เงินได้อันเป็นเหตุให้ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีมาจากแหล่งใดบ้าง? 
          แหล่งที่มาของเงินได้ ซึ่งแบ่งเป็นเงินได้จากแหล่งในประเทศและนอกประเทศ เงินได้จากแหล่งต่างๆ นี้จะต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ ให้พิจารณา ดังนี้
          1. เงินได้เกิดจากแหล่งในประเทศ หมายถึง เงินได้ที่เกิดขึ้น หรือเป็นผลสืบเนื่องจากมี
              1.1 หน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย หรือ
              1.2 กิจการที่ทำในประเทศไทย หรือ
              1.3 กิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือ
              1.4 ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า ฯลฯ)
          * เงื่อนไข ผู้มีเงินได้เกิดจากแหล่งในประเทศนี้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามที่ประมวลรัษฏากร กำหนดไว้เสมอเว้นแต่จะมีข้อยกเว้นตามกฎหมาย ทั้งนี้ ไม่ว่าเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วนั้น จะจ่ายในหรือนอกประเทศ และไม่ว่าผู้มีเงินได้นั้นจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม
          2. เงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศไทย หมายถึง เงินได้ที่เกิดขึ้นหรือเป็นผลสืบเนื่องจากมี
              2.1 หน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ หรือ
              2.2 กิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือ
              2.3 ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ
          * เงื่อนไข ผู้มีเงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วจะต้องเสียภาษีเงินได้ ในประเทศไทยก็ต่อเมื่อเข้าองค์ประกอบทั้ง 2 ประการ ดังต่อไปนี้
          (1) ผู้มีเงินได้เป็น ผู้อยู่ในประเทศไทย ในปีภาษีนั้นชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลา รวมทั้งหมดถึง 180 วัน และ
          (2) ผู้มีเงินได้ นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้นด้วย
ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาบางกรณี ถ้าเกี่ยวข้องกับบุคคลของบางประเทศที่มี อนุสัญญาภาษีซ้อน* หรือความตกลงเพื่อป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาถึงความ ตกลงหรืออนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยได้ทำความตกลงไว้ด้วย

ประเภทเงินรายได้ที่ต้องเสียภาษี
          เนื่องจากผู้มีเงินได้ประกอบอาชีพแตกต่างกัน มีความยากง่ายหรือต้นทุนที่แตกต่างกัน เพื่อความ เป็นธรรม ในกฎหมายจึงได้แบ่งลักษณะเงินได้(พึงประเมิน) ออกเป็นกลุ่มๆ ตามความเหมาะสมเพื่อกำหนด วิธีคำนวณภาษีให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด ดังนี้
          1. เงินได้ประเภทที่ 1 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น
              - เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ
              - เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากนายจ้าง
              - เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ซึ่งนายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
              - เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ
              - เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน เช่น มูลค่าของการได้รับประทานอาหาร เป็นต้น
          2. เงินได้ประเภทที่ 2 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็น
              - ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด
              - เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส
              - เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้
              - เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
              - เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ
              - เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือ จากการรับทำงานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว
          3. เงินได้ประเภทที่ 3 ได้แก่ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะ เป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล
          4. เงินได้ประเภทที่ 4 ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร   เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น ฯลฯ เป็นต้น
          5. เงินได้ประเภทที่ 5 เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เงินหรือประโยชน์อย่างอื่น ที่ได้เนื่องจาก
              - การให้เช่าทรัพย์สิน
              - การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน
              - การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นโดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว
          6. เงินได้ประเภทที่ 6 ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้ 
          7. เงินได้ประเภทที่ 7 ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ 
          8. เงินได้ประเภทที่ 8 ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 แล้ว

วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปีจะต้องทำอย่างไร?
          โดยทั่วไปผู้มีเงินได้ต้องนำเงินได้พึงประเมินทุกประเภทของตน ตลอดปีภาษี (ไม่รวมเงินได้ที่กฎหมายยกเว้นภาษี หรือที่ไม่ต้องเสียภาษี) ไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี เพื่อยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่มีเงินได้ การคำนวณภาษีให้ทำเป็น 3 ขั้น คือ
ขั้นที่หนึ่ง คำนวณหาจำนวนภาษีตาม วิธีที่ 1 เสียก่อน
การคำนวณภาษีตามวิธีที่ 1
เงินได้พึงประเมินทุกประเภทรวมกันตลอดปีภาษี xxxx (1)
หัก ค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด xxxx (2)
(1)-(2) เหลือเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย xxxx (3)
หัก ค่าลดหย่อนต่าง ๆ (ไม่รวมค่าลดหย่อนเงินบริจาค) ตามที่กฎหมายกำหนด xxxx (4)
(3)-(4) เหลือเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ xxxx (5)
หัก ค่าลดหย่อนเงินบริจาค ไม่เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด xxxx (6)
(5-6) เหลือเงินได้สุทธิ xxxx (7)
นำเงินได้สุทธิตาม (7) ไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา    
จำนวนภาษีตามการคำนวณภาษีวิธีที่ 1 xxxx (8)
 
ขั้นที่สอง ให้พิจารณาว่าจะต้องคำนวณภาษีตาม วิธีที่ 2หรือไม่ ถ้าเข้าเงื่อนไขที่จะต้องคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 จึงคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 อีกวิธีหนึ่ง กรณีที่ต้องคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 ได้แก่ กรณีที่เงินได้พึงประเมินทุกประเภทในปีภาษี แต่ไม่รวม เงินได้พึงประเมินตามประเภทที่ 1 มีจำนวนรวมกันตั้งแต่ 120,000 บาทขึ้นไป การคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 นี้ ให้คำนวณในอัตราร้อยละ 0.5 ของยอดเงินได้พึงประเมิน (= เงินได้พึงประเมินทุกประเภทลบเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 คูณด้วย 0.005) ดังกล่าวนั้น
ขั้นที่สาม สรุป จำนวนภาษีที่ต้องเสียภาษี กำหนดให้ (10) คือ จำนวนภาษีที่คำนวณได้ตามวิธีที่ 2
การคำนวณภาษี
จำนวนภาษีเงินได้สิ้นปีที่ต้องเสีย เทียบ (8) และ (10) จำนวนที่สูงกว่า xxxx (11)
หัก ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายแล้ว xx    
ภาษีเงินได้ครึ่งปีที่ชำระไว้แล้ว xx    
ภาษีเงินได้ชำระล่วงหน้า xx    
เครดิตภาษีเงินปันผล xx xx (12)
(11-12) เหลือ ภาษีเงินได้ที่ต้องเสีย (หรือที่เสียไว้เกินขอคืนได้) xx  
 
หมายเหตุ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป หากคำนวณตามวิธีที่ 2 แล้วมีภาษีเงินได้ที่ต้องเสียจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 5,000 บาท ผู้มีเงินได้ ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามวิธีที่ 2 ( 10 ) แต่ยังคงมีหน้าที่เสียภาษีตามจำนวนที่คำนวณได้ตามวิธีที่ 1 ( 8 ) โดยนำมาสรุปจำนวนภาษีที่ต้องเสียขั้นที่สาม

เงินได้พึงประเมินแต่ละกรณีจะคำนวณหักค่าใช้จ่ายได้เท่าใด?
ค่าใช้จ่ายเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคำนวณภาษี ถือเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับหักเป็นต้นทุนในการทำงาน เพื่อให้ได้เงินได้หรือรายได้สุทธินั้นมาคิดภาษีตามบัญชีอัตราภาษี โดยมีอัตราการหักค่าใช้จ่ายมากหรือน้อยตามแต่ละประเภทของเงินได้ สรุปได้ดังนี้
ประเภทเงินได้ หักค่าใช้จ่าย
1. เงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส เบี้ยเลี้ยง 50% ไม่เกิน 100,000 บาท
หากมีเงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 ให้นำเงินได้ทั้ง 2 ประเภท
รวมกันแต่หักได้ไม่เกิน 100,000 บาท
2. เงินได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ฯลฯ
3. ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น 50% ไม่เกิน 100,000 บาท หรือตามจริง
4. ดอกเบี้ย เงินปันผล ส่วนแบ่งกำไร ฯลฯ หักค่าใช้จ่ายไม่ได้
5. รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อ การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน
    - บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง แพ
    - ที่ดินที่ใช้ในการเกษตร
    - ที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตร
    - ยานพาหนะ
    - ทรัพย์สินอื่น
ตามจริงหรืออัตราเหมา
30%
20%
15%
30%
10%
6. วิชาชีพอิสระ
    - ประกอบโรคศิลปะ
    - กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ประณีตศิลปกรรม
ตามจริงหรืออัตราเหมา
60%
30%
7. รับเหมาก่อสร้าง ตามจริงหรืออัตราเหมา 60%
8. รายได้อื่น นอกเหนือจาก 1-7 * ตามจริงหรืออัตราเหมา 40% และ 60%
* ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 629) พ.ศ.2560

ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง?
ค่าลดหย่อนและยกเว้นเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบในการคำนวณภาษีที่กฎหมายกำหนดให้นำไปหักออกจากเงินได้ได้อีกหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว โดยมีการหักลดหย่อนกรณีต่าง ๆ แตกต่างกันออกไป สรุปได้ดังนี้
(1) กรณีบุคคลธรรมดา หรือผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
     1. ผู้มีเงินได้ 60,000 บาท
     2. คู่สมรส (ไม่มีเงินได้) 60,000 บาท
     3. ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ ไม่เกิน 120,000 บาท
     4. บุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท 
     5. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หักลดหย่อนไม่เกิน 30,000 บาท
     6. ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ หักค่าลดหย่อน คนละ 60,000 บาท
     7. ค่าเบี้ยประกันชีวิต (กรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป) ของผู้มีเงินได้หักค่าลดหย่อนและได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้
     8. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
     9. เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงในปีภาษี แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาทแต่ไม่เกิน 490,000 บาท ซึ่งไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างให้หักจากเงินได้
     10. เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
     11. ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หักค่าลดหย่อนในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่นำมาเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี
     12. เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
     13. ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 500,000 บาท
     14. ดอกเบี้ยกู้ยืม หักค่าลดหย่อนตามจำนวนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
     15. เงินสมทบประกันสังคม หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง
     16. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
     17. เงินบริจาค ลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น
 
 
ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างไร และเมื่อใด?
          การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามี 2 ระยะ คือ
          1. "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี" เป็นการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ (ภ.ง.ด.94) เฉพาะเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5,6,7 หรือ 8 ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนไม่ว่าจะมีเงินได้ประเภทอื่นรวมอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยยื่นภายในเดือนกันยายนของปีภาษีนั้น และภาษีที่เสียนี้นำไปเป็นเครดิตหักออกจากภาษีสิ้นปีได
          2. "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี" เป็นการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้พึงประเมิน (ภ.ง.ด.90,91) ที่ได้รับแล้ว ในระหว่างปีภาษี โดยยื่นภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป

บัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เริ่มใช้ปีภาษี 2560
เงินได้สุทธิ (บาท) ช่วงเงินได้สุทธิของแต่ละขั้น อัตราภาษี (ร้อยละ)
1-150,000 150,000 ได้รับยกเว้น
150,001-300,000 150,000 5
300,001-500,000 200,000 10
500,001-750,000 250,000 15
750,001-1,000,000 250,000 20
1,000,000-2,000,000 1,000,000 25
2,000,001-5,000,000 3,000,000 30
5,000,001 บาทขึ้นไป - 35
หมายเหตุ : เงินได้สุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท ยังคงได้รับยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่470) พ.ศ.2551

สรุป
          บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้บุคคลธรรมดา ที่มีเงินได้ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ แสดงรายการและชำระภาษี ภายในวันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 31 มีนาคมของปีถัดจากปีที่มีเงินได้บทความ ฉบับนี้ จึงได้นำ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของ ผู้มีเงินได้ รวมทั้งวิธีการคำ นวณภาษีเพื่อให้ผู้เสียภาษีได้รู้ และเข้าใจ รวมทั้งได้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติทางภาษีได้อย่าง ถูกต้องและเป็นแนวทางเดียวกัน
 
ข้อเสนอแนะ
          เนื้อหาในบทความฉบับนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ยังมีรายละเอียด ในส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ที่สามารถค้นหาข้อมูล เพิ่มเติมได้จากกรมสรรพากรที่ www.rd.go.th หวังว่าเอกสารเผยแพร่ฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีเงินได้ และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้สนใจทั่วไปได้เป็นอย่างดี
 
บรรณานุกรม 
          กรมสรรพากร (2564).  ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  สืบค้นจาก https://www.rd.go.th/27860.html
          กรมสรรพากร (2564).  บุคคลธรรมดา/ความรู้เรื่องภาษี/ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  สืบค้นจาก https://www.rd.go.th/548.html
          งามพรต พรหมมารต ,ภาณินี  กิจพ่อค้า, ชนินาฎ  ลีดส์ (2563) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ศึกษากรณีการหักค่าลดหย่อน ภาษีของสามีและภรรยา หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช
          ดวงใจ  พรหมมินทร์, อภิญญา วนเศรษฐ (2561) ความสัมพันธ์ระหว่างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ วารสารเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ