การจัดการเชิงกลยุทธ์
02
Feb
การจัดการเชิงกลยุทธ์
STRATEGIC MANAGEMENT
ธมลวรรณ เจนธนสาร
THAMONWAN JANTHANASARN
thamonwanjane@gmail.com
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
บทคัดย่อ
บทความนี้ได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดการเชิงกลยุทธ์ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1. ศึกษาแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญของการจัดการเชิงกลยุทธ์ที่มีผลต่อการดำเนินงานในระยะสั้นและระยะยาว 2. ศึกษากระบวนการจัดการเชิงกลยุทธ์ ทั้งการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม การจัดวางทิศทางขององค์กร การกำหนดกลยุทธ์ ปฏิบัติงานตามกลยุทธ์ และการควบคุมเชิงกลยุทธ์ อีกทั้งมีการอธิบายความหมายของการจัดการเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) ว่าเป็นกระบวนการจัดการขององค์กรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามวัตถุประสงค์ โดยการวิเคราะห์และประเมินปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามกระบวนการจัดการเชิงกลยุทธ์ 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1) การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมด้วยวิธี SWOT Analysis 2) การจัดวางทิศทางองค์กร 3) การกำหนดกลยุทธ์ด้วยวิธี TOWS Matrix 4) การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ และ 5) การประเมินผลและการควบคุม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ที่มีต่อองค์กรและภาคธุรกิจในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
คำสำคัญ : กลยุทธ์, การจัดการเชิงกลยุทธ์, วัตถุประสงค์
Abstract
This article introduces about Strategic Management, the purposes were 1. Study the important basic concepts of strategic management affecting short-term and long-term operations. 2. Study strategic management process are environment analysis, establishing organizational direction, strategy planning, strategy implementation and evaluation and control. Also, this article explain the meaning of strategic management Is management process of organization for achieve the goal and organization objectives. Analysis and evaluation of relevant factors accord with strategic management process. There are steps as follows: 1) Environment analysis by SWOT analysis 2) establishing organizational direction 3) strategy planning by TOWS matrix analysis 4) strategy implementation and 5) evaluation and control. That shows about the benefits and importance of strategic management to organizations and businesses in today's rapidly changing sectors.
Keywords : strategy, strategic management, objective
บทนำ
เนื่องด้วยในปัจจุบันสถานการณ์ทางสภาวะเศรษฐกิจมีความผันผวนเป็นอย่างมาก จึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจในทุกระดับ เช่น ยอดขายสินค้าและบริการมีจำนวนลดลง ขาดแคลนเงินทุนและกระแสเงินสดหมุนเวียนในกิจการ ธุรกิจขาดทุน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการเชิงกลยุทธิ์ โดยเฉพาะการประกอบธุรกิจในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ อย่างรวดเร็วอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของธุรกิจ เช่น คู่ค้า ลูกค้า และคู่แข่งขัน เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กรในด้านต่างๆ เช่น การตลาด การเงิน การผลิต การบริการ รวมถึงการดำเนินกิจกรรมภายในองค์กร ล้วนแต่มีผลกระทบกับวัตุประสงค์ขององค์กรด้วยกันทั้งสิ้น
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นได้สร้างแรงกดดันให้กับธุรกิจเป็นอย่างมากในเรื่องของความสลับซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นของกระบวนการทางธุรกิจ การแข่งขันค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารจะต้องอาศัยชั้นเชิงในการบริหารที่เหนือกว่าคู่แข่งหรืออาศัยความว่องไวในการปรับตัวให้ทันต่อภาวะการแข่งขันที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ผู้บริหารต้องมีกลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มองเห็นโอกาสในช่วงที่วิกฤต สามารถตัดสินใจและแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ให้เป็นข้อได้เปรียบได้เสมอ โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่มีต่อองค์กรอย่างเหมาะสม
หากต้องการให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้นั้น ผู้บริหารจำเป็นจะต้องมีความเข้าใจในกลยุทธ์เป็นอย่างดี โดยที่การจัดการเชิงกลยุทธ์จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถบูรณาการความรู้และประสบการณ์ทางธุรกิจเข้าด้วยกัน เพื่อให้เข้าใจศักยภาพของธุรกิจอย่างเต็มที่ อีกทั้งจะช่วยให้บุคลากรมีความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ และปฏิบัติงานตามในแนวทางเดียวกัน นอกจากนี้หลักการของการจัดการเชิงกลยุทธ์ยังช่วยให้ผู้บริหารสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจให้ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์
1. ศึกษาแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญของการจัดการเชิงกลยุทธ์ที่มีผลต่อการดำเนินงานในระยะสั้นและระยะยาว
2. ศึกษากระบวนการจัดการเชิงกลยุทธ์ ทั้งการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม การจัดวางทิศทางขององค์กร การกำหนดกลยุทธ์ ปฏิบัติงานตามกลยุทธ์ และการควบคุมเชิงกลยุทธ์
เนื้อหาของบทความ
ความหมายของกลยุทธ์
สุมาลี จิระจรัส (2548) ให้ความหมายของ กลยุทธ์ (Strategy) หมายถึง วิธีการปฏิบัติที่องค์กรเลือกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในอนาคตจากสภาพปัจจุบันที่เป็นอยู่
สุพานี สฤษฎ์วานิช (2553) ให้ความหมายของ กลยุทธ์ (Strategy) หมายถึง แผนงานสำคัญที่องค์กรจะใช้เป็นแนวทางในการบรรลุสู่เป้าหมายหลักขององค์กร
สรุปได้ว่า กลยุทธ์ (Strategy) หมายถึง แผนงานหรือแนวปฏิบัติที่ระบุเป้าหมายในอนาคต โดยทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของผู้บริหาร มีเป้าหมายที่ต้องการให้องค์การบรรลุประสิทธิผลที่ตั้งไว้
ลักษณะของกลยุทธ์
1. กลยุทธ์เป็นแผน (Plan) หรือแนวทางในการบรรลุเป้าหมาย
2. กลยุทธ์เป็นรูปแบบของกิจกรรม (Pattern) ที่องค์กรดำเนินการเป็นประจำ
3. กลยุทธ์เป็นสถานะหรือตำแหน่ง (Position) ขององค์กรในอุตสาหกรรม
4. กลยุทธ์เป็นมุมมอง (Perspective) ซึ่งก็คือ วิสัยทัศน์และทิศทางขององค์กร
ความหมายของการจัดการเชิงกลยุทธ์
จินตนา บุญบงการ และ ณัฎฐพันธ์ เขจรนันท์ (2549) ให้ความหมายของ การจัดการเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) หมายถึง กระบวนการที่ประกอบไปด้วยการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและข้อมูลสำคัญของธุรกิจที่ใช้ในการประกอบการตัดสินใจ การวางแนวทางการดำเนินงาน และควบคุมการปฏิบัติงานเชิงกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจว่าองค์กรสามารถที่จะดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนสามารถมีพัฒนาการและสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พิบูล ทีปะปาล (2551) ให้ความหมายของ การจัดการเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) หมายถึง เป็นการกำหนดทิศทางหรือวิถีทางในการดำเนินงานขององค์กรเพื่อให้งานบรรลุผลตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ซึ่งการกำหนดแนวทางหรือทิศทางในการดำเนินงานนั้น ผู้บริหารจำเป็นจะต้องทำการวิเคราะห์และประเมินปัจจัยต่างๆ ที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมภายในและภายนอกองค์กร เพื่อจัดทำแผนงานดำเนินงานที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
สรุปได้ว่าการจัดการเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) หมายถึง กระบวนการจัดการขององค์กรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในระยะยาวที่กำหนดไว้ตามวัตถุประสงค์ มีการวิเคราะห์และประเมินปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยคำนึงถึงบริบทขององค์กรและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ได้แผนงานในการปฏิบัติงานที่เหมาะสมก่อนที่จะนำแผนงานลงสู่การปฏิบัติ
ความสำคัญของการจัดการเชิงกลยุทธ์ (สุมาลี จิระจรัส, 2548) มีดังนี้
1. การจัดการเชิงกลยุทธ์เป็นการกำหนดทิศทางขององค์กรไว้อย่างชัดเจน โดยผู้กำหนดกลยุทธ์จะทำการกำหนดวิสัยทัศน์ในอนาคตขององค์กร ทำให้สมาชิกทั้งองค์กรทราบถึงทิศทางที่ทุกคนจะต้องดำเนินไปพร้อมกันอย่างชัดเจน
2. การจัดการเชิงกลยุทธ์ช่วยให้ผู้บริหารระดับสูง มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการมองถึงอนาคตขององค์กร ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงขององค์กรในอนาคตลงได้
3. การจัดการเชิงกลยุทธ์ช่วยให้องค์กรสามารถดำเนินงานและใช้ทรัพยากรที่ตนมีในการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้ผลสำเร็จดีกว่าการบริหารงานตามปกติ
4. การจัดการเชิงกลยุทธ์ช่วยลดการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง (Resistance to Change) โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากสมาชิก ทำให้ทุกคนเกิดความพึงพอใจในการยอมรับแผนกลยุทธ์นั้น ทำให้การต่อต้านมีน้อยลง
5. การจัดการเชิงกลยุทธ์สร้างความสอดคล้องในการปฏิบัติงาน (Harmony) จากการมีส่วนร่วมในการวางแผนกลยุทธ์ ทำให้สมาชิกทุกคนรับทราบและยอมรับทิศทางที่ชัดเจนขององค์กร
ระดับชั้นของกลยุทธ์ขององค์กรธุรกิจ 3 ระดับ
1. กลยุทธ์ระดับองค์กร (Organization-Level Strategy) ถูกกำหนดโดยผู้บริหารระดับสูงขององค์กรร่วมกับคณะผู้บริหารและที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ขององค์กร โดยคาดการณ์สถานการณ์และความต้องการในอนาคต เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ และวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการดำเนินงานขององค์กร โดยกลยุทธ์องค์กรจะเป็นกลยุทธ์หลักของธุรกิจที่เป็นแม่แบบและแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์และการวางแผนในระดับอื่นๆ
2. กลยุทธ์ระดับธุรกิจ (Business-Level Strategy) ถูกกำหนดโดยผู้จัดการหรือผู้บริหารที่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยธุรกิจ (Business Unit) มีอิสระและมีความรับผิดชอบในการดำเนินงานของตนเอง โดยพยายามสร้างศักยภาพและความได้เปรียบในการดำเนินงานให้แก่หน่วยธุรกิจ ปกติกลยุทธ์ระดับนี้มักจะเกี่ยวข้องกับการแข่งขันจนในบางครั้งถูกเรียกว่า “กลยุทธ์การแข่งขัน (Competitive Strategy)”
3. กลยุทธ์ระดับหน้าที่ (Functional-Level Strategy) ถูกกำหนดโดยผู้จัดการในแต่ละหน้าที่ทางธุรกิจ เช่น ฝ่ายการผลิต ฝ่ายการเงิน ฝ่ายบัญชี ฝ่ายการตลาด และฝ่ายบุคคล เป็นต้น โดยมุ่งเน้นไปที่การใช้ทรัพยากรของหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนมีความสอดคล้องกับกลยุทธ์ในระดับองค์การและระดับธุรกิจ
กระบวนการจัดการเชิงกลยุทธ์
ขั้นตอนที่ 1 การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม (Environment Analysis)
ผู้บริหารจะต้องศึกษาและวิเคราะห์ปัจจัยในด้านต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กร ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น สภาพแวดล้อมภายในองค์กร (Internal Environment) และสภาพแวดล้อมภายนอกองค์กร (External Environment) แล้วนำมาวิเคราะห์ร่วมกัน โดยส่วนใหญ่จะวิเคราะห์โดยใช้วิธี SWOT Analysis
ทฤษฎีการวิเคราะห์ด้วย SWOT Analysis
การวิเคราะห์สวอต (SWOT Analysis) เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อให้ผู้บริหารทราบจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคขององค์กร ซึ่งจะช่วยให้ทราบว่าองค์กรได้เดินทางมาถูกทิศและไม่หลงทางนอกจากนี้ยังบอกได้ว่าองค์กรมีแรงขับไปยังเป้าหมายได้ดีหรือไม่ มั่นใจได้อย่างไรว่าระบบการทำงานในองค์กรยังมีประสิทธิภาพอยู่ มีจุดอ่อนที่จะต้องปรับปรุงอย่างไร ซึ่งการวิเคราะห์ สภาวะแวดล้อม(SWOT Analysis) มีปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณา 2 ส่วนดังนี้ (ณรงค์วิทย์ แสนทอง, 2551)
ปัจจัยภายใน (Internal Environment Analysis) ได้แก่
S มาจาก Strengths หมายถึง จุดเด่นหรือจุดแข็ง ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายในเป็นข้อดีที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายในองค์กร เช่น จุดแข็งด้านส่วนประสม จุดแข็งด้านการเงิน จุดแข็งด้านการผลิต จุดแข็งด้านทรัพยากรบุคคล องค์กรจะต้องใช้ประโยชน์จากจุดแข็งในการกำหนดกลยุทธ์
W มาจาก Weaknesses หมายถึง จุดอ่อนหรือข้อเสียเปรียบ ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายในเป็นปัญหาหรือข้อบกพร่องที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายในต่างๆ ขององค์กร ซึ่งองค์กรจะต้องหาวิธีในการแก้ปัญหานั้น
ปัจจัยภายนอก (External Environment Analysis) ได้แก่
O มาจาก Opportunities หมายถึง โอกาส ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก ปัจจัยและสถานการณ์ภายนอกที่เกื้อกูลหรือส่งเสริมการดำเนินงานขององค์กรให้บรรลุวัตถุประสงค์หรือเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการขององค์กร
T มาจาก Threats หมายถึง อุปสรรค ซึ่งเป็นผลมาจากจากปัจจัยภายนอก ปัจจัยและสถานการณ์ภายนอกที่ขัดขวางการทำงานขององค์กรไม่ให้บรรลุวัตถุประสงค์ หรือสภาพแวดล้อมภายนอกที่เป็นปัญหาต่อองค์กร
ภาพที่ 1 แสดงภาพการเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก
ที่มา : ณรงค์วิทย์ แสนทอง (2551 : 22-23)
ขั้นตอนที่ 2 การจัดวางทิศทางองค์กร (Establishing Organizational Direction)
ผู้บริหารจะนำข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค มาทำการประมวลผล เพื่อใช้กำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ขององค์กร โดยที่การกำหนดทิศทางขององค์กรสามารถกระทำได้ในลักษณะต่างๆ ดังนี้
(1) วิสัยทัศน์ (Vision) เป็นการอธิบายถึงความต้องการขององค์กรในอนาคตที่มีลักษณะกว้างขวาง ซึ่งผ่านการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกองค์กรแล้วเห็นว่าภายใต้สถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงและศักยภาพที่มี องค์กรควรมุ่งหน้าไปในทิศทางใดจึงจะอยู่รอดและเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน มักเป็นคำถามที่ถามถึงสิ่งที่ดีที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นต้น โดยวิสัยทัศน์ควรเป็นประโยคที่สั้นและกระชับ เข้าใจได้ง่าย ตัวอย่างเช่น ผู้นำธุรกิจท่าอากาศยานในภูมิภาคเอเชีย เป็นต้น
(2) ภารกิจ (Mission) เป็นการระบุให้ชัดเจนถึงธุรกิจที่ทำอยู่ เพื่อนำไปกำหนดกิจกรรม ลักษณะงาน และขอบเขตการปฏิบัติงานขององค์กร เพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ (Vision) ที่กำหนดไว้ เนื่องจาก ภารกิจเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ ดังนั้นการบรรลุภารกิจจึงเป็นการนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์
(3) วัตถุประสงค์ (Objectives) เป็นสิ่งที่องค์กรต้องการจะบรรลุทำนองเดียวกับวิสัยทัศน์ แต่จะมีความชัดเจนมากกว่าและมีกรอบระยะเวลาที่สั้นกว่า มีลักษณะเฉพาะเจาะจง นิยมกำหนดวัตถุประสงค์เป็นตัวเลขที่สามารถวัดได้ หรือที่เรียกว่า เชิงปริมาณ เพื่อให้การติดตามและประเมินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตัวอย่างเช่น การมียอดขายมากกว่า 5,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี
(4) เป้าหมาย (Goals) เป็นการกำหนดสิ่งที่ต้องการในอนาคตซึ่งองค์กรจะต้องพยายามให้เกิดขึ้น เป็นการกำหนดภารกิจของธุรกิจในรูปของผลลัพธ์สำคัญที่ต้องการ เป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้บริหารคิดเกี่ยวกับสิ่งที่องค์กรต้องการบรรลุผล ในด้านต่างๆ คือ ความสามารถสร้างกำไร ผลผลิต นวัตกรรมและ ความรับผิดชอบต่อชุมชน เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 3 กำหนดกลยุทธ์ (Strategies Planning)
เป็นการนำทิศทางขององค์กรที่กำหนดไว้มาพัฒนาเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานในอนาคตขององค์กร โดยมักจะกำหนดกลยุทธ์ตามลำดับชั้นของกลยุทธ์ ตั้งแต่กลยุทธ์ระดับองค์กร กลยุทธ์ระดับกิจการ และกลยุทธ์ระดับหน้าที่ ซึ่งเป็นการพัฒนาแผนระยะยาวภายใต้โอกาสและอุปสรรค ที่ได้จากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก จุดแข็งและจุดอ่อน ที่ได้จาการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายใน โดยจะมีการกำหนดและเลือกกลยุทธ์ที่ดีและมีความเหมาะสมที่สุดกับองค์กร ผู้บริหารต้องพยายามตอบคำถามว่า ทำอย่างไรองค์กรจึงจะไปถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ โดยใช้จุดแข็งและความได้เปรียบด้านต่างๆ ขององค์กรมากำหนดเป็นกลยุทธ์
การกำหนดกลยุทธ์ โดยใช้เทคนิค TOWS Matrix
การวิเคราะห์ TOWS Matrix เป็นเครื่องมือทางกลยุทธ์ที่ใช้สำหรับสร้างกลยุทธ์ใหม่ขึ้นมาตามสภาพแวดล้อมปัจจุบันขององค์กร โดยการวิเคราะห์แบบ TOWS Matrix จะเป็นการจับคู่ปัจจัยจากสภาพแวดล้อมภายใน และปัจจัยจากสภาพแวดล้อมภายนอกขององค์กรที่มาจากการวิเคราะห์ SWOT ได้แก่ สภาพแวดล้อมภายในองค์กร (Internal Environment) คือ จุดแข็งและจุดอ่อน และสภาพแวดล้อมภายนอกองค์กร (External Environment) คือ โอกาสและอุปสรรค องค์กรจะอยู่ในสถานการณ์ 4 รูปแบบ (ณรงค์วิทย์ แสนทอง, 2551) ดังนี้
สถานการณ์ที่ 1 (จุดแข็ง-โอกาส) สถานการณ์นี้เป็นสถานการณ์ที่พึ่งปรารถนาที่สุด เนื่องจากองค์กรค่อนข้างจะมีหลายอย่าง ดังนั้น ผู้บริหารขององค์กรควรกำหนดกลยุทธ์ในเชิงรุก (Aggressive -Strategy) เพื่อดึงเอาจุดแข็งที่มีอยู่มาเสริมสร้างและปรับใช้และฉกฉวยโอกาสต่าง ๆ ที่เปิดมาหาประโยชน์อย่างเต็มที่
สถานการณ์ที่ 2 (จุดอ่อน-ภัยอุปสรรค) สถานการณ์นี้เป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเนื่องจากองค์กรกำลังเผชิญอยู่กับอุปสรรคจากภายนอกและมีปัญหาจุดอ่อนภายในหลายประการดังนั้น ทางเลือกที่ดีที่สุดคือกลยุทธ์ การตั้งรับหรือป้องกันตัว (Defensive Strategy) เพื่อพยายามลดหรือหลบหลีกภัยอุปสรรค ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ตลอดจนหามาตรการที่จะทำให้องค์กรเกิดความสูญเสียที่น้อยที่สุด
สถานการณ์ที่ 3 (จุดอ่อน-โอกาส) สถานการณ์องค์กรมีโอกาสเป็นข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันอยู่หลายประการ แต่ติดขัดอยู่ตรงที่มีปัญหาอุปสรรคที่เป็นจุดอ่อนอยู่ หลายอย่างเช่นกัน ดังนั้น ทางออกคือ กลยุทธ์การพลิกตัว (Turnaround-Oriented Strategy) เพื่อจัดหรือแก้ไขจุดอ่อนภายในต่าง ๆ ให้ พร้อมที่จะฉกฉวยโอกาสต่าง ๆ ที่เปิดให้
สถานการณ์ที่ 4 (จุดแข็ง-อุปสรรค) สถานการณ์นี้เกิดขึ้นจากการที่สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินงาน แต่ตัวองค์กรมีข้อได้เปรียบที่เป็นจุดแข็งหลายประการ ดังนั้น แทนที่จะรอจนกระทั่งสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ก็สามารถที่จะเลือกกลยุทธ์การแตกตัว หรือขยายขอบข่ายกิจการ (Diversification Strategy) เพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่มีสร้างโอกาสในระยะยาวด้านอื่น ๆ แทน
ขั้นตอนที่ 4 การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ (Strategy Implementation)
เป็นกระบวนการที่ผู้บริหารเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์และนโยบายต่างๆ ที่กำหนดไว้ ให้กลายเป็นกลยุทธ์ที่เป็นจริงและแผนการดำเนินงานที่ใช้ได้จริง ตลอดจนการปรับเปลี่ยนระเบียบวิธีการทำงานและการกำหนดรายละเอียดงานด้านต่างๆ เพื่อให้การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล นอกจากนี้ควรต้องพิจารณาการปรับโครงสร้างองค์กร จำนวนและคุณสมบัติของบุคลากร ตลอดจนวัฒนธรรมขององค์กรอีกด้วย
ขั้นตอนที่ 5 การประเมินผลและการควบคุม (Evaluation and Control)
เป็นการติดตามและตรวจสอบกิจกรรมและผลการดำเนินงานว่ากลยุทธ์ที่กำหนดไว้ได้ถูกนำไปใช้ปฏิบัติอย่างได้ผลหรือไม่ มีความคืบหน้าอย่างไร วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดความผิดพลาดนั้นเป็นเพราะสาเหตุใด ตลอดจนทำการประเมินผลจากการดำเนินงานตามกลยุทธ์ว่าประสบผลสำเร็จตามที่องค์กรได้ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด และนำผลที่ได้ไปพิจารณาในการพัฒนากลยุทธ์ กำหนดแนวทางการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาแผนการดำเนินงาน เพื่อให้กลยุทธ์ขององค์กรที่กำลังดำเนินการอยู่เกิดความสอดคล้องกับสถานการณ์จริงและข้อจำกัดของเหตุการณ์ในสภาพแวดล้อมจริง ซึ่งในแต่ละองค์การจะมีมาตรฐานและเกณฑ์การดำเนินงานของตนเอง ทั้งนี้การกำหนดมาตรฐานควรมีความระมัดระวังเพื่อให้สามารถสะท้อนผลการทำงาน ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ประโยชน์ของการจัดการเชิงกลยุทธ์
1. ช่วยให้ผู้บริหารมีความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่มีผลต่อองค์กรในอนาคตทำให้สามารถกำหนดทิศทางขององค์กรได้อย่างเป็นรูปธรรม
2. เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของบุคลากรในองค์กร เพื่อให้เกิดความเข้าใจในภาพรวมและวัตถุประสงค์ขององค์กร ทำให้องค์กรมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
3. ทำให้ผู้บริหารทราบแนวโน้มของกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ วางแผน และจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินงานอย่างเหมาะสมและมีการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
สรุป
ปัจจุบันการจัดการเชิงกลยุทธ์มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการดำเนินการและการเจริญเติบโตของธุรกิจ ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร โดยการจัดการเชิงกลยุทธ์จะช่วยให้องค์กรสามารถกำหนดทิศทางขององค์กร สร้างความสอดคล้องในการปฏิบัติงาน สร้างความพร้อมให้กับองค์กรและสร้างประสิทธิภาพในการแข่งขัน ซึ่งองค์กรจะดำรงอยู่ได้นั้นผู้บริหารต้องมีความสามารถในการทำความเข้าใจและปรับตัวได้อย่างรวดเร็วจากสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงมากมายของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจได้อย่างเหมาะสมเพื่อสร้างและรักษาความได้เปรียบให้ดำรงอยู่ต่อไป อีกทั้งผู้บริหารจะประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่เพียงแต่จะต้องเป็นผู้จัดการที่ดีแต่จะต้องเป็นผู้นำเชิงกลยุทธ์ เพื่อที่จะนำพาองค์กรของตนไปสู่เป้าหมายอย่างราบรื่นและคงรักษาความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง
ข้อเสนอแนะ
1. ทุกองค์กรในภาคธุรกิจทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ควรนำการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและประเภทของธุรกิจ โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้และความเป็นประโยชน์ ในการดำเนินการ อีกทั้งควรมีผู้รับผิดชอบในการนำไปปฏิบัติ โดยอาจมีการศึกษาสภาพปัญหาด้านต่างๆ ตลอดจนนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติงานจริง ซึ่งประกอบด้วยแผนงานและโครงการไปปฏิบัติ
2. ผู้บริหารและบุคลลากรทุกคนในองค์กร ต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ขององค์กร ทราบแผนการดำเนินงาน รู้หน้าที่และความรับผิดชอบของตนเอง ร่วมมือกันปฏิบัติตามแผนงานที่กำหนดไว้อย่างจริงจังและควรมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอเพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคตได้
3. ผู้บริหารควรมีการประชุมปรึกษาหารือ วางแผนการจัดการกลยุทธ์ร่วมกันกับคณะกรรมการ หัวหน้าฝ่ายแต่ละฝ่าย ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางและเป้าหมายขององค์กรให้ชัดเจน และทำการแบ่งงานและให้หัวหน้าฝ่ายแต่ละฝ่ายรับผิดชอบและกระจายงานให้พนักงานแต่ละฝ่ายต่อไป ซึ่งสะดวกต่อการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์
บรรณานุกรม
จินตนา บุญบงการ และ ณัฏฐพันธ์ เขจรนันท์. (2549). จริยธรรมทางธุรกิจ. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ณรงค์วิทย์ แสนทอง. (2551). การบริหารผลงานเชิงกลยุทธ์. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น.
พนิดา ศรีม่วง. (2558). การศึกษาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ ชุดประเภทสายไฟรถยนต์ในประเทศไทยก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC). งานศึกษาค้นคว้าอิสระ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
พิบูล ทีปะปาล. (2551). การจัดการเชิงกลยุทธ์. กรุงเทพฯ: อมรการพิมพ์.
สุพานี สฤษฎ์วานิช. (2553). การบริหารเชิงกลยุทธ์ : แนวคิด และทฤษฎี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สุมาลี จิระจรัส. (2548). การจัดการเชิงกลยุทธ์. สงขลา: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
อรุณกมล ศุขเอนก และ พรชัย เทพปัญญา. (2562). กลยุทธ์การบริหารจัดการของธนาคารพาณิชย์เอกชน
สู่การเป็นองค์การสมรรถนะสูง. วารสารมนุษยสังคมปริทัศน์ (มสป.), 21(2), 325-345.