การวางแผนภาษี

UploadImage
 
UploadImage
 

การวางแผนภาษี
TAX PLANNING
 
กุลธิดา จันทร์สะอาด
Kultida Jansaard
kultida.jun@spulive.net,
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
 
บทคัดย่อ 
          การวางแผนภาษี เป็นการเตรียมการเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้อง ครบถ้วน และใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้น้อยลง ไม่ต้องเสียภาษีมากจนเกินไป และกรมสรรพากรได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอากรอย่างมากมาย ดังนั้นผู้วิจัยจึงเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นต่อการวางแผนภาษีของผู้ประกอบกิจการ เพื่อต้องการทราบถึงสาเหตุและปัญหาจากการดำเนินธุรกิจที่ไม่มีการวางแผนการทางภาษีอากร รวมทั้งศึกษาหาแนวทางในการวางแผนภาษีอากร (Tax Planning) และหาแนวทางที่เหมาะสมในการวางแผนภาษีอากรสำหรับผู้ประกอบการว่าจะมีแนวทางและวิธีการนำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับกิจการ ตลอดจนสามารถนำมากำหนดเป็นกลยุทธ์ในการดำเนินงานได้ในอนาคตอย่างไร จากการศึกษาพบว่าผู้ประกอบการได้มีการบันทึกบัญชีอย่างผิดพลาด บางกรณีก็ไม่เป็นตามหลักการบัญชีและหลักการภาษีอากร รวมทั้งการขาดนโยบายในการวางแผนภาษีอากร และไม่ได้นำสิทธิประโยชน์ในด้านการลดหย่อนทางภาษีอากรมาใช้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีอากรที่สูง
          การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงการวางแผนภาษีอากรที่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีการบริหารงานและเสียภาษีอากรได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
 
คำสำคัญ : ภาษี, กฎหมายภาษีอากร, การวางแผนภาษีอากร
 
Abstract 
          Tax planning It is a preparation to pay taxes correctly and completely and use various tax benefits. The law provides for an annual income tax deduction to alleviate the tax burden. We do not pay too much tax, and the Department of Revenue has promoted and promoted many tax benefits. Therefore, the researcher sees the importance and considers that it is necessary for the tax plan of the entrepreneur. The objective is to study the causes and problems of business without tax planning. Also, study the tax planning system and find out the best way to plan taxation for the entrepreneur so that the best practices and methods can be applied to the business. How will the business plan work in the future? Some cases do not follow the principles of accounting and taxation. Including the lack of policy in tax planning, it does not bring benefits in terms of tax reduction. As a result, operators have to bear high costs of compliance with tax laws.
The objective of this research is to study tax planning as an important factor that will help entrepreneurs to effectively manage and pay tax.
 
Keywords : Tax, Law of Taxation, Tax Planning
 
บทนำ 
          การวางแผนภาษี คือ การกำหนดแนวทางปฏิบัติในการเสียภาษี เพื่อให้เสียภาษีได้อย่างถูกต้อง และสามารถประหยัดภาษีได้สูงสุด ภาษีอากรแต่ละประเภทมีอัตราและวิธีปฏิบัติในการเสียภาษีต่างกัน ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจึงต้องศึกษารายละเอียดของภาษีอากรแต่ละประเภท เพื่อให้การเสียภาษีของเราได้รับประโยชน์สูงสุด ภาษีอากรแต่ละประเภทประกอบด้วย
          1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
          2) ภาษีเงินได้นิติบุคคล
          3) ภาษีมูลค่าเพิ่ม
          4) ภาษีธุรกิจเฉพาะ
          5) ภาษีศุลกากร
          6) ภาษีสรรพสามิต
          7) ภาษีโรงเรือนและที่ดิน
          8) ภาษีบำรุงท้องที่
          9) ภาษีป้าย
          10) ค่าธรรมเนียม
          11) อากรแสตมป์
          และยังแบ่งย่อยลงไปเป็น องค์กรธุรกิจ หรืออาชีพ ที่แตกต่างกันออกไป ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ประกอบด้วย
          1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
          2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
          3. กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางค้า หรือหากำไร
          4. กิจการร่วมค้า (Joint Venture)
          5. มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้
          6. นิติบุคคลที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร (กรมสรรพากร, 2564)
          ส่วนประเภทบุคคลธรรมดา กฎหมายกำหนดให้นำรายได้ หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆแล้ว มาเป็นฐานในการคำนวณภาษี โดยใช้เกณฑ์เงินสด (cash basis) เป็นตัวตั้ง ขณะที่อัตราภาษีใช้อัตราก้าวหน้า ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่
          1) บุคคลธรรมดา
          2) ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
          3) ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
          4) กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
          5) วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล (กรมสรรพากร,2564)
          ซึ่งแต่ละธุรกิจแต่ละอาชีพ มีอัตราภาษี ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนที่แตกต่างกัน ผู้มีเงินได้จึงควรศึกษาแต่ละธุรกิจ แต่ละอาชีพให้ถ่องแท้ก่อนจะดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ได้ประโยชน์ทางภาษี นำไปสู่การได้เปรียบทางต้นทุนเพื่อประโยชน์ในการแข่งขันในที่สุด การวางแผนภาษีที่ดีควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจในรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีเงินได้ที่เราจะต้องเสีย และรู้จักใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้คุ้มค่า ในขณะที่ การโกงภาษี หรือ การหนีภาษี คือ การไม่ยอมเสียภาษี หรือ ความพยายามที่จะเสียภาษีให้น้อยลงโดยฝ่าฝืนกฎหมายภาษีอากร เช่น จงใจไม่นำรายได้มายื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี ยื่นรายการไม่ครบ หรือแสดงรายการค่าใช้จ่ายสูงกว่าความเป็นจริง ฯลฯ ซึ่งการกระทำเหล่านี้ล้วนมีความผิดทางกฎหมาย และจะถูกลงโทษตามกฎหมายภาษีอากร ดังนั้น การวางแผนภาษีที่ดีจึงควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจในรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีเงินได้ที่เราจะต้องเสีย และรู้จักใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้คุ้มค่า โดยหลักในการวางแผนภาษี คือ รู้ประเภทของรายได้ รู้ค่าใช้จ่ายที่หักภาษีได้ รู้ค่าลดหย่อนเพื่อลดภาษี รวมถึงรู้วิธีการคำนวณภาษี และรู้ช่องทางการยื่นภาษี (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, 2564.) 
 
วัตถุประสงค์
          1. เพื่อให้การเสียภาษีอากรโดยถูกต้อง ครบถ้วนและจำนวนน้อยที่สุด โดยไม่อาศัยการหลีกเลี่ยงภาษีอากร
          2. เพื่อขจัดปัญหาทางภาษีอากร
          3. เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการเสียภาษีอากรไม่ถูกต้อง
          4. เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร
          5. เพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ไม่จำเป็น และไม่ได้มาตรฐาน  
          6. เพื่อเตรียมพร้อมต่อการเรียกตรวจสอบภาษีอากรโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
          7. เพื่อเสริมสร้างระบบการควบคุมภายในให้มีประสิทธิภาพ
 
          การวางแผนภาษีอากร หมายถึง การกำหนดแนวทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อการปฏิบัติในอนาคตเกี่ยวกับรายการทางการเงิน (Financial Transactions) ที่เกี่ยวข้องกับรายการทางภาษีอากร มุ่งหมายที่จะแก้ไขปัญหาทางภาษีอากรที่เกิดขึ้นในอดีตและดำรงอยู่ในปัจจุบัน และป้องกันปัญหาทางภาษีอากรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการดำเนินให้การปฏิบัติการทางภาษีอากร และเสียภาษีอากรขององค์กรเป็นไปโดยถูกต้อง และครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายภาษีอากรกำหนด ในอันที่จะเป็นผลให้จำนวนภาษีอากรที่ต้องเสียนั้น เป็นจำนวนน้อยที่สุดหรือประหยัดที่สุด รวมทั้งใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรสูงสุด ทั้งนี้ โดยไม่อาศัยการทุจริตหลีกเลี่ยงภาษีอากรไม่ว่ากรณีใด (สุเทพ พงษ์พิทักษ์, 2557 แนวทางการวางแผนภาษีอากร) 
          จากนิยามศัพท์ดังกล่าว อาจจำแนกการวางแผนภาษีอากรได้ดังนี้ 
          1. การวางแผนภาษีเป็นเรื่องของอนาคต นับจากสภาวการณ์ในปัจจุบันที่นักบริหารผู้กำหนดรู้ในหน้าที่แห่งตนที่จะพึงกระทำ 
          2. การวางแผนภาษีอากร เป็นการกำหนดแนวทางปฏิบัติทางภาษีอากร อันเนื่องมาจากรายการทางการเงิน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด และสอดคล้องกับแผนทางธุรกิจ 
          3. การวางแผนภาษีอากร มุ่งที่จะขจัดปัญหาทางภาษีอากร และป้องกันปัญหาทางภาษีอากร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ คือ เสียภาษีอากรเป็นจำนวนน้อยที่สุด ภายใต้การปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากรโดยถูกต้อง และครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายภาษีอากรกำหนด
          4. แนวคิดที่ใช้ในการวางแผนภาษีอากร ต้องกอปรไปด้วยแนวคิดเชิงบวก และการดำเนินทางสายกลางตามแนวทางทฤษฎีใหม่ “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ไม่มีการเบียดเบียนผู้อื่นและตนเอง 
          5. ประเด็นที่ใช้การวางแผนภาษีอากรประกอบด้วย 
              (1) ประเด็นทางด้านรายได้ 
              (2) ประเด็นทางด่านรายจ่าย 
              (3) ประเด็นทางด้านสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ 
              (4) ประเด็นหน้าที่ทางภาษีอากร
 
หลักเกณฑ์ในการวางแผนภาษีอากร 
          1. ต้องเข้าใจและเข้าถึงปัญหาทางภาษีอากรที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในทุกประเด็นทางภาษีอากร โดยการรวบรวมปัญหาทางภาษีอากรที่เกิดขึ้น รวมทั้งความร้ายแรงของปัญหา อันได้แก่ ความเสียหายมี่เกิดขึ้นจากปัญหาทางภาษีอากรนั้น 
          2. รวบรวมสาเหตุของปัญหาทางภาษีอากรที่ก่อให้เกิดปัญหาทางภาษีอากรนั้น ซึงได้แก่ การกระทำที่ผิดๆ ทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย การตีราคาทรัพย์สิน หนี้สิน และหน้าที่ทางภาษีอากร อาทิ การไม่ปรับปรุงรายการทางบัญชีให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางภาษีอากร เช่น 
              - ใช้เกณฑ์รับรู้รายได้ที่ไม่ถูกต้อง 
              - รับรู้รายได้ไม่ตรงตามกำหนดเวลา 
              - จำนวนรายไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
              - นำรายจ่ายต้องห้ามมาถือเป็นรายจ่ายทางภาษีอากร 
              - คำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินไม่ถูกต้อง 
              - จำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด 
              - ใช้อัตราแลกเปลี่ยนไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด
              - คำนวณภาษีขายไม่ถูกต้อง
              - นำภาษีซื้อต้องห้ามมาใช้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม 
              - เสียภาษีธุรกิจเฉพาะไม่ถูกต้อง ครบถ้วน 
              - ไม่ปิดอากรแสตมป์บนตราสารที่กฎหมายกำหนดให้ถูกต้อง 
              - กิจการไม่เข้าใจ และไม่ได้ใช่สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรอย่างเต็มที่ ฯลฯ 
          3. กำหนดเป้าหมายให้ชัดแจ้งตั้งแต่ต้นว่า กิจการมุ่งปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากร และเสียหรือนำส่งภาษีอากรให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขทีกฎหมายกำหนด 
          4. กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง โดยนำสาเหตุตามข้อ 2 มาดำเนินการ โดยนำหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขทางภาษีอากรมาปรับใช้กับประเด็นปัญหา และสาเหตุทางภาษีอากรตามข้อ 1 และข้อ 2
          5. นำวิธีการปฏิบัติตามข้อ 4 มาเขียนเป็นแผนการปฏิบัติงานทางภาษีอากร กำหนดผู้รับผิดชอบ และขอบข่ายหน้าที่ว่าต้องปฏิบัติงานอะไร ปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติเมื่อใด ที่ไหน และความคาดหวังที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามแผนงานนั้นๆ 
          6. นำแผนภาษีอากรไปถือปฏิบัติ
          7. ติดตามประเมินผลการปฏิบัติ
          กล่าวสำหรับ Conservative tax planning หรือการวางแผนภาษีอากรเชิงตั้งรับ หมายถึง การแก้ปัญหาทางภาษีอากรที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต และดำรงอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ปัญหาทางภาษีอากรที่เกิดขึ้นแล้วนั้นหมดไป ไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางธุรกิจ และเป็นอุปสรรคขวากหนามการบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ โดย
          1. ละเลิกวิธีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง 
          2. เริ่มปฏิบัติการทางภาษีอากรที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
          เกณฑ์ทางภาษีอากรที่ใช้สำหรับ Conservative tax planning หรือการวางแผนภาษีอากรเชิงตั้งรับ อาทิ 
          1. ตรวจสอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ทางบัญชีที่แตกต่างจากหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขทางภาษีอากร ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี แล้วปรับปรุงกำไรสุทธิทางบัญชีให้เป็นกำไรสุทธิทางภาษีอากร เพื่อการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ให้ถูกต้องเป็นรายรอบระยะเวลาบัญชี และกระทำต่อเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว
         2. แก้ปัญหาทางภาษีอากรที่เกิดขึ้นแล้วจากการกระทำที่ผิด ทางด้านรายได้ 
         3. แก้ปัญหาทางภาษีอากรที่เกิดขึ้นแล้วจากการกระทำที่ผิด ทางด้านรายจ่าย 
         4. แก้ปัญหาทางภาษีอากรที่เกิดขึ้นแล้วจากการกระทำที่ผิด ทางด้านการตีราคาทรัพย์สิน หนี้สิน 
         5. แก้ปัญหาทางภาษีอากรที่เกิดขึ้นแล้วจากการกระทำที่ผิด ทางด้านหน้าที่ทางภาษีอากร
          Aggressive tax planning หรือ การวางแผนภาษีอากรเชิงรุก หมายถึง การแก้ปัญหาทางภาษีอากรที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต และดำรงอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งป้องกันปัญหาทางภาษีอากรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อขจัดปัญหาทางภาษีอากรที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดสินไป ดำเนินการป้องกันสาเหตุที่จะก่อให้เกิดปัญหาทางภาษีอากรในอนาคต ในอันที่จะบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ โดย
          1. สำรวจปัญหาและสาเหตุของปัญหาทีเกิดขึ้นแล้วในอดีต และรวมรวมไว้ให้ชัดแจ้ง 
          2. กำหนดเป้าหมายของการวางแผนดำเนินการทางภาษีอากรให้ชัดแจ้ง
          3. ดำเนินการตามหลักเกณฑ์การวางแผนภาษีอากรข้างต้น โดยมุ่งหมายที่จะ
              (1) ยกเลิกวิธีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง อันเป็นสาเหตุของปัญหาทางภาษีอากรทั้งหลาย 
              (2) เริ่มปฏิบัติการทางภาษีอากรที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กฎหมายกำหนด 
              (3) ปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้องจนถึงที่สุด 
          เกณฑ์ทางภาษีอากรที่ใช้สำหรับ Conservative tax planning หรือการวางแผนภาษีอากรเชิงตั้งรับ อาทิ 
          1. มุ่งแก้ปัญหาในอดีตให้จบสิ้นลงไปอย่างรวดเร็ว
          2. มุ่งป้องกันปัญหาทางภาษีอากรจากสาเหตุที่แท้จริง 
          3. จัดทำ Tax Mapping Tax Manual 
          4. จัดทำแผนทางภาษีอากร 
          5. นำแผนทางภาษีอากรไปถือปฏิบัติ
          6. ติดตามประเมินผล 
          ความรอบรู้ในการวางแผนภาษี(Tax Planning Knowledge : KNO) ความรอบรู้ในการวางแผนภาษี (Tax Planning Knowledge) หมายถึง ทักษะความชำนาญและความสามารถในการนำความรู้ทางกฎหมายภาษีอากร รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรฐานการบัญชี เป็นต้น ไปใช้ในการเตรียมการ การบริหารจัดการภาระภาษีที่พึงจะเกิดขึ้นเพื่อให้การเสียภาษีอากรเป็นไปอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของกฎหมาย และจะต้องเสียภาษีอากรจำนวนน้อยที่สุด โดยไม่มีเจตนาทุจริตหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ประกอบด้วย (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย,2558)
          1) การรู้ประเภทของรายได้ (Type of Income Tax Knowledge : INC) หมายถึงการรู้จักประเภทของรายได้ (เงินได้พึงประเมิน) ว่ารายได้ที่ได้รับมานั้น จัดเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีหรือไม่ หรือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นภาษีรวมถึงการสามารถจัดประเภทของรายได้ได้อย่างถูกต้องตามมาตรา40 แห่งประมวลรัษฎากรกร
          2) การรู้ค่าใช้จ่ายที่หักภาษีได้ (Deductible Expense Tax Knowledge : EXP) หมายถึงการรู้จักประเภทของค่าใช้จ่าย (รายจ่าย) ว่า ค่าใช้จ่ายใดบ้างที่สามารถนำไปหักภาษีได้ ค่าใช้จ่ายใดบ้างที่เป็นรายจ่ายต้องห้าม วิธีการหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีรวมถึงการทราบว่าค่าใช้จ่ายใดบ้างที่สามารถใช้ในการคำนวณภาษีได้มากกว่าจำนวนเงินที่จ่ายออกไปจริงเพื่อให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์ในการคำนวณภาษีอย่างสูงสุด
          3) การรู้วิธีการคำนวณภาษี (Tax Calculation Knowledge : CAL) หมายถึง การรู้จักวิธีการคำนวณภาษี ว่า การคำนวณภาษีแต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็นไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย มีวิธีการคำนวณอย่างไรจึงจะถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่มในภายหลัง
          4) การรู้ช่องทางการยื่นภาษี (Filing Tax Channel Knowledge : CHAN) หมายถึงการรู้จักช่องทางการยื่นภาษีว่า สามารถยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีได้ทางช่องทางใดบ้าง เช่น การยื่นแบบแสดงรายการผ่านอินเตอร์เน็ต เป็นต้น รวมถึงกำหนดระยะเวลาในการยื่นเสียภาษีเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการยื่นภาษีล่าช้าหรือเกินกำหนดระยะเวลาอันจะส่งผลให้เกิดภาระภาษีโดยไม่จำเป็น
 
ประสิทธิภาพการวางแผนภาษี (Tax Planning Efficiency : PLAN) 
          ประสิทธิภาพการวางแผนภาษี (Tax Planning Efficiency) หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการเตรียมความพร้อมทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้การเสียภาษีและการปฏิบัติงานเกี่ยวกับภาษีอากรทั้งระบบ อันได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ เป็นไปอย่างถูกต้องและครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายภาษีอากร โดยสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อช่วยบรรเทาภาระภาษี รวมถึงการปลอดจากภาระที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหน้า ไม่ว่าจะเป็นจากการไม่ต้องชำระภาษีเพิ่มหรือเสียเบี้ยปรับโดยไม่จำเป็น หรือการถูกประเมินจากเจ้าพนักงาน ประกอบด้วย กฤตกร มั่นสุวรรณ (2555)
          1) ความครบถ้วนของระบบภาษี (Tax System Completeness : COM) หมายถึง การที่ผู้วางแผนภาษีมีความรู้ความเข้าใจในตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากรอย่างชัดเจน ครอบคลุมทุกประเด็นและถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้การวางแผนภาษีเป็นไปอย่างรัดกุม ครบถ้วน
          2) การใช้ประโยชน์ด้านภาษีสูงสุด (Maximized Tax Benefit : BEN) หมายถึง การที่ผู้วางแผนภาษีมีการศึกษาข้อกฎหมายทางภาษีอากรที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด เช่น สิทธิประโยชน์การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ รายจ่ายที่สามารถหักได้เพิ่มจากที่จ่ายจริง รายได้ (เงินได้พึงประเมิน) ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี เป็นต้น โดยผู้วางแผนภาษีอาจจะกำหนดทางเลือกในการน าเงื่อนไขทางกฎหมายมาใช้เพื่อให้กิจการได้รับประโยชน์สูงสุดและถูกต้องกฎหมาย
          3) การหลีกเลี่ยงโทษปรับ (Punishment Avoidance : AVO) หมายถึง การที่ผู้วางแผนภาษีอากรระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหาทางภาษีอากรในอนาคต โดยการศึกษาตัวบทกฎหมายทางภาษีให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ครอบคลุม รอบด้าน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตจากการถูกหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากร เช่น กรมสรรพากรเรียกตรวจสอบและประเมินภาษีย้อนหลัง ทำให้กิจการมีรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเกิดขึ้น เช่น เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ค่าปรับ เป็นต้น
          4) การลดการตรวจสอบจากภาครัฐ (Government Inspect Decreasing : GOV) หมายถึงการที่ผู้วางแผนภาษีอากรมีการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากรอย่างถ่องแท้ และปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อมิให้ถูกหน่วยงานกำกับดูแลเรียกตรวจสอบ หากมีข้อโต้แย้งกับเจ้าพนักงานประเมิน ผู้วางแผนภาษีสามารถยกกฎหมายอ้างอิงอย่างชัดเจนเพื่อให้สามารถตอบคำถามในปัญหาต่าง ๆ ได้
 
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
          ภาษีเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากหากบริษัทมีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ต่ำ จะส่งต่อผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นบริษัทต่างๆ จึงพยายามลดค่าใช้จ่ายภาษีให้น้อยที่สุด เพื่อให้บริษัทมีกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น และส่งผลทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และพบว่า การเสียภาษีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อาจไม่ผันแปร ตามกำไรทางบัญชี เพราะว่าได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทางภาษี จากนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล โดยให้ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเครื่องจักรและอุปกรณ์สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการคำนวณ ค่าเสื่อมราคา ระพีพร ศรีจำปา (2562) สอดคล้องกับ วราพร เปรมพาณิชย์นุกูล (2561) ผลการวิจัยพบว่า
          1) ความรอบรู้ในการวางแผนภาษี ด้านการรู้ค่าใช้จ่ายที่หักภาษีได้ ด้านการรู้วิธีการคำนวณภาษี และด้านการรู้ช่องทางการยื่นภาษี มีผลกระทบเชิงบวกกับประสิทธิภาพการวางแผนภาษีโดยรวม
          2) ความรอบรู้ในการวางแผนภาษี ด้านการรู้วิธีการคำนวณภาษี และด้านการรู้ช่องทางการยื่นภาษี มีผลกระทบเชิงบวกกับประสิทธิภาพการวางแผนภาษี ด้านความครบถ้วนของระบบภาษี
          3) ความรอบรู้ในการวางแผนภาษี ด้านการรู้ค่าใช้จ่ายที่หักภาษีได้ และด้านการรู้ช่องทางการยื่นภาษี มีผลกระทบเชิงบวกกับประสิทธิภาพการวางแผนภาษี ด้านการใช้ประโยชน์ด้านภาษีสูงสุด
          4) ความรอบรู้ในการวางแผนภาษี ด้านการรู้ค่าใช้จ่ายที่หักภาษีได้ และด้านการรู้ช่องทางการยื่นภาษี มีผลกระทบเชิงบวกกับประสิทธิภาพการวางแผนภาษี ด้านการหลีกเลี่ยงโทษปรับ
          5) ความรอบรู้ในการวางแผนภาษี ด้านการรู้ค่าใช้จ่ายที่หักภาษีได้ และด้านการรู้ช่องทางการยื่นภาษี มีผลกระทบเชิงบวกกับประสิทธิภาพการวางแผนภาษี ด้านการลดการตรวจสอบจากภาครัฐ
          6) การสนับสนุนจากฝ่ายบริหารมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างความรอบรู้ในการวางแผนภาษีกับประสิทธิภาพการวางแผนภาษีโดยรวม
 
สรุปผล
          การวางแผนภาษีที่ดี ควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจในรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีเงินได้ที่เราจะต้องเสีย และรู้จักใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้คุ้มค่า โดยหลักในการวางแผนภาษี คือ
          1. รู้ประเภทของรายได้
          2. รู้ค่าใช้จ่ายที่หักภาษีได้
          3. รู้ค่าลดหย่อนเพื่อลดภาษี
          4. รู้วิธีการคำนวณภาษี
          5. รู้ช่องทางการยื่นภาษี
 
บรรณานุกรม
          กรมสรรพากร. (2564). ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564, จากเว็บไซต์: https://www.rd.go.th/835.html.
          กรมสรรพากร. (2564). ใครมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา?. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564, จากเว็บไซต์: https://www.rd.go.th/548.html.
          กฤตกร มั่นสุวรรณ. (2555). ผลกระทบของประสิทธิภาพการวางแผนภาษีเชิงกลยุทธ์ที่มีต่อศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาบัญชีมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
          วราพร เปรมพาณิชย์นุกูล. (2561). ผลกระทบของความรอบรู้ ในการวางแผนภาษีที่มีต่อประสิทธิภาพการวางแผนภาษี และเพื่อทดสอบผลกระทบของการสนับสนุนจากฝ่ายบริหารที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างความรอบรู้ ในการวางแผนภาษีกับประสิทธิภาพการวางแผนภาษีของบริหารฝ่ายบัญชีธุรกิจSMEs ในประเทศไทย. วารสารวิทยาการจัดการ สมัยใหม่, มหาวิทยาราชภัฎลำปาง
          ระพีพร ศรีจำปา. (2562). ผลกระทบของคณะกรรมการตรวจสอบกับการหลบหลีกภาษีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 จากเว็บไซต์: https://erp.mju.ac.th/openFile.aspx?id=MzczNzQ4&method=inline
          สุเทพ พงษ์พิทักษ์. (2557). แนวทางการวางแผนภาษีอากร. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 จากเว็บไซต์:  https://www.facebook.com/Suthep.Pongpitak/posts/832990210085290
          ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.(2564).วางแผนภาษี. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 จากเว็บไซต์: https://www.set.or.th/education/th/start/start_start_3_7.pdf.