กำไรทางบัญชีกับกระแสเงินสดของกิจการ
01
Feb
กำไรทางบัญชีกับกระแสเงินสดของกิจการ
Accounting profit and cash flow of the business
ณัชริกาญจน์ เธียรวรนันท์
Natcharikan Thianworanan
E-mail: Ponluy.5641@gmail.com
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
บทคัดย่อ
งบกระแสเงินสดมีต่อสภาพคล่องของกิจการและกำไรทางบัญชีของกิจการกับกระแสเงินสดของกิจการ มีผลต่อการตัดสินของผู้บริหารของกิจการเนื่องจากเงินสดมีสภาพคล้องสูงที่สุดดังนั้นกิจการควรให้ความสำคัญกับรายการเงินสด การที่ผู้บริหารขององค์กรที่ทราบรายการเงินสดจะทำให้ทราบว่ากิจการมีความสามารถที่จะได้การเข้ามาของเงินสดและการจ่ายออกไปของเงินสดซึ่งช่วยให้มีการวางแผนและการตัดสินใจมีประสิทธิภาพ จะเห็นได้ว่าการจัดทำงบกระแสเงินสดสร้างความสัมพันธ์ของการบริหารและการบัญชี การบริหารกระแสเงินสดให้มีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ธุรกิจมีความมั่นคงมากขึ้น อยู่รอดได้ต่อไปในระยะยาว แม้ว่ากระแสเงินสดจะมีความสำคัญมากก็ตาม แต่เรื่องของการสร้างกำไรก็เป็นสิ่งที่สำคัญ กำไรทางบัญชีที่มาจากการวางระบบบัญชีให้มีประสิทธิภาพ แม้กำไรที่มองเห็นเป็นตัวเลขในรายการที่ถูกจดบันทึก จะจับต้องเป็นเงินสดในวันนี้ไม่ได้ แต่ถ้ามีการวางแผนจนธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ สร้างกำไรได้มากขึ้นในทุก ๆ ปีในระยะยาว ก็จะทำให้กิจการมีกระแสเงินสดที่ดีได้
คำสำคัญ : กระแสเงินสด, สภาพคล่อง,กำไรทางบัญชี
Abstract
The statement of cash flows affects the liquidity of the business and its accounting profit and its cash flows. Affects the decisions of management of the entity as cash is the most synergistic, so the entity should pay attention to cash items. Being aware of the cash transactions of the company's executives indicates that the entity has the ability to obtain cash inflows and cash outflows which enable effective planning and decision-making. It can be seen that the preparation of the cash flow statement creates a relationship between management and accounting. Effective cash flow management It will help the business to be more stable. Survive in the long term
Keywords : Cash flow, Liquidity, Accounting profit
บทนำ
ในปัจจุบันมีหลายบริษัทประสบกับปัญหาขาดสภาพคล่องทั้ง ๆ ที่ผลประกอบการมีกำไร เงินสด จึงเป็นรายการทางบัญชีรายการหนึ่งที่แสดงถึงสภาพคล่องของกิจการผู้ประกอบการจึงควรสนใจการเปลี่ยนแปลงของเงินสดทั้งนี้เพื่อการดัดสินใจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเงินสุด และงบกระแสเงินสดจึงแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของเงินสดว่าเป็นไปอย่างไร มีสาเหตุมาจากสิ่งใด และแสดงแหล่งที่มาและแหล่งใช้ไปของเงินสดในแต่ละงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะแสดงให้ทราบถึงเงินสดที่ได้มาและ ใช้ไปในกิจกรรมเกี่ยวกับการดำเนินงาน การลงทุน และการจัดหาเงินทุน งบกระแสเงินสดจึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่างบการเงินอื่น ๆ และยังเป็นส่วนหนึ่งของงบแสดงการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินที่แสดงความเคลื่อนไหวของเงินทุนในรอบระยะเวลาหนึ่งคือแสดงเกี่ยวกับเงินทุนที่ได้รับจากแหล่งต่างๆ และแสดงเกี่ยวกับเงินทุนที่จ่ายออกไปเนื่องจากกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริหารสามารถวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีตและวางแผนกระแสเงินสดได้ในอนาคตทั้งนี้ ข้อมูลในงบกระสเงินสดนั้นต่างจากงบการเงินอื่น เนื่องจากปฏิบัติดามเกณฑ์เงินสด เป็นการแสดงการไหลของกระแสเงินสดเข้าและออก ซึ่งต่างจากงบการเงินอื่นที่ปฏิบัติตามเกณฑ์คงค้าง งบกระเเสเงินสดจึงได้ตัดข้อแตกต่างทางน โยบายบัญชีของแต่ละกิจการ จึงสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ ดังนั้น งบกระแสเงินสดจึงสามารถสะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่แท้จริง อีกทั้งนำไปช่วยนักลงทุนในการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจ ได้ดีอีกงบการเงินหนึ่ง(ทิพาภรณ์ เชียงทอง ,2554)
ในการจัดทำงบกระแสเงินสดมีความแตกต่างระหว่างกำไรสุทธิทางบัญชีและกระแสเงินสด กำไรสุทธิทางบัญชี คือ รายได้หักด้วยต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของกิจการ สำหรับ กระแสเงินสด คือ การเข้าออก (รายการได้มาและใช้ไป)ของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด การจัดทำงบกระแสเงินสดเป็นการคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงานตามเกณฑ์เงินสด แต่การจัดทำงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จนั้นโดยทั่วไปกิจการจัดทำตามเกณฑ์คงค้าง เกณฑ์คงค้างจะคำนึงรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละงวดโดยไม่สนใจการรับเงินและจ่ายเงินหรือไม่ส่วนเกณฑ์เงินสดจะคำนึงถึงจำนวนเงินที่ได้รับและจ่ายไปใช้ในระหว่างงวดเป็นการยึดเงินสดเป็นหลัก โดยการหลักการจัดทำงบกระแสเงินสด กิจการต้องจัดงบกระแสให้เป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานการบัญชีและต้องแสดงงบกระแสเงินสดเป็นส่วนหนึ่งของงบการเงินของกิจการ กิจการต้องเสนอกระแสเงินสดที่เกิดจากกิจการดำเนินงาน กิจการลงทุนและกิจการจัดหาเงินในลักษณะที่เหมาะสมของธุระกิจจำแนกกิจกรรมจะให้จะให้ข้อมูลที่ทำให้ผู้ใช้งบการเงินสามารถประเมินผลกระทบของกิจการจากแหล่งนั้นต่อการแสดงฐานะทางการเงิน ในการจัดทำงบกระแสเงินสดจะต้องทำความเข้าในถึงความแตกต่างระหว่างเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดกับรายการที่ไม่ใช้เงินสด เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด คือ เงินสดในมือและเงินฝากธนาคารที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม,เงินลงทุนที่มีสภาพคล่องสูงซึ่งพร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นเงินสดในจำนวนที่ทราบได้ รายการที่ไม่ใช้เงินสด คือ รายการลงทุนและรายการจัดหาเงินที่มิได้มีการใช้เงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสดต้องไม่นำมารวมในงบกระแสเงินสดแต่ต้องทำการเปิดเผยไว้ในส่วนอื่นของงบการเงิน (สกอลาร์ แอคเคาท์ติ้ง,2563)
ผู้บริหารส่วนใหญ่จะมีความเข้าใจผิดในเรื่อง งบประมาณเงินสดกับงบกระแสเงินสด งบประมาณเงินสด คือ งบที่แสดงรายการเงินสดยกมาต้นงวดรวมกับเงินสดที่คาดว่าจะได้รับและจ่ายออกไปในอนาคตทำให้เห็นเงินสดคาดว่าจะเกินหรือขาดของกิจการสำหรับ งบกระแสเงินสด คือ งบแสดงการเปลี่ยนแปลงของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดของกิจการที่เกิดขึ้นระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีโดยทำการจำแนกเงินสดจากกิจการดำเนินงาน กิจกรรมลงทุนและกิจการจัดหาเงิน โดยสรุปได้ว่า งบประมาณเงินสด เป็น งบพยากรณ์ในอนาคตและงบกระแสเงินสดเป็นงบที่แสดงผลในอดีต(การจัดการความรู้,คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี,2558)
ดังที่ได้กล่าวข้างต้นจะเห็นว่า งบแสดงฐานะการเงิน เป็นงบการเงินที่สำคัญอันดับต้นๆ ที่นักบัญชีและผู้บริหาร จะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะบัญชีเงินสดที่ปรากฏอยู่ในงบการเงินของกิจการ จัดเป็นรายการหนึ่งที่แสดงถึงสภาพคล่องของกิจการว่าเป็นอย่างไรมีความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจเพียงใด เพื่อใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจดำเนินงานต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับเงินสด ด้วยเหตุนี้ผู้บริหารธุรกิจจึงมักให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงของเงินสด งบกระแสเงินสดจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในธุรกิจปัจจุบันมากขึ้น
วัตถุประสงค์
- เพื่อศึกษากำไรทางบัญชีกับกระแสเงินสดของกิจการ
- เพื่อศึกษางบกระแสเงินสดที่มีต่อสภาพคล่องของกิจการ
ความหมายของงบกระแสเงินสด
มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 7 เรื่อง งบกระแสเงินสด (สภาวิชาชีพบัญชี,2564)ได้กำหนดความหมายของคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับงบกระแสเงินสด ไว้ดังนี้
เงินสด หมายถึง เงินสดในมือและเงินฝากธนาคารที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม
รายการเทียบเท่าเงินสด หมายถึง เงินลงทุนระยะสั้นที่มีสภาพคล่องสูง ซึ่งพร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นเงินสดในจำนวนที่ทราบได้ และมีความเสี่ยงที่ไม่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในมูลค่า
กระแสเงินสด หมายถึง การเข้าและออกของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
กิจกรรมดำเนินงาน หมายถึง กิจกรรมหลักที่ก่อให้เกิดรายได้ของกิจการ และกิจกรรมอื่นที่มิใช่กิจกรรมลงทุนหรือกิจกรรมจัดหาเงิน
กิจกรรมลงทุน หมายถึง การได้มาและการจำหน่ายสินทรัพย์ระยะยาวและเงินลงทุนอื่นซึ่งไม่รวมอยู่ในรายการเทียบเท่าเงินสด
กิจกรรมจัดหาเงิน หมายถึง กิจกรรมที่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในขนาดและองค์ประกอบของส่วนของเจ้าของและส่วนของการกู้ยืมของกิจการ
งบกระแสเงินสด (Cash flow statement) จะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับกระแสเงินสดของกิจการผู้ใช้งบการเงินจะใช้ข้อมูลเป็นเกณฑ์พิจารณาความสามารถของกิจการที่จะได้รับเงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสด รวมทั้งความจำเป็นในการใช้กระแสเงินสดนั้น และต้องประเมินระยะเวลาและความแน่นอนของเงินสดที่จะได้รับ
วัตถุประสงค์ของงบกระแสเงินสด
ข้อมูลเกี่ยวกับกระแสเงินสดของกิจการมีประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงินเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมิน ความสามารถของกิจการในการก่อให้เกิดเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด และความต้องการใช้ กระแสเงินสดของกิจการ ในการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจของผู้ใช้งบการเงิน จะต้องมีการประเมินความสามารถของกิจการ ในการก่อให้เกิดเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด จังหวะเวลาและ ความแน่นอนของกาก่อให้เกิดเงินสดดังกล่าววัตถุประสงค์ของมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ คือ เพื่อเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับกาเปลี่ยนแปลงในอดีตของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดของกิจการ ผ่านทางงบกระแสเงินสดซึ่งจำแนกกระแสเงินสด ในระหว่างรอบระยะเวลาเป็นเงินสดจากกิจกรรมดาเนินงาน กิจกรรมลงทุน และกิจกรรมจัดหาเงิน(สภาวิชาชีพบัญชี,2564)
การจำแนกกิจกรรมในงบกระแสเงินสด
เนื่องจากงบกระแสเงินสด เป็นงบการเงินที่แสดงให้เห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสเงินสดที่ได้รับเข้ามา (Cash Inflow)และกระแสเงินสดที่ต้องจ่ายออกไป (Cash Outflow) อันสืบเนื่องมาจากกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในกิจการ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการจำแนกกิจกรรมต่างๆ ภายในกิจการออกเป็น 3 ลักษณะด้วยกันคือ
1. กิจกรรมดำเนินงาน (Operating Activities) เป็นกิจกรรมหลักของกิจการที่ทำให้เกิดรายได้และค่าใช้จ่าย โดยมักจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสินทรัพย์หมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียน
ตัวอย่างกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน มีดังนี้
- รายการรับเงิน เช่น เงินสดรับจากการขายสินค้า/บริการ,เงินสดรับจากการรับชำระหนี้จากลูกหนี้,เงินสดรับจากการได้รับดอกเบี้ยรับจากบัญชีเงินฝากธนาคาร
- รายการจ่ายเงิน เช่น เงินสดที่ต้องจ่ายเพื่อการซื้อสินค้า,เงินสดจ่ายเพื่อการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้การค้า,เงินสดจ่ายเพื่อค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่างๆ เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าเช่า เงินเดือน
2. กิจกรรมลงทุน (Investing Activities) เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเงินสดที่ได้รับหรือต้องจ่ายไปเกี่ยวกับสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน เงินลงทุนอื่นๆ เงินลงทุนระยะสั้น เงินลงทุนระยะยาว นอกจากนี้ยังอาจจะรวมถึงดอกเบี้ยซึ่งหมายถึงดอกเบี้ยรับและเงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนในหลักทรัพย์ลงทุนต่างๆตัวอย่างกระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน มีดังนี้
- รายการรับเงิน เช่น เงินสดรับจากการขายที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์,เงินสดรับจากการขายเงินลงทุนระยะยาว หรือสินทรัพย์อื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากกิจกรรมดำเนินงาน
- รายการจ่ายเงิน เช่น เงินสดจ่ายเพื่อซื้อที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์,เงินสดจ่ายเพื่อซื้อเงินลงทุนระยะยาว,เงินสดจ่ายเพื่อซื้อสินทรัพย์ไม่มีตัวตน หรือสินทรัพย์อื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากกิจกรรมดำเนินงาน
3. กิจกรรมจัดหาเงิน (Financing Activities) เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเงินสดที่ได้รับหรือต้องจ่ายไปในส่วนที่เกี่ยวกับการกู้ยืม หรือส่วนของเจ้าของตัวอย่างกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน มีดังนี้
- รายการรับเงิน เช่น เงินสดรับจากการออกจำหน่ายหุ้นทุน หรือหลักทรัพย์หุ้นทุนอื่น,เงินสดรับจากการออกจำหน่ายหุ้นกู้,เงินสดรับจากการกู้ยืมเงินระยะยาวจากสถาบันการเงิน
- รายการจ่ายเงิน เช่น เงินสดจ่ายเพื่อการชำระหนี้เงินกู้ระยะยาว,เงินสดจ่ายเพื่อเงินปันผล,เงินสดจ่ายแก่ผู้เป็นเจ้าของเพื่อการซื้อหรือไถ่ถอนหุ้นทุนของกิจการ(อารีย์ ทิศาวิภาต,2555)
วิธีการจัดทำงบกระแสเงินสด
การจัดทำงบกระแสเงินสด สามารถทำได้ 2 วิธีตามลักษณะการวิเคราะห์และการแสดงกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน ดังนี้
1. การจัดทำงบกระแสเงินสดโดยแสดงกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานเป็นวิธีทางตรง (Direct Method)วิธีนี้เป็นวิธีที่จัดแสดงกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน ทั้งเงินสดรับและเงินสดจ่ายจากกิจกรรมดำเนินงานต่างๆ โดยมีหลักว่า ให้วิเคราะห์รายการต่างๆ ที่ปรากฏในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ ปรับกระทบด้วยรายการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น รายการที่ก่อให้เกิดเงินสดรับจากการขายสินค้า รายการที่ก่อให้เกิดเงินสดจ่ายจากค่าซื้อสินค้า เงินสดจ่ายจากการเกิดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การจ่ายดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ เป็นต้น
2. การจัดทำงบกระแสเงินสดโดยแสดงกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานเป็นวิธีทางอ้อม (Indirect Method)วิธีนี้เป็นวิธีที่จัดแสดงกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงานทั้งเงินสดรับและเงินสดจ่าย โดยใช้กำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิก่อนหักดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้ที่ปรากฏในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จในปีนั้น แล้วปรับกระทบด้วยรายการที่ไม่เกี่ยวกับเงินสด หรือไม่กระทบต่อเงินสด เช่น หนี้สงสัยจะสูญ ค่าเสื่อมราคา กำไรหรือขาดทุนจากการจำหน่ายสินทรัพย์ นอกจากนี้ ยังต้องปรับกระทบด้วยผลจากการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์หมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมดำเนินงานของกิจการ รวมถึงการจ่ายดอกเบี้ยจ่ายและการจ่ายภาษีเงินได้ของกิจการ(อารีย์ ทิศาวิภาต,2555)
ประโยชน์ของงบกระแสเงินสด
งบกระแสเงินสดเมื่อใช้ประกอบกับส่วนที่เหลือของงบการเงิน จะให้ข้อมูลที่ทำให้ผู้ใช้ งบการเงินสามารถประเมินการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์สุทธิของกิจการ โครงสร้างทางการเงินของกิจการ (ซึ่งรวมถึงสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้) และความสามารถ ของกิจการในการจัดการเกี่ยวกับจำนวนเงินและจังหวะเวลาของกระแสเงินสดเพื่อปรับให้เข้ากับ การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์และโอกาส ข้อมูลกระแสเงินสดให้ประโยชน์ในการประเมินความสามารถของกิจการในการก่อให้เกิดเงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสด และทำให้ผู้ใช้ งบการเงินสามารถนำไปสร้างแบบจำลองเพื่อประเมินและเปรียบเทียบมูลค่าปัจจุบันของ กระแสเงินสดในอนาคตของกิจการที่ต่างกัน รวมทั้งช่วยเพิ่มความสามารถในการเปรียบเทียบกันได้ของผลการดำเนินงานที่รายงานโดยกิจการที่แตกต่างกันได้ เนื่องจากได้ตัดผลกระทบที่เกิดจากการใช้วิธีปฏิบัติทางบัญชีที่แตกต่างกันสำหรับรายการและเหตุการณ์ที่เหมือนกันออกไปแล้ว ข้อมูลในอดีตของกระแสเงินสด มักใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงจำนวนเงิน จังหวะเวลา และความแน่นอนของกระแสเงินสดในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ในการใช้ตรวจสอบความถูกต้องของการประเมินกระแสเงินสดในอนาคตที่ได้จัดทำในอดีต และใช้ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถ ในการทำกำไร และกระแสเงินสดสุทธิ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในระดับราคา(สภาวิชาชีพบัญชี,2564)
ข้อมูลที่ปรากฏในงบกระแสเงินสด จะเป็นข้อมูลสำคัญที่ผู้ใช้งบการเงินสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้
1. เพื่อให้ผู้บริหารงานสามารถวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตเกี่ยวกับเงินสด
2. เพื่อให้ผู้บริหารทราบถึงสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ
3. เพื่อให้ผู้บริหารใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนงานในอนาคต เนื่องจากงบกระแสเงินสดจะแสดงให้ทราบถึงที่มาที่ไปของเงินสดว่า กิจการได้รับเงินสดจากแหล่งใดบ้างเป็นจำนวนเท่าใด
4. เพื่อให้ผู้บริหารงานสามารถวางแผนการใช้จ่ายเงินของกิจการ เช่น การจ่ายชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ธนาคาร หรือการจ่ายเงินปันผล
5. เพื่อให้ผู้บริหารงานทราบถึงความเพียงพอของเงินสดว่ามีพอแก่ความต้องการของกิจการหรือไม่
6. เพื่อให้ผู้บริหารทราบถึงความสามารถในการทำกำไรของกิจการ ทำให้กิจการสามารถนำกำไรดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานของกิจการอื่นในธุรกิจเดียวกัน
7. เพื่อให้ผู้บริหารทราบถึงการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางการเงินของธุรกิจ
8. เพื่อให้ผู้บริหารทราบถึงการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์สุทธิ
9. เพื่อให้ผู้บริหารทราบถึงความแตกต่างของกำไรสุทธิตามเกณฑ์เงินสด กับกำไรสุทธิตามเกณฑ์คงค้าง(อารีย์ ทิศาวิภาต,2555)
ผลงานวิจัย
จตุรพร กาญจนบุตร ( 2557) ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมลงทุน และกิจกรรมจัดหาเงินกับกำไร (ขาดทุน) สุทธิของธุรกิจสื่อสารไร้สายพบว่าจากกาวิเคราะห์โดยใช้อัตราส่วนจากงบกระแสเงินสดแล้วกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน และกระแสเงินสดสุทธิแสดงผลการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันกับ กำไร (ขาดทุน) สุทธิของกิจการ แต่กระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมลงทุน และกิจกรรมจัดหาเงินนั้นแสดงผลการดำเนินงานไปในทิศทางตรงกันข้ามกับกำไร (ขาดทุน) สุทธิของกิจการ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากกำไรสุทธิของกิจการเป็นกำไรที่เกิดจากการดำเนินงานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเมื่อกิจการมีกระแสเงินสดจากกิจการดำเนินงานเข้ามาจึงนำเอาเงินสดดังกล่าวไปจ่ายชำระหนี้สิน และเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นต่อไป
จินตนา โลหิตหาญ (2557) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินกับผลการดำเนินงานความสามารถในการทำกำไร และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในอนาคตของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่ากระแสเงินสดสุทธิจากการกู้ยืมเงินมีความสัมพันธ์กับผลการดำเนินงานและมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในอนาคต โดยมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันสำหรับกระแสเงินสดสุทธิจากการออกหุ้นทุนมีความสัมพันธ์กับผลการดำเนินงาน ความสามารถในการทำกำไรและมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในอนาคต โดยมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางตรงกันข้าม จากผลการศึกษาครั้งนี้ผู้ใช้งบการเงินสามารถที่จะนำผลการศึกษาที่ได้ใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์งบการเงินเพื่อทำให้การตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจเป็นไปอย่างมีหลักเกณฑ์และถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น
ทิพากร ศรีชัยธำรง,ชลกนก โฆษิตคณิน และ นิกข์นิภา บุญช่วย (2564) ศึกษาอิทธิพลของงบกระแสเงินสดต่อสภาพคล่องและความมั่งคั่งสูงสุดของธุรกิจ กรณีศึกษา: กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่างบกระแสเงินสดมีความสัมพันธ์กับสภาพคล่องและสภาพคล่องมีความสัมพันธ์กับความมั่งคั่งสูงสุดของธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรณีศึกษากลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม โดยงบกระแสเงินสด 3 กิจกรรม มีความสัมพันธ์ทั้งในทิศทางเดียวกัน และทิศทางตรงกันข้ามกับสภาพคล่อง นั่นคือ กระแสเงินสดที่เป็นบวกส่งผลต่อสภาพคล่องของกิจการได้ทั้งทิศทางที่ดีและไม่ดี ส่วนสภาพคล่องมีความสัมพันธ์ต่อความมั่งคั่งสูงสุด โดยมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับอัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็วและอัตราการหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ แต่ความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกับอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน อัตราการหมุนเวียนของลูกหนี้และระยะเวลาถั่วเฉลี่ยในการเรียกเก็บหนี้ นักลงทุนและผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจลงทุนอนุมัติสินเชื่อวางแผนการจัดการบริหารงานขององค์กร หรือวิเคราะห์ผลการดำเนินงานต่าง ๆ ได้
ยศวินกาญจน์ กอบกาญจนพฤติ และภัทรณัชชา โชติคุณากิตติ (2564) ศึกษาความเกี่ยวข้องของมูลค่าตามบัญชีกำไรทางบัญชีและ กระแส เงินสดจากการดำเนินงานในการอธิบายราคาหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนไทยในช่วงสถานการณ์ COVID-19สรุปได้ว่าการเกิดสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้ความเกี่ยวข้องในการอธิบายราคาหลักทรัพย์ของมูลค่าตามบัญชี กำไรทางบัญชี และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแตกต่างไปจากเดิม
สรุป
การบริหารกระแสเงินสดให้มีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ธุรกิจมีความมั่นคงมากขึ้น อยู่รอดได้ต่อไปในระยะยาว แม้จะมองเห็นตัวเลขที่บัญชีบริหารนำเสนอออกมาดูสวยหรูสักแค่ไหน แต่กระแสเงินสดกลับเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า แม้จะมองเห็นในบัญชีว่ามีกำไร แต่กลับไม่มีเงินสดหมุนเวียนให้จับต้องได้ ไม่มีเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่เข้ามาในแต่ละวันหรือแต่ละเดือน ทำให้ผู้ประกอบการหลายต่อหลายคนที่บริหารกิจการแบบผิดวิธี ต้องปิดกิจการกันไป นั่นก็เพราะการมองแค่ตัวเลขที่บันทึกเอาไว้ในงบการเงิน หรือในกำไรทางบัญชีอย่างเดียว เพราะบริษัทมีผลกำไร นั่นไม่ได้หมายถึงมีเงินสด แต่เป็นตัวเลขที่ผ่านการบันทึกเอาไว้ในรายการบัญชี ถ้ามองไม่เห็นตัวเงินจริง ๆ แล้วต้อง เตรียมรับมือความเสี่ยงที่กิจการจะอยู่ไม่รอดได้เพราะจะต้องมีเงินที่ต้องจ่ายให้กับพนักงาน เจ้าหนี้ หรือแม้กระทั่งการสั่งซื้อสินค้า ก็ทำให้กิจการหยุดชะงักเอาได้ กระแสเงินสดกับกำไรทางบัญชี และปัญหาขายดีแต่ไม่มีเงินสดนั้น มีสาเหตุมาจากอะไร การทำธุรกิจก็คือการผลิตเงินสด เป็นวงจรที่ต้องมีการวางแผนทางบัญชีให้มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างผลกำไรให้แก่ธุรกิจของตัวเอง สินค้าที่ถูกซื้อไป จะเปลี่ยนเป็นตัวเงินที่โอนเข้าไปยังบัญชีธนาคาร และถูกถอนออกมาเป็นเงินสด เป็นวงจรในลักษณะแบบนี้หมุนเวียนไปเรื่อย ๆ การได้มาของกระแสเงินสด อาจมาจาก การขายสินค้า, การขายทรัพย์สิน, การเก็บดอกเบี้ยจากลูกหนี้, การกู้ยืม และการเพิ่มทุน เป็นต้น ดังนั้นกระแสเงินสดก็คือ เงินสดที่หมุนเวียนเข้าออกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ๆ ที่มาจากการทำธุรกิจ การหมุนเวียนนี้มีความสำคัญกับการเติบโตของธุรกิจเป็นอย่างมาก เพราะหากมีเงินสดหมุนเวียนออกไป ก็ต้องดูว่าเมื่อไหร่จะมีเงินสดหมุนเวียนกลับเข้ามา ถ้าช้า ก็จะทำธุรกิจไม่ค่อยมีสภาพคล่อง เนื่องจากในระยะเวลาที่รอนั้น อาจมีค่าใช้จ่ายประจำวันที่ต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าสินค้า ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค ค่าดอกเบี้ย หรือค่าจ้างพนักงาน เป็นต้น
แม้ว่ากระแสเงินสดจะมีความสำคัญมากก็ตาม แต่เรื่องของการสร้างกำไรก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน กำไรทางบัญชีที่มาจากการวางระบบบัญชีให้มีประสิทธิภาพ แม้กำไรที่มองเห็นเป็นตัวเลขในรายการที่ถูกจดบันทึก จะจับต้องเป็นเงินสดในวันนี้ไม่ได้ แต่ถ้ามีการวางแผนจนธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ สร้างกำไรได้มากขึ้นในทุก ๆ ปีในระยะยาว ก็จะทำให้กิจการมีกระแสเงินสดที่ดีได้ ส่วนกิจการที่ไม่ค่อยมีกำไรทางบัญชีให้เห็นมากนัก แต่มีกระแสเงินสดที่ดี ก็จะช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้เหมือนกัน แต่เป็นการอยู่รอดในระยะสั้น ๆ เท่านั้น เพราะเงินสดที่มีในมือวันนึงอาจจะหมดไปเพราะมองไม่เห็นกำไร เงินสดค่อย ๆ ลดลง จนในที่สุดกิจการก็ไม่มีเงินสำหรับค่าใช้จ่ายทางบัญชี เป็นวิกฤติทางการเงินที่กระทบต่อโครงสร้างของธุรกิจ จนอาจต้องปิดกิจการไปเลยถ้าหากยังไม่สามารถสร้างผลกำไรให้กลับมาได้เหมือนเดิม
สรุปโดยทั้งหมดที่กล่าวมานี้อาจเกิดขึ้นจากกำไรทางบัญชี ที่เป็นข้อมูลการจดบันทึก ทำให้ผู้ประกอบการวิเคราะห์ระบบธุรกิจผิดพลาดไป ดังนั้นควรนำเอากระแสเงินสดมาวิเคราะห์ในการบริหารกิจการร่วมด้วยเพื่อจะได้วางแผนอนาคตของธุรกิจให้มีความมั่นคงมากกว่าในปัจจุบัน สำหรับผู้ประกอบการควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกำไรทางบัญชีและกระแสเงินสดของกิจการ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนให้กิจการมีสภาพคล่องที่ดีต่อไปในอนาคต
ข้อเสนอแนะ
1. เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร นักลงทุน ในการตัดสินใจการลงทุน การบริหารการเงินของกิจการ และตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจของกิจการ และควรวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลในด้านอื่น เช่น สภาวะสังคม การเมือง สภาพเศรษฐกิจ การแข่งขันภายในอุตสาหกรรม วัฏจักรของธุรกิจ เป็นต้น
2. เพื่อเป็นประโยชน์ต่อนักวิเคราะห์ ผู้บริหาร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำการประเมินประสิทธิภาพการบริหารงานหรือแนวโน้มการดำเนินงานของกิจการ เพื่อไปวางแผนการปฏิบัติงาน หรือกำหนดกลยุทธ์ในการบริหารงานให้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด
3. ควรมีการกระตุ้นให้นักบัญชีที่และผู้ประกอบใช้ข้อมูลในงบกระแสเงินสดให้มากขึ้น เนื่องจากนักบัญชีและผู้ประกอบจะให้ความสำคัญกับกำไรสุทธิทางบัญชีมากกว่างบกระแสเงินสด และหากพบว่ากระแสเงินสดเริ่มมีปัญหา ผู้บริหาร ผู้ประกอบการจะทราบถึงสัญญาณเตือนภัยที่บ่งขี้ว่าปัญหาทางด้านกระแสเงินสดกำลังจะเกิดขึ้น
บรรณานุกรม
การจัดการความรู้คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(2558) งบกระแสเงินสดมีความสำคัญต่อ ผู้บริหารในการตัดสินใจ.สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2564 ,จากเว็บไซต์ : http://km.bus.ubu.ac.th/?p=2127
จตุรพร กาญจนบุตร.( 2557).ความสัมพันธ์ระหว่างกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงานกิจกรรม ลงทุนและกิจกรรมจัดหาเงินกับกำไร(ขาดทุน)สุทธิของธุรกิจสื่อสารไร้สาย.การค้นคว้าอิสระ ปริญญาบัญชีมหาบัณฑิต.มหาวิทยาลัยศรีปทุม.สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2564 ,จากเว็บไซต์: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/5205
จินตนา โลหิตหาญ.(2557). ความสัมพันธ์ระหว่างกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินกับผลการ ดำเนินงาน ความสามารถในการทำกำไรและมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในอนาคตของ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.การค้นคว้าอิสระปริญญาบัญชี มหาบัณฑิต.มหาวิทยาลัยศรีปทุม.สืบค้น เมื่อ 24 กรกฎาคม 2564 ,จากเว็บไซต์ :http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/5204
ทิพากร ศรีชัยธำรง,ชลกนก โฆษิตคณิน และ นิกข์นิภา บุญช่วย.(2564).อิทธิพลของงบกระแสเงินสดต่อ สภาพคล่องและความมั่งคั่งสูงสุดของธุรกิจกรณีศึกษา: กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมในตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.วารสารศิลปการจัดการ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (มกราคม - เมษายน 2564) หน้า 87-102.สืบค้นเมือ 24 กรกฎาคม 2564 ,จากเว็บไซต์ :https://so02.tcithaijo.org/index.php/jam/article/view/246680/167592
ยศวินกาญจน์ กอบกาญจนพฤติ และภัทรณัชชา โชติคุณากิตติ. (2564). ความเกี่ยวข้องของมูลค่าตาม บัญชีกำไรทางบัญชีและ กระแส เงินสดจากการดำเนินงานในการอธิบายราคาหลักทรัพย์ของ บริษัทจดทะเบียนไทยในช่วงสถานการณ์ COVID-19. Rajapark Journal, 15(40), 79-95. https://so05.tcithaijo.org/index.php/RJPJ/article/view/250314/170302
สกอลาร์ แอคเคาท์ติ้ง.(2563).กำไรทางบัญชีกับกระแสเงินสดของกิจการ ขายดีแต่ไม่มีเงินสด.สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2564 ,จากเว็บไซต์ : https://scholaraccounting.com/กำไรทางบัญชีกับกระแส เงินสด/
สภาวิชาชีพบัญชี.(2564).เรื่อง มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ ๗ เรื่อง งบกระแสเงินสด.สืบค้นเมือ 24 กรกฎาคม 2564 ,จากเว็บไซต์: https://acpro-std.tfac.or.th/standard/42 /ฉบับปรับปรุงปี- 2564-ปีหน้าและอนาคต
อารีย์ ทิศาวิภาต.(2555). งบกระแสเงินสดง่ายนิดเดียวStatement of Cash Flow. วารสารนัก บริหารปีที่ 32 ฉบับที่ 1 (ม.ค.-มี.ค.2555) หน้า 43-50.สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2564 ,จาก เว็บไซต์ https://www.bu.ac.th/knowledgecenter/executive_journal /jan_mar_12/pdf/aw07.pdf