สมรรถนะของผู้ปฏิบัติงานด้านบัญชีภาครัฐ
15
Mar
วิไลรัตน์ เพ็ชรหึง
ข้าราชการ (ครู) คศ.2
วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต
สมรรถนะของผู้ปฏิบัติงานด้านบัญชีภาครัฐ
สมรรถนะ คือ พฤติกรรมในการทำงานของแต่ละบุคคลที่แสดงออกมาในรูปแบบของความรู้ ความสามารถที่จะทำให้องค์กรหรือหน่วยงานนั้นบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ สมรรถนะของผู้ปฏิบัติงานด้านบัญชี คือพฤติกรรมในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานด้านบัญชี ที่แสดงออกมาในรูปแบบของความรู้ ความสามารถในวิชาชีพบัญชี ที่สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดไว้ อีกทั้งลักษณะเฉพาะบุคคลที่ส่งเสริมความรู้ ความสามารถเพื่อเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงาน รวมถึงความสามารถในการใช้ชีวิตและการทำงานร่วมกับผู้อี่นได้โดยปราศจาคเงื่อนไข เพื่อส่งเสริมให้องค์กรหรือหน่วยงานนั้นประสบความสำเร็จ และบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ สมรรถนะของผู้ปฏิบัติงานด้านบัญชีภาครัฐ คือพฤติกรรมในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานด้านบัญชีภาครัฐ ที่แสดงออกมาในรูปแบบของความรู้ ความสามารถในวิชาชีพบัญชี ที่สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ และเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานด้านบัญชีภาครัฐ โดยให้ส่วนราชการระดับหน่วยเบิกจ่ายประเมินผลการปฏิบัติงานด้านบัญชีของตนเอง เพื่อให้การประเมินผลการปฏิบัติงานด้านบัญชีภาครัฐ ในทุกปีงบประมาณของสถาบันการอาชีวศึกษา/สถานศึกษา/ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีวศึกษาทุกแห่งที่เป็นหน่วยเบิกจ่าย เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน อีกทั้งสอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินผลฯ ของกรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาที่กำหนดไว้ ข้าราชการ (ครู) คศ.2
วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต
สมรรถนะของผู้ปฏิบัติงานด้านบัญชีภาครัฐ
กรมบัญชีกลางได้กำหนดเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานด้านบัญชีมาอย่างต่อเนื่องเพื่อประสิทธิผลความสำเร็จในการจัดทำบัญชีของหน่วยงานทางด้านบัญชีการเงินและด้านบัญชีบริหาร ซึ่งประกอบด้วย 4 เรื่องคือความถูกต้อง ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และความมีประสิทธิผล โดยแนวทางการประเมินผลเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานมีการกำกับดูแลการจัดทำบัญชีและรายงานทางการเงินของหน่วยงาน ให้มีความครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน เพื่อให้ได้มาซึ่งรายงานทางการเงินที่มีคุณภาพ รวมถึงมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการบริหารทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการสะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อข้อมูลและการปฏิบัติงานด้านบัญชีของหน่วยงานเพื่อให้หน่วยงานสามารถนำผลการประเมินไปวิเคราะห์และเปรียบเทียบการปฎิบัติงานด้านบัญชีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (กรมบัญชีกลาง)
จากการปฏิรูประบบราชการภาครัฐที่เน้นผลงานและผลลัพธ์ โดยเริ่มนำระบบบัญชีเกณฑ์คงค้างมาใช้ปฏิบัติราชการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2546 (1 ตุลาคม2545) ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนการบันทึกรายการทางบัญชีเกณฑ์เงินสด (Cash Basis) มาเป็นเกณฑ์คงค้าง (Accrual Basis) โดยขยายวัตถุประสงค์ของการจัดทำบัญชี จากการควบคุมและติดตามการใช้งบประมาณมาเป็นการติดตามสถานะการเงินและการใช้ทรัพยากรในการดำเนินการ(ต้นทุนผลผลิต) เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามแนวคิดพื้นฐาน ในการแสดงต้นทุนที่แท้จริงในการดำเนินการ เพื่อบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ แสดงฐานะการเงินที่ถูกต้องครบถ้วน โดยงบการเงินสามารถแสดงทรัพยากร ภาระหนี้สิน และส่วนทุนรวมทั้งรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชี มีความเป็นสากล และโปร่งใสของข้อมูลทางบัญชี ได้ข้อมูลทางบัญชีที่มีคุณภาพเพื่อใช้วิเคราะห์วางแผนและประเมินผล เพื่อประกอบ การตัดสินใจของผู้บริหารทั้งในระดับหน่วยงานและระดับรัฐบาล หลังจากนั้นได้มีการดำเนินการตามระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ กรมบัญชีกลางได้ติดตามตรวจสอบรายงานการเงินของหน่วยงานระดับกรม ตามเกณฑ์คงค้างจากระบบ GFMIS โดยรวมข้อมูลทางบัญชีจากงบทดลองระดับหน่วยเบิกจ่ายภายใต้สังกัดของส่วนราชการระดับกรมพบว่า รายงานการเงินของส่วนราชการระดับกรมยังมีข้อคลาดเคลื่อน เป็นจำนวนมาก มีข้อผิดพลาดในการบันทึกบัญชีของส่วนราชการเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้รายงานการเงินของส่วนราชการระดับกรมที่จัดทำขึ้นจากระบบ GFMIS เกิดความผิดพลาดสะสมมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2548
จากเหตุการณ์ข้างต้นพบว่า ผู้ปฏิบัติงานด้านบัญชีภาครัฐจึงเป็นส่วนสำคัญในการบันทึกข้อมูลทางบัญชี ที่ส่งผลต่อรายงานทางการเงิน เป็นสาเหตุให้องค์กรหรือหน่วยงานไม่สามารถตัดสินใจในการบริหารจัดการได้ ดังนั้น สมรรถนะของผู้ปฏิบัติงานด้านบัญชีภาครัฐจึงเป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานด้านบัญชีควรมี นอกเหนือจากความรู้ และความสามารถในการปฏิบัติงานด้านบัญชีแล้ว ควรมีความรู้ความสามารถในด้านอื่นๆ ที่จำเป็นอีกด้วย เช่น การทำงานร่วมกับผู้อื่น การติดต่อประสานงาน การสื่อสาร การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงการมีกิจนิสัย มีระเบียบ ละเอียดรอบครอบ ซื่อสัตย์ มีวินัยและมีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพบัญชี เพื่อส่งเสริมให้องค์กรหรือหน่วยงานนั้นประสบความสำเร็จ และบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่ได้กำหนด