อาชีพของผู้ตรวจสอบ
15
Mar
ร.ต.หญิง ญาณิศา สมัครการ
นายทหารตรวจสอบภายใน สตน.ทบ.
สำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต
นายทหารตรวจสอบภายใน สตน.ทบ.
สำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต
อาชีพของผู้ตรวจสอบ
ในภาคส่วนของการดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาคเอกชนหรือภาคราชการ หนึ่งอาชีพที่ขาดไม่ได้คือ ผู้ตรวจสอบ ซึ่งผู้ตรวจสอบเป็นใคร แบ่งเป็นกี่ประเภท จะขออธิบายคร่าวๆ ดังนี้
1. ภาคราชการ จะแบ่งผู้ตรวจสอบออกเป็น 2 ประเภท คือ ผู้ตรวจสอบภายในและผู้ตรวจสอบภายนอก ซึ่งพอจะอธิบายได้ย่อๆ ดังนี้
1.1 ผู้ตรวจสอบภายในของส่วนราชการ คือบุคคลที่ส่วนราชการแต่งตั้งขึ้นให้มีหน้าที่เกี่ยวงานตรวจสอบภายใน เช่น สำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก (สตน.ทบ.)
1.2 ผู้ตรวจสอบภายนอก คือ หน่วยงานหรือองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบงานภาคของส่วนราชการ เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เป็นต้น
2. ภาคเอกชน ผู้ตรวจสอบบัญชีคือผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบงบการเงินของบริษัทให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านการเงินโดยผู้สอบบัญชี จะมีการแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
2.1 ผู้ตรวจสอบบัญชีภาษีอากร (TA : Tax Auditor) เป็นบุคคลที่ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรจากอธิบดีกรมสรรพากร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย สามารถทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาภาษีอากรได้ โดยผู้สอบบัญชีภาษีอากรสามารถตรวจสอบ และรับรองบัญชีเฉพาะห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็ก (ทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท สินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท และรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท) ซึ่งการมีผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะช่วยให้ผู้ประกอบการเสียภาษีได้ถูกต้อง และเหมาะสมมากขึ้น
2.2 ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA : Certified Public Accountant) ผู้เป็นที่ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพบัญชี ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพ พ.ศ.2547 มีสิทธิในการตรวจสอบและรับรองบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทุกขนาด ทุกประเภท (ยกเว้นงบการเงินที่ต้องใช้ผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ซึ่งสามารถรับรองได้แค่งบการเงินเท่านั้น)
2.3 ผู้สอบบัญชีตลาดทุน (List of Auditors Approved by the office of SEC) ผู้สอบบัญชีตลาดทุนเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด (ก.ล.ต.) สามารถตรวจสอบและรับรองบัญชีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทที่ขอยื่นเข้าจดทะเบียนในตลาดทุน (IPO), งบการเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, งบการเงินของกองทุนรวม ที่จัดการโดยผู้จัดการกองทุน และบริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย
2.4 ผู้ตรวจสอบภายใน (IA : Internal Auditors) ผู้ที่มีหน้าที่ให้ความเชื่อมั่นและ ให้คำปรึกษาอย่างเที่ยงธรรม และเป็นอิสระเพื่อช่วยให้องค์กร บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ เป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยให้ ผู้บริหารในการติดตามกระบวนการควบคุมภายในขององค์กร ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งเน้นให้ความสำคัญกับการตรวจสอบการดำเนินงาน การปฏิบัติตามกฎระเบียบ ไม่ใช่การตรวจสอบงบการเงินและบัญชี โดยมีหน้าที่ตรวจสอบหน่วยงานต่างๆ ภายในองค์กรและเสนอรายงานต่อผู้บริหารระดับสูง หรือคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อรายงานผลที่ถูกต้องตรงไปตรงมา และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงานขององค์กร
โดยอาชีพของผู้ตรวจสอบภายในใช่ว่าจะตรวจสอบเรื่องทั่ว ๆ ไป แต่ยังมีการตรวจสอบที่ลงลึกเพื่อให้ทราบถึงต้นตอของปัญหาและรู้ความเป็นมาของเรื่องราวต่างๆ ในองค์กรได้อย่างกระจ่าง ซึ่งการตรวจสอบจะมีทั้งหมดหลักๆ 6 เรื่องด้วยกัน
1. การตรวจสอบทางการเงิน: เป็นการตรวจสอบความถูกต้องเชื่อถือได้ของข้อมูลและตัวเลขต่างๆ ทางการเงิน การบัญชี และรายงานทางการเงิน
2. การตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อกำหนด: เป็นการตรวจสอบการปฏิบัติงานต่างๆ ขององค์กรว่าเป็นไปตามนโยบายกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่กำหนดทั้งจากภายนอกและภายในองค์กร
3. การตรวจสอบการดำเนินงาน: เป็นการตรวจสอบผลการดำเนินงานตามแผนงานและโครงการต่างๆ ขององค์กร เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย หรือมาตรฐานที่กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด โดยมีผลผลิตและผลลัพธ์เป็นไปตามที่วางแผนไว้
4. การตรวจสอบเทคโนโลยีสารสนเทศ: เป็นการตรวจสอบระบบคอมพิวเตอร์รวมถึงระบบที่ใช้เก็บข้อมูล ประมวลข้อมูล ใช้ติดต่อสื่อสารภายในองค์กรว่ามีประสิทธิภาพที่ดีพอหรือไม่ หากไม่ต้องแก้ไขปรับปรุง ให้ระบบมีความเสถียรและเก็บข้อมูลได้อย่างปลอดภัยมากที่สุด
5. การตรวจสอบการบริหาร: เป็นการตรวจสอบการบริหารงานด้านต่าง ๆ ขององค์กร ว่ามีระบบการบริหารจัดการเกี่ยวกับการวางแผน การควบคุม ประเมินผล เกี่ยวกับการงบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน รวมทั้งการบริหารงานด้านต่างๆ ว่าเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับภารกิจขององค์กรมากน้อยเพียงใด
6. การตรวจสอบพิเศษ: เป็นการตรวจสอบในกรณีพิเศษจากผู้บริหารหรือกรณีที่มีการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริต ซึ่งผู้ตรวจสอบภายในจะดำเนินการตรวจสอบเพื่อค้นหาสาเหตุ ข้อเท็จจริง พร้อมทั้งเสนอแนะมาตรการป้องกัน