ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับการบริจาคตามหลักภาษีเพื่อการลดหย่อน

UploadImage
 
UploadImage
 
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับการบริจาคตามหลักภาษีเพื่อการลดหย่อน
Personal Income Tax and Tax-Deductible Donations
 
นัทวตรา ปัณชนาธรณ์
NATWATRA PHUNCHANATHORN
nokcan@gmail.com
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม


บทคัดย่อ
          การศีึกษาเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับการบริจาคตามหลักภาษีเพื่อการลดหย่อนมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการหักลดหย่อนเกี่ยวกับการบริจาคของเงินได้บุคคลธรรมดาในการบรรเทาภาระทางภาษี การวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ โดยทำการศึกษาจากกฎหมายรัษฎากรที่เกี่ยวข้อง ข้อกำหนด คำสั่งระเบียบ แนวปฏิบัติ รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับบุคคลธรรมดาเท่านั้น เนื่องจากในการคำนวนเงินได้บุคคลธรรมดา การบริจาคถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ ช่วยลดภาระทางภาษีทั้งยังช่วยสนับสนุนและตอบแทนสังคมอันเป็นหน้าที่ของประชาชนที่มีต่อประเทศ จากการศึกษาพบว่า ผู้มีเงินได้ควรวางแผนการบริจาคโดยศึกษา ข้อกำหนดค่าลดหย่อนเกี่ยวกับบริจาคในปีภาษีนั้นๆจากประกาศของกรมสรรพากรเพราะมีการปรับปรุงทุกปี เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด อีกประเด็นหนึ่ง หลักฐานเอกสารจากเงินบริจาคจากระบบ e-Donation เป็นหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้และยากแก่การปลอมแปลง อันนำไปสู่การนำข้อมูลไปลดหย่อนภาษีได้อย่างถูกต้อง ซึ่งทำให้จ่ายภาษีได้ถูกต้องหรือได้รับเงินคืนภาษีจากกรมสรรพากรอย่างรวดเร็ว รวมถือเป็นการลดภาระการตรวจสอบภาษีของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของกรมสรรพากรอีกด้วย

คำสำคัญ : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, การลดหย่อน, การบริจาค

Abstract
          The study subject, Personal Income Tax and Tax-Deductible Donations, aims to study the tax benefits of deductions relating to personal income contributions to alleviate tax burdens. This research is a qualitative research study. By studying the relevant tax laws, regulations, orders, regulations, and guidelines, as well as analyzing various data related However, this applies only to normal people. Because in calculating the income of a normal person, donations are considered deductible expenses. It helps reduce tax burdens and also supports and gives back to society, which is the duty of the people to the country. The study found that income earners should plan their donations through deduction requirements regarding donations in that tax year from the Revenue Department's announcement because they are updated every year. To get the most tax benefits. The other point is document evidence from donations. The e-Donation system is evidence that can be verified and is difficult to forgery. Which leads to the use of information for tax deductions correctly. This makes it possible to pay taxes correctly or receive a tax refund from the Revenue Department quickly. It is considered to reduce the burden of tax audits by the Revenue Department's auditors as well.

Keywords: Personal Income Tax, Tax-Deduction, Donations

บทนำ
          รัฐบาลมีหน้าที่นำรายได้ที่ได้จากการจัดเก็บภาษีอากรจากประชาชนและนิติบุคคลมาใช้เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี และประชาชนมีหน้าที่ในการเป็นผู้รับภาระในการเสียภาษีให้แก่รัฐ นั่นคือ ประชาชนทำหน้าที่ในการเสียภาษีซ่ึงเป็นรายได้ของรัฐและรัฐมีหน้าที่นำเงินรายได้จากการจัดเก็บภาษีมาดำเนินนโยบายสาธารณะเพื่อให้บริการแก่ประชาชนรวมทั้บริการทางดา้นสาธารณสุขดว้ยเช่นกัน (จิรศักดิ์ รอดจันทร์, 2555)
          ประชาชนหรือบุคคลธรรมดาเมื่อมีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา40(1) – (8) ในปีภาษีถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดย่อมมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการ ที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ แต่ในบางกรณีเงินได้บางประเภทก็ได้รับการยกเว้นไม่ตอ้งเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น ยกเว้นโดยเหตุผลทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เป็นต้น นอกจากน้ีเพื่อให้ประชาชนผู้เสียภาษีต้องรับภาระภาษีตามหลักความสามารถ(วาสนา สุขสมัย, 2551) จึงนำไปสู่การกำหนดมาตรการและสิทธิประโยชน์ทางภาษีหลายรูปแบบ ได้แก่ การหักลดหย่อน การยกเว้นภาษี และการเครดิตภาษี
          สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยการจัดเก็บภาษีอากรจากการหักค่าลดหย่อนของผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินที่คำนวณจากเงินได้พึงประเมินนั้น โดยหลักแล้วกฎหมายกำหนดให้ผู้มีเงินได้พึงประเมินหักค่าใช้จ่ายออกจากเงินได้พึงประเมินที่ได้รับมาตลอดปีภาษีก่อน แล้วจึงหักค่าลดหย่อนเมื่อเหลือเท่าใดจึงถือเป็นเงินได้สุทธิที่จะนำมาคำนวณภาษีตามอัตราภาษี ซึ่งหนึ่งในค่าใช้จ่ายที่นำมาลดหย่อนได้คือ เงินบริจาคตามรายชื่อองค์กรต่างๆที่สรรพากรกำหนดเท่านั้น
          ดังนั้นการศึกษาสิทธิประโยชน์จากการบริจาค เพื่อนำมาหักลดหย่อนภาษีให้ถูกต้องและครบถ้วนเพื่อให้ได้รับประโยชน์ทางภาษีสูงสุด

 วัตถุประสงค์
          ศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการหักลดหย่อนเกี่ยวกับการบริจาคของเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อเป็นการบรรเทาภาระทางภาษี

การลดหย่อนภาษีและการบริจาค
ค่าลดหย่อน
          หมายถึงจำนวนเงินที่กฎหมายกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานำไปหักออกจากเงินได้พึงประเมินที่หักด้วยค่าใช้จ่ายแล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีของผู้มีเงินได้ดังกล่าวซึ่งโดยปกติแล้วค่าลดหย่อนจะไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับเงินได้พึงประเมินแต่จะมีความสัมพันธ์กับสถานภาพของผู้มีเงินได้หรือพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างปีภาษีของผู้มีเงินได้การหักค่าลดหย่อนที่กฎหมายยอมให้นำไปหักออกจากเงินได้พึงประเมินหลักจากหักค่าใช้จ่ายแล้วนั้นมิใช่ต้นทุนหรือเงินที่ต้องใช้ไปเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินได้พึงประเมินเหมือนค่าใช้จ่ายหากแต่มีความสัมพันธ์กับสถานภาพหรือพฤติการณ์ต่างๆ ของผู้มีเงินได้ในระหว่างปีภาษีเพื่อเป็นแนวทางในการบรรเทาภาระภาษีของผู้มีเงินได้อีกทางหนึ่งด้วย (งามพรต พรหมมานต,ภาณินี กิจพ่อค้า,ชนินาฏ ลีดส์, 2563)
การหักลดหย่อน
          การหักลดหย่อนภาษี หมายถึง รายการต่างๆ ที่กฎหมายได้กำหนดให้หักได้เพิ่มขึ้นหลังจากได้หักค่าใช้จ่ายแล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีก่อนนำเงินได้ที่เหลือ ซึ่งเรียกว่าเงินได้สุทธิไปคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ( สิริโฉม พรหมโฉม, 2557)
เงินบริจาค ตามมาตรา 47(7)
          การบริจาคเป็นถือเป็นการให้และการเสียสละที่สามารถช่วยเหลือสังคมไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนกิจการสาธารณกุศล สาธารณะประโยชน์ การศึกษา และการกีฬา (กรมสรรพากร,2564)
เงินบริจาคที่สามารถนำมาลดหย่อนทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
1.เงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

1.1 เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา
สิทธิประโยชน์ เงื่อนไข
2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่นก่อนหักลดหย่อนเงินบริจาค 1) จัดหาหรือจัดสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือที่ดินให้แก่สถานศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา
2) จัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึก แบบเรียน ตำรา หน้งสือทางวิชาการ สื่อและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์อื่นๆเกี่ยวข้องกับการศึกษา
3) จัดหาอาจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา หรือเป็นทุนการศึกษาการประดิษฐ์ การพัฒนา การค้นคว้าหรือวิจัย สำหรับนักเรียน นิสิตหรือนักศึกษาของสถาบันการศึกษา
4) มีรายชื่อสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด โดยตรวจสอบรายชื่อจากกรมสรรพากร  (2564, กรมสรรพากร)
5) ต้องบริจาคและบันทึกข้อมูลผ่านระบบ e-Donation เท่านั้น

          สำหรับรายจ่ายการบริจาคเพื่อการศึกษานั้นกรมสรรพากรมีการออกพระราชกฤษฎีกาให้หักเป็นรายจ่ายได้สองเท่ามาเป็นระยะ ๆ ในเดือนกันยายน 2563 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 713) พ.ศ. 2563 บัญญัติให้การบริจาคเพื่อการศึกษาของนิติบุคคลสามารถหักเป็นรายจ่ายได้สองเท่าสำหรับการบริจาคในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 และการบริจาคนั้นต้องบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็คทรอนิกส์ (e-Donation)

1.2 เงินบริจาคสนับสนุนการกีฬา 
สิทธิประโยชน์ เงื่อนไข
2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง
แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
1) เป็นการบริจาคเงินให้หน่วยงานด้านกีฬาที่สังกัดสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย
2) มีรายชื่อหน่วยงานด้านกีฬาโดยอ้างอิงจากเว็บไซต์กรมสรรพากร (2564, กรมสรรพากร)

1.3 เงินบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของรัฐ
สิทธิประโยชน์ เงื่อนไข
2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาแล้วต้องไม่เกิน10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว 1) เป็นการบริจาคให้สถานพยาบาลต่าง ๆ ของราชการ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา องค์การมหาชน หรือหน่วยงานต่าง ๆ
2) มีรายชื่อสถานพยาบาลของทางราชการโดยอ้างอิงจากเว็บไซต์กรมสรรพากร (2564, กรมสรรพากร)

1.4 เงินบริจาคเพื่อการพัฒนาสังคม
สิทธิประโยชน์ เงื่อนไข
2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง
แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
ยกตัวอย่าง :
1) กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้น
2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเด็กเล็ก  
3) โครงการฝึกอบรมอาชีพและการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู และสงเคราะห์เด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนหรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ในกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม 
4) กองทุนยุติธรรม
5) การจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน 

2.กลุ่มเงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง
2.1 เงินบริจาคทั่วไป
สิทธิประโยชน์ เงื่อนไข
ตามที่บริจาคจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่น 1) เป็นการบริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศล ให้แก่วัดวาอาราม มูลนิธิ สมาคม สถานสาธารณกุศล สถานสงเคราะห์ ฯลฯ
2) มีรายชื่อ สถานสงเคราะห์และองค์กรดังกล่าวโดยอ้างอิงจากเว็บไซต์กรมสรรพากร (2564, กรมสรรพากร)

2.2 เงินบริจาคให้พรรคการเมือง
สิทธิประโยชน์ เงื่อนไข
ตามจำนวนที่บริจาคจริง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 10,000 บาท 1) มีรายชื่อและรหัสพรรคการเมืองดยอ้างอิงจากเว็บไซต์กรมสรรพากร (2564, กรมสรรพากร)

การปลอมแปลงหลักฐานเงินบริจาคและแนวทางการปฏิบัติ
          เนื่องมาจากมีผู้ร้องเรียนผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ถึงใบอนุโมทนาบัตรของวัดถ้ำเขาวง จ.นครราชสีมา ที่ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ พศ.จึงลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยทางวัดยืนยันว่าออกใบอุโมทนาบัตรจริงและพร้อมที่จะแก้ไขให้กับผู้ร้องเรียน ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการร้องเรียนลักษณะดังกล่าวอีก นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผอ.พศ. จึงเห็นว่าควรนำเสนอมหาเถรสมาคม เพื่อขอความเห็นชอบกำหนดแนวปฏิบัติการออกใบอนุโมทนาบัตรว่าจะต้องมีการระบุข้อความอะไรบ้างเพื่อ ให้ใบอนุโมทนาบัตรมีความถูกต้อง นำไปลดหย่อนภาษีได้ และเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วประเทศ (ไทยรัฐออนไลน์,2563)
จากการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 20/2563 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 เลขาธิการมหาเถรสมาคม ด้วยมีพุทธศาสนิกชนบริจาคเงินให้กับวัดถ้ำเขาวง ตำบลหนองน้ำแดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และวัดได้ออกใบอนุโมทนาบัตรให้ตามจำนวนเงินที่วัดได้รับบริจาค ต่อมาผู้บริจาคได้นำใบอนุโมทนาบัตรไปแสดงต่อหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษี เพื่อขอลดหย่อนภาษี แต่ปรากฏว่า ผู้บริจาคไม่สามารถใช้หลักฐานการบริจาคที่เป็นใบอนุโมทนาบัตรไปหักลดหย่อนภาษีได้ จึงได้ร้องเรียนต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบว่าใบอนุโมทนาบัตรนั้น   วัดเป็นผู้ออกให้ผู้บริจาคจริงหรือไม่ เนื่องจากองค์ประกอบหรือสาระสำคัญที่ปรากฏในใบอนุโมทนาบัตรไม่ครบถ้วน เช่น ไม่มีลายมือชื่อเจ้าอาวาส มีแต่ตราประทับวัดอย่างเดียว หรือเจ้าอาวาสลงลายมือชื่อ แต่ไม่ประทับตราวัด (มหาเถรสมาคม,2563)
เห็นได้ว่าข้อมูลใบอนุโมทนาที่ผู้มีเงินได้นำไปลดหย่อนไม่มีการส่งข้อมูลไปกรมสรรพากรเพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ จึงทำให้เกิดประเด็นการปลอมแปลงขึ้น
ช่องทางการบริจาค e-Donation

          นอกจากการออกหลักฐานในรูปแบบกระดาษของหน่วยบริจาคแล้ว กรมสรรพากรเห็นความสำคัญของการหักลดหย่อนเงินบริจาค โดยอำนวยความสะดวกให้ผู้เสียภาษีซึ่งใจบุญ โดยพัฒนาระบบบริจาคอิเล็คโทรนิกส์ หรือ e-Donation โดยได้ออกประกาศกรมสรรพกร ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 กำหนดหลักเกณฑ์ ซึ่งบริจาคได้ 2 ช่องทาง (เพชรรัตน์ ศุภนิมิตรกุลกิจ, 2564)
          1. บริจาคด้วยเงินสด ผู้บริจาคต้องแจ้งให้หน่วยรับบริจาคบันทึกข้อมูลการบริจาค เช่น ชื่อ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี จำนวนเงินบนระบบ e-Donation  ทางเว็บไซด์ของกรมสรรพากร
          2. บริจาคผ่านธนาคารพาณิชย์โดยสแกน OR Code ผ่านMobile Banking ซึ่งจะปรากฎคำว่า“e-Donation ชื่อและเลขประจำตัวหน่วยรับบริจาค”และระบุจำนวนเงิน พร้อมแจ้งความประสงค์ให้ธนาคารส่งข้อมูลบริจาคให้สรรพากร
          จะเห็นได้ว่าช่องทางการบริจาค e-Donation สะดวกรวดเร็วและข้อมูลถูกต้องตามหลักการของสรรพากร เมื่อการบริจาคโดยไม่มุ่งหวังสิ่งตอบแทนของผู้ให้ นอกจากจะนำความสุขมาสู่ทั้งผู้ให้และผู้รับแล้ว ข้อดีของการบริจาคนั้น เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างหนึ่งในการลดหย่อนภาษี ซึ่งช่วยทำให้เราเสียภาษีน้อยลงและอาจช่วยให้เราได้รับเงินคืนภาษีมากขึ้นอีก

สรุป
          สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฎหมายกำหนดให้ผู้มีเงินได้สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้หนึ่งในนั้นคือเงินบริจาค และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการตอบแทนสังคมซึ่งเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของคนไทยอีกด้วย ผู้มีเงินได้พึงประเมินควรวางแผนบริจาคดังนี้
  1. ศึกษาข้อกำหนดกฎหมาย ข้อหารือ และอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและสามารถนำไปคำนวณได้ตรงตามปีภาษี
  2. รูปแบบใบอนุโมทนาบัตรที่มีสิทธินำไปหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณเงินได้นั้น จากประกาศกระทรวงการคลังมิได้มีการกำหนดตัวอย่างรูปแบบของใบอนุโมทนาบัตรไว้  แต่ควรมีข้อความ ดังต่อไปนี้ (มาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร)                  1. เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออกใบรับ
              2. ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ออกใบรับ
              3. เลขลำดับของเล่มและของใบรับ
              4. วัน เดือน ปีที่ออกใบรับ
              5. จำนวนเงินที่รับ
  1. e-Donation ถือเป็นช่องทางการบริจาคที่สะดวกและถูกต้องแน่นอนเนื่องจากมีระบบที่ชัดเจนในการนำข้อมูลไปลดหย่อนภาษี

ข้อเสนอแนะ
          ข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งนี้ ขอเสนอให้ออกกฎหมายให้ผู้รับบริจาคออกหลักฐานผ่าน e-Donation ทั้งหมดเพื่อความชัดเจนและถูกต้องในการคำนวนภาษี ลดความเข้าใจผิดของผู้มีเงินได้และลดภาระการตรวจสอบการปลอมแปลงเอกสาร

บรรณานุกรม
จิรศักดิ์ รอดจันทร์. (2555). ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หลักการและบทวิเคราะห์. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 4.
วาสนา สุขสมัย. (2551). การนำระบบเครดติภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาใช้แทนระบบการหักลดหย่อน.วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต,คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. หน้า 22.
Phommanod, N., Kitpoka, P., & Leeds, C. (2020). ภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา ศึกษา กรณี การ หัก ลดหย่อน ภาษี ของ สามี และ ภรรยา. Journal of Thai Justice System, 13(2), 79-92.
กรมสรรพากร. (2564). ผลการจัดเก็บภาษีสรรพากร, สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์:https://www.rd.go.th/310.html
___________. (2564). การบริจาคกับสิทธิประโยชน์ทางภาษี, สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: http://download.rd.go.th/fileadmin/download/insight_pasi/charich.pdf
___________. (2564). รายชื่อสถานศึกษาที่สามารถหักลดหย่อนเงินบริจาคให้ 1 ได้ 2, สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: https://www.rd.go.th/28654.html
___________. (2564). รายชื่อหน่วยงานด้านกีฬาที่หักลดหย่อนเงินบริจาคได้ 2 เท่า, สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์:
https://www.rd.go.th/fileadmin/download/sportsociety_230364.pdf
___________. (2564). รายชื่อสถานพยาบาลของทางราชการ ที่ หักลดหย่อนเงินบริจาคได้ 2 เท่า, สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์:https://www.rd.go.th/27811.html
___________. (2564). รายชื่อสถานสงเคราะห์ สถานพักฟื้น บำบัดและฟื้นฟูเด็ก คนชรา คนพิการ ที่สามารถหักลดหย่อนเงินบริจาคได้, สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: https://www.rd.go.th/36170.html
___________. (2564). ตรวจสอบรายชื่อ มูลนิธิ สมาคม สถานสาธารณกุศลที่ผู้มีเงินได้มีสิทธิขอหักลดหย่อนเงินบริจาค, สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: https://www.rd.go.th/29157.html
___________. (2564). รายชื่อและรหัสพรรคการเมือง, สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: http://download.rd.go.th/fileadmin/download/partylist150163.pdf
___________. (2564). มาตรา 47(7), สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: https://www.rd.go.th/5937.html#mata47
___________. (2564).มาตรา 105 หน้าที่ออกใบรับ, สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: https://www.rd.go.th/5203.html#mata105
สิริโฉม พรหมโฉม (2557). ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาฐานใหม่. จุลนิติ, เกร็ดกฎหมายน่ารู้. ฉบับ มี.ค.-เม.ย.หน้า 143.
เพชรรัตน์ ศุภนิมิตรกุลกิจ (2564). สรุปภาษีออนไลน์สำหรับผู้ประกอการ. วารสารธรรมนิติ. ฉบับเมษายน 2021  หน้า14.
ไทยรัฐออนไลน์ (2653). มหาเถรสมาคมไฟเขียวแนวปฏิบัติออกใบอนุโมทนาบัตร, สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: https://www.thairath.co.th/news/local/1927847
มหาเถรสมาคม. (2563). มติมหาเถรสมาคม, สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์:  http://mahathera.onab.go.th/index.php?url=mati&id=9873