เปลี่ยนความสูญเปล่าในองค์กร สู่คุณค่า ด้วยแนวคิด Lean
15
Mar
วริยา ยอดปั๋น
นักวิชาการตรวจสอบบัญชีปฏิบัติการ
สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์เชียงราย
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต
เปลี่ยนความสูญเปล่าในองค์กร สู่คุณค่า ด้วยแนวคิด Lean
Lean หรือระบบลีน เป็นการปรับการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการลดกระบวนการทำงานที่ไม่สร้างมูลค่า พร้อมความสามารถในการปรับตัวเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) หรือกล่าวได้คือระบบลีนนั้นเกี่ยวกับการลดความสูญเปล่า (Waste) ในกระบวนการผลิตหรือกระบวนการทำงาน ซึ่งส่งผลต่อการลดต้นทุน ทำให้ผลกำไรหรือเกิดผลประโยชน์เพิ่มขึ้น
ความสูญเปล่า 8 ประการ
โดย เจฟฟรีย์ ไลเคอร์ (Jeffrey Liker) ได้พูดถึงความสูญเปล่า 8 ประการ หรือ “DOWNTIME” ซึ่งมีความหมายว่า “การเสียเวลาเปล่า” ในหนังสือ Toyota Way ประกอบไปด้วย
1. Defect
2. Overproduction
3. Waiting
4. Non-utilized Talent
5. Transportation
6. Inventory
7. Motion
8. Excess Processing
องค์ประกอบของระบบการบริหารแบบลีน (Lean Management System : LMS)
เป็นการบริหารองค์กรใน 4 ด้านให้เปลี่ยนเป็นการทำงานที่เต็มไปด้วยคุณค่า ปราศจากสิ่งที่องค์กรไม่ได้ประโยชน์ องค์ประกอบดังกล่าวประกอบด้วย
1. การบริหารผลสำเร็จขององค์กร (Performance management) เพื่อให้องค์กรมีผลผลิตที่มีคุณค่าผ่านการจัดการที่ปราศจากความสูญเปล่าในทุกกระบวนการการดำเนินงาน โดยเริ่มจากการสร้างคุณค่า (Value) ให้กับผลผลิตหรือบริการขององค์กรที่ตรงกับความต้องการและสร้างความพึ่งพอใจให้แก่ผู้รับบริการหรือลูกค้า ซึ่งกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิผลเกิดจากการจัดการสายธารแห่งคุณค่า (Value steam management) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลผลิตและบริการ จัดระบบหรือกระบวนการทำงานให้มีความไหลลื่น (Flow) ในทุก ๆ กิจกรรมในองค์กร เน้นการทำงานภายใต้ระบบงานที่ต่อเนื่อง และเชื่อมโยงกันตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุดลดความสูญเปล่าที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งออกแบบระบบที่เรียกว่า “ระบบการดึง (Pull system)” โดยองค์กรมีการผลิตผลผลิตที่มีความพอดีทั้งปริมาณและคุณภาพได้อย่างทันเวลาและสิ่งสำคัญ คือการสร้างความสมบูรณ์แบบ (Pursuit of perfection) ให้กับผลผลิตขององค์กรที่ต้องผลิตและให้บริการสิ่งที่ตรงกับความต้องการของผู้รับบริการ และพัฒนาคุณค่าใหม่ที่เป็นกระบวนการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
2. การบริหารสินทรัพย์ที่องค์กรมีอยู่ (Asset Management) เป็นการมุ่งมั่นที่จะเพิ่มคุณค่าของสินทรัพย์ขององค์กรให้ได้มากที่สุด ภายใต้ต้นทุนที่น้อยที่สุด โดยการลดความเสี่ยง มุ่งเน้นการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง
3. การบริหารทรัพยากรขององค์กร (Re-source Management) ปฏิบัติการตามแนวคิด การซ่อมบำรุงกระบวนการผลิต เพิ่มความน่าเชื่อถือในกระบวนการซ่อมบำรุง และเพื่อกำจัดความสูญเปล่าให้ออกไปจากกระบวนการผลิตและดำเนินงานขององค์กร ด้วยการเน้นการจัดการคลังสินค้าแบบระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี หรือ Just – In –time หรือ JIT และระบบการบริหารเงินศูนย์ เป็นระบบที่เน้นการจัดการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยทำให้โครงการต่าง ๆ มีระบบการใช้จ่ายและจัดสรรงบประมาณให้ใกล้เคียงกับงบประมาณที่มี และให้มีงบประมาณคงเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์จากการใช้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรมากที่สุด
4. การบริหารความเสี่ยง (Risk management) ผลกระทบของการบริหารจัดการแบบลีน เป็นการลดความสูญเปล่าหรือกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ไม่ใช่การทำงานที่รวดเร็วแล้วมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสี่ยงหรือความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ดังนั้นองค์กรต้องมีการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงานเพื่อลดความสูญเสียในการไม่บรรลุเป้าหมายให้เหลือน้อยที่สุดและเพิ่มโอกาสแก่องค์กรมากที่สุด
ดังนั้นกล่าวได้คือองค์ประกอบหลักสำคัญในระบบการบริหารแบบลีน คือ แนวคิดในการสร้างคุณค่าให้กับองค์กรโดยใช้หลักการจัดการกระบวนการให้มีการไหลลื่นของงาน ปราศจากความสูญเปล่าในทุกกิจการ บริหารจัดการความเสี่ยงและสินทรัพย์ขององค์กรให้เกิดประโยชน์และคุณค่าสูงที่สุด
“ยุคปัจจุบันที่โลกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันสูง กระบวนการที่สิ้นเปลืองอาจหมายถึงการสูญเสียโอกาสในการพัฒนาองค์กร สูญเสียกำไรที่ควรจะเกิดขึ้น และคำว่า “ประสบความสำเร็จ” ก็จะไกลออกไป ดังนั้นระบบลีนจึงเป็นอีกหนึ่งระบบที่สามารถมาช่วยปัญหาให้องค์กรมีการบริหารจัดการที่ประสบความสำเร็จได้”