e-Tax ภาษีออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการ
10
Feb
มนัส หัสกุล
ครู แผนกวิชาการบัญชี
วิทยาลัยพณิชยการบางนา
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต
e-Tax ภาษีออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการ
กรมสรรพากรถือเป็นหน่วยงานรัฐแห่งแรกที่กำหนดทิศทางองค์กรเพื่อมุ่งสร้าง Digital RD ในปี 2563 อย่างแท้จริง เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ Thailand 4.0 และขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์ดีทู D2RIVE โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาปรับใช้กับกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยกรมสรรพากรได้มีกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้ประกอบการต่างประเทศที่ได้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นกฎหมายที่ได้ยกระดับมาตรฐานการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศไทยให้สอดคล้องกับนานาประเทศโดยระบบ e-Tax ต่างๆ ซึ่งเป็นระบบที่มีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย เพื่อให้การเสียภาษีมีความง่าย สะดวกและสร้างความสมัครใจในการเสียภาษี ซึ่งประกอบด้วย
e-Service การให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ เช่น การซื้อหรือดาวน์โหลดเกม เพลง หนัง สติ๊กเกอร์ จากผู้ประกอบการต่างประเทศไม่ว่าจะซื้อหรือดาวน์โหลดจากผู้ประกอบการในต่างประเทศโดยตรงหรือผ่านแพลตฟอร์มในต่างประเทศก็ตามผู้ประกอบการดังกล่าวมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากรผ่านระบบ Simplified VAT System for e-Service (SVE) ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฉบับที่ 53 พ.ศ 2554 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นไป
e-Withholding Tax การนำส่งเงินภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือเรียกว่าระบบ e- Withholding Tax เริ่มใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เป็นต้นมานั้น เป็นระบบที่อำนวยความสะดวก ลดอุปสรรคและปัญหาการจัดเก็บเอกสาร รวมทั้งลดต้นทุนของภาครัฐและภาคเอกชนในระยะยาว ซึ่งกรมสรรพากรได้ออกกฎหมายเพื่อรองรับระบบ e- Withholding Tax หลายฉบับทั้งกฎกระทรวงและประกาศอธิบดีกรมสรรพากรโดยสรุประบบดังกล่าวสามารถใช้ได้กับภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม
e-Stamp Duty กรมสรรพากรได้ยกระดับบริการการจัดทำระบบการชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียอากร ลดขั้นตอนการจัดทำเอกสารด้วยกระดาษ ประหยัดการเดินทางให้กับผู้ประกอบธุรกิจในการทำเอกสารและยังเป็นการส่งเสริมนโยบาย National e-Payment ของรัฐบาลอีกทางหนึ่งด้วย โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 58) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์
e-Donation กรมสรรพากรเห็นความสำคัญของการหักลดหย่อนเงินบริจาคของผู้มีเงินได้ โดยต้องการอำนวยความสะดวกให้ผู้เสียภาษีซึ่งเป็นผู้ใจบุญ ให้สามารถบริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม ซึ่งผู้บริจาคสามารถเข้าตรวจสอบรายชื่อและจำนวนเงินที่บริจาคผ่านระบบ My Tax Account ของกรมสรรพากร โดยไม่ต้องเก็บหลักฐานเอกสารหลักฐานการบริจาคอีกครั้งต่อไป ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าระบบ e-Donation เป็นระบบที่กรมสรรพากรได้พัฒนาขึ้นเพื่อให้ทันยุคทันสมัยกับเทคโนโลยี 4.0 โดยกรมสรรพากรได้ออกประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการขอเป็นหน่วยรับบริจาคและการใช้สิทธิ์ของผู้บริจาคผ่านระบบซึ่งผู้บริจาคไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลสามารถบริจาคผ่านระบบ e-Donation ได้ 2 ช่องทาง (1) บริจาคด้วยเงินสดหรือสิ่งของที่หน่วยรับบริจาคผู้ผู้บริจาคต้องแจ้งให้หน่วยรับบริจาคบันทึกข้อมูลการบริจาค (2) บริจาคผ่านธนาคารพาณิชย์โดยสแกน QR Code หรือ Barcode ผ่าน Mobile Banking
e-Tax Invoice & e-Receipt กรมสรรพากรได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อรองรับการจัดทำใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้และใบเสร็จรับเงิน ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Tax Invoice & e-Receipt ร่วมกับหน่วยงานของรัฐต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ ลดต้นทุนการจัดทำและส่งเอกสารในรูปแบบกระดาษ ลดพื้นที่การจัดเก็บเอกสารและสอดคล้องลักษณะการทำธุรกิจในปัจจุบัน ประโยชน์หรือข้อดีของการจัดทำเอกสารภาษีอากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มีมากมาย ซึ่งผู้ประกอบการในยุคดิจิทัลสามารถเลือกนำมาใช้แทนการจัดทำและจัดเก็บเอกสารภาษีอากรในรูปแบบกระดาษได้โดยถูกต้องตามกฎหมายและมีความปลอดภัยในการนำส่งและการเก็บรักษาข้อมูลตามมาตรฐานที่รัฐกำหนด