ระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์
10
Feb
ร.ต.หญิง พิมปภัค เล็กใจซื่อ
นายทหารบัญชี
กรมการเงินทหารบก
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต
ระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์
(Government Fiscal Management Information System) หรือ ระบบ GFMIS
จุดเริ่มต้นของระบบ GFMIS
เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานของภาครัฐให้มีความโปร่งใส รวดเร็ว และตรวจสอบได้คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบให้มีการออกแบบระบบการเงินการคลังแบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นลิขสิทธิ์ของรัฐบาล โดยมีหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้องและได้ร่วมออกแบบระบบ GFMIS ได้แก่ กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยให้ทุกส่วนราชการเริ่มใช้งานระบบ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2547 โดยระบบด้านปฏิบัติการจะใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SAP ทำรายการผ่านเครื่อง GFMIS Terminal โดยต้องอาศัยบัตร smart card ที่ติดตั้งให้ส่วนราชการ หรือ GFMIS Web Online โดยอาศัย TOKEN KEY สำหรับส่วนราชการที่ไม่ได้รับการจัดสรร GFMIS Terminal ให้ ในการบันทึกรายการเป็นแบบ Online Real Time สามารถตรวจสอบ ติดตามสถานะของข้อมูลและรายงานได้โดยไม่ต้องรอปิดบัญชี
ระบบ GFMIS จะแบ่งออกเป็น 5 ระบบงาน ดังนี้
1. ระบบบริหารงบประมาณ เป็นการรับข้อมูลการอนุมัติงบประมาณจากระบบ BIS ของสำนักงบประมาณแต่การเปลี่ยนแปลงหรือการจัดสรรเงินจะทำในระบบ GFMIS โดยข้อมูลดังกล่าวจะเชื่อมโยงกับระบบอื่น ๆ เช่น ระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ระบบเบิกจ่ายเงิน ระบบบัญชี เป็นต้น
2. ระบบจัดซื้อจัดจ้าง เป็นการบันทึกการจัดซื้อ จัดจ้าง โดยระบบจะเชื่อมโยงกับระบบงบประมาณ เพื่อตรวจสอบวงเงินงบประมาณ และเชื่อมโยงกับระบบสินทรัพย์ถาวรกรณีที่เป็นการจัดซื้อสินทรัพย์ถาวรมูลค่าตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป
3. ระบบการเงินและบัญชี ประกอบด้วย 5 ระบบย่อย คือ ระบบการเบิกจ่ายเงิน ระบบการรับและนำส่งเงิน ระบบบริหารเงินสด ระบบบัญชีแยกประเภท และระบบสินทรัพย์ถาวร
4. ระบบบัญชีต้นทุน เป็นระบบที่จะให้ข้อมูลเพื่อการบริหาร โดยหน่วยงานต้องกำหนดโครงสร้างภายในหน่วยงานเป็นศูนย์ต้นทุน ศูนย์กำไร งานหลัก งานสนับสนุน และกิจกรรม เพื่อรองรับข้อมูลในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่าย และกำหนดเกณฑ์การปันส่วนต้นทุน เพื่อใช้เป็นหลักในการปันส่วนต้นทุนให้แต่ละผลผลิตที่เกี่ยวข้อง
5. ระบบบริหารบุคคล เป็นระบบที่รับข้อมูลบุคลากรสำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยรับข้อมูลการเปลี่ยนแปลงข้าราชการ การฝึกอบรม และการปรับโครงสร้างองค์กรจากส่วนราชการ และรับข้อมูลเงินบัญชีถือจ่ายจากกรมบัญชีกลาง
ระบบใหม่ของ GFMIS ในปี 2564
ในปี พ.ศ. 2564 ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบปฏิบัติการใหม่ที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 โดยสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังร่วมกับกรมบัญชีกลาง โดยมีกำหนดให้ทุกหน่วยงานเข้าใช้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยระบบเก่ามีข้อจํากัดเรื่องของซอฟแวร์ สําเร็จรูป SAP B.3 Version 4.7 ทางสำนักปลัดกระทรวงการคลัง จึงมีนโยบายจัดหาระบบ New GFMIS Thai เพื่อให้มีประสิทธิภาพ รองรับระบบภายในอนาคต โดยใช้สถาปัตยกรรมระบบเปิด หรือ (Open System) เพื่อเป็นการทดแทนระบบเดิมที่ใช้งานอยู่ใน ซึ่งกรมบัญชีกลางเปิดให้หน่วยงานเข้าฝึกอบรมตามโครงการฝึกอบรมในระบบ New GFMIS Thai หลักสูตร “การใช้งานระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหาร (MIS) สำหรับส่วนราชการ” เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเปลี่ยนระบบ ในช่วงสิ้นปี พ.ศ. 2564 โดยแบ่งการเริ่มใช้งานระบบ เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 1 จำนวน 25 หน่วยงาน 408 หน่วยเบิกจ่าย และกลุ่มที่ 2 จำนวน 571 หน่วยงาน 7,782 หน่วยเบิกจ่าย
ประโยชน์ของการนำระบบ GFMIS มาใช้ในภาครัฐ
การนำระบบ GFMIS เข้ามาใช้ในหน่วยงานช่วยให้การทำงานมีข้อมูล Real Time ลดเอกสาร ลดระยะเวลาในการรับจ่ายเงิน ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ช่วยให้หน่วยงาน ลดภาระและความซ้ำซ้อน ในการจัดทำรายงานด้านงบประมาณ บัญชี การเงิน การคลัง การพัสดุ ประเภทต่างๆ ที่ต้องจัดทำส่งส่วนกลาง เนื่องจากส่วนกลางสามารถเรียกดูข้อมูลได้ทันที เป็น รายเดือน รายไตรมาส รายปี จากฐานข้อมูลกลางเดียวกัน จึงถือได้ว่าระบบ GFMIS เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสำหรับหน่วยงานภาครัฐ