สิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงิน
01
Feb
สิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงิน
Claims under the loan agreement
ร้อยเอกภาณุพงศ์ ชูชาติ
CAPTAIN PANUPONG CHOOCHAT
DAM_NAVYSEAL@HOTMAIL.COM
DAM_NAVYSEAL@HOTMAIL.COM
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
บทคัดย่อ
บทความนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ทราบถึงสิทธิ์ของการกู้ยืมเงินโดยมีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อที่จะดำเนินการในการกู้ยืมเงินให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีการกล่าวถึงรายละเอียดของการกู้ยืมเงิน ไปจนถึงขึ้นตอนในการกูยืมเงิน อีกทั้งยังมีการแนะนำและข้อควรระวังในการกู้ยืมเงิน เพื่อให้ผู้ที่ศึกษาค้นคว้ามีความรู้ความเข้าใจในรายละเอียดเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินมากยิ่งขึ้น
คำสำคัญ : สิทธิตามสัญญากู้เงิน, สัญญากู้ยืมเงิน, สิทธิของการทำสัญญากู้ยืมเงิน
Abstract
This article is intended to clarify the eligibility of borrowing money with a written contract. In order to proceed with the loan legally. The details of the loan are discussed. Until the stage of borrowing money. There are also recommendations and precautions for borrowing money. In order for those who researched to have a better understanding of the details of borrowing money
Keywords : right under the loan agreement, loan agreement, The right to enter into a loan agreement
บทนำ
สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นมูลเหตุแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างบุคคล นิติบุคคล สถาบันทางการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันทางการเงิน (Non-Bank) พบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากสัญญากู้ยืมเงินโดยส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงินในระบบสถาบันทางการเงินหรือการกู้ยืมเงินจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันทางการเงิน (Non-Bank) เนื่องจากการกู้ยืมเงินรูปแบบดังกล่าวมีหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ กระทรวงการคลังธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นหน่วยงานผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการกำกับดูแลผู้ประกอบกิจการกู้ยืมเงินในระบบ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากสัญญากู้ยืมเงินปรากฏในรูปแบบของการประกอบกิจการกู้ยืมเงินนอกระบบเนื่องจากไม่มีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการกำกับดูแลผู้ประกอบกิจการกู้ยืมเงินนอกระบบ จึงมีกลุ่มนายทุนที่มุ่งหวังผลประโยชน์จากการกู้ยืมเงินเกินสมควรและมีพฤติการณ์การทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งสามารถแยกสรุปประเภทของปัญหาที่เกิดขึ้นจากสัญญากู้ยืมเงิน ได้เป็น 2 กรณี ได้แก่
1. ปัญหาที่เกิดขึ้นจากสัญญากู้ยืมเงิน มีลักษณะเป็นการฉ้อฉลหรือเอารัดเอาเปรียบ ลูกหนี้ เช่น การลงลายมือชื่อของผู้กู้ลงในเอกสารเปล่า การปลอมหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ทั้งฉบับหรือบางส่วน การให้กู้ยืมเงินโดยคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย ที่สูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การรวมอัตราดอกเบี้ยที่เกินอัตรากว่าที่กฎหมายกำหนด เข้ากับเงินต้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย เป็นต้น
2. ปัญหาที่เกิดขึ้นจากวิธีปฏิบัติตามสัญญากู้ยืมเงิน มีลักษณะเป็นการไม่ปฏิบัติ ตามข้อตกลงในสัญญากู้ยืมเงิน หรือมีพฤติการณ์ในการติดตามทวงหนี้ที่มิชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นธรรม เช่น การส่งมอบเงินที่กู้ยืมไม่ตรงสัญญากู้ยืมเงิน ลูกหนี้ชำระหนี้ครบตามจำนวน แห่งการกู้ยืมเงินแล้ว แต่เจ้าหนี้ไม่เวนคืนเอกสารและแทงเพิกถอนในเอกสารสัญญากู้ยืมเงิน การติดตามทวงหนี้โดยมีลักษณะเป็นการข่มขู่ มีการใช้ความรุนแรงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายหรือทรัพย์สินของลูกหนี้ เป็นต้น
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ทราบถึงสิทธ์ของผู้ที่ทำสัญญากู้ยืมเงินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
2. เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับกระบวนการทำสัญญากู้ยืมเงิน
ความหมายของการกู้ยืมเงิน
การยืม เป็นสัญญาชนิดหนึ่ง ซึ่งมีคู่กรณีเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้ให้ยืม” และอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้ยืม”สัญญายืมนั้น เป็นสัญญาที่ผู้ให้ยืมส่งมอบหรือโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ยืมเพื่อใช้สอยทรัพย์สินนั้นและผู้ยืมก็ตกลงว่าจะส่งคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้วประเภทของสัญญายืม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.สัญญายืมใช้คงรูป และ 2.สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง ซึ่งการกู้ยืมเงินนั้นจัดอยู่ในประเภทของสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง คือ สัญญาที่ผู้ให้ยืมได้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้แก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิดและปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น และสัญญายืมนี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมดังนั้น การกู้ยืมเงินหรือสัญญากู้ยืมเงิน จึงเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง ที่ “ผู้กู้ยืม” ไปขอกู้ยืมเงินจากบุคคลหนึ่งซึ่งเรียกว่า “ผู้ให้กู้ยืม” โดยผู้กู้ยืมสัญญาหรือตกลงว่าจะใช้เงินคืนให้ภายในกำหนดเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งในการกู้ยืมเงินนี้จะมีการกำหนดดอกเบี้ยในการกู้ยืมด้วยหรือไม่ก็ได้ และสัญญากู้ยืมเงินจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้มีการส่งมอบเงินที่กู้ยืมกันแล้ว
หลักฐานการกู้ยืมเงิน แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
1. กรณีจำนวนเงินที่กู้ยืมกัน ไม่เกิน 2,000 บาท กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องทำหลักฐานการกู้ยืมต่อกัน ดังนั้น แม้ตกลงยืมเงินกันด้วยวาจา เมื่อเกิดการผิดข้อตกลงหรือผิดสัญญาก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามกฎหมาย
2. กรณีจำนวนเงินที่กู้ยืมกัน เกิน 2,000 บาทขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้การกู้ยืมเงินจะต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน มิเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีต่อกันไม่ได้
หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินนั้นจะอยู่ในรูปแบบใดก็ได้ แต่ต้องเป็นลายลักษณ์อักษร มีข้อความชัดแจ้ง ว่ามีการกู้ยืมเงินกันไปเป็นจำนวนเท่าใดและตกลงจะใช้คืนเมื่อใด และที่สำคัญคือต้องมีลายมือชื่อของผู้กู้ยืมเป็นสำคัญด้วยดังนั้น เนื้อความในเอกสารหลักฐานการกู้ยืมเงิน ต้องมีองค์ประกอบ ดังนี้
1. วันที่ที่ทำสัญญากู้เงิน
2. ชื่อ ผู้ขอกู้เงินและผู้ให้กู้เงิน
3. จำนวนเงินที่กู้
4. กำหนดชำระ (จะมีหรือไม่มีก็ได้)
5. ดอกเบี้ย (ไม่เกิน 15% ต่อปี) แต่ถ้าไม่ได้กำหนดเอาไว้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ได้ใช้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
6. ผู้กู้ยืมต้องลงลายมือชื่อ (กรณีลงลายพิมพ์นิ้วมือจะต้องมีพยานรับรองลายนิ้วมือ 2 คน)
ดอกเบี้ยกู้ยืมเงิน
ในการกู้ยืมเงินกฎหมายให้คิดดอกเบี้ยกันได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน กฎหมายได้กำหนดจำกัดอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินไว้คือ ให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี (คืออัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน) ยกเว้นกรณีเป็นสถาบันการเงินหรือธนาคาร กฎหมายให้อำนาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปีได้ แต่ต้องเป็นไปตามประกาศข้อกำหนดของธนาคารซึ่งมีกฎหมายรองรับ(พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน)
กรณีกำหนดดอกเบี้ยไว้เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีผลคือ
1. เป็นความผิดอาญาฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475
2. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมนั้นตกเป็นโมฆะทั้งหมด ฟ้องบังคับไม่ได้เลย (แต่เงินต้นยังคงสมบูรณ์)
3. ดอกเบี้ยที่ผู้กู้ยืมชำระไปแล้ว เรียกคืนไม่ได้ (ถือว่าชำระหนี้ตามอำเภอใจ) แม้ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจะตกเป็นโมฆะ แต่สำหรับดอกเบี้ยผิดนัด ผู้ให้กู้ยืมก็ยังคงบังคับได้
อายุความฟ้องคดีกู้ยืมเงิน
อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่นำมาใช้ในการดำเนินคดีกับลูกหนี้ของกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
ประเภทที่ 1 อายุความ 10 ปี (กรณีไม่เคยมีการผ่อนชำระคืนและฟ้องเต็มก้อน)
ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่เคยชำระเงินเป็นรายงวดคืนให้แก่กองทุนเลย อายุความที่จะนำมาใช้ในการดำเนินคดีกับลุกหนี้กรณีดังกล่าวนี้ คือ อายุความ 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดครั้งแรก (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30)
ประเภทที่ 2 อายุความ 5 ปี (กรณีมีการผ่อนชำระคืนเป็นรายงวด)
ในกรณีที่ลูกหนี้ชำระเงินคืนให้แก่กองทุนเป็นรายงวด อายุความที่จะนำมาใช้ในการดำเนินคดี กับลูกหนี้กรณีดังกล่าวนี้ คือ อายุความ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดครั้งแรก (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33)
ประเภทที่ 3 อายุความ 2 ปี (กรณีการชำระหนี้สะดุดหยุดลงหรือลูกหนี้ชำระหนี้ที่ขาดอายุความแล้ว)
(1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลป์อุตสาหกรรมหรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไปเว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง
(2) ผู้ประกอบเกษตรกรรมหรือการป่าไม้ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบอันเป็นผลิตผลทางเกษตรหรือป่าไม้เฉพาะที่ใช้สอยในบ้านเรือนของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง
(3) ผู้ขนส่งคนโดยสารหรือสิ่งของหรือผู้รับส่งข่าวสาร เรียกเอาค่าโดยสาร ค่าระวาง ค่าเช่า ค่าธรรมเนียมรวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(4) ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมหรือหอพัก ผู้ประกอบธุรกิจในการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม หรือผู้ประกอบธุรกิจสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการเรียกเอาค่าที่พักอาหารหรือเครื่องดื่ม ค่าบริการหรือค่าการงานที่ได้ทำให้แก่ผู้มาพักหรือใช้บริการรวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(5) ผู้ขายสลากกินแบ่ง สลากกินรวบ หรือสลากที่คล้ายคลึงกัน เรียกเอาค่าขายสลาก เว้นแต่เป็นการขายเพื่อการขายต่อ
(6) ผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์เรียกเอาค่าเช่า
(7) บุคคลซึ่งมิได้เข้าอยู่ในประเภทที่ระบุไว้ใน (1) แต่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำงานการต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(8) ลูกจ้างซึ่งรับใช้การงานส่วนบุคคล เรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นเพื่อการงานที่ทำ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือนายจ้างเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป
(9) ลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างรายวัน รวมทั้งผู้ฝึกหัดงาน เรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือนายจ้างเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป
(10) ครูสอนผู้ฝึกหัดงาน เรียกเอาค่าฝึกสอนและค่าใช้จ่ายอย่างอื่นตามที่ได้ตกลงกันไว้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(11) เจ้าของสถานศึกษาหรือสถานพยาบาล เรียกเอาค่าธรรมเนียมการเรียนและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ หรือค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอย่างอื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(12) ผู้รับคนไว้เพื่อการบำรุงเลี้ยงดูหรือฝึกสอน เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(13) ผู้รับเลี้ยงหรือฝึกสอนสัตว์ เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(14) ครูหรืออาจารย์ เรียกเอาค่าสอน
(15) ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม การพยาบาล การผดุงครรภ์ ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ หรือผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาอื่น เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
(16) ทนายความหรือผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย รวมทั้งพยานผู้เชี่ยวชาญเรียกเอาค่าการงานที่ทำให้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือคู่ความเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป
(17) ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ผู้สอบบัญชี หรือผู้ประกอบวิชาชีพอิสระอื่น เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือผู้ว่าจ้างให้ประกอบการงานดังกล่าวเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป
ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัด และทางกองทุนได้ส่งหนังสือเตือนแล้ว ภายหลังจากนั้นลูกหนี้ได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ชำระเงินคืนให้แก่กองทุน
- ทำหนังสือรับสภาพความรับผิดกับทางกองทุน(รับสภาพหนี้)
- ลูกหนี้ชำระหนี้ที่ขาดอายุความไปแล้วให้ทางกองทุน
หากลูกหนี้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง จะส่งผลให้อายุความดังกล่าวสะดุดหยุดลง และให้เริ่มนับอายุความใหม่นับตั้งแต่วันที่ลูกหนี้มาชำระหนี้ ทำหนังสือรับสภาพความรับผิดหรือชำระหนี้ที่ขาดอายุความแล้วแต่กรณี กรณีดังกล่าวนี้ให้นับอายุความต่อไปอีก 2 ปี (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 มาตรา 193/15 มาตรา 193/28 มาตรา 193/35)
หมายเหตุ โดยหลักทางกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน เป็นกองทุนที่อยู่ในเงื่อนไขของการผ่อนชำระเป็นรายงวด จึงอยู่ภายใต้อายุความ 5 ปี ทั้งนี้ อายุความอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้วให้พิจารณาเป็นรายๆ ไป
วิธีทำสัญญากู้เงิน
อย่างไรก็ตาม เพื่อลดความเสียงของการไม่ชำระหนี้ผู้ให้กู้ควรหาหลักประกันดังนี้- ประกันด้วยตัวบุคคล คือ มีผู้ค้ำประกัน การค้ำประกันคือการที่คนอื่นที่ไม่ใช่ผู้กู้ยอมเอาตนเข้าประกันหนี้เงินกู้ หากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ผู้ค้ำประกันจะยอมชำระหนี้แทน ผู้ให้กู้ก็สามารถเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ การทำสัญญาค้ำประกันนั้นก็ง่ายๆ แค่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันไว้ก็เพียงพอ
- ประกันด้วยทรัพย์ คือ จำนอง คือการประกันด้วยทรัพย์สินไม่ว่าทรัพย์สินของผู้จำนองหรือทรัพย์สินของผู้อื่น หากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ก็สามารถนำทรัพย์จำนองนั้นไปขายทอดตลาดเพื่อบังคับจำนองเอาเงินมาชำระหนี้กู้ยืมเงินได้ สำหรับสัญญาจำนองนั้นต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
- เมื่อครบกำหนดคืนเงินแล้วผู้กู้ไม่ยอมคืนเงินจะทำอย่างไร
เมื่อผู้กู้ไม่ยอมคืนเงินตามที่กำหนดไว้ผู้ให้กู้สามารถทวงถามได้โดยการบอกกล่าวทวงถาม (โดยทำเป็นหนังสือบอกกล่าวทวงถาม หรือตามภาษาที่ทนายเรียกกันติดปากว่า โนติส (Notice)) ให้ผู้กู้คืนเงินโดยการทำหนังสือบอกกล่าวทวงถามกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้ผู้กู้คืนเงิน เช่น ระยะเวลา 15วัน , 30 วัน หรือ 1 เดือน หากผู้กู้ไม่ยอมคืนย่อมถือว่าผิดนัดสามารถฟ้องคดีต่อเพื่อให้ศาลบังคับตามสัญญาต่อไป
ข้อแนะนำและข้อควรระวังเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน
1. ห้ามลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าเด็ดขาด
2. ก่อนลงลายมือชื่อในสัญญากู้ ต้องตรวจสอบจำนวนเงินที่ระบุในสัญญาให้ถูกต้องและครบถ้วนตามจำนวนเงินที่ได้รับไป และในสัญญาต้องเขียนจำนวนเงินเป็นตัวหนังสือกำกับไว้ด้วยเสมอ เช่น กู้ยืมเงินไปจำนวน 30,000 บาท (สามหมื่นบาทถ้วน)
3. อย่านำโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับการทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ส.3) ไปให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันการกู้ยืมเงิน
4. สัญญาต้องทำอย่างน้อย 2 ฉบับ โดยให้ผู้กู้ยืมถือไว้ด้วย 1 ฉบับ
5. ควรมีพยานฝ่ายผู้กู้ยืมลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาด้วยอย่างน้อย 1 คน
6. การชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ต้องขอรับใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการรับเงินซึ่งมีลายมือชื่อผู้ให้กู้ยืมลงกำกับด้วยทุกครั้ง (เพื่อไว้เป็นหลักฐานยืนยันว่าได้ชำระหนี้แล้ว)
7. เมื่อชำระหนี้ทั้งหมดต้องขอสัญญากู้คืนจากผู้ให้กู้ยืมด้วย
ข้อปฏิบัติในการชำระเงิน
เมื่อผู้กู้นำเงินไปชำระไม่ว่าจะเป็นการชำระทั้งหมดหรือบางส่วนก็ตามผู้กู้ควรทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ มิฉะนั้นจะอ้างยันผู้ให้กู้ว่าชำระเงินกู้ให้เขาคืนแล้วไม่ได้
สิ่งที่ผู้กู้ควรกระทำเมื่อชำระเงิน คือ
(๑) รับใบเสร็จเงินหรือหนังสือที่มีข้อความว่าได้ชำระเงินที่กู้มาแล้วทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนและมีลายเซ็นผู้ให้กู้กำกับไว้ด้วย
ตัวอย่าง ข้าพเจ้า นายสมศักดิ์ ร่ำรวยทรัพย์ ได้รับเงินคืนจาก นายดำ เกิดมาก ผู้กู้เป็นจำนวน ๕,๐๐๐ บาท
ลงชื่อ สมศักดิ์ ร่ำรวยทรัพย์ ผู้ให้กู้
๒๗ มิถุนายน ๒๕๓๐
(๒) รับหนังสือสัญญากู้เงินที่ได้ทำไว้แก่ผู้ให้กู้คืนมาในกรณีที่ชำระเงินครบตามจำนวนเงินที่กู้
(๓) มีการบันทึกลงในสัญญาก็ว่าได้นำเงินมาชำระแล้วเท่าไรและให้ผู้ให้กู้เซ็นชื่อกำกับไว้ ผู้ให้กู้ต้องเซ็นชื่อกำกับไว้ทุกครั้งที่มีการชำระเงินจึงจะอ้างยันได้ว่าได้ชำระเงินไปแล้ว
สรุป
การทำสัญญากู้ยืมเงินอย่างถูกต้องตามกฎหมายนอกจากจะให้เกิดความมั่นใจทั้ง 2 ฝ่าย ทั้ง ฝ่ายผู้กู้และฝ่ายผู้ให้กู้ ในรายละเอียดการกู้ยืมเงิน ทั้งจำนวนยอดเงินที่ต้องชำระทั้งหมด และยอดเงินที่ต้องชำระในแต่ละงวด รายละเอียดของดอกเบี้ยเงินกู้ ตลอดจนระยะเวลาในการผ่อนจ่าย ซึ่งทั้งหมดนี้ฝ่ายผู้ให้กู้และฝ่ายผู้กู้จะต้องตกลงกันถึงรายละเอียดที่ชัดเจน และทั้งนี้หากมีการผิดชำระ หรือ มีการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ผู้ที่เสียผลประโยชน์สามารถดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามสิทธิ์ที่ตนพึงได้รับต่อไป
ข้อเสนอนะ
1. ในการทำสัญญากู้ยืมเงินในแต่ละครั้ง ทั้งผู้ให้กู้ยืมและผู้กู้ยืม ควรศึกษาข้อกฎหมายและรายละเอียดของสัญญาให้ละเอียดเสียก่อน เพื่อมิให้เกิดข้อผิดพลาดในการทำสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งจะส่งผลให้ตัวของผู้ให้กู้ หรือ ผู้กู้ เสียสิทธิ์ที่ตนพึงได้รับ
2. ควรศึกษาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากมีการปรับปรุงและแก้ไขของข้อกฎหมาย เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ์ประโยชน์ของตนเอง
บรรณานุกรม
กรุงเทพมหานคร. (2564). กฎหมายที่ควรรู้ การยืมเงิน. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: http://www.bangkok.go.th/law/page/sub/3983/กฎหมายที่ควรรู้/2/info/81415/การกู้ยืมเงิน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. (2564). การกู้ยืมเงิน. สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: http://www.thailaws.com/aboutthailaw/knowing_law_001.htm
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. (2564). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30, 193/33, 193/34. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: http://www.cad.go.th/ewtadmin/ewt/cadweb_org/ewt_dl_link.php?nid=133
https://www.cad.go.th/ewtadmin/ewt/cadweb_org/ewt_dl_link.php?nid=133