การบริหารต้นทุนเชิงกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมการผลิต

UploadImage
 
UploadImage
 
การบริหารต้นทุนเชิงกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมการผลิต
Strategic Cost Management of the Manufacturing Industry
 
นางสาวณิชาภา เกตุอินทร์
MISS NICHAPHA KETIN
Puy.acc@hotmail.com
 
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม


บทคัดย่อ
          ปัจจุบันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบแก่ทุกภาคส่วนธุรกิจทำให้การดำเนินงานชะลอตัวลงจนถึงขั้นหยุดชะงัก บางองค์กรขาดทุนและต้องปิดกิจการในที่สุด ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างงาน ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบดังกล่าว จากสภาวการณ์นี้ทำให้เห็นถึงการที่องค์กรธุรกิจต่าง ๆ นำกลยุทธ์การบริหารต้นทุนในองค์กรมาปรับใช้เพื่อความอยู่รอดภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงในสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ดังนั้นการจัดองค์กรกับกลยุทธ์ทางต้นทุนสามารถนำมาปรับใช้กับองค์กรได้เพื่อที่จะนำพาองค์กรธุรกิจให้อยู่รอดโดยผู้บริหารต้องพิจารณากลยุทธ์การบริหารองค์กรในทุกด้านเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ซับซ้อนมากขึ้นทำให้องค์กรต้องมีระบบการควบคุมเชิงจัดการคือการใช้กลยุทธ์การบริหารต้นทุน โดยใช้แนวคิดด้านบัญชีต้นทุนการบริหาร โดยมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ บทบาทการตัดสินใจและบทบาทในการช่วยบริหารต้นทุนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการบริหารต้นทุนเชิงกลยุทธ์นี้ได้แก่ การบริหารโดยกิจกรรม ต้นทุนเป้าหมาย วงจรต้นทุน การบริหารต้นทุนโดยรวม การบริหารแบบทันเวลา การผลิตแบบลีน การบัญชีเพื่อความยั่งยืน มาปรับใช้ เป็นต้น กลยุทธ์ดังกล่าวทำให้องค์กรเพิ่มขีดความสามารถในด้านการแข่งขันอันจะเป็นผลดีต่อองค์กรและระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วย
 
คำสำคัญ : กลยุทธ์, การบริหาร, ต้นทุน

Abstract
          The current epidemic of COVID-19 Has affected all business sectors, causing the operation to slow down to a halt. Some organizations lost money and had to close their businesses eventually. resulting in termination of employment People have suffered from such impacts. From this circumstance, it shows that business organizations adopt cost management strategies in their organizations to survive under intense competition in the economic downturn caused by the Covid-19 epidemic. that are currently facing Therefore, the organization and cost strategy can be applied to the organization In order to lead the business organization to survive The executives must consider the organization's management strategy in all aspects. to increase the competitiveness of more complex The organization must have a management control system is the use of cost management strategies. by using the concept of administrative cost accounting. It has two objectives: decision-making roles. and its role in helping to manage costs effectively This strategic cost management is activity-based management. Target cost, cost cycle, overall cost management just-in-time management Lean Manufacturing Accounting for Sustainability to apply, etc. Such a strategy allows the organization to increase its competitiveness. This will be good for the organization and the country's economy as well.

Keywords : strategy, management, cost

บทนำ
          สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันประเทศไทยและต่างประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่าง ๆ อาทิเช่น สถานการณ์ด้านการเมือง และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำลงส่งผลให้แต่ละองค์กรต้องทำการปรับปรุงการดำเนินงานทั้งเรื่องของกลยุทธ์ที่จะสามารถแข่งขันในตลาดได้การให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารต้นทุนก็เป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่องค์กรให้ความสนใจเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยแสดงถึงผลการดำเนินงานขององค์กรได้อย่างชัดเจน การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจจึงเปิดโอกาสให้องค์กรมีการผลิตสินค้าและให้บริการใหม่ ๆ ด้วยวิธีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในยุคของการแข่งขันในปัจจุบันองค์กรต้องให้ความสนใจกับลูกค้ามากเป็นพิเศษ เนื่องจากความต้องการของลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นนั้นองค์กรควรปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการที่ใช้อยู่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสมในการจัดลำดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ รวมถึงการให้ข้อมูลบัญชีบริหารที่ถือว่ามีความสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริหารและเป็นการวัดความสำเร็จของกลยุทธ์ในการอุตสาหกรรมการผลิตเพราะเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีการแข่งขันสูง ธุรกิจต้องทำการผลิตสินค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและให้สามารถแข่งขันได้ แต่การผลิตสินค้าที่หลากหลายมักส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ องค์กรที่ผลิตสินค้าส่วนใหญ่มักใช้การคำนวณต้นทุนการผลิตในรูปแบบดั้งเดิมคือใช้วิธีคำนวณต้นทุนตามหมวดบัญชีการเงินและการคิดรวมต้นทุนที่เป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป เป็นการนำเสนองบการเงินที่กำหนดให้ต้นทุนสินค้าที่ผลิตถูกคิดตามวิธีการบัญชีการเงินเท่านั้น การใช้ระบบการประเมินต้นทุนดังกล่าวทำให้ผู้บริหารได้รับข้อมูลที่เป็นข้อมูลสรุป โดยที่ไม่ทราบถึงที่มาของการใช้ไปของต้นทุนและตั้งอยู่บนพื้นฐานของรูปแบบพฤติกรรมการดำเนินงานที่อาจไม่ถูกต้องทำให้เกิดการตัดสินใจล่าช้าไม่ทันต่อสภาพการแข่งขันในโลกธุรกิจปัจจุบัน กลยุทธ์สำคัญที่องค์กรสามารถเลือกใช้เพื่อเพิ่มผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานขององค์กรโดยรวม จึงขึ้นอยู่กับพนักงานที่ทำงานร่วมกันและความสามารถที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ก่อให้เกิดความได้เปรียบเหนือกว่าคู่แข่งขันเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง องค์กรจึงต้องมีการควบคุมและประสานงานจากพนักงานในระดับต่าง ๆ ขององค์กรให้ดำรงอยู่บนพื้นฐานของความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นระบบการควบคุมการบริหารต้นทุนเชิงกลยุทธ์ (Strategic Cost Management Control) จึงเป็นกระบวนการบริหารที่ผู้บริหารจะบริหารต้นทุนเพื่อให้องค์กรสามารถอยู่รอดได้
          การบริหารต้นทุนเชิงกลยุทธ์ เป็นเครื่องมือของผู้บริหารที่องค์กรส่วนใหญ่ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างรูปแบบการผลิตและการบริหารให้ยืดหยุ่นตามสภาพการตลาดเพื่อเป็นไปตามสภาพการแข่งขันในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจึงทำให้เกิดแนวคิดการบริหารต้นทุนเชิงกลยุทธ์ขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันจะเป็นเช่นไรก็ตาม สิ่งที่ผู้บริหารจะต้องคำนึงถึงคือ 1) การสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า คือ ธุรกิจหรือองค์กร ต้องทราบว่าลูกค้ากลุ่มเป้าหมายต้องการสินค้าชนิดใด มีคุณลักษณะอย่างไรราคาขายเท่าใดจึงจะเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน 2) ต้องจัดให้มีกระบวนการวิเคราะห์มูลค่า โดยผู้บริหารควรพิจารณาถึงความสำคัญของกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องระหว่างกัน เพื่อจะได้ภาพรวมในการปฏิบัติงานทั้งองค์กร 3) การมีต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่งขัน รวมถึงต้องรักษาคุณภาพในการผลิตสินค้าและให้การบริการแก่ลูกค้าเพื่อเกิดความเชื่อมั่นในตัวองค์กร โดยการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการผลิตสินค้าและบริการอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้การบริหารต้นทุนเชิงกลยุทธ์ ผู้บริหารต้องคำนึงถึงความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระบบข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัย รวดเร็ว เพราะจะทำให้ผู้บริหารติดตามข้อมูลต้นทุนที่ถูกต้องและทันต่อเหตุการณ์ เพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจต่อการบริหารงานให้สอดคล้องกับสภาพการแข่งขันในตลาดที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในโลกยุคปัจจุบันและในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่จะผ่านพ้นไป ดังนั้นต้นทุนเชิงกลยุทธ์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในกระบวนการวางแผนและการนำไปปฏิบัติด้วยการบริหารจัดการต้นทุนให้ต่ำลง เพื่อให้มีส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นภายใต้สภาวะแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูงและสภาพการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
           ดังนั้น การบริหารต้นทุนเชิงกลยุทธ์ที่สามารถนำกลยุทธ์ต้นทุนการบริหารมาประยุกต์ใช้ในองค์กรได้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้งาน รวมถึงการสร้างความเข้าใจและเหตุผลการนำมาใช้มีหลายประเภทด้วยกันโดยการนำกลยุทธ์และระบบการบริหารจัดการที่ใช้อยู่มาปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นอกจากการจัดโครงสร้างที่เหมาะสมแล้วการให้ความสำคัญเชิงกลยุทธ์รวมทั้งการให้ข้อมูลบัญชีบริหารถือว่ามีความสำคัญต่อการวัดความสำเร็จของกลยุทธ์การผลิต 

วัตถุประสงค์
          1. เพื่อศึกษาบทบาทการตัดสินใจในการบริหารต้นทุนของอุตสาหกรรมการผลิต
          2. เพื่อศึกษากลยุทธ์การบริหารต้นทุนและการใช้ข้อมูลทางการบัญชีเพื่อการบริหารจัดการของอุตสาหกรรมการผลิต

แนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการบริหารต้นทุนเชิงกลยุทธ์
          ต้นทุนเชิงกลยุทธ์ที่ปัจจุบันยังคงนำมาปรับใช้กับธุรกิจอุตสาหกรรมผลิตเพื่อการบริหารต้นทุนขององค์กรให้มีประสิทธิภาพนั้น คือแนวคิดต้นทุนฐานกิจกรรม ซึ่งแนวคิดนี้เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 1980 โดยมีเป้าหมายเชิงกลยุทธ์อยู่ 3 ประเด็น คือ 1) เพื่อรายงานต้นทุนที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริหารเพื่อที่จะสามารถใช้ระบุแหล่งที่มาของรายได้ได้อย่างชัดเจน 2) เพื่อให้ทราบถึงต้นทุนของกิจกรรมและกระบวนการผลิตในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพ และ 3) เพื่อกำหนดทรัพยากรที่ต้องใช้อย่างประหยัดและวิธีการจัดหาทรัพยากรอย่างมีคุณค่าเพื่อให้สามารถรองรับระบบต้นทุนฐานกิจกรรมได้ ซึ่งองค์กรธุรกิจควรจัดตั้งศูนย์ความรับผิดชอบเพื่อใช้ในการแบ่งความรับผิดชอบอย่างชัดเจนระบบต้นทุนฐานกิจกรรมเป็นวิธีการคิดต้นทุนที่เริ่มต้นด้วยการระบุต้นทุนสำหรับกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากนั้นก็ให้ปันส่วนต้นทุนจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปยังสินค้าและบริการ โดยอยู่บนพื้นฐานที่ว่าต้นทุนของสินค้าและบริการขึ้นอยู่กับระดับการใช้กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการนั้น ๆ นั่นก็คือตัวผลักดันต้นทุน (Cost Driver) ที่เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับผู้บริหารในการบริหารกิจกรรมให้เป็นไปตามพฤติกรรมของต้นทุนทำให้สามารถวิเคราะห์กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจกับองค์กรเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมและลดต้นทุนของกิจกรรมได้อย่างดีมีประสิทธิภาพทำให้นำไปใช้ในการตัดสินใจด้านต่าง ๆ เช่น การตั้งราคาสินค้า และการปรับปรุงรูปแบบการผลิต หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจยกเลิกการผลิตสินค้านั้น ๆ โดยผู้บริหารสามารถกำหนดเป้าหมายในการปรับปรุงการทำงานและสามารถลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยต้องทราบข้อมูลต้นทุนจากแผนกบัญชีและแผนกจัดซื้อ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องรวบรวมข้อมูลต้นทุนของลูกค้าที่ผู้บริหารให้ความสำคัญ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เช่น การใช้ระบบต้นทุนฐานกิจกรรม ในการคำนวณหาต้นทุนแผนกบริการและต้นทุนลูกค้า โดยเริ่มจากการกำหนดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับแผนกบริการหรือลูกค้าและทำการจัดสรรต้นทุนจากทรัพยากรขององค์กรเข้าสู่กิจกรรม โดยกำหนดตัวผลักดันทรัพยากร (Resource Driver) และจัดสรรทรัพยากรเข้าสู่กลุ่มต้นทุนโดยใช้ตัวผลักดันทรัพยากรจากนั้นก็กำหนดตัวผลักดันกิจกรรม (Activity Driver) ของแต่ละกลุ่มกิจกรรมที่กำหนดขึ้น เพื่อจัดสรรต้นทุนในกลุ่มกิจกรรมให้แก่หน่วยคิดต้นทุนในที่นี้คือแผนกบริการหรือลูกค้าที่ผู้บริหารให้ความสนใจดังนั้นข้อมูลต้นทุนลูกค้าที่ได้นั้นทำให้ผู้บริหารสามารถทราบได้ว่ากิจการควรตอบสนองหรือใช้กลยุทธ์ใดในการจัดการกับลูกค้าที่ผู้บริหารนั้นสนใจ (ชลิต ผลอินทร์หอม, 2563)
           การจัดการต้นทุนเป็นแนวคิดในการบริหารเชิงกลยุทธ์ที่ผู้บริหารศึกษาเกี่ยวกับลักษณะและโครงสร้างต้นทุนขององค์กร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวางแผน การควบคุม การตัดสินใจ สภาวะแวดล้อมและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป การจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพจะมีความสัมพันธ์กับผลกำไรของกิจการ แนวคิดต้นทุนฐานกิจกรรม (Activity–Based Costing: ABC) เป็นแนวคิดการจัดการต้นทุนหนึ่งในแนวคิดที่ได้รับความสนใจจากผู้บริหารองค์กร โดยให้ความสำคัญกับต้นทุนตามกิจกรรมที่เกี่ยวข้องแสดงให้เห็นถึงต้นทุนที่เกิดจากแต่ละกิจกรรมอย่างชัดเจนเพื่อสะท้อนต้นทุนการผลิตให้ถูกต้องใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด (วิจิตรา พูลเพิ่มทรัพย์, 2544)

         แนวคิดระบบต้นทุนฐานกิจกรรม
          ระบบต้นทุนฐานกิจกรรมเป็นวิธีการคิดต้นทุนที่เริ่มต้นด้วยการระบุต้นทุนสำหรับกิจกรรมที่เกิดขึ้น จากนั้นก็ให้ปันส่วนต้นทุนจากกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปยังสินค้าและบริการ โดยอยู่บนพื้นฐานที่ว่าต้นทุนของสินค้าและบริการจะขึ้นอยู่กับระดับการใช้กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการนั้นๆ ซึ่งก็คือตัวผลักดันต้นทุน (Cost Driver) ที่เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับผู้บริหารในการบริหารกิจกรรมให้เป็นไปตามพฤติกรรมของต้นทุน ให้สามารถวิเคราะห์กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจกับองค์กร เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมและลดต้นทุนของกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้นำไปใช้ในการตัดสินใจด้านต่างๆ เช่น การตั้งราคาสินค้าและการปรับปรุงรูปแบบ การผลิต หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจยกเลิกการผลิตสินค้านั้นๆ (สุวรรณ หวังเจริญเดช, 2557) นอกจากองค์กรจะใช้บัญชีต้นทุนฐานกิจกรรมยังสามารถจัดทำงบประมาณให้ละเอียดยิ่งขึ้นตามกิจกรรมต่าง ๆ ที่เรียกว่างบประมาณฐานกิจกรรม โดยมีหลักสำคัญ 3 ประการ คือ 1) จากทรัพยากรที่มีจำกัดให้ปันส่วนอย่างเหมาะสมว่าจะจัดสรรอย่างไร 2) การจัดการกับวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันของแต่ละฝ่ายงานให้เกิดความสมดุล และ 3) รวบรวมข้อมูลเป็นงบประมาณประจำปีเพื่อใช้งบประมาณดังกล่าวในการวางแผนและควบคุมองค์กรต่อไปเป็นการใช้บัญชีต้นทุนฐานกิจกรรมในการจัดทำงบประมาณ ซึ่งจะทำให้องค์กรสามารถจัดทำงบประมาณได้ละเอียดและถูกต้องมากยิ่งขึ้นตามลักษณะของกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีการจัดทำงบประมาณฐานกิจกรรมจะมองย้อนกลับจากต้นทุนฐานกิจกรรม คือ องค์กรต้องพยากรณ์ประเภท ปริมาณการผลิตแล้วตรวจสอบกิจกรรมที่จะได้ใช้ในการผลิต จากนั้นจึงจัดหาทรัพยากร จึงอาจได้ข้อมูลจากการสอบถามผู้รับผิดชอบงานภายในองค์กร ผลของกิจกรรมจะเน้นผลลัพธ์มากกว่าทรัพยากรที่ป้อนเข้าไป รวมทั้งให้ความสนใจว่ากิจกรรมที่ทำจะต้องเป็นการผลิตที่ไม่เพิ่มภาระงานให้กับพนักงาน การที่องค์กรใช้งบประมาณฐานกิจกรรมได้ดีนั้นจะต้องมีการวิเคราะห์กิจกรรมที่เพิ่มมูลค่าและกิจกรรมที่ไม่เพิ่มมูลค่าตามวิธีการคิดต้นทุนฐานกิจกรรมมาก่อน เนื่องจากจะทำให้ทราบว่ากิจกรรมที่เพิ่มมูลค่าเป็นกิจกรรมที่มีความจำเป็นและก่อให้เกิดคุณค่าต่อลูกค้า ช่วยทำให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการ ส่วนกิจกรรมที่ไม่เพิ่มมูลค่าเป็นกิจกรรมที่มิได้ทำให้มูลค่าของสินค้าและบริการดีขึ้นเนื่องจากเป็นต้นทุนที่ไม่จำเป็นจึงต้องพยายามกำจัดกิจกรรมนี้ออกไป การประยุกต์ใช้งบประมาณฐานกิจกรรมในองค์กร จึงเป็นประโยชน์ต่อการบริหารค่าใช้จ่ายการผลิตได้อย่างถูกต้อง ช่วยลดและปรับปรุงขั้นตอนในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์และทำให้การจัดทำงบประมาณสอดคล้องไปกับแผนกลยุทธ์ เป็นวิธีที่สนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหาร ทำให้เพิ่มโอกาสทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวได้
(สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์, 2546)

          การนำต้นทุนเป้าหมายมาเป็นต้นทุนกลยุทธ์
          ต้นทุนเป้าหมาย คำนวณได้โดยการหักกำไรที่ต้องการจากราคาเป้าหมายซึ่งเป็นราคาที่ประมาณขึ้น โดยอิงกับกลุ่มลูกค้าที่ยินดีจะจ่ายให้ พิจารณาประกอบกับราคาที่กำหนดโดยคู่แข่งขันสำหรับสินค้าที่มีลักษณะและคุณภาพทำนองเดียวกัน แนวคิดต้นทุนเป้าหมายจึงมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการผลิตสินค้าในปัจจุบันมิได้เป็นการผลิตตามความต้องการของผู้ผลิต หากแต่ต้องเป็นไปตามความต้องการของลูกค้า ต้นทุนเป้าหมายจึงมีความจำเป็นและมีส่วนช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ ต้นทุนเป้าหมาย (Target Costing) หมายถึง เครื่องมือการบริหาร และวิธีการที่ถูกออกแบบเพื่อช่วยกำหนดและวางแผนกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับผลิตสินค้าใหม่และใช้เป็นเครื่องมือควบคุมช่วงของการปฏิบัติการที่เกิดขึ้นตามมา เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้น ๆ สามารถทำกำไรได้ตามเป้าหมายตลอดอายุผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันการตั้งราคาขายสินค้าหรือบริการ ไม่ได้ถูกกำหนดโดยองค์กรอีกต่อไปเหมือนเช่นก่อนในอดีต แต่ถูกกำหนดโดยสภาพแวดล้อมการแข่งขันของธุรกิจหรือที่เรียกว่า ราคาขายที่สามารถแข่งขันได้ การกำหนดแนวทางการลดต้นทุน เพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย มีอยู่ 2 แนวทาง ได้แก่ 1) การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตหรือการประยุกต์ใช้แนวคิดการบริหารต้นทุนสมัยใหม่ เช่น การใช้เทคนิค Value Engineering โดยการปรับปรุงคุณสมบัติหรือประโยชน์ในการใช้งานของสินค้าหรือบริการ หรือวิธีการปรับเพิ่มหรือลดคุณสมบัติของสินค้าและบริการ และ 2) การทบทวนหรือออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าหรือบริการได้ด้วยต้นทุนต่ำกว่า โดยการใช้เทคนิค Kaizen ซึ่งเป็นเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องแบบไม่หยุดยั้ง ดังนั้นต้นทุนเป้าหมายจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนแรงกดดันของตลาดไปสู่การแสวงหาความร่วมมือ เพื่อลดต้นทุนและการสร้างความสัมพันธ์กับคู่ค้าภายในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยเฉพาะการกำหนดราคาขายที่แข่งขันได้ และการกำหนดกำไรที่ต้องการได้

          การบริหารต้นทุนให้เป็นวงจรชีวิตต้นทุน
          เป็นแนวคิดในการคำนวณต้นทุนสินค้าหรือบริการในการดำเนินงานในระยะยาวโดยจะนำเอาต้นทุนตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์มาคิดเป็นต้นทุนของสินค้าหรือบริการ เหมาะสำหรับใช้ในการกำหนดราคาขายสินค้าและการวัดประสิทธิภาพ การทำกำไรของสินค้าหรือบริการในระยะยาว แนวคิดนี้ถือว่าสินค้าที่ผลิตได้นั้นประกอบไปด้วยต้นทุนที่สำคัญ 3 ส่วน คือ 1) ต้นทุนก่อนการผลิตเป็นต้นทุนที่เกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา และต้นทุนที่เกี่ยวกับการออกแบบสินค้า 2) ต้นทุนการผลิตเป็นต้นทุนวัตถุดิบ ค่าแรงงาน และค่าใช้จ่ายการผลิต และ 3) ต้นทุนหลังการผลิตเป็นต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการตลาดและการจำหน่ายสินค้าและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ วงจรชีวิตต้นทุนในที่นี้ สามารถพูดถึงได้ 2 ลักษณะ คือ 1) วงจรชีวิต ต้นทุนผลิตภัณฑ์ในแต่ละช่วงวงจรชีวิตจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับประเภทของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ผลิตภัณฑ์ที่ลอกเลียนแบบยากจะมีวงจรชีวิตที่ยาวนานกว่าผลิตภัณฑ์ที่ลอกเลียนแบบได้ง่ายกว่าและผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นไปตามคุณสมบัติของแบบที่กำหนดไว้ และมีคุณภาพสูงตามที่ลูกค้าคาดหวังมักจะทำให้มีวงจรชีวิตต้นทุนที่ดีกว่า เช่น ต้นทุนวิจัยและพัฒนา ต้นทุนการออกแบบผลิตภัณฑ์ ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการตลาด ต้นทุนการจัดจำหน่ายและต้นทุนการบริการลูกค้า เป็นต้น 2) วงจรชีวิตลูกค้า ลูกค้าคือจุดรวมของความสำเร็จขององค์กร เงินที่ลูกค้าจ่ายซื้อผลิตภัณฑ์ เวลา และความพยายามที่ใช้ไปในการซื้อ รวมถึงการเรียนรู้วิธีใช้ผลิตภัณฑ์ และปัจจัยอื่น ๆ ที่ลูกค้าคิดว่าสำคัญ ดังนั้น องค์กรควรให้ความเชื่อมั่นกับลูกค้าว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยสูง สามารถออกแบบให้ได้ตรงตามที่ลูกค้าต้องการ

          การผลิตที่ช่วยลดต้นทุนในแบบทันเวลา
          ระบบการผลิตแบบทันเวลาเป็นปรัชญาการผลิตที่ญี่ปุ่นพัฒนาขึ้นมา โดยเน้นความเป็นเลิศอย่างต่อเนื่องในการยกระดับคุณภาพสินค้าให้สูงขึ้น และลดของเสียจากการผลิตให้น้อยลง สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้เร็ว พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมที่จะต้องช่วยกันแก้ปัญหาเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในการผลิต เพื่อไม่ให้การผลิตหยุดชะงักเป็นเวลานาน ถือเป็นแนวทางปฏิบัติของการบริหารจัดการที่เป็นกลยุทธ์สำคัญต่อการวัดความสำเร็จอีกวิธีหนึ่งของการบริหารต้นทุนในยุคที่มีการแข่งขันกันสูง หลักการของการผลิตแบบทันเวลาก็เพื่อเป็นการลดสินค้าคงเหลือ ลดระยะเวลาการรอคอย ลดระยะเวลาการเตรียมการผลิต เน้นจัดผังการผลิตโดยมุ่งผลิตภัณฑ์เน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานเน้นลดข้อบกพร่องให้เป็นศูนย์ ซึ่งการผลิตแบบทันเวลาพอดีที่มีการจัดตั้งกระบวนการผลิตในลักษณะที่เป็นกลุ่มการผลิตจะช่วยทำให้ทำการผลิตได้รวดเร็วขึ้น ลดข้อบกพร่อง และระยะเวลาการรอคอยในกระบวนการผลิตให้น้อยลง รวมทั้งกระบวนการจัดซื้อวัตถุดิบที่สามารถส่งมอบได้ทันเวลา กระบวนการผลิตและการขายที่เกิดขึ้นและดำเนินการให้สำเร็จลงได้อย่างรวดเร็วนั้น จะมีผลทำให้ปริมาณสินค้าคงคลังมีจำนวนน้อยที่สุด การมีปริมาณสินค้าคงคลังน้อยลงหรือการไม่มีสินค้าคงคลังเลย ทำให้ต้นทุนการผลิตทั้งหมดที่เกิดขึ้น ในงวดเวลาใดจะโอนออกไปยังต้นทุนสินค้าที่ขายในงวดเวลาเดียวกัน ดังนั้นการจดบันทึกรายการในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การซื้อวัตถุดิบ การเบิกใช้ การผลิตจนเสร็จเป็นสินค้าสำเร็จรูป จึงได้มีการปรับเปลี่ยนการบันทึกบัญชีเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตให้สอดคล้องกับระบบการผลิตแบบทันเวลา สำหรับระบบการผลิตแบบทันเวลา มีลักษณะที่สำคัญ คือ 1) การบันทึกต้นทุนสินค้าเมื่อผลิตเสร็จ ระบบบัญชีต้นทุนแบบทันเวลาจะบันทึกต้นทุนสินค้าเมื่อสินค้าผลิตเสร็จ เนื่องจากกระบวนการผลิต ไม่ได้มีการแบ่งแยกเป็นแผนก ซึ่งต่างจากระบบบัญชีต้นทุนเดิม ที่จะต้องมีการบันทึกบัญชีต้นทุนสินค้า ตั้งแต่เริ่มซื้อวัตถุดิบจนกระทั่งผลิตเสร็จ 2) การบันทึกบัญชีวัตถุดิบและงานระหว่างผลิตในบัญชีเดียวกัน ระบบบัญชีต้นทุนแบบทันเวลา จะบันทึกบัญชีวัตถุดิบและงานระหว่างผลิตในบัญชีเดียวกัน โดยใช้ชื่อว่าวัตถุดิบและงาน ในกระบวนการผลิต เนื่องจากในระบบการผลิตแบบนี้ เมื่อกิจการได้รับวัตถุดิบจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการผลิตทันที โดยไม่ต้องเก็บเข้าคลังสินค้า ทำให้การได้รับวัตถุดิบแทนที่จะเกิดขึ้นพร้อมกับการนำวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิต การบันทึกบัญชีวัตถุดิบแยกจากงานระหว่างผลิต จึงไม่สอดคล้องกับกระบวนการผลิตแบบทันเวลา 3) การบันทึกค่าแรงงานและค่าใช้จ่ายในการผลิตในบัญชีเดียวกัน ระบบบัญชีต้นทุนแบบทันเวลาจะบันทึกค่าแรงงาน และค่าใช้จ่ายในการผลิตรวมกันเป็นต้นทุนแปรสภาพ (Conversion Cost) เนื่องจากภายใต้แนวคิดของระบบการผลิตแบบทันเวลา พนักงานจะต้องมีการทำงานรวมกันเป็นหน่วยการทำงาน ซึ่งอยู่ภายในศูนย์การทำงาน พนักงานจะมีหน้าที่ที่หลากหลาย ทำให้การระบุว่าพนักงานทำงานใดงานหนึ่ง โดยตรงเป็นเรื่องยาก ค่าแรงงานจึงเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโดยรวม เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายในการผลิต กิจการส่วนใหญ่นำเอาระบบการผลิตแบบทันเวลา เข้ามาใช้เป็นระบบที่เน้นการดำเนินงานแบบทันเวลาทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจัดส่งปัจจัยการผลิตจากผู้จัดจำหน่ายที่จะต้องจัดส่งให้ตรงตามตารางที่กิจการกำหนด กระบวนการผลิตในแต่ละขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีงานระหว่างทำคงเหลือ ระหว่างขั้นตอนต่าง ๆ ไปจนกระทั่งการจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าโดยจะต้องจัดส่งให้ทันทีที่ผลิตสินค้าเสร็จไม่เหลือสินค้าสำเร็จรูปไว้ในคลังสินค้าหรือเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับกิจการ การผลิตแต่ละครั้งจะผลิตเท่าที่ลูกค้าสั่งซื้อหรือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ลดการสิ้นเปลืองที่ไม่ได้ก่อให้เกิดมูลค่าใด ๆ เพิ่มขึ้น เช่น การมีสินค้าคงคลังมากเกินไป การมีพื้นที่โรงงานมากเกินไป ตลอดจนเวลาและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่สูญเปล่า เป็นต้น

          การประยุกต์ใช้การบริหารคุณภาพโดยรวม
          การบริหารคุณภาพโดยรวมเป็นกระบวนการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพของสินค้าอย่างต่อเนื่องโดยอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรทุกคนในองค์กร มีผลทำให้สินค้าที่ผลิตออกมามีคุณภาพดี ไม่มีของเสียของตำหนิ กิจการจึงต้องมีการควบคุมคุณภาพการผลิตที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมเพื่อให้การผลิตในทุกขั้นตอนไม่เกิดปัญหา ดังนั้นในกระบวนการผลิต พนักงานทุกคนจะต้องควบคุมคุณภาพการผลิตสินค้าหรือบริการให้ตรงหรือเกินกว่าความต้องการของลูกค้า วัตถุประสงค์ของการบริหารแบบนี้ เพื่อลดต้นทุนและการพัฒนาคุณภาพสินค้าหรือบริการเพื่อการดำรงอยู่และการแข่งขันขององค์กรเป็นการสร้างความพึงพอใจในงาน และให้ความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงานให้มุ่งมั่นและทุ่มเทในการทำงานให้กับองค์กร และเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ในอนาคตอีกด้วย
          การประยุกต์ใช้การบริหารคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management) จะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการ เพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจสูงสุด เป็นแนวทางที่ช่วยให้องค์กรสามารถลดต้นทุนในการผลิตและการดำเนินงานได้ ซึ่งนอกจากจะมีผลต่อการผลิตแล้ว ยังทำให้ทุกกระบวนการมีความคล่องตัวและประสานงานกันเป็นอย่างดี ก่อให้เกิดพัฒนาการขององค์กรในระยะยาว ผลลัพธ์จากการที่องค์กรใช้ระบบ TQM ทำให้สินค้าหรือบริการมีคุณภาพสูงขึ้น เนื่องจากมีการกำจัดของเสียหรือทำให้ของเสียในองค์กรลดลง ซึ่งเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีอีกด้วย

          การใช้ระบบการผลิตแบบลีน
          การพัฒนาระบบการผลิตแบบลีนต้องดำเนินการในเชิงกลยุทธ์และต้องจัดทำอย่างเป็นระบบ ปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่พนักงานในองค์กร ในขณะที่หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน ผลักดัน และกำหนดทิศทางอยู่ที่ผู้บริหารระดับสูงต้องเข้าใจถึงปัญหา อุปสรรค และประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินการพัฒนาระบบการผลิตแบบลีน ในองค์กรเพื่อการแข่งขันได้ในปัจจุบัน (โกศล ดีศีลธรรม, 2547)
          ระบบการผลิตแบบลีน (Lean Manufacturing) เป็นวิธีของระบบการจัดการที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกว่าเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบการผลิตที่มีความเป็นเลิศให้ความสำคัญกับการลดระยะเวลา และลดต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการ สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว จุดประสงค์และเป้าหมายที่สำคัญ คือ การทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกสภาพแวดล้อมของการแข่งขันที่รุนแรง ด้วยกลยุทธ์ลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพ สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ทั้งในด้านคุณภาพราคาและการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการ ระบบการผลิตแบบลีนยังช่วยให้เกิดการพัฒนากระบวนการทางการบริหาร โดยทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างองค์กรเข้าด้วยกัน ด้วยวิธีการบริหารห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain Management) ในปัจจุบัน ระบบการผลิตรถยนต์โตโยต้าเป็นพื้นฐานสำหรับความพยายามเกี่ยวกับการผลิตแบบลีน ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวโน้มด้านการผลิต เน้นการไหลของงานอย่างต่อเนื่อง โดยปราศจากความสูญเสียและความสิ้นเปลือง หลักสำคัญแบบลีนไว้ 5 แนวทาง คือ 1) การระบุคุณค่าของสินค้าบริการสู่ลูกค้า เพื่อสนองความพึงพอใจความคาดหวังของลูกค้าเป็นหลัก 2) การระบุสายธารแห่งคุณค่า ทำให้เกิดคุณค่าในตัวสินค้าและบริการ 3) การดำเนินการให้เกิดกระบวนการไหลอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเปล่า 4) กระบวนการดึงกลับจากความต้องการของลูกค้าเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการผลิตและการขาย โดยที่ลูกค้าเป็นตัวกำหนดจำนวนสินค้าที่กิจการจะทำการผลิต ซึ่งแตกต่างจากการผลิตแบบผลักที่กิจการทำการผลิต โดยไม่พิจารณาถึงความต้องการของลูกค้า และ 5) การพยายามปรับปรุงแก้ไขสู่ความเป็นเลิศ เพื่อนำไปสู่ความได้เปรียบในการแข่งขัน

          แนวคิดเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน
           การนำแนวคิดเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีสิ่งแวดล้อมหรือการบัญชีเพื่อความยั่งยืนมาเป็นกลยุทธ์ในการบริหารต้นทุน เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการบัญชีสิ่งแวดล้อมเป็นความร่วมมือกันระหว่างผลประโยชน์จากการพัฒนากับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตในรูปแบบที่ประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะเดียวกันผู้บริหารองค์กรจะต้องความพยายามที่จะควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในระดับที่สาธารณชนยอมรับได้ เป็นการจัดการวัตถุดิบ และทรัพยากรทั้งปวงในทิศทางที่ก่อให้เกิดความมั่งคั่งและกินดีอยู่ดี มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปฏิเสธแนวคิด นโยบาย และวิธีการทุกชนิด ที่จะทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นิพันธ์ เห็นโชคชัยชนะ และ ศิลปะพร ศรีจั่นเพชร, 2554) การบัญชีเพื่อความยั่งยืน จึงเป็นแนวทางที่องค์กรสามารถนำมาใช้คือในเรื่องของสินค้าคงคลัง เป็นการระบุการบันทึกการควบคุมและการรายงาน ซึ่งอาจระบุข้อมูลเกี่ยวข้องเป็นเชิงปริมาณที่ไม่ใช่ตัวเงิน รวมทั้งรายการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทุนธรรมชาติ เช่น อากาศ ต้นไม้ และพลังงานจากซากสิ่งมีชีวิตและการเสื่อมสิ้น รวมถึงผลดีที่กิจการจะได้รับในอนาคตและยังเป็นรากฐานโดยตรงมาจากแนวคิดทางการบัญชีสิ่งแวดล้อมในเรื่องเกี่ยวกับกิจการต้องรักษาระดับทุน กล่าวคือ กิจการที่ยั่งยืนจะต้องไม่ปล่อยให้สิ่งแวดล้อม ณ วันสิ้นปีบัญชีแย่ลงหรือต่ำลงกว่าสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ ณ วันต้นปีบัญชีซึ่งเป็นการรักษาทุนธรรมชาติให้ดำรงไว้และให้มีอยู่ใช้ได้นานในอนาคต องค์กรควรจะมีแผนงานและนโยบายในการกำจัดของเสีย การสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความพยายามในการศึกษาและการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรใหม่ การยืดระยะเวลาการใช้ทรัพยากรให้นานขึ้น ความสามารถในการนำมาซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิมและการนำมาใช้ใหม่ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่เป็นกลยุทธ์ในการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรที่มีต่อสิ่งแวดล้อมในการสร้างความยั่งยืน

สรุป    
          ความสำคัญของการนำกลยุทธ์การบริหารต้นทุนมาปรับใช้เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมากทั่วโลกไม่เฉพาะภายในประเทศไทย อีกทั้งยังมีการแข่งขันทางธุรกิจกันอย่างรุนแรง ดังนั้นผู้บริหารจึงจำเป็นต้องนำกลยุทธ์การบริหารต้นทุนมาใช้เพื่อให้องค์กรมีการดำเนินงานในการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพเพื่อต่อสู้กับการแข่งขันและเพื่อให้สามารถอยู่รอดภายใต้ผลกระทบของสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ การนำกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการจัดการต้นทุนจึงได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางและมีความสำคัญอย่างมากสำหรับผู้บริหารเพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจมีผลสำคัญต่อการวัดความสำเร็จของกลยุทธ์การผลิต โดยกลยุทธ์การบริหารต้นทุนที่ธุรกิจผลิตสินค้านำแนวคิดมาใช้มีดังนี้ ต้นทุนฐานกิจกรรม เป็นต้นทุนที่ทำให้ทราบถึงต้นทุนจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นจริง เพื่อนำมาประเมินผลการปฏิบัติงานพิจารณาต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกไปหรือเป็นการกำจัดต้นทุนที่ไม่เพิ่มมูลค่าต้นทุนเป้าหมายและการใช้งบประมาณต้นทุนกิจกรรมจะช่วยในการบริหารจัดการด้านการวางแผนสำหรับกิจกรรมในการผลิตเพื่อวางแผนในความสามารถในการจัดทำกำไรตามเป้าหมาย ซึ่งสามารถนำไปกำหนดราคาขายของผลิตภัณฑ์ที่สามารถแข่งขันได้ วงจรชีวิตต้นทุน กลยุทธ์ดังกล่าวสามารถกำหนดช่วงระยะเวลาการเกิดต้นทุนได้ 3 ช่วงเวลา คือ ช่วงเกิดต้นทุนก่อนการผลิต ช่วงเวลาต้นทุนการผลิต และช่วงเวลาต้นทุนหลังการผลิต ประโยชน์จากการนำกลยุทธ์นี้มาใช้ คือ เป็นการนำเอาต้นทุนตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์มาคิดเป็นต้นทุนสินค้า การใช้กลยุทธ์แบบทันเวลา (Just in Time) เป็นการดำเนินงานให้ทันเวลา ไม่ให้มีงานคงเหลือระหว่างขั้นตอนการผลิตและการจัดส่งสินค้าเมื่อสินค้าผลิตเสร็จ ไม่ให้มีสินค้าคงเหลือไว้ในคลังเป็นการลดต้นทุนการผลิตลงได้อย่างมาก กลยุทธ์การบริหารคุณภาพโดยรวมเป็นวัฒนธรรมขององค์กรและพนักงานทุกคนต้องให้ความสำคัญกับงานที่ทำและมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ระบบการผลิตแบบลีนเป็นการดำเนินการผลิตที่เป็นการไหลแบบต่อเนื่องโดยปราศจากการสูญเสียและความสิ้นเปลือง เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต ส่วนการบัญชีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมหรือการบัญชีเพื่อความยั่งยืนเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่องค์กรนำประโยชน์จากการพัฒนาอนุรักษ์ธรรมชาติส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตที่ประหยัดทรัพยากรธรรมชาติเป็นผลดีที่ต้องรักษาระดับต้นทุนที่กิจการต้องไม่ปล่อยให้สิ่งแวดล้อม ณ บัญชีวันสิ้นปีต่างไปจากบัญชี ณ วันต้นปี

ข้อเสนอแนะ
          ต้นทุนเป็นปัจจัยที่ชี้ขาดความคงอยู่ขององค์กร เพราะต้นทุนที่ต่ำกว่าย่อมหมายถึงประสิทธิภาพของการแข่งขันยิ่งการแข่งขันมีความรุนแรงมากเท่าใดในยุคโลกปัจจุบันนี้ใครที่มีกลยุทธ์ที่ดีกว่าย่อมมีโอกาสประสบผลสำเร็จได้มากกว่า ดังนั้นต้นทุนไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวเลขเท่านั้นแต่ยังเป็นการแสดงถึงระดับความสามารถในการบริหารจัดการขององค์กรนั้นด้วย สภาพการแข่งขันทางการค้าทำให้องค์กรส่วนใหญ่ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และรูปแบบการผลิตและการบริหารให้ยืดหยุ่นตามสภาพการตลาด จึงก่อให้เกิดแนวคิดของการบริหารต้นทุนเกี่ยวกับการบริหาร ด้วยการนำกลยุทธ์การบริหารต่าง ๆ มาปรับใช้เพื่อให้ผู้บริหารได้ทราบถึงจุดเด่นจุดด้อยในการปฏิบัติงาน รวมถึงการคาดการณ์โอกาสในด้านการทำกำไรและหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อองค์กรในอนาคต ดังนั้นผู้บริหารจึงให้ความสำคัญต่อสภาพแวดล้อมภายนอกและภายในองค์กรโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้แนวคิดต้นทุนการบริหารไปประยุกต์ใช้ในลักษณะที่แตกต่างกัน จึงทำให้ผู้บริหารต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดในการบริหารต้นทุนผลิตแบบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพการแข่งขันในตลาด ดังนั้นผู้บริหารต้องรู้จักใช้วิธีการวิเคราะห์วางแผนต้นทุนที่ถูกต้องและเหมาะสมทันต่อสถานการณ์ เพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ โดยใช้การบริหารต้นทุนเชิงกลยุทธ์เพื่อให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำเช่นในช่วงโควิด-19 นี้

บรรณานุกรม
กุลเชษฐ์ มงคล. (2012). การจัดการเชิงกลยุทธ์. MBA-KKU Journal, 5(1), 137-140.
โกศล ดีศีลธรรม. (2547). เพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้วยแนวคิดลีน. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น.
ธีรชัย อรุณเรืองศิริเลิศ. (2553). การประยุกต์ใช้ระบบต้นทุนฐานกิจกรรม. วารสารวิชาชีพบัญชี, 6(17):   86-89.
นิพันธ์ เห็นโชคชัยชนะ และ ศิลปพร ศรีจั่นเพชร. (2554). ทฤษฎีการบัญชี. กรุงเทพฯ: ทีพีเอ็นเพรส.
วิจิตรา พูลเพิ่มทรัพย์. (2544). หลักการบัญชีต้นทุน. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
สมนึก เอื้อจีระพงษ์พันธ์. (2546). การบัญชีเพื่อการจัดการและการบริหารต้นทุน. กรุงเทพฯ: ธรรมนิติเพรส จากัด.
Sangkatat, S. (2021). กลยุทธ์การบริหารต้นทุนของธุรกิจผลิตสินค้าในสถานการณ์โควิด-19. Journal of Humanities and Social Sciences, Rajapruk University, 7(1), 1-13.
ชลิต ผลอินทร์หอม. (2020). ผลกระทบของการใช้เครื่องมือการบริหารต้นทุนเชิงกลยุทธ์ต่อความได้เปรียบ ทางการแข่งขันและผลการดำเนินงานของกิจการในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย. UMT-POLY Journal, 17(1), 317-335.
สุวรรณ หวังเจริญเดช . (2557). กลยุทธ์การบริหารต้นทุนในยุคโลกาภิวัตน์.มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
ธรรมนิติออนไลน์ Cost Strategic Cost Management TQM กลยุทธ์การบริหารต้นทุน การบริหาร ต้นทุน บัญชี