คุณภาพของการตรวจสอบภายในสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มขององค์กร
01
Feb
คุณภาพของการตรวจสอบภายในสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มขององค์กร
The quality of internal audits to create added value for the organization.
ลวิตรา ไชยเดช
Lawittra Chaiyadech
lawittra.cha@spumail.net
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
บทคัดย่อ
การตรวจสอบภายใน เป็นเครื่องมือหรือกลไกที่สำคัญในสร้างมูลค่า (Value) ให้กับองค์กร และเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนให้องค์กรมีการดำเนินงานที่เป็นระบบ มีความโปร่งใส เกิดความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้องค์กรมีความก้าวหน้าเทียบเท่าองค์กรอื่น ๆ ในยุคของโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและเข้ามามีบทบาทกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในศตวรรษที่ 21 ในทุกด้าน ทั้งด้านการทำงาน การดำรงชีวิต การศึกษา และเห็นได้ชัดจากการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานในองค์กรเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เกิดเป็นชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เป็นการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ และเป็นการเริ่มต้นสิ่งแปลกใหม่ในการทำงาน และเมื่อรูปแบบการทำงานเปลี่ยน ระบบงานเปลี่ยน ฉะนั้น ทำให้เกิดความท้าทายในการตรวจสอบ ผู้ตรวจสอบภายในจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการตรวจสอบ หรือพัฒนางานตรวจสอบให้สอดรับต่อสถานการณ์ และต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยในงานตรวจสอบ เนื่องจากระบบงานมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แต่ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้งานตรวจสอบภายในประสบความสำเร็จ คือผู้บริหารต้องสามารถนำผลผลิตของงานตรวจสอบภายในไปใช้ในการบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เกิดมูลค่าเพิ่มและความสำเร็จขององค์กรอย่างยั่งยืน
คำสำคัญ : การตรวจสอบภายใน, ผู้ตรวจสอบภายใน, การพัฒนางานตรวจสอบ
Abstract
Internal audit It is a tool or mechanism that is important to create value (Value) for the organization and is a tool that drives the organization to have a systematic operation. be transparent Create cost-effective use of resources To make the organization as advanced as other organizations in today's fast-changing and highly competitive world. Especially the evolution of advanced technology and play a role in the lives of people in the 21st century in all aspects, including work, livelihood, education, and evidently from the change in operations in the organization due to The epidemic situation of the coronavirus disease 2019 (COVID-19) has turned into a new way of life (New Normal), a big change. And it's the beginning of something new in work. and when the working style changes The work system has changed, thus creating a challenge in auditing. Therefore, internal auditors need to adjust their audit procedures. or develop an audit work to be in line with the situation and must bring technology to assist in the inspection Because the work system is more complicated. But one of the key factors for the success of internal audit work. That is, executives must be able to use the results of internal audits to effectively manage their operations. Helps create added value and sustainable organizational success.
Keywords : Internal Audit, Internal Auditor, Audit Development
บทนำ
ในศตวรรษที่ 21 เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วอันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ จนเห็นได้ว่าในปัจจุบันกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญในการปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตความเป็นอยู่และบทบาทของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ส่งผลให้องค์กรต่าง ๆ มีการพัฒนาระบบงานขององค์กร มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยในการปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการทำงาน ส่งผลให้ระบบงานมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ข้อมูลในองค์กรมีเป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบเอกสารและไฟล์ข้อมูล การทำงานมีการประสานกันข้ามสายงาน ทำให้ฝ่ายบริหารดูแลควบคุมระบบงานในองค์กรไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร ถึงแม้องค์กรจะมีระบบการควบคุมภายในอยู่แล้วก็ตาม
การตรวจสอบภายในจึงเข้ามาบทบาทสำคัญ เนื่องจากเป็นกิจกรรมการให้ความเชื่อมั่น (Assurance) และการให้คำปรึกษา (Consulting) อย่างเที่ยงธรรมและเป็นอิสระ ซึ่งจัดให้มีขึ้นเพื่อเพิ่มคุณค่าและปรับปรุงการปฏิบัติงานขององค์กรให้ดีขึ้น การตรวจสอบภายในจะช่วยให้องค์กรบรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้ด้วยการประเมิน และปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการบริหารความสี่ยง การควบคุมภายใน และการกำกับดูแลอย่างเป็นระบบ (สำนักกำกับและพัฒนาการตรวจสอบภาครัฐ กรมบัญชีกลาง, 2551)
ดังนั้น หากผู้ตรวจสอบภายในมีความเข้าใจถึงภาพรวมเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน หลักการและวิธีการตรวจสอบภายในที่ถูกต้อง มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในงานตรวจสอบ ปฏิบัติงานตรวจสอบตามมาตรฐานการตรวจสอบภายใน กิจกรรมการตรวจสอบภายในจะช่วยให้องค์กรมีระบบการปฏิบัติงานในองค์การที่มีประสิทธิภาพ ข้อมูลทางการเงินและบัญชีมีความน่าเชื่อถือ ช่วยให้เกิดมูลค่าเพิ่มและความสำเร็จขององค์กรอย่างยั่งยืน เพื่อให้เป็นองค์กรที่มีคุณภาพ และเกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดี
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ทราบถึงความสำคัญของการตรวจสอบภายใน
2. เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ตรวจสอบภายในได้ทราบบทบาทของการเป็นผู้ตรวจสอบภายใน
.
เนื้อหาของบทความ (บทวิเคราะห์เกี่ยวกับ แนวคิด ทฤษฎี ผลงานวิจัย ประเด็นสำคัญ ข้อดีหรือประโยชน์)
แนวคิดเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน
การตรวจสอบภายในเป็นเครื่องมือหรือกลไกที่สำคัญของฝ่ายบริหาร ในการประเมินผลสัมฤทธิ์ ของการดำเนินงาน และระบบการควบคุมภายในขององค์กร ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้งานตรวจสอบภายในประสบความสำเร็จ คือผู้บริหารสามารถนำผลผลิตของงานตรวจสอบภายในไปใช้ในการบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เกิดมูลค่าเพิ่มและความสำเร็จขององค์กร ฉะนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดดังกล่าว ผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานตรวจสอบภายในอันได้แก่ผู้ตรวจสอบภายในหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบภายใน จึงควรมีความเข้าใจถึงภาพรวมเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน มีความรู้ในหลักการและวิธีการตรวจสอบ รวมทั้งต้องปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานการตรวจสอบที่ยอมรับโดยทั่วไป ทั้งจากหลักการสากลและตามที่กำหนดโดยหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวสามารถเลือกใช้เทคนิค แนวทางการตรวจสอบที่เหมาะสมกับภารกิจและสภาพแวดล้อมขององค์กร
ความสำคัญและประโยชน์ของการตรวจสอบภายใน
การตรวจสอบภายใน เป็นการให้บริการข้อมูลแก่ฝ่ายบริหาร และเป็นหลักประกันขององค์กรในด้านการประเมินประสิทธิผลและประสิทธิภาพของระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสม ทั้งในด้านการเงินและการบริหารงาน เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร โดยการเสนอรายงานเกี่ยวกับกิจกรรมการเพิ่มมูลค่าขององค์กร รวมทั้งการเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่ฝ่ายบริหาร ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิผล และดูแลให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด และคุ้มค่า ซึ่งการตรวจสอบภายในมีส่วนผลักดันความสำเร็จดังกล่าว ดังนี้
1. ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการกำกับดูแลที่ดี (Good Governance) และความโปร่งใส ในการปฏิบัติงาน (Transparency) ป้องกันการประพฤติมิชอบหรือการทุจริต และเป็นการความเสี่ยงที่อาจ เกิดขึ้นจนส่งผลให้การดำเนินงานไม่บรรลุวัตถุประสงค์
2. ส่งเสริมให้เกิดการบันทึกบัญชีและรายงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบ (Accountability and Responsibility) ทำให้องค์กรได้ข้อมูลหรือรายงานตามหน้าที่รับผิดชอบ และเป็นพื้นฐานของหลักความโปร่งใส (Transparency) และความสามารถตรวจสอบได้ (Auditability)
3. ส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการปฏิบัติงาน (Efficiency and Effectiveness of Performance) ขององค์กร เนื่องจากการตรวจสอบภายในเป็นการประเมินวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลทุกด้านในการปฏิบัติงาน จึงเป็นข้อมูลที่สำคัญที่ช่วยปรับปรุงระบบงานให้สะดวกรัดกุม ลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนและให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตลอดเวลา ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่าย เป็นสื่อกลาง ระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในการประสานและลดปัญหาความไม่เข้าใจในนโยบาย
4. เป็นมาตรการถ่วงดุลแห่งอำนาจ (Check and Balance) ส่งเสริมให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรขององค์เป็นไปอย่างเหมาะสมตามลำดับความสำคัญ เพื่อให้ได้ผลงานที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร
5. ให้สัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า (Warning Signals) ของการประพฤติมิชอบหรือการทุจริตในองค์กรลดโอกาสความร้ายแรงและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งเพื่อเพิ่มโอกาสของความสำเร็จของงาน
วัตถุประสงค์และขอบเขตการตรวจสอบภายใน
วัตถุประสงค์ของการตรวจสอบภายใน คือการปฏิบัติงานโดยอิสระปราศจากการแทรกแซงในการทำหน้าที่ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายในองค์กรด้วยการปฏิบัติงาน เกี่ยวกับการวิเคราะห์ ประเมิน ให้คำปรึกษา ให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะเพื่อสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ ขององค์กรสามารถปฏิบัติหน้าที่และดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างมี ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผลการดำเนินการตรวจสอบภายในจะอยู่ในรูปของรายงานผลที่มีประโยชนต่อการตัดสินใจของผู้บริหารรวมถึงการสนับสนุนให้มีการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพภายใต้ค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม
ขอบเขตของงานตรวจสอบภายใน ประกอบด้วย
1. การสอบทานความเชื่อถือได้และความสมบูรณ์ของสารสนเทศ ด้านการบัญชี การเงิน และการดำเนินงาน
2. การสอบทานให้เกิดความมั่นใจว่าระบบที่ใช้เป็นไปตามนโยบายแผน และวิธีการปฏิบัติงานที่องค์กรกำหนดไว้และควรแสดงผลกระทบสำคัญที่เกิดขึ้น
3. การสอบทานวิธีการป้องกันดูแลทรัพย์สินอย่างเหมาะสม และสามารถพิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินเหล่านั้นได้
4. การประเมินการใช้ทรัพยากรเป็นไปโดยความประหยัดและมีประสิทธิภาพ
5. การสอบทานการปฏิบัติงานในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ ว่าได้ผลตาม วัตถุประสงค์และเป้าหมาย รวมถึงความคืบหน้าตามแผนงานที่กำหนดไว้ กลุ่มงานมาตรฐานการตรวจสอบภายใน
6. การสอบทานและประเมินผลความเหมาะสมและความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในขององค์กร
วิวัฒนาการของวิชาชีพตรวจสอบภายใน
เอกชัย อาชาพิพัฒน์ (2559) ได้กล่าวไว้ว่า ความแตกต่างของบทบาทของผู้ตรวจสอบภายใน และทัศนคติที่ผู้รับการตรวจสอบ (Auditee) มีต่อผู้ตรวจสอบ (Auditor) คือ
1. Competition: Striving Together เป็นยุคเริ่มแรกที่แสดงถึงความพยายามต่อสู้กัน และการปกป้องระหว่างผู้ตรวจสอบและผู้รับการตรวจสอบ ต่อสู้กันเพื่อชัยชนะของตนเอง เป็นหลักไม่ได้คำนึงถึงความต้องการขององค์กร (1+1 = 0)
2. Cooperation: Working Together เป็นยุคที่ผู้ตรวจสอบและผู้รับการตรวจสอบ ตระหนักถึงภาระหน้าที่ซึ่งกันและกัน ให้ความร่วมมือซึ่งกัน แต่ก็ยังให้ความสำคัญต่อภาระตนเองเป็นหลัก ต่างฝ่ายมีภาระหน้าที่ของตนเองไม่ปะปนกัน แต่สามารถทำงานร่วมกันได้ เป็นลักษณะ (1+1 = 2)
3. Collaboration: Creating Together เป็นยุคที่ผู้ตรวจสอบและผู้รับการตรวจสอบ สร้างสรรค์ร่วมกัน ทำงานเป็นทีมเดียวกัน เข้าใจเป้าหมายตรงกัน เนื่องจากกำหนดร่วมกัน เป็นลักษณะ (1+1 = 3)
บทบาทหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายใน
อดีต : การตรวจสอบเพื่อการจับผิด (เชิงลบ)
ปัจจุบัน : การตรวจสอบ (Assurance) เพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อผู้รับการตรวจสอบ และเป็นที่ปรึกษา (Consultant) ด้านระบบการควบคุมภายใน
อนาคต : New Ways to Add Value in Expanded Role การเพิ่มมูลค่าจากการตรวจสอบ (Assurance) และการเป็นที่ปรึกษา (Consultant) ด้านระบบการควบคุมภายในทางธุรกิจ ด้านการบริหารจัดการ ด้านการเงิน และด้านการบริหารความเสี่ยง
คุณภาพของผู้ตรวจสอบภายในแบบมืออาชีพ
คือ การมีความรู้ มีความสามารถ มีทักษะของผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพตรวจสอบภาย ซึ่งประกอบด้วย
1. คุณสมบัติที่ดีของผู้ตรวจสอบภายใน
1.1 คุณสมบัติทางการศึกษา 5 ประการ ประกอบด้วย
- มีความรู้ ความชำนาญเชิงวิชาการดี หลากหลายแขนงวิชา
- ชอบศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ
- มีความรู้ ความชำนาญในมาตรฐานการปฏิบัติงานวิชาชีพตรวจสอบภายใน และเทคนิคที่จำเป็นในการตรวจสอบ
- มีความสามารถในการสื่อสารและเทคนิคการนำเสนอที่ดี
- มีความรู้เกี่ยวกับการบริการจัดการองค์การ การวางแผน และการควบคุมคุณภาพงาน
1.2 คุณสมบัติส่วนบุคคล 6 ประการ ประกอบด้วย
- บุคลิกภาพดี การแต่งกายดี การวางตัวเหมาะสม สุภาพ อดทนและจิตใจหนักแน่น เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
- มนุษย์สัมพันธ์ดี ให้ความช่วยเหลือ มีทักษะการสื่อสารที่ดี
- ความคิดสร้างสรรค์ ช่างสังเกต มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีทัศนคติที่ดี
- มีความกระตือรือร้น พิจารณาและทบทวนตนเองอยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาตนเองตลอดเวลา
- ติดตามสารสนเทศ ข่าวสารทางเศรษฐกิจ สังคมและธุรกิจอยู่เสมอ
- มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีลักษณะเป็นผู้นำ
2. ทัศนคติในการตรวจสอบภายใน
2.1 ทัศนคติในการตรวจสอบภายในเชิงลบ คือ ผู้ตรวจสอบภายใน จะมองการตรวจสอบภายเป็นการแสดงบทบาทตำรวจ ทนายความ นักสืบหรือผู้พิพากษา ใช้การสืบสวน สอบสวน เพื่อค้นหาหลักฐาน ข้อเท็จจริง ทำให้บรรยากาศภายในองค์การตึงเครียด ไม่เป็นมิตร
2.2 ทัศนคติในการตรวจสอบภายในเชิงบวก คือ ผู้ตรวจสอบภายใน จะมองการตรวจสอบภายในเป็นการแสดงบทบาทของที่ปรึกษา ผู้ให้คำแนะนำ ผู้บริการให้ความช่วยเหลือ ให้วิธีการให้ความรู้ เพื่อค้นหาคำตอบและข้อเท็จจริง ร่วมมือกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้บรรยากาศภายในองค์การไม่ตึงเครียด เป็นมิตร
จรรณยาบรรณของวิชาชีพการตรวจสอบภายใน ที่พึงมี ประกอบด้วย
1. ความซื่อสัตย์สุจริต Integrity ก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและยอมรับจากบุคคลทั่วไป
2. ความเที่ยงธรรม Objectivity ควรประเมินสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นกลางและไม่ลำเอียง
3. การรักษาความลับ Confidentiality ต้องเคารพต่อคุณค่าและสิทธิความเป็นเจ้าของข้อมูล
4. ความสามารถในหน้าที่หรือความชำนาญงาน Competency ต้องใช้ความรู้ ทักษะและประสบการณ์ที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติงานอย่างเต็มที่
กระบวนการตรวจสอบภายใน (Internal Audit Process) ที่สำคัญ มีดังนี้
1. การวางแผนงานตรวจสอบภายใน (Internal Audit Planning) ผู้ตรวจสอบมีหน้าที่สอบทานงานทุกด้านขององค์กร แต่ด้วยข้อจำกัดของทรัพยากรทำให้งานมีความเสี่ยงสูงและมีผลกระทบต่อความสำเร็จขององค์กรเป็นอย่างมาก งานนั้นต้องได้รับการตรวจสอบก่อนและเป็นประจำทุกปี
ในการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของงานที่ตรวจสอบ ปัจจัยความเสี่ยงและปัจจัยอื่นๆ เช่น ความซับซ้อนของงาน ช่วงเวลาของการตรวจสอบครั้งสุดท้าย เป็นต้น การสํารวจขั้นต้น หลังจากได้รับมอบหมายการตรวจสอบภายในแล้ว ผู้ตรวจสอบภายในจะเข้าพบผู้บริหารหน่วยงานที่รับตรวจ จากนั้นจะสำรวจขั้นต้นเพื่อทำความเข้าใจและเก็บรวบรวมข้อมูลของหน่วยรับตรวจการประเมินความเสี่ยงและการสอบทานการควบคุมภายในขั้นต้นการจัดทำแผนงานตรวจสอบภายในหรือแนวการตรวจสอบภายใน
2. การปฏิบัติงานตรวจสอบภายในภาคสนาม (Internal Audit Executing) การปฏิบัติการตรวจสอบภายในภาคสนามเริ่มต้นจากบันทึกแจ้งการเข้าตรวจสอบไปยังหัวหน้าหน่วยรับตรวจ ประชุมกับหัวหน้าหน่วยรับตรวจครั้งนี้ ซึ่งเรียกว่า “การประชุมเปิดการตรวจสอบ (Open Meeting)”ในการตรวจสอบภายในภาคสนามผู้ตรวจสอบจะเก็บรวบรวมหลักฐานการตรวจสอบภายใน พร้อมทั้งจดบันทึกไว้ในกระดาษทำการเพื่อให้หัวหน้าหรือผู้ตรวจสอบอาวุโสมาสอบทานอีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อตรวจพบหรือข้อสรุปผลการตรวจสอบภายในที่จะนำไปจัดทำรายงานการตรวจสอบภายในต่อไป การตรวจสอบภายในภาคสนามประกอบด้วย 4 กิจกรรม คือ
- การวางแผนก่อนเริ่มงานตรวจสอบภายใน
- การตรวจสอบภายในภาคสนามและการจัดทำกระดาษทำการตรวจสอบภายใน
- เทคนิคและหลักฐานการตรวจสอบ
- การปฏิบัติงานเมื่อเสร็จสิ้นงานตรวจสอบภาคสนาม
3. การรายงานและการติดตามผลการตรวจสอบภายใน (Internal Reporting and Following up) เมื่อสรุปผลการตรวจสอบภายในผู้ตรวจสอบควรจัดการประชุมปิดการตรวจสอบ (Exit Meeting)กับหัวหน้าหน่วยรับตรวจ เกี่ยวกับจุดอ่อนของการควบคุมภายในและแนวทางในการแก้ไขที่ตกลงร่วมกัน เรื่องเหล่านี้จะรวมอยู่ในรายงานการตรวจสอบภายในอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งคำชี้แจงของผู้บริหารหน่วยรับตรวจ และวันที่เป้าหมาย
1. ความถูกต้อง : สิ่งที่ตรวจพบที่แสดงอยู่ในรายงาน ควรตรงต่อความเป็นจริง ปราศจากข้อผิดพลาดหรือบิดเบือน การนำเสนอควรกระทำด้วยความระมัดระวังและที่ยงธรรม
2. ความชัดเจน : รายงานที่ดีควรง่ายต่อความเข้าใจง่าย หลีกเลี่ยงภาษาทางเทคนิค การใช้คำพูดวกวน ข้อความเยิ่นเย้อ
3. ความกระชับ : ตัดเนื้อหาที่ไม่จำเป็น มุ่งชี้ประเด็นที่สำคัญ หลีกเลี่ยงการใช้คำซ้ำและคำฟุ่มเฟือย
4. ความทันต่อเวลา : การนำเสนอรายงานควรกระทำในเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้การปฏิบัติการตรวจสอบมีประสิทธิผลในทันที
5. ความสร้างสรรค์ : การรายงานผลการตรวจสอบจะต้องกระทำในลักษณะที่ทำให้การแก้ไข ปรับปรุงให้ดีขึ้น
6. ความจูงใจ : เป็นรายงานที่มีความน่าสนใจและสามารถจับประเด็นที่สำคัญได้ จูงใจให้ยอมรับ เห็นประโยชน์ ต้องการให้มีการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นตามข้อเสนอแนะ
การพัฒนางานตรวจสอบภายใน
วรางคนางค์ สกุลวงศ์ ลี หยาน และ ธนสาร วาสันธิ์ (2563) ได้กล่าวไว้ว่า การพัฒนางานให้ทันสมัยและตรงกับความต้องการและวัตถุประสงค์ของฝ่ายบริหาร ซึ่งฝ่ายบริหารเป็นลูกค้าที่สำคัญของงานตรวจสอบภายใน (Customer focused) เน้นการตรวจสอบที่เรียกว่า การตรวจสอบเพื่อการบริหาร (Management-Oriented Audit) การตรวจสอบแบบนี้ได้พัฒนาเป็นการตรวจสอบเพื่อเสนอข้อมูลสำคัญเพื่อการบริหาร สำหรับผู้บริหารในการวิเคราะห์หรือสอบทานงาน หรือเรื่องสำคัญที่ผู้บริหารสนใจ
สำนักงานตรวจสอบภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหง (2559) ได้นำเสนอวิธีการพัฒนางานตรวจสอบให้ทันสมัย (อ้างอิงในบทความของ วรางคนางค์ สกุลวงศ์ ลี หยาน และ ธนสาร วาสันธิ์, 2563) ดังนี้
1. การตรวจสอบโดยใช้แนวความเสี่ยง (Risk-Based Approach) โดยผู้ตรวจสอบต้องเข้าใจโครงสร้างการควบคุมและปัจจัยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่อหน่วยงานอย่างเพียงพอ เพื่อเลือกกิจกรรมการตรวจสอบที่มีโอกาสจะเกิดความผิดพลาดอย่างมีสาระสำคัญ รวมทั้งการวางแผนและกำหนดเทคนิคการตรวจสอบที่จะลดความเสี่ยงในด้านการตรวจสอบให้น้อยที่สุด
2. การตรวจสอบแบบมีส่วนร่วม (Participative Audit) เป็นการตรวจสอบโดยเน้นถึงการประสานงานกัน ระหว่างผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ตรวจสอบ ทั้งในการวางแผนการตรวจสอบการประชุมปรึกษาหรือ เพื่อแก้ไขปัญหาของหน่วยงานร่วมกัน และเป็นการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และยอมรับผลการตรวจสอบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขและบริหารงาน
3. การตรวจสอบในเชิงรุกแบบก้าวหน้าและสร้างสรรค์ (Proactive and Constructive) โดยทำหน้าที่ในการส่งเสริมหรือกระตุ้นให้เกิดสิ่งที่ดี (catalyst) รวมทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาไม่ใช่การแก้ไขปัญหาในภายหลัง
4. การติดตามแนวการคิดทางการบริหารใหม่ ผู้ตรวจสอบต้องศึกษาความรู้ที่ทันสมัย เช่น แนวความคิดเกี่ยวกับการบริหารคุณภาพ (Total Quality Management) การบริหารแบบทันเวลา (Just in Time) การปรับกระบวนการทางธุรกิจ (Business Process Reengineering) การประเมินผลการควบคุมตนเอง (Control Self Assessment) การหาวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด (Benchmarking) ฯลฯ เพื่อเสนอแนะกิจกรรมที่เพิ่มมูลค่า (Value Added Activities) ให้กับหน่วยงาน การใช้เครื่องมือทางคอมพิวเตอร์และไอทีสมัยใหม่ ในการปฏิบัติงานของตน เช่น การสืบค้นติดตาม สารสนเทศทางอินเทอร์เน็ต การใช้โปรแกรมและเครื่องมือการตรวจสอบที่ทันสมัย รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลที่ใช้ในการอ้างอิงเปรียบเทียบ
สรุป
การตรวจสอบภายใน เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างมูลค่า (Value) ให้แก่องค์กรทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน ซึ่งผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบภายในต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะขององค์กร เนื่องจากจะทำให้การปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบ สามารถกำหนดวัตถุประสงค์และรูปแบบการปฏิบัติงาน ตรวจสอบที่สอดคล้องกับเป้าหมายโดยรวมขององค์กร และสามารถประเมินความเสี่ยงเพื่อเรียงลำดับความสำคัญของการตรวจสอบขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงผู้ตรวจสอบภายในต้องปฏิบัติงานตรวจสอบตามมาตรฐานของการตรวจสอบภายใน มีการวางแผนงานตรวจสอบภายใน (Internal Audit Planning) การปฏิบัติงานตรวจสอบภายในภาคสนาม (Internal Audit Executing) การรายงานและการติดตามผลการตรวจสอบภายใน (Internal Reporting and Following up) ตลอดจนมีการพัฒนางานตรวจสอบภายใน ในด้านความรู้ นำเทคโนโลยีมาช่วยในการตรวจสอบ และนำเทคนิคใหม่ ๆ มาใช้ในการตรวจสอบ เนื่องจากปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ มีระบบงานที่ซับซ้อนมากขึ้น ข้อมูลในหน่วยงานมีจำนวนมาก และที่สำคัญโลกในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากผู้ตรวจสอบภายในไม่มีการพัฒนางานตรวจสอบอาจส่งผลให้งานตรวจสอบไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์กรได้ และอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญที่ทำให้การตรวจสอบภายในประสบความสำเร็จ นั่นก็คือ การได้รับสนับสนุนจากฝ่ายบริหารในด้านต่าง ๆ
ข้อเสนอแนะ
ผู้ตรวจสอบภายในควรมีการพัฒนางานตรวจสอบภายใน ในทุก ๆ ด้านอยู่เสมอ ศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ เทคนิคการตรวจสอบใหม่ ๆ เกี่ยวกับงานตรวจสอบ เพื่อให้ได้วิธีการตรวจสอบที่ทันสมัย มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการตรวจสอบ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์หาความผิดปกติของระบบงาน หรือการทุจริตต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ มีระบบงานที่ซับซ้อนมากขึ้น ข้อมูลในองค์กรมีเป็นจำนวนมากขึ้น และที่สำคัญโลกในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงองค์กรควรปลูกฝังให้ทุกคนในองค์กรตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจสอบภายใน และปฏิบัติงานให้มีคุณภาพ เพื่อรองรับการตรวจสอบภายในระดับสากล และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มขององค์กรอย่างยั่งยืน
บรรณานุกรม
กรมบัญชีกลาง. (2546). แนวปฏิบัติการตรวจสอบภายใน. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: https://www.cgd.go.th/
จันทนา สาขากร, นิพันธ์ เห็นโชคชัยชนะ และศิลปะพร ศรีจั่นเพชร. (2557). การควบคุมภายใน และการตรวจสอบภายใน. กรุงเทพฯ : ทีพีเอ็น เพลส.
ฝ่ายตรวจสอบภายใน สำนักงานคระกรรมการกำกับกิจการพลังงาน. (2560). บทความ : องค์ความรู้ด้านการตรวจสอบภายใน. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: https://ia.erc.or.th/index.php/publishdoc/publishdoc-etc/87-2017-07-29-14-22-15
วรางคนางค์ สกุลวงศ์ ลี หยาน และ ธนสาร วาสันธิ์. (2563). การเปลี่ยนแปลงของการตรวจสอบภายในยุค 4.0. วารสารสภาวิชาชีพบัญชี. 2(6), 77-91.
สำนักกำกับและพัฒนาการตรวจสอบภาครัฐ กรมบัญชีกลาง. (2551). การตรวจสอบภายในภาคราชการ. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: https://fis.ru.ac.th/km/jupgrade/images/km_pdf/finkm-22-01/p10-2.pdf
สำนักงานตรวจสอบภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหง. (2559). การจัดการความรู้เรื่องการตรวจสอบภายใน. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: http://www.audit.ru.ac.th/km/kmhow.pdf
อรพินท์ รัตนโชติพานิช. (2560). การพัฒนาบทบาทการตรวจสอบภายในภาครัฐสมัยใหม่. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: https://www.doa.go.th/share/docs/ audit/ audit1.pdf
อังคณา นิวาศะบุตร. (2555). การตรวจสอบภายใน. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: http://acc.pongsawadi.ac.th/files/2012/10/audit_internal.pdf
เอกชัย อาชาพิพัฒน์. (2559). บทบาทหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายในยุคใหม่. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: https://www.spu.ac.th/uploads/contents/20161124150928.pdf
INTERNAL AUDITING AND CONTROL. (2561). กระบวนการตรวจสอบภายในและการสำรวจเบื้องต้น. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: https://sudaporn923261101.wordpress.com/2018/04/16/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0 %B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8 %A7%E0%B8%88%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%A0%E0%B8%B2 %E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%81/