ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา “เรื่องสำคัญที่ควรรู้”
01
Feb
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา “เรื่องสำคัญที่ควรรู้”
Personal income tax “Important things to know”
Personal income tax “Important things to know”
วิริยะศิตา พิมพ์สุวรรณ
Wiriyasita Pimsuwan
fasai_ta@hotmail.com
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
บทคัดย่อ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไปและหรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณพิเศษตามที่กฎหมายกำหนด และมีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยปกติจัดเก็บเป็นรายปีรายได้ที่เกิดขึ้นในปีใดๆ ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการตนเอง ตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนด ซึ่งจะต้องยื่นภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป สำหรับผู้มีเงินได้บางกรณีกฎหมายยังกำหนดให้ยื่นแบบเสียภาษีตอนครึ่งปี สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ที่ต้องชำระ และเงินได้บางกรณี กฎหมายกำหนดให้ ผู้จ่ายทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้ที่จ่ายบางส่วน เพื่อให้มีการทยอยชำระภาษี ขณะที่มีเงินได้เกิดขึ้นอีกด้วย ในแต่ละปีมีผู้เสียภาษีจำนวนมากที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจการการเสียภาษีและยังคงไม่เห็นความสำคัญในการเสียภาษี เราซึ่งเป็นบุคคลผู้มีรายได้ จึงไม่ควรหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีในแต่ละปี เพื่อจะได้ไม่ให้เกิดเหตุการณ์โดนค่าปรับจากการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง
คำสำคัญ : ภาษี, ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ความเข้าใจ
Abstract
Personal income tax It is a tax collected from the general public and or from a special tax authority as required by law. And have income generated according to the specified criteria usually collected on an annual basis, the income generated in any year. Income earners are obliged to list themselves. according to the prescribed tax return form which must be filed within January-March of the following year. For those with certain incomes, the law also requires that the tax return be filed at half year. For the actual income in the first half of the year in order to alleviate the burden of taxes that must be paid and income in some cases the law requires The payer is responsible for withholding tax on some of the income paid. In order to have a gradual tax payment while there is income coming up as well there are many taxpayers each year who lack the knowledge and understanding of taxation and still do not see the importance of paying taxes. We who are income people therefore, you should not avoid paying taxes each year. In order to avoid the occurrence of a fine from the retroactive tax collection
Keywords : Taxes, Personal income tax, Understanding
บทนำ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นภาษีทางตรงประเภทหนึ่งที่เป็นแหล่งเงินได้สำคัญของประเทศ ซึ่งมีหลักการจัดเก็บภาษีจากเงินหรือรายได้อันเนื่องมาจากความสามารถหรือทรัพย์สินของบุคคลเป็นสำคัญ ถ้าไม่มีกฎหมายยกเว้นให้จะอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีทั้งสิ้น ผู้เสียภาษีไม่สามารถผลักภาระภาษีไปให้ผู้อื่นได้ ฐานภาษีของภาษีนี้ เรียกว่า เงินได้สุทธิ ซึ่งคานวณจากการนาเงินได้พึงประเมินตลอดทั้งปีภาษี (ปีปฏิทิน)ไปหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ ที่กฎหมายกาหนดตามประมวลรัษฎากร (กลุ่มนักวิชาการภาษีอากร, 2557) รัฐบาลของทุกประเทศมีหน้าที่หลักในการบริหาร และพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า ทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ อันจะส่งผลให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุขทั้งนี้รัฐบาลไทยจำเป็นต้องมีรายได้เป็นจำนวนมากเพื่อนำมาใช้บริหารและพัฒนาประเทศ แหล่งรายได้ที่สำคัญคือ “ภาษีอากร” ซึ่งมีหลายประเภท โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานับเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ ซึ่งรัฐบาลมีรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีงบประมาณ 2562-2563 เดือนตุลาคม 2562- เมษายน 2563 เท่ากับ 1,795,056.76 ,ล้านบาท (กรมสรรพากร, 2563) หากประชาชนผู้มีหน้าที่เสียภาษีมี ความตระหนักในการเสียภาษีที่ถูกต้องตามเวลาที่กำหนด มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการเสียภาษีเป็นอย่างดี อันเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่ดีของประเทศชาติแล้วนั้น ประเทศชาติก็จะมีเงินได้จากภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจในด้านการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประชาชนผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2. เพื่อเป็นข้อมูลให้กับประชาชนในการศึกษาความสำคัญของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
3. เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงโทษของการหลีกเลี่ยงภาษี
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ภาษี คือเงินที่เรียกเก็บจากประชาชนโดยจะนำเงินดังกล่าวนั้นไปพัฒนาประเทศ ซึ่งหากเปรียบบทบาทของภาษีกับประเทศไทยอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยเปรียบเหมือนตัวบุคคล และภาษีเปรียบเสมือนรายได้อย่างหนึ่งที่เข้าสู่ประเทศ ถึงแม้ว่ารายได้หลักของประเทศไทยจะมาจากการส่งออกนำเข้าสินค้าและบริการรวมถึงการท่องเที่ยว แต่ภาษีก็เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนและเป็นน้ำมันหล่อลื่นให้กับระบบเศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ด้วยดี ดังนั้นหากเปรียบง่ายๆ คือ ภาษีเหมือนกับค่าธรรมเนียมค่าเช่าที่สมาชิกทักคนในประเทศจะต้องจ่ายเมื่อใช้ทรัพย์ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในประเทศหรือเป็นพนักงาน ประชาชนทั่วไปที่ใช้ถนน ใช้รถไฟ ใช้สะพาน และสาธารณูปโภคต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งหากสมาชิกทุกคนร่วมกันใช้ทรัพยากรหรือสาธารณูปโภคนั้นๆ แล้วก็ต้องช่วยกันจ่ายเงินบำรุงทรัพยากรนั้นสามารถใช้ประโยชน์ได้ต่อไปในอนาคต หรือนำเงินที่เรียกเก็บแต่ละคนในแต่ละปีนำไปพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ภาษีจึงมีความสำคัญกับประเทศอย่างมากในฐานะเป็นแหล่งรายได้ที่จะนำเงินงบประมาณดังกล่าวมาจัดจ้างผู้คนมาทำงานให้กับรัฐ
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาโดยมีสถานะ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
1. บุคคลธรรมดา
2. ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
3. ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
4. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
5. วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล (กรมสรรพากร, 2564)
เมื่อมีเงินได้ผู้เสียภาษีจะต้อง ขอมีเลข และบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีเงินได้เกิดขึ้น กรณีเป็นผู้มีเงินได้ ที่ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน ได้แก่ เป็นคนต่างด้าว หรือกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่เว้นแต่ ผู้มีเงินได้ ที่มีเลขประจำตัวประชาชน สามารถใช้ เลขประจำตัวประชาชน แทนเลขประจำตัว ผู้เสียภาษีอากรได้ โดยไม่ต้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรอีก ผู้มีเงินได้ที่มีภูมิลำเนา อยู่ในกรุงเทพมหานคร อาจยื่นคำร้อง ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ทั้ง 30 แห่ง หรือ สำนักสรรพากรพื้นที่ สาขา(อำเภอ)ทุกแห่ง สำหรับในต่างจังหวัด ยื่นคำขอได้ที่สำนักงานสรรพากร พื้นที่ (จังหวัด) และสำนักงานสรรพากร พื้นที่สาขา (อำเภอ) ทุกแห่ง แล้วแต่กรณี ยื่นแบบแสดงรายการ ปกติปีละ 1 ครั้ง เงินได้ ของปีใด ก็ยื่นแบบฯ ภายใน วันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป เว้นแต่ เงินได้ บางลักษณะ เช่น การให้เช่า ทรัพย์สิน เงินได้จาก วิชาชีพอิสระ เงินได้จาก การรับเหมา เงินได ้จากธุรกิจ การพาณิชย์ เป็นต้น จะต้อง ยื่นแบบฯ ตอนกลางปี สำหรับเงินได้ ที่เกิดขึ้นใน 6 เดือนแรก ภายใน เดือนกันยายน ของทุกปี ตามกฎหมาย เงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เรียกว่า "เงินได้พึงประเมิน" หมายถึง เงินได้ของบุคคลใดๆ หรือหน่วยภาษีใดข้างต้นที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ของปีใดๆ หรือเงินได้ ที่เกิดขึ้นในปีภาษี ได้แก่ เงิน ทรัพย์สินซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ที่ได้รับจริง ประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้ เครดิตภาษีตามที่กฎหมายกำหนด (กลุ่มนักวิชาการภาษีอากร, 2557)
แหล่งเงินได้อันเป็นเหตุให้ต้องนำไปรวมคำนวณภาษี
แหล่งที่มาของเงินได้ ซึ่งแบ่งเป็นเงินได้จากแหล่งในประเทศและนอกประเทศ เงินได้จากแหล่งต่างๆ นี้จะต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ ให้พิจารณา ดังนี้
1. เงินได้เกิดจากแหล่งในประเทศ หมายถึง เงินได้ที่เกิดขึ้น หรือเป็นผลสืบเนื่องจากมี หน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย หรือ กิจการที่ทำในประเทศไทย หรือ กิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือ ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า ฯลฯ เงื่อนไข ผู้มีเงินได้เกิดจากแหล่งในประเทศนี้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามที่ประมวลรัษฏากร กำหนดไว้เสมอเว้นแต่จะมีข้อยกเว้นตามกฎหมาย ทั้งนี้ ไม่ว่าเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วนั้น จะจ่ายในหรือนอกประเทศ และไม่ว่าผู้มีเงินได้นั้นจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม)
2. เงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศไทย หมายถึง เงินได้ที่เกิดขึ้นหรือเป็นผลสืบเนื่องจากมี หน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ หรือ กิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือ ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ เงื่อนไข ผู้มีเงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วจะต้องเสียภาษีเงินได้ ในประเทศไทยก็ต่อเมื่อเข้าองค์ประกอบทั้ง 2 ประการ ดังต่อไปนี้ (1) ผู้มีเงินได้เป็น ผู้อยู่ในประเทศไทย ในปีภาษีนั้นชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลา รวมทั้งหมดถึง 180 วัน และ (2) ผู้มีเงินได้ นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้นด้วย ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาบางกรณี ถ้าเกี่ยวข้องกับบุคคลของบางประเทศที่มี อนุสัญญาภาษีซ้อน* หรือความตกลงเพื่อป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาถึงความ ตกลงหรืออนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยได้ทำความตกลงไว้ด้วย
ประเภทเงินรายได้ที่ต้องเสียภาษี
เนื่องจากผู้มีเงินได้ประกอบอาชีพแตกต่างกัน มีความยากง่ายหรือต้นทุนที่แตกต่างกัน เพื่อความ เป็นธรรม ในกฎหมายจึงได้แบ่งลักษณะเงินได้(พึงประเมิน) ออกเป็นกลุ่มๆ ตามความเหมาะสมเพื่อกำหนด วิธีคำนวณภาษีให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด ดังนี้
1. เงินได้ประเภทที่ 1 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น- เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากนายจ้าง เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ซึ่งนายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน เช่น มูลค่าของการได้รับประทานอาหาร เป็นต้น
2. เงินได้ประเภทที่ 2 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็น ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือ จากการรับทำงานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว
3. เงินได้ประเภทที่ 3 ได้แก่ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะ เป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล
4. เงินได้ประเภทที่ 4 ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น ฯลฯ เป็นต้น (1) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ไม่ว่าจะมี หลักประกันหรือไม่ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว หรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอน กับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น เป็นผู้ออกและจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน รวมทั้งเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่น ๆ ที่ได้จากการให้กู้ยืมหรือจากสิทธิเรียกร้องในหนี้ทุกชนิดไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ตาม (2) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กองทุนรวม หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายไทยให้จัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะสำหรับให้กู้ยืมเงิน ฯลฯ (3) เงินโบนัสที่จ่ายแก่ผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (4) เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน (5) เงินเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งจากกำไรที่ได้มาหรือรับช่วงกันไว้รวมกัน (6) ผลประโยชน์ที่ได้จากการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากันหรือรับช่วงกันหรือ เลิกกัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน (7) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วนหรือโอนหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตั๋วเงิน หรือ ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก ทั้งนี้เฉพาะซึ่งตีราคา เป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เงินได้ประเภทที่ 4 ในหลาย ๆ กรณี กฎหมายให้สิทธิที่จะเลือกเสียภาษีโดยวิธีหักภาษี ณ ที่จ่าย แทนการนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นตามหลักทั่วไป ซึ่งจะทำให้ผู้มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามบัญชีอัตราภาษี ในอัตราที่สูงกว่าอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่าย สามารถประหยัดภาษีได้
5. เงินได้ประเภทที่ 5 เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เงินหรือประโยชน์อย่างอื่น ที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นโดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว
6. เงินได้ประเภทที่ 6 ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้
7. เงินได้ประเภทที่ 7 ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ
8. เงินได้ประเภทที่ 8 ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 แล้ว
กรณีลืมยื่นภาษีหรือเสียภาษีล่าช้า ซึ่งบทลงโทษและค่าปรับจะลดหลั่นกันไปตามความผิด ดังต่อไปนี้
1. ยื่นแบบภาษีทันกำหนด แต่เสียภาษีไม่ครบ มีค่าปรับดังนี้ เสียเบี้ยปรับ 0.5 - 1 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ
2. ไม่ได้ยื่นแบบภาษีภายในกำหนด มีค่าปรับดังนี้ มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 2,000 บาท เสียเบี้ยปรับ 1 - 2 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ
3. เจตนาละเลยไม่ยื่นแบบภาษีภายในกำหนดเพื่อเลี่ยงภาษี มีค่าปรับดังนี้ มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 5,000 บาท จำคุกสูงสุด 6 เดือน เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของค่าภาษีที่ต้องจ่าย เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ
4. หนีภาษี มีค่าปรับดังนี้มีโทษปรับทางอาญาตั้งแต่ 2,000 - 200,000 บาท จำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของค่าภาษีที่ต้องจ่ายเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ
จากการทบทวนวรรณและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่าเกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม (2543: 1432-144) ซึ่งกล่าวว่า ความสำนึกในการเสียภาษีอากรของผู้เสียภาษีอากรจะบังเกิดผลได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการซึ่งจำต้องพัฒนาปัจจัยเหล่านี้ให้สมบูรณ์ดียิ่งขึ้นก่อนปัจจัยหนึ่งคือ การพัฒนาการศึกษาแก่ประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจอย่างดี รวมทั้งการให้การศึกษาเกี่ยวกับภาษีอากรประเภทต่าง ๆ และวิธีการเสียภาษีอากรแต่ละประเภทด้วย และยังสอดคล้องกับแนวคิดในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นอกจากนี้สมศรี ขันทอง.(2550) นิยามความรู้ความเข้าใจ หมายถึงความสามารถในการจดจำข้อเท็จจริง รวมถึงรายละเอียดต่าง ๆ จากการศึกษา การสังเกต การได้ยิน การมองเห็น และจากประสบการณ์ที่ได้สะสมและถ่ายทอดสืบต่อกันมา ส่วนความเข้าใจเป็นความสามารถในการนำความรู้มาแปลความ ตีความ และสรุปความตามความเข้าใจขอบบุคคลนั้น ความรู้ความเข้าใจ คือสิ่งที่เกิดมาจากการสั่งสมจากการศึกษา การค้นคว้าหรือประสบการณ์ รวมถึงความสามารถเชิงปฏิบัติและทักษะความเข้าใจหรือสารสนเทศที่ได้รับมาจากประสบการณ์ ทั้งการได้ยิน การฟัง การคิด หรือการปฏิบัติองค์วิชาในแต่ละสาขา นอกจากนี้สายสมร สังข์เมฆ (2553) ได้ศึกษาเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประชาชนในจังหวัดภูเก็ต ผลการศึกษาพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อยู่ในระดับปานกลาง นอกจากนี้ Jit Bahadur & Anant Lal Karn (2019) ได้ทำการศึกษาเรื่องการประเมินโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในเนปาล ซึ่งพบว่านโยบายภาษีที่ดีควรมุ่งมั่นที่จะให้ประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้เสียภาษีหรือรัฐบาล การกำหนดอัตราภาษีและเงินที่จ่ายก็เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจในการเสียภาษี ระบบเศรษฐกิจมีผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว การจัดเก็บภาษีมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นกัน นอกจากนี้ Allingham & Sandmo (1972) กล่าวถึงทฤษฎีความพึงพอใจสูงสุดของผู้เสียภาษี (Unitily Maximization Model of Taxpayers) ทฤษฎีนี้มีแนวคิดพื้นฐานว่าการตรวจสอบภาษี (Tax Audit) และบทลงโทษ (Penalty) เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการเลือกแสดงรายได้ของผู้เสียภาษี โดยมีสมมติมฐานหลัก 2 ประการคือ ผู้เสียภาษีตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผลและเป็นการตัดสินใจบนความไม่แน่นอน
สรุป
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมาดา เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้มีรายได้ จะต้องเล็งเห็นความสำคัญและเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูล รายละเอียดและวิธีการยื่นภาษี เพื่อผู้เสียภาษีจะได้ไม่พลาดเกี่ยวกับการยื่นแบบ การหักค่าลดหย่อนต่างๆ รวมถึงเพื่อจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์โดนค่าปรับจากการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง อันเนื่องมาจากการไม่ยื่นแบบและไม่เข้าใจการยื่นภาษี ผู้เสียภาษีเงินได้จะต้องรู้ว่าใครบ้างที่ต้องเสียภาษี มีเงินได้อะไรบ้างที่ต้องเสียภาษี ภาษีระหว่างปีต้องเสียอย่างไร ประเภทของเงินได้ วิธีการคำนวณภาษี การหัก ค่าใช้จ่าย การหักค่าลดหย่อน กำหนดการยื่นแบบ วิธีการชำระ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ควรต้องรู้และเข้าใจ หากเรายื่นภาษีไม่ตรงกำหนดเวลาจะให้มีต้องเสียภาษีย้อนหลัง และต้องเสียค่าปรับเงินเพิ่มตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น เรื่องของภาษีเป็นสิ่งสำคัญมากไม่ว่ารัฐหรือประชาชนเพราะภาษีที่เราร่วมกันช่วยจ่ายให้กับรัฐสุดท้ายก็จะส่งผลย้อนกลับมาที่ตัวเราเอง ญาติผู้ใหญ่ หรือลูกหลานของเรา ถ้าประชาชนทุกๆคนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ก็จะสามารถนำพาประเทศชาติไปสู่ความมั่งคั่งอันสูงสุด
ข้อเสนอแนะ
เนื่องจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมาเป็นสิ่งที่ประชาชนคนทั่วไปควรรับรู้ จากการรวบรวมข้อมูลเพื่อให้ผู้อ่านหรือผู้เสียภาษีเงินได้นำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งข้อมูลมีจำนวนมาก จึงเสนอให้ศึกษาจากบทความอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ การจัดอบรมสัมนา วารสารวิชาการ ข้อมูลจากกรมสรรพากรเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้ผู้เสียภาษีทราบถึงรายละเอียดเชิงลึก และมีความชัดเจน เข้าใจในเนื้อหายิ่งขี้นต่อไปและเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีย้อนหลังและเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่ม
บรรณานุกรม
กรมสรรพากร, 2563 ผลการจัดเก็บภาษี. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 กรฏาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.rd.go.th/310.html
กรมสรรพากร, 2564 ประเภทของเงินได้. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2564. เข้าถึงได้จาก http://www.rd.go.th/publish/309.0.html
กรมสรรพากร, 2564 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฏาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.rd.go.th/548.html
เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม. (2543). การคลังว่าด้วยการจัดสรรและการกระจาย.(พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กลุ่มนักวิชาการภาษีอากร. (2557). ภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์.
สายสมร สังข์เมฆ. (2553). ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภําษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประชาชนในจังหวัดภูเก็ต.นนทบุรี: มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์.
สัจจวัตน์ เรืองกาญจน์กุล. (2557) มาตรการทางกฎหมายในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับกรณีห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล, สาขานิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์, มหาวิทยาลัยรามคำแหง. https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/retroactive-tax-collection
สมศรี ขันทอง. (2550) ความพึงพอใจของผู้เสียภาษีต่อการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มทางอินเตอร์เน็ตในจังหวัดนนทบุรี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชราพัฒนาสังคม,บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. Jit Bahadur K.C. Anant Lal Karn K.C., J., & Karn, A. (2019). Personal Income Tax Structure in Nepal: An evaluation. NCC Journal, 4(1), 69-84.
https://doi.org/10.3126/nccj.v4i1.24739
Sung, Myung Jae; Jeon, Byung Mok; Jun, Byung-Hill (2009) Korean Journal of Policy Studies, Vol.24 No.1, pp. 59-80 Graduate School of Public Administration, Seoul National University http://hdl.handle.net/10371/69834