ความสำคัญของระบบควบคุมภายใน
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเกี่ยวกับระบบการควบคุมภายในว่ามีความเกี่ยวข้องกับความสำเร็จในการดําเนินงานของกิจการอย่างไร โดยการควบคุมภายในมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 3 ประการ คือ (1) ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการปฏิบัติงาน (2) ความเชื่อถือได้ของรายงานทางการเงิน (3) การปฏิบัติตามกฎหมาย และกฎระเบียบ
จากการศึกษาพบว่าการควบคุมภายในมีความจําเป็นและเกี่ยวข้องกับความสำเร็จในการดําเนินงานของกิจการเป็นอย่างมาก คณะกรรมการจึงใช้การควบคุมภายในเป็นเครื่องมือควบคุมการดําเนินงานให้มีประสิทธิภาพ ช่วยป้องกันรักษาทรัพย์สินของกิจการและช่วยให้การปฏิบัติงานในขั้นตอนต่าง ๆ เป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม รวมทั้งป้องปรามหรือลดความเสี่ยงลงให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งระบบการควบคุมภายในที่ดี ไม่ควรมีมากเกินไปหรือน้อยเกินไป และต้องแทรกอยู่ในกระบวนการปฏิบัติงานตามปกติประกอบกับต้องใช้อย่างถูกต้อง กล่าวคือ หากเข้มงวด หรือเคร่งครัดเกินสมควรอาจทำให้การปฏิบัติงานติดขัด ล่าช้า ไม่คล่องตัว ในทางตรงกันข้ามหากปล่อยปละละเว้นไม่ปฏิบัติตามระบบการควบคุมภายใน ที่กำหนดก็อาจทำให้เกิดความเสียหายหรือการทุจริตขึ้น ที่สำคัญต้องสร้างจิตสํานึกกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมภายใน
คำสำคัญ : การควบคุมภายใน
Abstract
The purpose of this study was to study the importance of internal control system and how it relates to the success of the Company's operations. Internal control has three main objectives: (1) efficiency and effectiveness of operations (2) reliability of financial reports (3) compliance with laws and regulations.
Studies have shown that internal control is essential and is highly relevant to the success of an entity's operations. The Board therefore uses internal control as a tool to control operations. to be effective It helps to protect and maintain the assets of the company and helps the operation in various steps to be carried out properly, appropriately, including preventing or reduce the risk to a minimum which a good internal control system There should not be too many or too little and must be inserted in the normal operation process and must be used correctly, that is, if it is unreasonably strict or strict, it may cause the operation to be interrupted, delayed, and inflexible. Failure to comply with the prescribed internal control system may cause damage or corruption. It is important to create awareness and encourage officers to realize the importance of internal control.
Keywords: internal control,
บทนำ
ในการประกอบธุรกิจไม่ว่าจะเป็นองค์กรประเภทใดหรือขนาดใดก็ตาม เจ้าของหรือผู้บริหาร องค์กรย่อมมุ่งหวังให้การดําเนินงานประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้รวมทั้งมีความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องและมั่นคง หากแต่โอกาสที่องค์กรจะประสบกับความเสี่ยง ความเสียหาย จากการดําเนินงานหรือมีการทุจริต อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา สำหรับองค์กรขนาดเล็กที่มีปริมาณธุรกิจไม่มาก เจ้าของหรือผู้บริหารอาจดำเนินธุรกิจด้วยตนเอง โดยควบคุมดูแลได้อย่างทั่วถึงและสามารถบริหารงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่เมื่อองค์กรมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีปริมาณธุรกิจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจมีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น ประกอบกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงและแข่งขันกันอย่างรุนแรง เจ้าของหรือผู้บริหารเพียงคนเดียวไม่อาจควบคุมดูแลได้อย่างทั่วถึง และไม่สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงใช้ระบบการควบคุมภายในเป็นเครื่องมือควบคุมการดําเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ ช่วยป้องกันและรักษาทรัพย์สินขององค์กร และช่วยให้การปฏิบัติงานในขั้นตอนต่าง ๆ เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งป้องปราม หลีกเลี่ยง หรือลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด ระบบการควบคุมภายในจึงมีความจําเป็นและเกี่ยวข้องกับความสำเร็จในการดําเนินงานขององค์กรอย่างมาก (กรมตรวจบัญชีสหกรณ์)
วัตถุประสงค์
- เพื่อศึกษาความเกี่ยวข้องของการควบคุมภายในกับความสำเร็จในการดําเนินงานของกิจการ
จันทนา สาขากร และคณะ (2554, น.3) ได้กล่าวว่า ระบบควบคุมภายใน หมายถึง นโยบาย ระเบียบและวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้บริหารได้มีการกำหนดขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานและองค์กรสามารถดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ในการปฏิบัติงานและทางด้านการดำเนินงาน ด้านบัญชีและการเงินและด้านการปฏิบัติงานตามกฎระเบียบ องค์ประกอบของการควบคุมภายในตามแนวคิดของโคโซ่ (COSO) ประกอบด้วยสภาพแวดล้อมของการควบคุม ความซื่อตรงและจริยธรรม หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงาน การประเมินความเสี่ยงการวิเคราะห์ความเสี่ยงอย่างครอบคลุม กิจกรรมการควบคุมมีการควบคุมให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามนโยบาย ข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสารมีการสื่อสารกับผู้ปฏิบัติหน้าที่ภายนอกถึงประเด็นที่อาจกระทบต่อการปฏิบัติงาน และการติดตามและประเมินผลมีการประเมินและสื่อสารข้อบกพร่องของระบบควบคุมภายในทันเวลาและเหมาะสมที่สุด
นิพันธ์ เห็นโชคชัยชนะ และศิลปะพร ศรีจั่นเพชร (2554, น. 8) ได้กล่าวถึงความหมายของ ระบบควบคุมภายในว่าเป็นนโยบาย และเป็นวิธีการปฏิบัติงานหรือการที่ผู้ปฏิบัติได้กระทำการใด ๆ ตามขั้นตอน ซึ่งมีผู้บริหารขององค์กรเป็นผู้มีหน้าที่ร่วมกันกำหนดขึ้น เพื่อสร้างตัวช่วยให้ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้บรรลุถึงเป้าหมายที่ได้มีการกำหนดไว้ได้อย่างสำเร็จ สร้างความมั่นใจต่อผู้ปฏิบัติงานได้ว่าการปฏิบัติงานและการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีระเบียบ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งรวมถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตรงตามนโยบายของผู้บริหาร มีการป้องกันรักษาทรัพย์สิน การป้องกันและการตรวจการกระทำอันทุจริต ลดข้อผิดพลาด เพิ่มความถูกต้องและความครบถ้วนของการบันทึกบัญชี และการจัดทำข้อมูลทางการเงินที่เชื่อถือได้อย่างทันเวลา
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ (www.cad.go.th) ได้กล่าวถึงความหมายของการควบคุมภายในว่าการควบคุมภายในนั้นเป็นที่ยอมรับและนํามาประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลาย ในปัจจุบัน กำหนดขึ้นโดยคณะกรรมการจากสถาบันวิชาชีพ 5 สถาบันในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แก่
- สถาบันผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งสหรัฐอเมริกา (American Institute of Certified Public Accountants หรือ AICPA)
- สถาบันผู้ตรวจสอบภายในสากล (Institute of Internal Auditors หรือ IIA)
- สถาบันผู้บริหารการเงิน (Financial Executives Institute หรือ FEI)
- สมาคมนักบัญชีแห่งสหรัฐอเมริกา (American Accounting Association หรือ AAA)
- สถาบันนักบัญชีเพื่อการบริหาร (Institute of Management Accountants หรือ IMA)
1. ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการปฏิบัติงาน (Effectiveness and Efficiency of operations) โดยมุ่งเน้นให้มีการใช้ทรัพยากรขององค์กรในการดําเนินงาน ซึ่งประกอบด้วย คน เงิน ทรัพย์สิน วัสดุ เครื่องมือเครื่องใช้และเวลาให้เป็นไปอย่างประหยัดและได้ผลคุ้มค่า มีการดูแลรักษาทรัพย์สินให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน มีการป้องกันมิให้ทรัพย์สินมีการสิ้นเปลือง สูญเปล่า เสียหายหรือสูญหาย และปลอดภัยจากการกระทำการทุจริต กล่าวโดยสรุปเมื่อการดําเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลจะส่งผลให้เกิดการป้องกันดูแลรักษาทรัพย์สินขององค์กรไปพร้อมกัน
2. ความเชื่อถือได้ของรายงานทางการเงิน (Reliability of financial reporting) ความเชื่อถือได้และความถูกต้องของรายงานทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญต่อผู้ใช้ไม่ว่าจะเป็นบุคคลภายใน หรือ บุคคลภายนอกองค์กร ได้แก่ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน เจ้าหนี้ลูกค้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น โดยใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจและวางแผนการดําเนินงานในอนาคต จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่ต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่ารายงานทางการเงินขององค์กรให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง และมีคุณภาพ
3. การปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบ (Compliance with applicable laws and regulations) เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายใด ๆ ขึ้นกับองค์กร จากสาเหตุการละเว้นไม่ปฏิบัติหรือ ปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กร รวมถึงข้อบังคับและกฎระเบียบขององค์กรเอง
จันทนา สาขากรและคณะ, (2554, น. 2-5) ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับการควบคุมภายในองค์กร ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องต่อไปนี้
1. ความรับผิดชอบของผู้บริหาร การจัดให้มีการวางระบบการควบคุมภายในเป็นความรับผิดชอบของผู้บริหาร เพื่อช่วยให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่บัญชีบรรลุวัตถุประสงค์ที่จะทำให้เกิดความมั่นใจเท่าที่จะสามารถทำได้ว่า การดำเนินธุรกิจจะเป็นไปอย่างมีระเบียบและมีประสิทธิภาพ
2. ความมั่นใจอย่างสมเหตุสมผล ในการจัดให้มีระบบการควบคุมภายในย่อมมีต้นทุนเกิดขึ้น ผู้บริหารควรมีความมั่นใจอย่างสมเหตุสมผลว่าต้นทุนของการควบคุมภายในต้องไม่สูงมากกว่าประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดให้มีระบบการควบคุมภายใน
3. ข้อจำกัดสืบเนื่องตามลักษณะของระบบควบคุมภายใน ระบบควบคุมภายในถึงแม้จะมีการออกแบบไว้อย่างดีแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถให้ข้อสรุปแก่ผู้บริหารว่าระบบการควบคุมภายในได้บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว เนื่องจากระบบควบคุมภายในมีข้อจำกัดสืบเนื่องภายในตัวเอง เช่น โอกาสที่จะเกิดข้อผิดพลาดจากผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากความไม่ระมัดระวัง พลั้งเผลอ การใช้ดุลยพินิจผิดพลาดหรือไม่เข้าใจคำสั่ง โอกาสที่จะเกิดการหลีกเลี่ยงขั้นตอนของการควบคุมภายใน โดยผู้บริหารหรือโอกาสที่ผู้ปฏิบัติงานซึ่งรับผิดชอบในการควบคุมภายในใช้อำนาจนั้นในทางที่ผิด
จากการศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการควบคุมภายในข้างต้น จะเห็นได้ว่าการควบคุมภายในเป็นแนวปฏิบัติที่ผู้บริหารได้มีการกำหนดขึ้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่บัญชีได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน เป็นการป้องกันการทุจริตและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในการปฏิบัติงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผลและเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามแบบแผนขององค์กร
การวางระบบควบคุมภายในประกอบด้วยองค์ประกอบ 5 ด้าน ที่มีความสำคัญ ผู้วิจัยได้รวบรวมองค์ประกอบของระบบควบคุมภายในที่มีผู้ให้คำจำกัดความได้ ดังนี้ (COSO, 2013) ได้วางแนวคิดเกี่ยวกับการวางระบบควบคุมภายใน โดยระบบควบคุมภายในประกอบด้วยองค์ประกอบ 5 ด้าน ดังนี้
1. สภาพแวดล้อมของการควบคุม (Control Environment) มีกระบวนการและโครงสร้างที่เป็นมาตรฐานของปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ การปฏิบัติงานตามระบบควบคุมภายในขององค์กร คณะกรรมการบริหารและผู้บริหารองค์กรระดับสูง ควรให้ความสำคัญกับระบบควบคุมในการดำเนินงานโดยให้ครอบคลุมในทุกระดับ ทุกกิจกรรมในองค์กร สภาพแวดล้อมของการควบคุมประกอบด้วย ความซื่อสัตย์ ความมีจริยธรรม ความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน ซึ่งในโครงสร้างขององค์กรจำเป็นต้องมีการกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ การพัฒนาเจ้าหน้าที่ในด้านความรู้ความสามารถ ผลตอบแทน สวัสดิการของพนักงาน สิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งผลให้เกิดแรงจูงใจ เกิดแรงผลักดันให้แก่พนักงาน มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน และส่งผลที่ดีต่อสภาพแวดล้อมของระบบการควบคุมภายในได้
2. การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอาจมาจากปัจจัยภายในหรือปัจจัยภายนอก ความเสี่ยงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และยังส่งผลกระทบต่อการบรรลุผลสำเร็จขององค์กร การประเมินความเสี่ยงเป็นกระบวนการที่ระบุและวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นการประเมินความเสี่ยงจึงเป็นการระบุถึงสาเหตุของความเสี่ยง ซึ่งความเสี่ยงที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะมีการรายงานผลการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่มีความครบถ้วนและเพียงพอแล้วก็ตาม การประเมินความเสี่ยงต้องมีการจัดการโดยต้องคำนึงถึงผลกระทบภายในที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ รูปแบบของธุรกิจ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบการควบคุมภายใน และองค์กรต้องมีการกำหนดวิธีการจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นให้มีความเหมาะสม
3. กิจกรรมการควบคุม (Control Activities) เป็นการดำเนินงานตามนโยบายตามขั้นตอนและตามคำสั่งของผู้บริหารที่ได้กำหนดขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ กิจกรรมการควบคุมได้กำหนดในทุกระดับและทุกกิจกรรม เช่น การอนุญาต การอนุมัติ การตรวจสอบ การประเมินผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ การแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบ โดยให้มีการแบ่งแยกหน้าที่ในการปฏิบัติงานหรือการสับเปลี่ยนหน้าที่ในการปฏิบัติงาน
4. สารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication) ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้บริหารในการดำเนินธุรกิจ เพื่อใช้ในการตัดสินใจในการดำเนินงาน ข้อมูลที่ดีและมีคุณภาพอาจมาจากภายในและภายนอกองค์กร ระบบการควบคุมภายในที่ดีควรมีการสื่อสารที่ดี มีข้อมูลที่ครบถ้วน มีความเพียงพอ และจำเป็นต่อการตัดสินใจองค์กรควรมีการสื่อสารข้อมูลที่ดี โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภายในองค์กรหรือภายนอกองค์กร เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้ตามนโยบายและให้องค์กรมีการดำเนินงานที่บรรลุตามวัตถุประสงค์
5. การติดตามและประเมินผล (Monitoring and Evaluation) เป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และเป็นการประเมินประสิทธิภาพของการควบคุมภายในขององค์กรตามที่ผู้บริหารได้มีการกำหนดขึ้น การประเมินผลควรมีการประเมินอย่างสม่ำเสมอ หากพบข้อบกพร่องจะสามารถทำการปรับปรุง แก้ไข ได้อย่างเหมาะสมและทันเวลา การประเมินผลควรมีการประเมินโดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์หรือมาตรฐานที่องค์กรกำหนดไว้โดยที่มาตรฐานนี้เป็นที่ยอมรับทั้งผู้บริหารและคณะกรรมการบริหาร และเมื่อองค์กรพบข้อบกพร่องของระบบการควบคุมภายในควรทำการรายงานผลไปยังผู้บริหารและคณะกรรมการบริหาร
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
อรญา เหง่าศิลา (2562, บทคัดย่อ) ได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง การควบคุมภายในกับประสิทธิภาพการทำงาน โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจาก เจ้าหน้าที่ พนักงาน และข้าราชการ ของกลุ่มตรวจสอบภายใน และส่วนการคลัง และใช้แบบสอบถาม จำนวน 121 ชุด เป็นเครื่องมือ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน จากผลการศึกษา พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างการควบคุมภายในกับประสิทธิภาพการทำงาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ความสัมพันธ์ระหว่างการควบคุมภายในกับประสิทธิภาพการทำงาน ผลวิจัย พบว่า การควบคุมภายใน ประกอบด้วย 5 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมการควบคุม การให้นโยบายและกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานรวมทั้งแนวทางปฏิบัติงานที่มีความชัดเจน มีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทุกคนรับทราบ ปัจจัยด้านการประเมินความเสี่ยง เจ้าหน้าที่ทุกคนมีการรับทราบและมีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินงานให้บรรลุผลสำเร็จในทิศทางเดียวกัน ปัจจัยด้านกิจกรรมการควบคุม วิธีการปฏิบัติงานมีความชัดเจน ปัจจัยด้านสารสนเทศและการสื่อสาร ระบบสารสนเทศในสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ปฏิบัติงานอย่างพอเพียงและเหมาะสม และปัจจัยด้านการติดตามและประเมินผล มีกระบวนการหรือวิธีการติดตามผลการปฏิบัติงานมีการกำหนดอย่างเป็นระบบ เป็นที่ยอมรับได้และมีความต่อเนื่อง มีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งประกอบด้วย 4 ด้าน คือ คุณภาพของงาน ปริมาณของงาน เวลาที่ใช้ในการดำเนินงาน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
หาซูรี โตะตาหยง (2562, บทคัดย่อ) การศึกษาวิจัยนี้เป็นการศึกษาผลกระทบของการควบคุมภายในที่มีผลต่อประสิทธิภาพการ ปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานด้านการเงินและบัญชีของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อนำผลที่ได้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและมาตรการการควบคุมภายในของมหาวิทยาลัยรามคำแหงให้เหมาะสม และเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานด้านบัญชีและการเงินของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ บุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านการเงินและบัญชีในหน่วยงาน กอง คณะ สำนัก สถาบัน ของมหาวิทยาลัย รามคำแหง จำนวน 171 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสอบถาม ซึ่งแจกให้ประชากรและสามารถนำมาวิเคราะห์ได้จำนวน 125 ชุด โดยการวิเคราะห์ข้อมูลผู้วิจัยได้นำแบบสอบถามมาวิเคราะห์โดยหาค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และทำการวิเคราะห์ ถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression Analysis) โดยผลการวิจัยพบว่า การควบคุมภายในของมหาวิทยาลัยรามคำแหงทั้ง 5 ด้าน อยู่ในระดับมาก ได้แก่ ด้านสภาพแวดล้อมการควบคุม ด้านกิจกรรมการควบคุม ด้านการติดตามและประเมินผล ด้านการประเมินความเสี่ยง และด้านสารสนเทศและการสื่อสาร และประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานด้านการเงินและบัญชีของมหาวิทยาลัยรามคำแหงทั้ง 3 ด้าน อยู่ในระดับมาก ได้แก่ ด้านคุณภาพของงานที่ปฏิบัติ ด้านความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน และด้านปริมาณงาน ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานด้านการเงินและบัญชีของมหาวิทยาลัย รามคำแหง นั้น ประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยคือ ด้านการติดตามและประเมินผลมากที่สุด รองลงมาคือ ด้าน กิจกรรมการควบคุม และด้านการประเมินความเสี่ยง
สรัญญา ทั้งสุข (2561, บทคัดย่อ) การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ผลการประเมินการควบคุมภายใน 2) แนวทางการพัฒนาระบบการควบคุมภายใน และ 3) ปัญหาและอุปสรรค ในการจัดวางระบบการควบคุมภายใน ของเทศบาลในจังหวัดเชียงใหม่ การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลการประเมินผลการควบคุมภายใน จากเทศบาลในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 121 คน และการสัมภาษณ์แนวทางการพัฒนาระบบการควบคุมภายใน และปัญหาอุปสรรคในการจัดวางระบบควบคุมภายในประชากรกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาได้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับระบบควบคุมภายในของเทศบาลในเขตจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 13 คน จากเทศบาลขนาดใหญ่ จำนวน 1 คน เทศบาลขนาดกลาง จำนวน 6คน และเทศบาลขนาดเล็ก จำนวน 6 คน ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยใช้สถิติ ค่าสถิติความถี่ และร้อยละ และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยเทคนิคการแจงนับและวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า 1) การประเมินผลการควบคุมภายในของเทศบาลในจังหวัดเชียงใหม่ มีความคิดเห็นเกี่ยวกับการประเมินผลการควบคุมภายในของเทศบาลในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาผลการประเมินการควบคุมภายในแยกตามแต่ละด้าน พบว่า ด้านแผนงาน การประเมินผลการควบคุมภายใน มีระดับความคิดเห็นในระดับมาก ด้านการเงินการบัญชี การประเมินผลการควบคุมภายในมีระดับความคิดเห็นในระดับมากที่สุด ด้านรายได้ การประเมินผลการควบคุมภายใน มีระดับความคิดเห็นในระดับมาก ด้านการใช้จ่ายเงิน การประเมินผลการควบคุมภายใน มีระดับความคิดเห็นในระดับมากที่สุดและด้านการพัสดุ การประเมินผลการควบคุมภายใน มีระดับความคิดเห็นในระดับมาก 2) แนวทางการพัฒนาระบบการควบคุมภายในของเทศบาล ได้แก่ ฝ่ายบริหารควรออกแบบโครงสร้างระบบควบคุมภายในให้สอดคล้องและเหมาะสมกับภารกิจของแต่ละส่วนงานการสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมการควบคุมภายในในหน่วยงาน เช่น การกำหนดจริยธรรมของการทำงาน ความซื่อสัตย์ ความไว้ใจได้ ความโปร่งใส การกำหนดแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมตามหลักธรรมาภิบาล และการประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องเป็นลายลักษณ์อักษร 3) ปัญหาและอุปสรรคในการจัดวางระบบการควบคุมภายในของเทศบาล ได้แก่ บุคลากรในองค์กรยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการ และความสำคัญของระบบควบคุมภายในผู้บริหารไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการจัดวางระบบการควบคุมภายในอย่างจริงจังและการขาดคุณธรรมและจริยธรรมของเจ้าหน้าที่และผู้บริหาร
สรุป
ระบบการควบคุมภายในมีความจําเป็นและเกี่ยวข้องกับความสำเร็จในการดําเนินงานของกิจการเป็นอย่างมาก โดยมีวัตถุประสงค์ของการควบคุมภายในที่สำคัญ 3 ประการ คือ
(1) ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการปฏิบัติงาน
(2) ความเชื่อถือได้ของรายงานทางการเงิน
(3) การปฏิบัติตามกฎหมาย และกฎระเบียบ
คณะกรรมการจึงใช้การควบคุมภายในเป็นเครื่องมือควบคุมการดําเนินงาน ให้มีประสิทธิภาพ ช่วยป้องกันรักษาทรัพย์สินของกิจการและช่วยให้การปฏิบัติงานในขั้นตอนต่าง ๆ เป็นไป อย่างถูกต้อง เหมาะสม รวมทั้งป้องปราม หรือลดความเสี่ยงลงให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งระบบการควบคุมภายในที่ดี ไม่ควรมีมากเกินไป หรือน้อยเกินไป และต้องแทรกอยู่ในกระบวนการปฏิบัติงานตามปกติประกอบกับต้องใช้ อย่างถูกต้อง กล่าวคือ หากเข้มงวด หรือเคร่งครัดเกินสมควรอาจทำให้การปฏิบัติงานติดขัด ล่าช้า ไม่คล่องตัว ในทางตรงกันข้ามหากปล่อยปละ ละเว้นไม่ปฏิบัติตามระบบการควบคุมภายในที่กำหนดก็อาจทำให้เกิดความ เสียหาย หรือการทุจริตขึ้น ที่สำคัญต้องสร้างจิตสํานึกกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมภายใน
อย่างไรก็ดี การควบคุมภายในของแต่ละกิจการอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการว่าให้ความสำคัญกับวัตถุประสงค์ของการควบคุมภายในด้านใดมากกว่ากัน บางกิจการอาจเน้นการป้องกันมิให้ทรัพย์สินมีการสิ้นเปลือง สูญเปล่า เสียหาย หรือสูญหาย และปลอดภัยจากการทุจริต หรือเน้นความเชื่อถือได้และความถูกต้องของรายงานทางการเงิน หรือเน้นการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ซึ่งเป็นเรื่องของนโยบาย ทัศนคติ และลักษณะการดำเนินธุรกิจของกิจการหรือทุกเรื่องผสมผสานกัน ซึ่งในบางครั้งการจัดให้มีระบบการควบคุม ภายในขึ้นทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและอาจไม่คุ้มค่ากับประโยชน์ที่จะได้รับ คณะกรรมการจึงควรพิจารณาจัดให้มีระบบการควบคุมภายในขึ้นในจุดที่สำคัญก่อน ซึ่งหากไม่มีการควบคุมแล้วจะทำให้เกิด ความเสียหาย สูญเสีย รั่วไหล หรือทุจริตได้ง่าย อนึ่ง คณะกรรมการควรกำหนดระบบการควบคุมภายในให้เชื่อมโยง สอดคล้องกับแผนงาน หรือเป้าหมายและแนวทางการบริหารงาน รวมถึงจัดให้มีการติดตามผลการควบคุม ภายในเป็นระยะ ๆ อย่างสม่ำเสมอ และปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ข้อเสนอแนะ
1. หน่วยงานควรส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรในองค์กรตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมภายในเพื่อให้การปฏิบัติงานมีความถูกต้อง ครบถ้วน ตรวจสอบได้ และทันต่อเวลา
2. หน่วยงานควรส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรในองค์กรตระหนักถึงคุณธรรมและจริยธรรมในการปฏิบัติงาน
3. หน่วยงานควรให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน และมีการติดตามผลการควบคุมภายในอย่างสม่ำเสมอ และปรับปรุงให้เหมาะสม
บรรณานุกรม
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ : การควบคุมภายใน. สืบคืนจาก http://www.cad.go.th/
จันทนา สาขากรและคณะ. (2554). การควบคุมภายในและการตรวจสอบภายใน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด
นิพันธ์ เห็นโชคชัยชนะ และศิลปพร ศรีจั่นเพชร. (2554). การสอบบัญชี. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น.8.
หาซูรี โตะตาหยง. (2562). ผลกระทบของการควบคุมภายในที่มีผลต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานด้านการเงินและบัญชีของมหาวิทยาลัยรามคำแหง. มหาวิทยาลัยรามคำแหง ,กรุงเทพฯ , บทคัดย่อ
สรัญญา ทั้งสุข. (2561). การประเมินผลการควบคุมภายใน และแนวทางการพัฒนาระบบการควบคุมภายในของเทศบาลในเขตจังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ , บทคัดย่อ
อรญา เหง่าศิลา. (2562). การควบคุมภายในกับประสิทธิภาพการทำงาน. การค้นคว้าแบบอิสระมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, กรุงเทพฯ , บทคัดย่อ