การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

UploadImage
 
UploadImage
 
การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
Personal income tax planning
 
วรรณภา หาญสูงเนิน
Wannapa Hansungnoen
wannapa_am55@hotmail.com
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม

บทคัดย่อ
          บทความเรื่อง “กางวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” เป็นบทความที่นำเสนอเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรม สิทธิประโยชน์ทางภาษี และการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อใช้เป็นแนวทางและวิธีการในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ถูกต้อง และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามที่กฎหมายกำหนดอย่างสูงสุด ซึ่งวิธีการวางแผนภาษีเพื่อช่วยให้เราเสียภาษีน้อยลง และเสียอย่างถูกตามกฎหมายกำหนดสามารถทำได้หลากหลายวิธี ซึ่งบทความนี้จะกล่าวถึงวิธีการที่จะสามารถช่วยลดค่าภาษีลง 4 วิธี ดังนี้ 1) การลดเงินได้ 2) การเพิ่มค่าใช้จ่าย 3) การเพิ่มค่าลดหย่อน และ 4) การเพิ่มเงินบริจาค
 
คำสำคัญ : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, สิทธิประโยชน์ทางภาษี, การวางแผนภาษี
 
Abstract
          Subject article Personal income tax planning. Presentation about personal income tax tax benefits and personal income tax planning. The purpose of this study is to study the method of personal income tax and The highest legal provision of tax preference. Tax planning methods to help us reduce taxes and lose according to the law can be done in a variety of ways. This article will discuss four ways to reduce car tax as follows. 1) income reduction 2) cost increase 3) adding a discount and 4) Raising donation.

Keywords : personal income tax, tax benefits, tax planning,

บทนำ
          ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax) คือภาษีที่กรมสรรพากรจัดเก็บจากบุคคลทั่วไปที่มีเงินได้ ได้แก่ 1) บุคคลธรรมดา 2) ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี 3) กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง 4) ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลผู้มีเงินได้พึงประเมินขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดจำเป็นต้องยื่นแบบแสดงรายการ แม้ว่าาจะไม่ต้องชําระภาษีก็ตามแต่ก็มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่กฎหมายกำหนดภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป ซึ่งในการคำนวณภาษีเงินได้พึงประเมินนั้นสามารถคำนวณได้จาก เงินได้พึงประเมิน หักด้วยค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน แล้วนำไปคูณกับอัตราภาษี ซึ่งเป็นจำนวนที่เราต้องเสียภาษี
          จากการศึกษางานวิจัยที่ศึกษา พบว่า ความรู้ความเข้าใจของผู้เสียภาษีอากรมีผลต่อทัศนคติการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และยังพบว่าความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้านการแสดงรายได้ ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และการคำนวณภาษี มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อีกทั้งยังมีผู้เสียภาษีที่ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับหลักการ และกฎหมาย ข้อบังคับเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทำให้ไม่สามารถวางแผนการเสียภาษีของตนได้ซึ่งเมื่อยื่นภาษีไม่ถูกต้องอาจโดนเรียกเบี้ยปรับ เงินเพิ่มจากกรมสรรพากรได้ หรืออาจไม่ได้นำค่าใช้จ่าย หรือรายการลดหย่อนที่ตนสามารถนำมาหักได้ไปลดหย่อนทางภาษีจึงทำให้เสียภาษีจำนวนมาก หรือเกินจากจำนวนเงินที่ควรจะต้องเสีย ดังนั้น การศึกษาเรื่องภาษี และการวางแผนภาษีที่ถูกต้องจึงเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้ซึ่งเป็นประโยชน์กับตัวผู้ที่ศึกษาเอง
 
วัตถุประสงค์
          เพื่อศึกษาแนวทางและวิธีการในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ถูกต้อง และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามที่กฎหมายกำหนดอย่างสูงสุด

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
          ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษ ตามที่กฎหมายกำหนด และมีรายได้เกิดขึ้น ตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี รายได้ที่เกิดขึ้นในปีใดๆ ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการตนเอง ตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนด ภายในวันที่
31 มีนาคม ของปีถัดไป สำหรับผู้มีเงินได้บางกรณีกฎหมายยังกำหนดให้ยื่นแบบฯ เสียภาษีตอนครึ่งปี สำหรับรายได้ ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ที่ต้องชำระ และเงินได้บางกรณี กฎหมายกำหนดให้ ผู้จ่ายทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้ที่จ่ายบางส่วน เพื่อให้มีการทยอยชำระภาษี ขณะที่มีเงินได้เกิดขึ้นอีกด้วย       
          ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาโดยมีสถานะ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
          1)   บุคคลธรรมดา
          2)   ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
          3)   ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
          4)   กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
          5)  วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
          เงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เรียกว่า "เงินได้พึงประเมิน" หมายถึง เงินได้ของบุคคลใดๆ หรือหน่วยภาษีใดข้างต้นที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งรายการที่ถือว่าเป็นเงินได้นั้น ได้แก่ เงิน ทรัพย์สินซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงินที่ได้รับจริง ประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้ เครดิตภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา 40 กำหนดประเภทเงินได้ออกเป็น 8 ประเภท 40(1) – (8) ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
          เงินได้พึงประเมิน 40(1) คือ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน
          เงินได้พึงประเมิน 40(2) คือ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้นั้นไม่ว่าหน้าที่ หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว
          เงินได้พึงประเมิน 40(3) คือ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล เป็นต้น
          เงินได้พึงประเมิน 40(4) คือ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไรร เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น เป็นต้น
          เงินได้พึงประเมิน 40(5) คือ เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน
          เงินได้พึงประเมิน 40(6) คือ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอิสระอื่น ซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้
          เงินได้พึงประเมิน 40(7) คือ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ
          เงินได้พึงประเมิน 40(8) คือ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว

สิทธิประโยชน์ทางภาษี
          สิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นมาตรการ หรือข้อกำหนดทางกฎหมายที่ช่วยลดภาระทางภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีซึ่งการเสียภาษีแต่ละประเภทจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่แตกต่างกัน สำหรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ การหักค่าใช้จ่าย การหักค่าลดหย่อน รายได้ที่ได้รับยกเว้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ เป็นต้น ซึ่งแต่ละรายการมีรายละเอียดโดยสรุปจากเว็บไซด์กรมสรรพากร (www.rd.go.th) ดังนี้
ตารางที่ 1 เกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายแยกตามประเภทเงินได้พึงประเมิน (ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 629) พ.ศ.2560)
ประเภทเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 เกณฑ์การหักค่าใช้จ่าย
(1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เป็นต้น หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท 
(2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท 
(3) ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เป็นต้น หักค่าใช้จ่ายได้เฉพาะที่เป็นค่าแห่งกู๊ดวิลล์ และค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท  หรือตามความจำเป็นและสมควร
(4) ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร เงินลด
ทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น เป็นต้น
ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้
(5) เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน หักค่าใช้จ่ายตามจริงหรืออัตราเหมา ดังนี้
 - บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง แพ 30%
    - ที่ดินที่ใช้ในการเกษตร 20%
    - ที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตร 15%
    - ยานพาหนะ 30%
    - ทรัพย์สินอื่น 10%
(6) เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอิสระอื่น ซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้ หักค่าใช้จ่ายตามจริงหรืออัตราเหมา ดังนี้
 - ประกอบโรคศิลปะ 60%
 - กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ประณีตศิลปกรรม 30%
(7) เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ หักค่าใช้จ่ายตามจริงหรืออัตราเหมา ร้อยละ 60
(8) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว ตามจริงหรืออัตราเหมา 40% และ 60%

ตารางที่ 2 การหักค่าลดหย่อนและเกณฑ์การหักค่าลดหย่อนแต่ละรายการ
รายการลดหย่อน เกณฑ์การหักลดหย่อน
(1) กรณีบุคคลธรรมดา หรือผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
ผู้มีเงินได้ และคู่สมรส คนละ 60,000 บาท
บุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม คนละ 30,000 บาท (บุตรบุญธรรม หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน)
ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คนละ 30,000 บาท
ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท
ค่าเบี้ยประกันชีวิต (กรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป) ของผู้มีเงินได้หักค่าลดหย่อนและได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท และของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท
ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาทแต่ไม่เกิน 490,000 บาท ซึ่งไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างให้หักจากเงินได้
เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หักได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และเมื่อรวมกับ
เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุน กบข.
แล้วไม่เกิน 500,000 บาท ตามเงื่อนไขที่กำหนด
ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หักค่าลดหย่อนในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่นำมาเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี
เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงิน กบข. เงินสะสมกองทุนสงเคราะห์ และเงินซื้อหน่วยกองทุน RMF
ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีนั้น แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย หักค่าลดหย่อนตามจำนวนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
เงินสมทบประกันสังคม หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง
ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิต
เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา และสาธารณประโยชน์ หักลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น
เงินบริจาคทั่วไป หักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น
(2) กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล
ผู้มีเงินได้ หักค่าลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท
เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษาและการกีฬา หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
เงินบริจาค หักได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
(3) กรณีกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
ผู้มีเงินได้ (กองมรดกเอง) หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท
เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษาและการกีฬา หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
เงินบริจาค หักได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

          นอกจากนี้ยังมีมาตรการจากรัฐ โครงการช้อปดีมีคืน สำหรับการซื้อสินค้าและบริการตั้งแต่ วันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 สมารถนำไปหักลดหน่อยภาษีได้สูงสุด ไม่เกินคนละ 30,000.- บาท
**หมายเหตุ** สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กล่าวมาข้างต้นนี้ใช้สำหรับเงินได้พึงประเมินในปี พ.ศ. 2563 เท่านั้น ซึ่งในแต่ละปีอาจมีการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่แตกต่างกัน

การวางแผนภาษี
          การวางแผนภาษี คือ การเตรียมการเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้อง ครบถ้วน และใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆตามที่กฎหมายกำหนดไปใช้ลดหย่อนภาษี เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้น้อยลงไม่ต้องเสียภาษีมากจนเกินไป รวมถึงไม่ต้องชำระภาษีเพื่อหรือเสียเบี้ยปรับโดยใช่เหตุ การวางแผนภาษีที่ดีควรเริ่มจากการทำความเข้าใจในรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีที่เราจะต้องเสีย และรู้จักสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยหลักการวางแผนภาษีคือ รู้ประเภทรายได้ รู้ค่าใช้จ่ายที่สามารถหักได้ รู้ค่าลดหย่อน รวมถึงรู้วิธีการคำนวณภาษี และรู้ช่องทางการยื่นภาษี (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)      
          โครงสร้างของการคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถเขียนเป็นสมาการได้ ดังนี้
          ภาษีที่ต้องชำระ = (เงินได้พึงประเมิน - ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี
          ดังนั้น กลยุทธ์ในการวางแผนภาษี คือ 1) ลดเงินได้ให้ต่ำลง 2) เพิ่มค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้น 3) เพิ่มค่าลดหย่อนให้สูงขึ้น และ 4) เพิ่มเงินบริจาคให้สูงขึ้น
          1) การลดยอดเงินได้ให้ต่ำลง สามารถทำได้หลายกรณี ดังนี้
              - แยกรายได้ที่ได้สิทธิยกเว้นออกไป เช่น ค่าเบี่ยเลี่ยง ค่าพาหนะ
              - แยกรายได้ที่ถูกหักภาษี ณที่จ่ายและเป็นประเภทภาษีสุดท้ายออกไป เนื่องจากสามารถเลือกได้ว่าจะนำไปรวมคำนวณภาษีหรือไม่ เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล
              - แยกรายได้จากต่างประเทศออก โดยไม่นำรายได้จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยปีภาษีที่มีเงินได้
              - เพิ่มหน่วยภาษี โดยการตั้งคณะบุคคลขึ้นมา หรือการแยกยื่นภาษี
              - การเลื่อนระยะเวลารับรู้รายได้ออกไป หรือการเกลี่ยรายได้โดยอาจสามารถทำได้โดยการตกลงกับคู่ค้า
              - เลือกลงทุนในหลักทรัพย์ หรือออมเงินประเภททั้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำผลตอบแทนมารวมคำนวณเป็นรายได้
          2) การเพิ่มค่าใช้จ่าย สามารถทำได้ โดย เลือกอาชีพที่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูง โดยสามารถจัดสรรเงินรายได้ให้ไปอยู่ในอาชีพที่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงหรือการแยกรายได้ให้หลากหลายอาชีพ และการเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยการเครดิตภาษีเงินปันผล
          3) เพิ่มค่าลดหย่อน โดยพยายามใช้สิทธิในการหักค่าลดหย่อนให้มากที่สุด เช่น การกู้ซื้อที่อยู่อาศัย การทำประกันชีวิต หรือจ่ายกองทุนต่างๆ
          4) เพิ่มยอดเงินบริจาค โดยการบริจาคให้กับการสนับสนุนสถานศึกษา หรือสาธารณะประโยชน์ที่สามารถหักลดหย่อนได้เป็น 2 เท่าของจำนวนที่บริจาค

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
          วิภาดา สุขสวัสดิ์ (2558) ศึกษาเรื่อง ความรู้ ความเข้าใจ ของผู้เสียภาษีอากรที่มีผลต่อทัศนคติการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 13 (เขตคลองเตย) พบว่า ความรู้ความเข้าใจของผู้เสียภาษีอากรมีผลต่อทัศนคติการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และยังพบว่าความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้านการแสดงรายได้ ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และการคำนวณภาษี มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
         ณัฐพัชร์ อภิวัฒน์ไพศาล (2564) ศึกษาเรื่อง พฤติกรรมทางภาษีปัญหาการเสียภาษี และการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผลการศึกษา พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 31-40 ปี สถานภาพโสด จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีและโท ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ทํางานเอกชนในกรุงเทพมหานคร มีเงินได้จากแหล่งเดียว โดยส่วนใหญ่คือเงินได้ประเภทที่ 1 เป็นผู้กรอกและคํานวณภาษีด้วยตนเอง ยื่นเสียภาษีผ่านทางอินเตอร์เน็ต และยื่นแบบในเดือนมีนาคมมากที่สุด โดยปัญหาในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีปัญหามากที่สุดคือ ด้านการหักค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับระเบียบข้อกฎหมาย ผู้วิจัยกล่าวว่า ภาษีเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับทุกคน ผู้มีเงินได้ทุกคนทุกคนต้องเสียภาษีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ตามระบบขั้นบันได กล่าวคือมีรายได้มากเสียภาษีมาก มีรายได้น้อยเสียภาษีน้อย แม้ว่าทุกคนจําเป็นต้องจ่ายภาษีให้รัฐบาล แต่ความรู้ในการวางแผนภาษีเป็นสิ่งจําเป็นที่จะช่วยให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจ่ายภาษีน้อยลง และยังเกิดประโยชน์โดยตรงในการนําเงินที่ช่วยประหยัดภาษีไปสะสมในรูปแบบของการออม การลงทุนในระยะยาวที่สม่ำเสมอ ทั้งนี้ความมีวินัยดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้มีเงินได้มีเงินไว้ใช้ในอนาคตเมื่อเกษียณอายุ ดังนั้นการวางแผนอนาคตในระยะยาวจําเป็นต้องประเมินศักยภาพของตนเองในปัจจุบันให้การเก็บออม การลงทุนอยู่ในระดับที่พอดีกับตนเอง ไม่น้อยเกินไปจนไม่เพียงพอในอนาคต และไม่มากเกินไปจนทําให้ตนเองขาดสภาพคล่องทางการเงินในปัจจุบัน ดังนั้นผู้มีเงินได้แต่ละคนต้องประเมินตนเองอย่างรอบคอบเพื่อความสุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต
          สุภาภรณ์ จุลวัฒฑกะ และ ประภัสสระ กิตติมโนรม (2561) ศึกษาเรื่อง ความเข้าใจในการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของพนักงานในเครือคุณาลัยกรุ๊ป ผลการวิจัย พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีความเข้าใจในการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ในระดับน้อย เนื่องจากไม่ทราบว่ามีการแบ่งประเภทเงินได้พึงประเมินนั้นแบ่งออกเป็น 8 ประเภท ส่งผลให้นำเงินได้พึงประเมินที่ได้รับมายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ครบนำมาซึ่งการโดนกรมสรรพากรเรียกตรวจสอบย้อนหลังและต้องเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่ม
 
สรุป
           การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ใช่การแนวทางในการหลีกเลี่ยงภาษี แต่เป็นการวางแผนเพื่อกำหนแนวทางในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้เสียภาษีได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดแต่สามารถทำให้เสียภาษีได้น้อยลง โดยการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฎหมายกำหนดมามาใช้ในการวางแผนเพื่อให้ผู้มีเงินได้ลดภาระทางภาษีและจ่ายภาษีน้อยลงได้
 
ข้อเสนอแนะ
          ผู้มีเงินได้ทุกประเภทควรจะศึกษาเกี่ยวกับกฎหมาย ข้อกำหนด และสิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่ตนพึงได้รับเพื่อนำมาใช้ในการวางแผนภาษีได้อย่างถูกต้อง ซึ่งหากเรารู้จักวางแผนทางภาษีให้ถูกต้องก็จะช่วยให้ประหยัดรายจ่ายได้ อีกจำนวนไม่น้อย

บรรณานุกรม
กรมสรรพากร. (2563). ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง?. สืบค้น 1 สิงหาคม 2564, จาก https://www.rd.go.th/557.html.
กรมสรรพากร. (2563). เงินได้พึงประเมินแต่ละกรณีจะคำนวณหักค่าใช้จ่ายได้เท่าใด?. สืบค้น 1 สิงหาคม 2564, จาก https://www.rd.go.th/556.html
กรมสรรพากร. (2563). ใครมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา?. สืบค้น 1 สิงหาคม 2564, จาก https://www.rd.go.th/548.html
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.) การวางแผนภาษี. สืบค้น 1 สิงหาคม 2564, จาก https://www.set.or.th/education/th/start/start_start_3_7.pdf
ณัฐพัชร์ อภิวัฒน์ไพศาล. (2564). พฤติกรรมทางภาษีปัญหาการเสียภาษี และการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา. วารสารศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ 113, ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 เดือน มกราคม-มิถุนายน 2564. สืบค้น 1 สิงหาคม 2564, จาก https://kuojs.lib.ku.ac.th/index.php/jfam/article/view/4486/2146
วิภาดา สุขสวัสดิ์. (2558). การศึกษาความรู้ ความเข้าใจ ของผู้เสียภาษีอากรที่มีผลต่อทัศนคติการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 13 (เขตคลองเตย) (สารนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยสยาม, กรุงเทพฯ.
สุภาภรณ์ จุลวัฒฑกะ และ ประภัสสระ กิตติมโนรม. (2561). ความเข้าใจในการวางแผนภาษีเงินได้บุคคล   ธรรมดาของพนักงานในเครือคุณาลัยกรุ๊ป. วารสารวิชาการสถาบันวิทยาการจัดการแห่งแปซิฟิค ,ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 มกราคม - มิถุนายน 2561. สืบค้น 1 สิงหาคม 2564, จาก https://so05.tci-thaijo.org/index.php/pacific/article/view/177964/126605.
เทคนิควางแผนภาษีส่วนบุคคล. สืบค้น 1 สิงหาคม 2564, จาก http://www.thaifinancialadvisor.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=53862397