การกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

UploadImage
 
UploadImage
 
การกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
Good Corporate Governance of Companies Listed in the Stock Exchange of Thailand
 
ชุติมา เรืองมโนรักษ์
Chutima Ruangmanoruk
E-mail: Monkung_911@hotmail.com
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
 
 บทคัดย่อ
          การกำกับดูแลกิจการที่ดี เกิดจากบริษัทส่วนใหญ่เกิดปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ภายในกิจการและภายนอกกิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นผลให้หน่วยงานของสำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตระหนักถึงความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในประเทศไทยที่ต้องบริหารงานให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้โดยบุคคลจากภายนอกเพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อกลุ่มบุคคลที่คัดสรรผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะบริหารงานแทนตนเป็นผลให้ตัวการได้รับผลตอบแทนที่ต้องการและสร้างความมั่งคั่งให้แก่กิจการได้ในระยะยาว
 
คำสำคัญ : การกำกับดูแลกิจการที่ดี, ความขัดแย้งทางผลประโยชน์, ทฤษฎีตัวแทน
 
Abstract
          Good Corporate Governance Caused by conflicts of interest within the business and outside of the businesses listed on the Stock Exchange of Thailand, as a result, the units of the Office of the Board of Governors of the Stock Exchange of Thailand are aware of the competitiveness of companies in Thailand, that must be managed for Efficient, transparent, verifiable by external parties to demonstrate responsibility to a group of people who select specialized executives to manage their duties, resulting in the desired returns and wealth creation. to the business in the long term.

Keywords: Good Corporate Governance, Conflict of Interest, Agency Theory

บทนำ
       จากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี พ.ศ.2540 ส่งผลให้สถาบันการเงินภายในประเทศและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหลายแห่งตัดสินใจปิดกิจการลง ประกอบด้วย สถาบันการเงิน 56 แห่ง ส่วนหนึ่งเกิดจาก ธุรกิจส่วนใหญ่ขาดการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องขายหุ้น ขายกิจการหรือปรับโครงสร้างหนี้ ระบบบัญชีขาดความน่าเชื่อถือ การบริหารงานขาดความโปร่งใส ขาดการควบคุมภายในที่ดี รัฐบาลต้องอาศัยการกู้ยืมเงินจากองค์กรระหว่างประเทศผ่านทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) และธนาคารโลก (World blank) และความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบเงินกู้ยืมระยะยาวจากต่างประเทศโดยที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกได้กำหนดเงื่อนไขให้ประเทศไทยปรับปรุงนโยบายการเปิดเผยข้อมูลให้โปร่งใสมากขึ้น โดยยึดถือตามมาตรฐานการบัญชีของคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศและแม่บทการบัญชี ประเทศไทยจึงมีการปรับปรุงมาตรฐานการบัญชีครั้งใหญ่และยังได้มีการกำหนดกรอบแนวคิดทางบัญชี (นิพันธ์ เห็นโชคชัยชนะ, 2558) ขึ้นมาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกอันเป็นทางออกของธุรกิจไทยสู่หนทางแห่งการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้มากขึ้น คือ การนำแม่บทการบัญชีมาใช้ในการบริหารงานทางการเงินและบัญชี จากการที่ผู้บริหารที่มีทัศคติแบบเดิมหรือบุคคลที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2500 หรือก่อนหน้านั้นเป็นบุคคลที่เกิดในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบแล้วทำให้เห็นถึงความยากลำบากของตนเองในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งนี้จากการสัมภาษณ์ คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี หรือที่ทราบกันในนาม กลุ่มกิจการ TTC Group  ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีบริษัทในเครือหลายแห่ง อาทิ กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม บริษัท ไทยเบฟ ประกอบด้วย 4 สายธุรกิจ ได้แก่ สุรา เบียร์ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และอาหารที่มีกำลังการผลิตรวมสูงที่สุดในประเทศแต่ไม่สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จากการที่เป็นบริษัทที่จำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อันผิดต่อศีลธรรมทางพุทธศาสนาไทยส่งผลให้ทางผู้บริหารได้ตัดสินใจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงค์โปร์จากการที่เป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งทางการเงินสูงเป็นผลให้การดำเนินงานในต่างประเทศโดยผู้นำที่มีความเชี่ยวชาญในสายงานการเครื่องดื่มที่มีการหมักยีสต์สำหรับการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กลุ่มธุรกิจที่สองของTCC Group คือ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดจำหน่าย การทำการตลาด ระบบโลจิสติกส์ บริการทางอุตสาหกรรม อุปโภค บริโภค เทคนิคเวชภัณฑ์ การผลิตและรับจ้างผลิตภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความน่าเชื่อถือมายาวนานและทรงประสิทธิภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียโดยมี 5 กลุ่มธุรกิจหลักที่ผลิตสินค้าและบริการที่ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้แก่ กลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ กลุ่มสินค้าและบริการาทางอุปโภคบริโภค กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และทางเทคนิค กลุ่มธุรกิจสนับสนุนประเภทอื่น อาทิ ร้านหนังสือเอเชียบุ๊คส์ ร้านสะดวกซื้อ B’s Mart ที่มีจำนวนการเปิดสาขาในนครโฮจิมนท์ ประเทศเวียดนาม ร้านจำหน่ายยา ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามภายใต้แบรนด์ Ogenki จากการที่บริษัทที่มีผู้บริหารหรือผู้นำกิจการคนเดียวแต่ต้องบริหารงานมากกว่าบริษัทที่ตนเองมีความชำนาญหรือต้องเดินทางไปศึกษาดูงานของตนเองที่ต่างประเทศเพื่อใช้ในการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นทำให้กลุ่มบุคคลบางกลุ่มไม่พึงพอใจในผลประโยชน์ของตนเอง คือ ผู้ถือหุ้นของบริษัทจากการที่ตนเป็นนักลงทุนแต่ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนไม่เป็นไปตามที่ต้องการโดยไม่ศึกษาปัจจัยที่มีผลทำให้กิจการที่ลงทุนเกิดผลขาดทุนในการดำเนินงาน อาทิ ปัจจัยภายในบริษัท จากการที่บริษัทไม่มีระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสมทำให้ผลลัพธ์จากการทำงานไม่มีประสิทธิผล พบว่า ระบบการควบคุมภายในนั้นเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารทุกฝ่ายพร้อมทั้งผู้ปฏิบัติเองเพื่อให้มีความเข้าใจและมุ่งสู่เป้าหมายของกิจการได้ภายในระยะเวลาสั้น คือ การมีกำไรจากการดำเนินงานพอประมาณ สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจการและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ถือหุ้นในการได้รับผลตอบแทนตามที่กิจการประกาศไว้ในแต่ละปี
 
          จากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในกลุ่มบุคคลข้างต้นที่มีความต้องการที่แตกต่างกันจนทำให้เกิดอุปสรรคในการบริหารงานของผู้บริหารในกลุ่มกิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องอาศัยหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีอันส่งผลให้บริษัทมีการวางระบบการบริหารและการจัดการที่มีคุณภาพรวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสและมีผลการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพ สร้างความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มมูลค่าแก่กิจการซึ่งจะสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย (ศิลปพร ศรีจั่นเพชร, 2555)

วัตถุประสงค์
          เพื่อศึกษาการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

แนวคิดเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการ
          การกำกับดูแลกิจการ หมายถึง กระบวนการและโครงสร้างผู้นำ การควบคุมกิจการให้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ภายใต้ความโปร่งใสและสร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อรักษาเงินทุนและคุณค่าให้แก่ผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระยะยาว โดยการกำกับดูแลกิจการเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับปรุงประสิทธิภาพขององค์กรเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายจัดการ คณะกรรมการ เจ้าของและผู้มีส่วนได้เสียอื่น ทั้งนี้ การกำกับดูแลกิจการยังช่วยให้เกิดโครงสร้างที่สำคัญซึ่งเป็นกลไกในการกำหนดวัตถุประสงค์ของกิจการและการกำหนดวิธีที่จะบรรลุวัตถุประสงค์เหล่านั้นรวมถึงการสอดส่องดูแลผลการปฏิบัติงานของกิจการ โดยการกำกับดูแลกิจการมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การกำกับ การติดตาม การควบคุมและการดูแลผู้ที่ได้รับมอบหมายอำนาจหน้าที่ให้ไปทำหน้าที่ทางการบริหารเพื่อให้ทรัพยากรขององค์กรได้นำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลตรงตามเป้าหมายอย่างคุ้มค่าทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตอบแทนกลับไปยังผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรมโดยที่การกำกับดูแลกิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องปฏิบัติตามหลักการที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดขึ้นในปี พ.ศ.2560 เพื่อให้ผู้บริหารของทุกองค์กรได้ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการและได้ดำเนินการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนมีระบบการกำกับดูแลกิจการโดยได้จัดทำและเผยแพร่รายงานการกำกับดูแลกิจการซึ่งนำเสนอหลักการที่คาดหวังให้บริษัทจดทะเบียนปฏิบัติตามตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เลือกหลักการกำกับดูแลกิจการจำนวน 15 ข้อ ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยองค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization of Economic Co-operation and Development Centre: OECD) ดังนี้
          1. นโยบายเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการ ผ่านทางคณะกรรมการบริษัทควรมีการจัดทำรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่มีการระบุถึงนโยบายเกี่ยวกับการกำกับดูแลบริษัทครอบคลุมหลักการใดบ้าง อาทิ สิทธิและความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย คณะกรรมการบริษัทมีโครงสร้าง บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบและความเป็นอิสระ การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส การควบคุมและจัดการความเสี่ยงและจริยธรรมทางธุรกิจพร้อมทั้งเปิดเผยในรายงานประจำปีให้ผู้ถือหุ้นและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ทราบโดยทั่วกัน คณะกรรมการควรรายงานในรายงานประจำปีถึงการนำหลักการกำกับดูแลกิจการไปใช้
          2. ผู้ถือหุ้นในด้าน สิทธิและความเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทควรจัดกระบวนการประชุมผู้ถือหุ้นในลักษณะที่สนับสนุนให้มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกันในการเข้าประชุมไม่ควรมีวิธีการที่ยุ่งยากหรือมีต้นทุนสูง
          3. สิทธิของผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้ ระบบการกำกับดูแลผู้มีส่วนได้เสียหลายกลุ่มด้วยกันที่สำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มลูกค้า ฝ่ายจัดการ ลูกจ้าง คู่ค้า ผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุน ผู้สอบบัญชี รัฐบาลและชุมชนที่บริษัทตั้งอยู่ กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียอื่น ประกอบด้วย สหภาพ คู่แข่งและเจ้าหนี้ พบว่า แต่ละกลุ่มมีวัตถุประสงค์และความคาดหวังที่แตกต่างกันไปส่งผลให้ คณะกรรมการบริษัทควรรับทราบถึงสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียตามที่กฎหมายกำหนดและดูแลให้มั่นใจว่าสิทธิกังกล่าวได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติด้วยดีและควรสนับสนุนให้มีการร่วมมือกันระหว่างบริษัทและผู้มีส่วนได้เสียในการสร้างความมั่งคั่ง สร้างงานและสร้างกิจการให้มีฐานะการเงินที่มั่นคง
          4. การประชุมผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ประธานที่ประชุมควรจัดสรรเวลาให้อย่างเหมาะสมและส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นมีโอกาสโดยเท่าเทียมกันในการแสดงความเห็นและการตั้งคำถามต่อที่ประชุมตามระเบียบวาระการประชุมและเรื่องที่เสนอกรรมการทุกคนและประธานอนุกรรมการแต่ละชุดควรเข้าประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อตอบคำถามที่ประชุม
          5. ภาวะผู้นำและวิสัยทัศน์ ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทควรมีภาวะผู้นำ วิสัยทัศน์และมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวม คณะกรรมการและฝ่ายจัดการมีความรับผิดชอบตามหน้าที่ต่อผู้ถือหุ้นจึงควรมีการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างคณะกรรมการบริษัทกับฝ่ายจัดการและระหว่างคณะกรรมการบริษัทกับผู้ถือหุ้นไว้ให้ชัดเจน
          6. ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ทั้งนี้ คณะกรรมการ ฝ่ายจัดการและผู้ถือหุ้นควรขจัดปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างรอบคอบ ซื่อสัตย์สุจริต มีเหตุมีผลและเป็นอิสระภายในกรอบจริยธรรมที่ดีตลอดจนมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วนเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทโดยรวม
          7. จริยธรรมธุรกิจ ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารควรส่งเสริมให้จัดทำแนวทางเกี่ยวกับจริยธรรมธุรกิจหรือจรรยาบรรณเพื่อให้กรรมการและลูกจ้างทุกคนได้ทราบและเข้าใจถึงมาตรฐานการปฏิบัติตนตามที่บริษัทและผู้ถือหุ้นคาดหวังรวมทั้งเฝ้าสังเกตให้มีการปฏิบัติตามอย่างจริงจัง
          8. การถ่วงดุลของกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารควรมีจำนวนเท่าใดและประกอบด้วยกรรมการที่เป็นผู้บริหารและกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารที่เป็นอิสระในสัดส่วนอย่างไรเป็นเรื่องที่คณะกรรมการบริษัทพึงกำหนดด้วยความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ตามมีข้อเสนอให้คณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วย กรรมการที่เป็นอิสระหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการทั้งคณะและอย่างน้อย 3 คน ทั้งนี้ คุณสมบัติของกรรมการที่เป็นอิสระให้พิจารณาโดยใช้แนวทางเดียวกันกับคุณสมบัติของกรรมการตรวจสอบตามประกาศตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยคุณสมบัติและขอบเขตการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบ
          9. การรวมหรือแยกตำแหน่ง ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารและผู้ถือหุ้นควรมีเสรีภาพในการเลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุดของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยอาจรวมบทบาทของประธานกับของผู้จัดการใหญ่อยู่ในตำแหน่งเดียวกันหรือแยกกัน โดยให้กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารที่เป็นอิสระเป็นประธานกรรมการไม่ว่าจะเลือกวิธีใดควรมีการแยกอำนาจหน้าที่ระหว่างกันให้ชัดเจนโดยไม่ให้คนใดคนหนึ่งมีอำนาจโดยไม่จำกัด
         10. ค่าตอบแทนของกรรมการและผู้บริหาร เป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ของกรรมการโดยตรงจึงควรดำเนินการด้วยความโปร่งใสและได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้น คณะกรรมการควรเปิดเผยถึงนโยบายค่าตอบแทนและจำนวนค่าตอบแทนของกรรมการและผู้บริหารระดับสูงตามที่ประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนดในรายงานประจำปี ระดับและองค์ประกอบค่าตอบแทนแก่กรรมการของบริษัทควรเพียงพอที่จะจูงใจและรักษากรรมการที่มีคุณภาพตามต้องการแต่ควรหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการที่เกินสมควร
         11. การประชุมคณะกรรมการ ทั้งนี้ บริษัทควรกำหนดการประชุมไว้ล่วงหน้าเป็นประจำในการประชุมประธานกรรมการควรส่งเสริมให้มีการใช้ดุลยพินิจที่รอบคอบและจัดสรรเวลาไว้อย่างเพียงที่ฝ่ายจัดการเสนอเรื่องและมากพอที่กรรมการใช้ในการอภิปรายปัญหาสำคัญกันอย่างรอบคอบ กรรมการมีหน้าที่ต้องเข้าประชุมคณะกรรมการทุกครั้ง ยกเว้นกรณีที่มีเหตุผลที่พิสูจน์ได้ถึงเหตุอันสมควรในการไม่เข้าร่วมประชุมและควรเปิดเผยจำนวนครั้งที่กรรมการแต่ละคนเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการในรายงานประจำปีด้วย
         12. คณะอนุกรรมการ ทั้งนี้ คณะกรรมการควรจัดให้มีคณะกรรมการหลายกลุ่มเพื่อช่วยศึกษาถึงรายละเอียดและกลั่นกรองงานตามความจำเป็นของสถานการณ์โดยเฉพาะคณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนโดยกำหนดนโยบายและกรอบงานไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับคุณสมบัติของสมาชิก หน้าที่รับผิดชอบ การดำเนินการประชุมและการรายงานต่อคณะกรรมการ สมาชิกทุกคนหรือส่วนใหญ่ควรเป็นกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารและประธานอนุกรรมการควรเป็นกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารที่มีความเป็นอิสระ
         13. ระบบการควบคุมและการตรวจสอบภายใน ทั้งนี้ คณะกรรมการควรจัดทำ รักษาไว้และทบทวนระบบการควบคุมภายในทั้งการเงิน การดำเนินงานและการกำกับดูแลการปฏิบัติงานตลอดจนจัดการความเสี่ยงและการให้ความสำคัญกับสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าและรายการผิดปกติทั้งหลายและควรจัดให้มีงานตรวจสอบภายในแยกเป็นส่วนงานหนึ่งของบริษัท
         14. รายงานของคณะกรรมการ ทั้งนี้ คณะกรรมการควรทำรายงานอธิบายถึง ความรับผิดชอบของตนเองในการจัดทำรายงานทางการเงินโดยแสดงควบคู่กันไปกับรายงานของผู้สอบบัญชีไว้ในรายงานประจำปี รายงานของคณะกรรมการควรครอบคลุมในเรื่องสำคัญตามข้อพึงปฏิบัติที่ดีสำหรับกรรมการบริษัทจดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์เสนอแนะ
         15. ความสัมพันธ์กับผู้ลงทุน ทั้งนี้ คณะกรรมการควรดูแลให้มั่นใจว่า บริษัทได้เปิดเผยสารสนเทศที่สำคัญของบริษัทอย่างถูกต้อง ทันเวลาและโปร่งใส ควรจัดให้มีหน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบงานเกี่ยวกับ “ผู้ลงทุนสัมพันธ์” เพื่อเป็นตัวแทนในการสื่อสารกับผู้ลงทุนที่เป็นสถาบัน ผู้ถือหุ้นรวมทั้งนักวิเคราะห์ทั่วไปและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการควรจัดหาทรัพยากรอย่างเพียงพอเพื่อช่วยพัฒนาความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ในการนำเสนอสารสนเทศและการติดต่อสื่อสาร

ทฤษฎีตัวแทน
          ทฤษฎีตัวแทน (Agency theory) ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการกำกับดูแลกิจการ เนื่องจากมนุษย์ทุกคนย่อมมีแรงผลักดันที่จะทำทุกอย่าง เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวทั้งสิ้น จากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันมีปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูลข่าวสารระหว่างตัวการ-ตัวแทน กล่าวคือ การที่คนกลุ่มหนึ่งไม่มีความรู้ ความสามารถเท่ากับคนอีกกลุ่มหนึ่งอย่างเพียงพอที่จะตัดสินใจในการดำเนินงานอย่างถูกต้อง เพราะ ตัวแทนจะมีความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่าตัวการ ซึ่งเป็นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เท่าเทียมกัน จึงทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งของตัวแทน สอดคล้องกับทฤษฎีตัวแทนของ Jensen & Meckling (1976) กล่าวถึงว่า เป็นลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างการเป็นตัวแทนเกิดขึ้นระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย โดยฝ่ายผู้มอบอำนาจ คือ ตัวการ (Principle) และผู้รับมอบอำนาจในการบริหารงาน คือ ตัวแทน (Agent) ภายใต้สัญญาคำว่า ตัวแทน กล่าวคือ คณะกรรมการของบริษัททำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมและดูแลการดำเนินงานของผู้บริหารให้บรรลุตามเป้าหมายของบริษัทและรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและบุคคลภายนั้นเป็นของคณะกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญของตัวแทนที่ช่วยเป็นแรงผลักดันให้เกิดการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดังนั้นทฤษฎีตัวแทนจึงกล่าวว่า เจ้าของกิจการคนเดียวไม่สามารถที่จะบริหารงานได้เพียงลำพังต้องมีบุคคลเข้ามาช่วยบริหารงานแทนเจ้าของกิจการ จำเป็นต้องมีบุคคลภายนอกเข้ามาบริหารจัดการแทน คือ ตัวแทน (Agent) ถึงแม้ว่าผู้บริหารเป็นตัวแทนของการตัดสินใจลงทุน เพื่อให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด (ศิลปพร ศรีจั่นเพชร, 2551) จากเงินลงทุนในวิธีที่เกี่ยวข้องของผู้ถือหุ้น ซึ่งหากผลประโยชน์และวัตถุประสงค์ของเจ้าของกิจการกับผู้บริหารไม่สอดคล้องกัน จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกันจะทำให้เกิดปัญหาการเป็นตัวแทน(Agency problem) จากผลการศึกษาของ John & Senbet (1998) แบ่งตามความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ดังต่อไปนี้
          1. ปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างผู้ที่เป็นตัวการและตัวแทนที่เกิดขึ้นในภาคเอกชน (Managerial agency) คือ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เท่าเทียมกันของผู้ที่เป็นตัวการและตัวแทน โดยที่ผู้จัดการจะบริหารงานเพื่อผลประโยชน์ของตนเองมากกว่า โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ซึ่งตัวการหรือเจ้าของกิจการไม่สามารถแน่ใจได้ว่าตัวแทนหรือคณะกรรมการที่เลือกเข้ามามีความมุ่งมั่น ตั้งใจ พยายามสูงสุดในการทำงานหรือไม่ เช่น ฝ่ายจัดการนำเงินของบริษัทมาใช้จ่ายเพื่อสร้างตึกอาคารที่ทำงานหรูหราเกินความจำเป็น หรือนำเงินมาลงทุนที่ไม่เหมาะสม เป็นโครงการที่เสี่ยงเกินไป อาจเนื่องจากผู้จัดการต้องการที่จะสร้างผลกำไรมาก ๆเพื่อผลตอบแทนและชื่อเสียงของตนเอง โดยไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงที่เจ้าของบริษัทจะได้รับ
          2. ปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างเจ้าของและเจ้าหนี้ (Debt agency) คือ เมื่อบริษัทมีการเลิกกิจการ ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับสิทธิประโยชน์ก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ ในขณะที่ผู้ถือหุ้นสามัญจะได้รับผลประโยชน์ทั้งหมดหลังจากจ่ายภาระหนี้สินให้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญา ดังนั้น ฝ่ายจัดการจึงพยายามบริหารงานหรือนำเงินไปลงทุนในกิจการที่มีความเสี่ยงสูง เพราะ การลงทุนที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ถ้าประสบความสำเร็จแล้วผู้ถือหุ้นก็จะได้รับกำไรเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าไม่ประสบความสำเร็จหรือประสบกับขาดทุนจะทำให้มูลค่าของทรัพย์สินที่ค้ำประกันกับเจ้าหนี้นั้นลดลงรวมถึงลดมูลค่าของหนี้สินที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้อีกด้วย ซึ่งเป็นการผลักภาระความเสี่ยงทั้งหมดให้แก่เจ้าหนี้
          3. ปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐบาล (Social agency) คือ การที่ภาคเอกชนเป็นตัวแทนระดับองค์กรหรือบริษัท และภาครัฐบาล เป็นตัวแทนของสังคมหรือบุคคลส่วนใหญ่ จากการที่ภาคเอกชนจะลงทุนในกิจการใดต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ขององค์กรที่ตนได้รับ โดยมิได้คำนึงถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นกับส่วนรวมได้ โดยที่ภาครัฐจะเข้าไปดูแลไม่ให้องค์กรของภาคเอกชนกระทำการใด ๆ ที่จะมีผลกระทบทางลบต่อบุคคลส่วนใหญ่ในสังคมได้ จึงทำให้เกิดความขัดแย้งของคนเพียงกลุ่มหนึ่งกับคนส่วนมากในสังคม จากผลการศึกษาของ ศรัณย์พร และชุติมา (2561) พบว่า ทฤษฎีตัวแทน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้น โดยคณะกรรมการมีหน้าที่กำหนดกลยุทธ์ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกิจการ ซึ่งประกอบไปด้วย 2 กลไกที่จำเป็น คือ ผลการปฏิบัติงาน (Performance) และความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติงานตามหน้าที่ (Accountability) ซึ่งจะช่วยให้ทฤษฎีตัวแทนมีความสมบูรณ์มากขึ้น เช่น การสร้างกลไกในการสอดส่องดูแล และการสร้างกลไกการรักษาสัญญา
           สรุปได้ว่า ทฤษฎีตัวแทน หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย คือ ตัวการ (Principal) ซึ่งเป็นผู้มอบอำนาจให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง คือ ตัวแทน (Agent) ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจในการบริหารงานแทน โดย ตัวแทน จะได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้น มีบทบาทหน้าที่ในการบริหารงาน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกิจการ หากตัวแทนบริหารงานได้ดี เต็มความสามารถอย่างเต็มที่ ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ที่ควรเป็นของผู้ถือหุ้นมาเอาประโยชน์เข้าตนเองหรือพวกพ้องจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุดให้เกิดขึ้นกับกิจการ และถ้าหากบริหารงานไม่เต็มความสามารถเอาผลประโยชน์ของกิจการมาเป็นเกณฑ์ในการเลือกตัวแทนได้

ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
          ธระ เทิดพุทธธรรม (2561) ศึกษาเรื่อง ตัวกำหนดการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่มีผลต่อการดำเนินงานการบริหารด้านการเงินของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย พบว่า องค์ประกอบของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ประกอบด้วย (1) ระบบการรายงานและการควบคุมทางการบริหาร (2) การเปิดเผยข้อมูล (3) สารสนเทศทางการเงินและผลการดำเนินงานที่เสนอในการประชุมผู้ถือหุ้น (4) การตรวจสอบภายในและการควบคุมภายใน (5) การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้น (6) การจัดการความเสี่ยง (7) การปฏิบัติต่อผู้แจ้งเบาะแสและการปฏิบัติต่อคู่ค้า และ (8) การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง 8 องค์ประกอบสามารถอธิบายถึงปัจจัยในด้านอัตราผลตอบแทนจากกำไรสุทธิ แสดงให้ทราบถึงบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกในการบริหารงานให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยเฉพาะบทบาทของคณะกรรมการบริษัทด้วยการสรรหาและคัดเลือกกรรมการบริษัทที่เป็นผู้ที่มีความรู้ด้านการเงิน การบริหารความเสี่ยงเป็นผู้ที่ยึดมั่นในจรรยาบรรณในการบริหารองค์กรเชิงธุรกิจและมีความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
         จีราภรณ์ พงศ์พันธุ์พัฒนะ (2558) ศึกษาเรื่อง กลไกการกำกับดูแลกิจการที่ดี และผลการดำเนินงานของกิจการ : บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น พบว่า จำนวนคณะกรรมการและโครงสร้างผู้ถือหุ้นมีความสัมพันธ์เชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญกับผลการดำเนินงาน แต่อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้ไม่พบว่าสัดส่วนความเป็นอิสระของคณะกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริษัท และประธานกรรมการบริหารมิใช่คนเดียวกันมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญกับผลการดำเนินงานของกิจการ นอกจากนี้งานวิจัยนี้ยังได้ทำการศึกษาอิทธิพลของประสบการณ์ทางธุรกิจของคณะกรรมการที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างคณะกรรมการกับผลการดำเนินงาน พบว่าประสบการณ์ทางธุรกิจของคณะกรรมการมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างคณะกรรมการบางมิติ ได้แก่ จำนวนคณะกรรมการ กับผลการดำเนินงาน
 
ข้อดีหรือประโยชน์ของการกำกับดูแลกิจการ
           1. การกำกับดูแลกิจการที่ดีช่วยให้บริษัทมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงานมากขึ้น เนื่องจาก การกำกับดูแลกิจการเป็นเครื่องมือช่วยตรวจสอบการทำงานในแต่ละด้านขององค์กรซึ่งทำให้เกิดแนวทางในการเสนอข้อคิดเห็นให้กับองค์กรเพื่อปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงาน
           2. การกำกับดูแลกิจการที่จะช่วยให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจาก บริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีจำทำให้เกิดรูปแบบกิจการที่เป็นที่ยอมรับว่ามีมาตรฐานการปฏิบัติงานที่เป็นสากลทำให้มีคุณลักษณะที่เหนือกว่าคู่แข่งขันในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันทั้งในเรื่องของกลยุทธ์และการจัดการ
           3. การกำกับดูแลกิจการที่ดีช่วยเพิ่มความที่ดีช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านบริษัทมีความโปร่งใสในการบริหารจัดการ ช่วยป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากกรรมการและฝ่ายจัดการ คือ หากไม่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีส่งผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ต้องการเสี่ยงกับบริษัทในด้านการลงทุน
          4. การกำกับดูแลกิจการที่ดีช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ การกำกับดูแลกิจการที่ดีช่วยสร้างความมั่นใจในการลงทุนส่งผลให้หุ้นที่นักลงทุนถือครองอยู่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 

สรุป
           การกำกับดูแลกิจการที่ดีแสดงให้เห็นถึงการมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจต่อผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน ผู้มีส่วนได้เสียและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจึงกล่าวได้ว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นเครื่องมือเพื่อเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจากการที่กฎเกณฑ์การปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อป้องกันการถูกประเมินหรือตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐแต่ละหน่วยงานอันทำให้ ตัวการ คือ ผู้ถือหุ้น มีหน้าที่ในการสรรหาบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในกลุ่มธุรกิจที่แต่ละคนได้ลงทุนแต่ไม่สามารถเข้าบริหารงานได้ทั้งหมดจากการที่ขนาดของบริษัทไม่รองรับจำนวนผู้ถือหุ้นส่วนน้อยส่งผลให้บุคคลที่มาดำรงแต่ละตำแหน่งเป็นตัวแทนของกลุ่มนักลงทุนโดยรวมที่ต้องการผลตอบแทนจากการทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจการได้อย่างต่อเนื่องเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งภายในและภายนอกองค์กร
 
ข้อเสนอแนะ
          หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นสิ่งที่ผู้บริหารทุกองค์กรพึงศึกษาและนำมาประยุกต์ใช้ในกิจการของตนเอง จากการที่สภาพแวดล้อมในการบริหารงานเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการบริโภคหรือใช้สินค้าที่ผ่านการรับรองถึงมาตรฐานการผลิต การบริหารงานของผู้บริหารที่ใส่ใจต่อความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมพร้อมทั้งการใส่ใจต่อกลุ่มบุคคลในแต่ละกลุ่มอย่างเท่าเทียมกันส่งผลให้เป็นบริษัทที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคในระยะยาว

บรรณานุกรม
จีราภรณ์ พงศ์พันธุ์พัฒนะ (2558). กลไกการกำกับดูแลกิจการที่ดีและผลการดำเนินงานของกิจการ:
บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. วารสารวิทยาการจัดการ, 8(1), 1-10.
ธีระ เทิดพุทธธรรม (2561). ตัวกำหนดการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่มีผลต่อการดำเนินงานการบริหารด้าน
การเงินของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ สาขาวิชาการจัดการภาครัฐและเอกชน. มหาวิทยาลัยคริสเตียน.
นิพันธ์ เห็นโชคชัยชนะ. (2558). กรอบแนวคิดสำหรับการรายงานทางการเงิน. วารสารวิชาชีพบัญชี, 11(30), 78-84.
ศิลปพร  ศรีจั่นเพชร. (2551). ทฤษฏีบรรษัทภิบาล. วารสารบริหารธุรกิจ, 31(120), 1-4.
ศิลปพร ศรีจั่นเพชร. (2555). หลักสำคัญของการกำกับดูแลกิจการ. วารสารบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 35(135), 1-4.
ศรัณย์พร รักษาพงษ์ และ ชุติมา นาคประสิทธิ์. (2561). การกำกับดูแลกิจการระหว่างบริษัทที่มี
ความล้มเหลวทางธุรกิจกับบริษัทที่ไม่มีความล้มเหลวทางธุรกิจ กรณีศึกษาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. วารสารบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 3(1), 21-48.
John, K. & Senbet, L.w. (1998). Board of Directors and Tobin’s Q: Evidence from U.K.Firms. The Journal of Finance and Accounting, 2(4), 82-99.
Michael C.Jensen & William H. Meckling. (1976). Theory of the firm: Managerial behavior, agency costs and ownership structure. Journal of Financial Economics, 3(4), 305 – 360.