การวิเคราะห์งบการเงินเพื่อเลือกซื้อหลักทรัพย์ IPO
19
Jan
การวิเคราะห์งบการเงินเพื่อเลือกซื้อหลักทรัพย์ IPO
Financial Statement Analysis for IPO Securities
นางสาวหทัยพันธ์ ศรีงาม
Hataipan Sringam
E-mail : Hataipan.peung@gmail.com
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
บทคัดย่อ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตราส่วนทางการเงินเพื่อพิจารณาเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ IPO ของบริษัทที่มีความต้องการจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ โดยบทความนี้ประกอบด้วย แนวคิดเกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ IPO ประโยชน์จากการออกจำหน่ายหลักทรัพย์ IPO ข้อมูลในหนังสือชี้ชวน และอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ IPO เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน
ให้แก่นักลงทุนที่มีความสนใจจะลงทุนในหลักทรัพย์ IPO ให้สามารถเข้าใจคุณลักษณะของอัตราส่วนทางการเงินที่แตกต่างกันได้ดียิ่งขึ้น และสามารถใช้เป็นแนวทางในการเลือกใช้อัตราส่วนทางการเงินของงบการเงินเพื่อทำการวิเคราะห์อัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์ IPO ที่กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้รับผลตอบแทนจากการจ่ายเงินปันผลตามที่คาดการณ์ไว้ เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อหลักทรัพย์และกำหนดกลยุทธ์และนโยบายสำหรับการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง และยังเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานกำกับดูแลภาครัฐ สามารถนำบทวิเคราะห์มาใช้ในการควบคุมการกำหนดราคาหลักทรัพย์ IPO ของบริษัทที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้มีความเหมาะสม ถูกต้อง มีความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อบริษัทที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อวางแผนในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
คำสำคัญ : อัตราส่วนทางการเงิน, หลักทรัพย์ IPO, หนังสือชี้ชวน
Abstract
The purpose of this article were to study the financial ratios for decide to buy the IPO securities that was consisted of the IPO securities concepts, the advantages of IPO securities offering, the prospectus, and the financial ratios. This article will give based knowledge to investors to have more understanding about how to choose the best security for them and help the related government offices to set the rules that are suitable for each company. Furthermore the article will help the companies that plan to register in the Stock Exchange of Thailand.
Keywords : Financial Ratios, IPO Securities, Prospectus
บทนำ
โครงสร้างระบบเศรษฐกิจทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก บางธุรกิจจำเป็นต้องปิดตัวลง ขณะที่บางธุรกิจผงาดขึ้นมาตอบรับพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้โลกธุรกิจมีการแข่งขันสูงมาก นักลงทุนจึงต้องตระหนักถึงปัจจัยต่าง ๆ ก่อนการตัดสินใจลงทุนในธุรกิจนั้น ๆ นักลงทุนหรือผู้ที่สนใจจะลงทุนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมสำหรับความรู้เรื่องการลงทุน การวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อมูลค่าหุ้น การประเมินราคาที่เหมาะสมของมูลค่าหุ้นที่สนใจจะลงทุน ผู้ลงทุนจะต้องศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ทั้งข้อมูลระดับมหาภาค ข้อมูลระดับอุตสาหกรรมและข้อมูลระดับบริษัท เนื่องจากการที่ผู้ลงทุนจะตัดสินใจลงทุนในบริษัทนั้น ๆ ถือเป็นการมองมูลค่าของกิจการในอนาคตที่มีโอกาสในการเจริญเติบโตและความสามารถในการทำกำไร ซึ่งเป็นตัวกำหนดความสามารถ
ของกิจการในการสร้างข้อได้เปรียบการแข่งขันและโอกาสในการลงทุนสูง โดยจะให้ผลตอบแทนในอนาคตแก่ผู้ลงทุนทั้งในรูปแบบของกำไรจากการขายหลักทรัพย์ IPO และเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทที่ลงทุน
ผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับจากการซื้อหลักทรัพย์ IPO ในตลาดแรก (Primary Market) และขายในวันแรกในตลาดรอง (Secondary Market) เรียกว่าผลตอบแทนวันแรก (First - day Returns) ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจของการลงทุนในหลักทรัพย์ IPO คือ โดยเฉลี่ยแล้วอัตราผลตอบแทนวันแรกจะมีค่าสูงมาก เมื่อเทียบกับผลตอบแทนการลงทุนทั่วไป ปรากฏการณ์นี้พบได้ทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์แทบทุกแห่ง รวมทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย (Keawsang, 2016; Mingmaung, 2010; Pansriwong, 2016; Parkatt, 2016) เห็นได้จากการศึกษาของ Ritter (1991) พบว่า ผลตอบแทน วันแรกของหลักทรัพย์ IPO ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐมอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ.1975 ถึงปี ค.ศ.1984 สูงถึง 14.32% สอดคล้องกับการศึกษาของ Finn and Hgham (1988) ที่พบว่า ผลตอบแทนวันแรกของหลักทรัพย์ IPO ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นออสเตรเลีย ตั้งแต่ปี ค.ศ.1996 ถึงปี ค.ศ.1978 สูงถึง 29.2% อีกทั้งการศึกษาของ Mok and Hui (1998) พบว่า ผลตอบแทนวันแรกของหลักทรัพย์ IPO ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสาธารณรัฐประชาชนจีน สูงถึง 289%
จากการศึกษาบทความและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจะเห็นได้ว่าสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับการประกอบธุรกิจ คือ ระบบบัญชีและงบการเงินของบริษัท ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรศึกษาและเรียนรู้เนื่องจากจะทำให้ผู้ประกอบการรู้ผลการดำเนินงานของบริษัท สามารถคาดการณ์ผลการดำเนินงานในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำงบการเงินของบริษัทมาวิเคราะห์เพื่อประเมินสภาพคล่องหรือประเมินคุณภาพผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทและสำหรับบริษัทผู้ออกจำหน่ายหลักทรัพย์ IPO ข้อมูลของงบการเงินที่รายงานในหนังสือชี้ชวนจะเป็นข้อมูลงบการเงินย้อนหลัง 3 ปี ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ซึ่งข้อมูลเหล่านี้บริษัทผู้ออกจำหน่ายหลักทรัพย์ IPO อาจใช้เป็นการส่งสัญญาณอย่างหนึ่งถึงคุณภาพและประสิทธิภาพความสามารถในการทำกำไรและเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับหลักทรัพย์ IPO การกำหนดราคาหลักทรัพย์ IPO และนักลงทุนอาจใช้ข้อมูลในของงบการเงินเหล่านี้เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ IPO เนื่องจากบริษัทผู้ออกจำหน่ายหลักทรัพย์ IPO ไม่มีข้อมูลสถิติการซื้อขายหลักทรัพย์ในอดีต ดังนั้นอาจทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูลระหว่างผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ IPO กับนักลงทุนและบริษัทผู้ออกจำหน่ายหลักทรัพย์ IPO ซึ่งข้อมูลของงบการเงินที่เปิดเผยในหนังสือชี้ชวนจะช่วยส่งสัญญาณให้นักลงทุนที่ไม่มีข้อมูลสามารถรับรู้ข้อมูลได้จากการเปิดเผยข้อมูลของงบการเงินย้อนหลัง 3 ปี ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ (พิมพิศา, 2562)
ดังนั้น ข้อมูลทางการเงินของบริษัทมักเป็นข้อมูลสำคัญตัวหนึ่งในการพิจารณาผลการดำเนินงานของบริษัท ประเมินความสามารถในการบริหารของผู้บริหาร และคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ในอนาคต หรือที่เรียกว่า “การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน” โดยมีงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศรองรับแนวคิดดังกล่าวมากมาย
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลภาครัฐ เช่น คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, กรมสรรพากร ฯลฯ สามารถนำบทวิเคราะห์มาใช้ในการควบคุมการกำหนดราคาหลักทรัพย์ IPO ของบริษัทที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้มีความเหมาะสม ถูกต้อง มีความน่าเชื่อถือ อีกทั้งนำผลการวิเคราะห์ครั้งนี้ใช้เป็นตัวชี้วัดเพื่อกำหนดนโยบายภาครัฐให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และสภาพการณ์ได้ดียิ่งขึ้น
2. เพื่อให้ข้อมูลแก่บริษัทที่ต้องการหาแหล่งเงินทุนในการพัฒนาหรือขยายธุรกิจ ในการวางแผนในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ความน่าจะเป็นของการจ่ายเงินปันผลที่คาดว่าจะได้รับเพื่อให้คำแนะนำการลงทุนแก่นักลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. เพื่อให้นักลงทุน นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ และผู้ใช้งบการเงินทั่วไป สามารถเข้าใจคุณลักษณะของอัตราส่วนทางการเงินที่แตกต่างกันได้ดียิ่งขึ้น และสามารถใช้เป็นแนวทางในการเลือกใช้อัตราส่วนทางการเงินของงบการเงินเพื่อทำการวิเคราะห์อัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์ IPO ที่กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้รับผลตอบแทนจากการจ่าย เงินปันผลตามที่คาดการณ์ไว้ เพื่อประกอบ
การตัดสินใจซื้อหลักทรัพย์และกำหนดกลยุทธ์และนโยบายสำหรับการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง
แนวคิดเกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ IPO
หลักทรัพย์ IPO คือ หลักทรัพย์ที่เสนอขายต่อสาธารณะชนเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering) หมายถึง การที่บริษัทต้องการแหล่งเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจ บริษัทผู้เสนอขายหลักทรัพย์ (Issuer) ก็จะปรึกษากับที่ปรึกษาทางการเงินจัดทำหนังสือชี้ชวนการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ให้มีข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง เพื่อให้นักลงทุนอ่านทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจจองซื้อหลักทรัพย์ได้ โดยจะต้องทำผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับความเห็นชอบจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (Securities and Exchange Commission: SEC) และต้องจัดทำหนังสือชี้ชวนตามหลักเกณฑ์ โดยบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจัดจำหน่ายให้เสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน แต่ละครั้งจะไม่มีเกณฑ์แน่นอนว่าจะจองด้วยวิธีใด ผ่านช่องทางไหน จ่ายเงินอย่างไร หรือจัดสรรอย่างไรผู้ลงทุนจะต้องศึกษารายละเอียดต่าง ๆ จากหนังสือชี้ชวนเอง เมื่อหลักทรัพย์ได้รับจัดสรรเรียบร้อยแล้ว ก็จะถูกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ผู้ถือหลักทรัพย์มีโอกาสซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ประโยชน์จากการออกจำหน่ายหลักทรัพย์ IPO
บริษัทที่ออกจำหน่ายหลักทรัพย์ IPO
ประการที่ 1 แหล่งเงินทุนระยะยาวที่ปราศจากภาระดอกเบี้ย
การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ช่วยให้บริษัทสามารถระดมเงินทุนจากประชาชนทั่วไปได้โดยตรง เพื่อนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือขยายธุรกิจของบริษัทได้โดยไม่มีภาระที่ต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยตามงวดเวลาที่กำหนดเหมือนการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการบริหารเงินมากขึ้น
ประการที่ 2 เพิ่มช่องทางระดมทุนเพื่อช่วยในการบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สามารถระดมทุนเพิ่มเติมเมื่อมีความต้องการใช้เงินเพิ่มขึ้นได้ โดยการออกตราสารทางการเงินประเภทต่าง ๆ ได้หลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุน และตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน เช่น หุ้นสามัญเพิ่มทุน หุ้นกู้ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหลักทรัพย์ เป็นต้น
ช่วยให้บริษัทสามารถจัดโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทได้
ประการที่ 3 เสริมสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท
การเป็นบริษัทจดทะเบียนจะช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ที่ดีในการบริหารงานและมาตรฐานการดำเนินงานของบริษัทมากขึ้น ผ่านกลไกการเปิดเผยข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนสนใจลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทมากขึ้นแล้ว ยังช่วยสร้างความเชื่อถือให้แก่ลูกค้า คู่ค้า ทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย
ประการที่ 4 สร้างความภักดี และผลตอบแทนที่ดีให้แก่พนักงาน
พนักงานของบริษัทนับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ การให้พนักงานมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ จะช่วยสร้างความภักดีและความภูมิใจให้แก่พนักงาน มีความทุ่มเทความสามารถอย่างเต็มที่ในการสร้างความก้าวหน้าให้แก่บริษัท การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นช่องทางหนึ่งที่บริษัทสามารถเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของบริษัทได้ ผ่านโครงการเสนอขายหลักทรัพย์ให้แก่กรรมการหรือพนักงานของบริษัท (Employee Stock Option Program หรือ ESOP)
ประการที่ 5 สร้างความรับผิดชอบและการบริหารงานแบบมืออาชีพ
การที่บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูล ข่าวสาร และความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ผ่านช่องทางและระบบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของตลาดหลักทรัพย์ ช่วยทำให้บริษัทเป็นที่รู้จักของผู้ลงทุนมากขึ้น ช่วยสร้างความสนใจของผู้ลงทุนในบริษัทมากขึ้นและกระตุ้นให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนมีความรับผิดชอบในการบริหารงานมากขึ้นด้วย
ประการที่ 6 การดำรงอยู่ของธุรกิจในระยะยาว
การเป็นบริษัทจดทะเบียนจะช่วยให้บริษัทที่มีการบริหารงานแบบธุรกิจครอบครัวก้าวเข้าสู่การบริหารงานแบบมืออาชีพมากขึ้น มีผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพเข้ามาร่วมบริหารกิจการ และเปิดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวของเจ้าของกิจการที่มีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตหรือมีความถนัดที่แตกต่างกันไปสามารถเลือกประกอบอาชีพที่ต้องการโดยยังคงมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทและได้รับผลตอบแทนจากการถือหุ้นอยู่เช่นเดิม
ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน
ประการที่ 1 เพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ถือหุ้น
การเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ช่วยให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทมีศูนย์กลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ที่ถือไว้เป็นเงินสดได้ง่ายและสะดวก ซึ่งจะช่วยให้เกิดสภาพคล่องให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทได้
ประการที่ 2 ลดภาระค้ำประกันของผู้ถือหุ้นและกรรมการ
การเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนจะช่วยให้บริษัทมีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทจะต้องปรับปรุงให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มขึ้นตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์กำหนด นอกจากนี้การเป็นบริษัทจดทะเบียนและเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้หลักทรัพย์ของบริษัทมีราคาอ้างอิง และมีสภาพคล่อง เป็นหลักทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งผู้ถือหุ้นสามารถนำไปเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ หรือเพื่อใช้ลดการค้ำประกันการกู้ยืมเงินที่ทำไว้ก่อนการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้
ประการที่ 3 ได้รับยกเว้นภาษีกำไรจากการขายหุ้น
บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำกำไรที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
หนังสือชี้ชวน
รายละเอียดข้อมูลของหลักทรัพย์ก่อนการเสนอขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยรายละเอียดดังกล่าว จะถูกรวบรวมและจัดทำเป็นหนังสือชี้ชวนการลงทุนเพื่อเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดของบริษัทที่มีความประสงค์จะจำหน่ายหลักทรัพย์ IPO ให้แก่นักลงทุนทราบ
ข้อมูลในหนังสือชี้ชวน
1. ลักษณะอุตสาหกรรมที่บริษัทนี้ดำเนินกิจการอยู่ โดยต้องพิจารณาว่าอุตสาหกรรมนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างไรในอนาคต มีการแข่งขันเป็นอย่างไร มีลักษณะของการผูกขาดหรือไม่ นอกจากวิเคราะห์หลักทรัพย์ IPO ที่นักลงทุนสนใจแล้ว นักลงทุนควรต้องวิเคราะห์บริษัทอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันว่า มีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร และมีราคาหุ้นเป็นอย่างไร เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ
2. ความสามารถในการแข่งขันของบริษัท โดยพิจารณาว่าบริษัทนี้มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอย่างไร มีนโยบายการดำเนินงานอย่างไร มีคู่แข่งหรือไม่ คู่แข่งคือใคร นอกจากนี้นักลงทุนอาจจะลองไปใช้บริการดู เพื่อประกอบการตัดสินใจ
3. วัตถุประสงค์ในการระดมทุน เช่น เพื่อใช้สำหรับการขยายกิจการ ชำระคืนหนี้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของกิจการ ซึ่งจะช่วยให้ประเมินโอกาสและความเสี่ยงในอนาคตข้างหน้าได้
4. วิเคราะห์งบการเงินของบริษัท วิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน และคาดการณ์ผลประกอบการณ์ในอนาคต โดยวิเคราะห์จากงบกำไรขาดทุนเพื่อดูความสามารถในการทำกำไร วิเคราะห์งบกระแสเงินสดเพื่อดูความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดและคุณภาพของกำไร และวิเคราะห์งบแสดงฐานะทางการเงินเพื่อตรวจสอบสถานะทางการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้ และโครงสร้างเงินทุนของบริษัท แม้ว่างบการเงินก่อนเข้าตลาดนั้นจะมีความละเอียดในการตรวจสอบน้อยกว่างบการเงินของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดแล้ว แต่นักลงทุนก็ยังคงต้องวิเคราะห์งบการเงินของหลักทรัพย์ IPO อย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน นอกจากนี้ให้ลองเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันที่อยู่ในตลาดแล้ว เพื่อให้มีมาตรฐาน (benchmark) สำหรับการวิเคราะห์
5. พิจารณาผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ว่าเป็นใคร มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน
และสัดส่วนการถือหุ้นว่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือถือหุ้นกระจายคนละนิดละหน่อย เพราะถ้าเป็นอย่างหลัง เมื่อเข้าตลาดแล้ว อาจมีการขายหุ้นทิ้ง เมื่อพ้นระยะเวลาห้ามขาย ส่งผลถึงราคาของหุ้นและความน่าเชื่อถือของบริษัทในอนาคตได้
6. สภาวะการลงทุนในขณะที่หลักทรัพย์ IPO เข้าตลาดเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณา เพราะหากสภาพตลาดมีแนวโน้มที่ไม่ดี อาจส่งผลให้เมื่อเข้าตลาดแล้ว หุ้นนั้นมีราคาต่ำกว่าตอนจอง และอาจทำให้นักลงทุนขาดทุนได้
อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratios) คือ การนำตัวเลขจากส่วนประกอบต่าง ๆ ในงบการเงินมาเปรียบเทียบกัน เพื่อให้สามารถวิเคราะห์สุขภาพทางการเงินของบริษัทได้เห็นภาพและเข้าใจง่ายมากขึ้น
อัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ IPO ได้แก่
1.อัตราส่วนหนี้ต่อทุน (D/E Ratio)
เป็นการเปรียบเทียบหนี้สินรวมกับส่วนของผู้ถือหุ้น โดยจะแสดงให้ทราบว่ากิจการมีหนี้สินหรือส่วนของผู้ถือหุ้นมากกว่ากัน
หาก D/E Ratio น้อยกว่า 1 เท่า แปลว่า กิจการมีหนี้สินน้อยกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น
หาก D/E Ratio เท่ากับ 1 เท่า แปลว่า กิจการมีหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้นเท่า ๆ กัน อย่างละครึ่ง
หาก D/E Ratio มากกว่า 1 เท่า แปลว่า กิจการมีหนี้สินมากกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น
กิจการที่ดีควรมีค่า D/E Ratio น้อยกว่า 1 เท่า หาก D/E Ratio มากกว่า 1 เท่า แสดงว่า กิจการมีสัดส่วนของหนี้สินมากกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงของกิจการ เนื่องจากการมีหนี้สินที่มากเกินไป อาจส่งผลต่อฐานะและความมั่นคงทางการเงินของกิจการ และหากกิจการมีหนี้มาก ดอกเบี้ยที่จะต้องชำระให้แก่เจ้าหนี้ที่กิจการกู้ยืมหนี้สินมาก็จะมากเช่นเดียวกัน นักลงทุนมักนิยมเปรียบเทียบ D/E Ratio ของกิจการในแต่ละปีมากกว่าเปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน
2.อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio)
เป็นการเปรียบเทียบสินทรัพย์หมุนเวียนกับหนี้สินหมุนเวียน โดยจะแสดงให้ทราบว่ากิจการมีสินทรัพย์หมุนเวียน เช่น เงินสด ลูกหนี้การค้า และสินค้าคงเหลือ เพียงพอจะจ่ายหนี้สินหมุนเวียนหรือหนี้สินที่กิจการจะต้องจ่ายภายในหนึ่งปี เช่น ตั๋วเงินจ่าย เจ้าหนี้การค้า หรือไม่ Current Ratio ที่ดีควรมีค่ามากกว่า 1 เท่า เพื่อแสดงว่ากิจการมีสินทรัพย์หมุนเวียนเพียงพอที่จะจ่ายหนี้สินหมุนเวียน
3.อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset : ROA)
เป็นการเปรียบเทียบกำไรสุทธิกับสินทรัพย์รวม โดยจะแสดงถึงความสามารถของกิจการว่าสามารถนำสินทรัพย์ที่กิจการมีอยู่มาสร้างรายได้ได้มากน้อยเพียงใด
หาก ROA สูง แปลว่า กิจการบริหารสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หาก ROA ต่ำ แปลว่า กิจการบริหารสินทรัพย์ได้ไม่มีประสิทธิภาพ
การประเมินว่า ROA สูงหรือต่ำ นักลงทุนควรนำ ROA ของกิจการมาเปรียบเทียบกับกิจการต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือกิจการที่ดำเนินธุรกิจคล้ายกัน เนื่องจากแต่ละอุตสาหกรรมจะมีการลงทุนและวิธีการสร้างรายได้ที่แตกต่างกัน
อีกทั้ง นักลงทุนยังสามารถเปรียบเทียบ ROA กับกิจการตัวเองในแต่ละปีเพื่อดูว่ากิจการมีพัฒนาการในการทำกำไรจากสินทรัพย์หรือไม่ โดยหาก ROA ของกิจการเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี อย่างสม่ำเสมอถือกิจการดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพ เนื่องจากจะแสดงถึงความสามารถในการสร้างกำไรจากสินทรัพย์ที่มีอยู่ได้ดีขึ้น
4.อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE)
เป็นอัตราส่วนที่แสดงถึงความสามารถของกิจการว่าสามารถนำเงินทุนของผู้ถือหุ้นมาสร้างผลตอบแทนได้มากน้อยเพียงใด คุ้มกับเงินทุนที่ผู้ถือหุ้นลงทุนไปหรือไม่ โดยสูตรการคำนวณ ROE คือการเปรียบเทียบกำไรสุทธิกับส่วนของผู้ถือหุ้น
หาก ROE สูง แปลว่า กิจการสามารถบริหารส่วนของผู้ถือหุ้นได้ดี
หาก ROE ต่ำ แปลว่า กิจการบริหารส่วนของผู้ถือหุ้นได้ไม่ดี
การประเมินว่า ROE สูงหรือต่ำ นักลงทุนต้องเปรียบเทียบ ROE กับกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือกิจการที่ดำเนินธุรกิจคล้ายคลึงกัน
5.อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin : NPM)
เป็นการเปรียบเทียบกำไรสุทธิกับยอดขายรวม แล้วคูณด้วย 100 เพื่อทำให้เป็นเปอร์เซ็นต์ โดยกำไรสุทธิของกิจการมาจากการนำยอดขายรวมลบด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมด เช่น ต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายในการขาย และบริหารเป็นต้น เป็นต้น
ดังนั้น อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) เป็นทั้งการวัดความสามารถในการทำกำไรของกิจการและวัดความสามารถในการควบคุมต้นทุนของกิจการ
จึงกล่าวได้ว่าอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ของกิจการยิ่งสูงก็ยิ่งดี เนื่องจากแสดงถึงความสามารถในการสร้างกำไรและการควบคุมต้นทุนที่ดีขึ้น โดยส่วนใหญ่นักลงทุนมักเปรียบเทียบอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ทั้งกับกิจการเองในแต่ละปีและเปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือกิจการที่ดำเนินธุรกิจคล้ายคลึงกัน
6.กำไรต่อหุ้น (Earnings Per Share :EPS)
เป็นการเปรียบเทียบกำไรสุทธิ (Net Profit Margin) กับจำนวนหุ้นที่ชำระแล้ว (Outstanding Shares) แล้วคูณด้วย 100 เพื่อทำให้เป็นเปอร์เซ็นต์ โดยกำไรต่อหุ้น (Earnings Per Share :EPS) จึงเป็นอัตราส่วนที่แสดงถึงโดยเฉลี่ยแล้วหากนักลงทุนถือหุ้นของกิจการ 1 หุ้น นักลงทุนจะได้กำไรกี่บาท และโดยส่วนใหญ่นักลงทุนจะนิยมเปรียบเทียบ EPS กับกิจการนั้น ๆ ในแต่ละปีมากกว่าการเปรียบเทียบกับกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เนื่องจากแต่ละกิจการมีโครงสร้างผู้ถือหุ้นและจำนวนหุ้นที่แตกต่างกัน
จึงกล่าวได้ว่ากำไรต่อหุ้น (Earnings Per Share :EPS) ของกิจการยิ่งสูงก็ยิ่งดี เนื่องจากแสดงว่ากิจการสามารถสร้างกำไรสุทธิได้มากขึ้นเพิ่มขึ้นทุกปีและหากกำไรต่อหุ้น (Earnings Per Share :EPS) ของกิจการใดมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ ในอนาคต จะถือเป็นกิจการที่โดดเด่น นักลงทุนมักจะลงทุนในกิจการดังกล่าว
7.อัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield : DY)
เป็นการนำจำนวนเงินปันผลต่อหุ้น (บาท) เทียบกับราคาหุ้น แล้วคูณด้วย 100 เพื่อทำให้เป็นเปอร์เซ็นต์ โดยอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield : DY) เป็นสิ่งที่กิจการจะปันออกมาจากกำไรในแต่ละปีเพื่อให้ผู้ถือหุ้น เพราะฉะนั้น หากปีใดมีกำไรมาก ปีนั้นกิจการก็อาจจะจ่ายเงินปันผลมาก แต่หากปีใดมีกำไรน้อย ปีนั้นกิจการก็อาจจะจ่ายเงินปันผลน้อยหรืออาจจะไม่จ่ายเลย ขึ้นอยู่กับนโยบายการจ่ายเงินปันผลของแต่ละกิจการ
นักลงทุนบางท่านชอบหุ้นที่มีอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield : DY) สูง บางท่านชอบหุ้นที่มีอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield : DY) ต่ำ ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละท่าน เนื่องจากบางท่านชอบที่จะให้บริษัทจ่ายปันผลมาก ๆ แต่บางท่านก็อยากให้กิจการเก็บเงินส่วนนี้ไว้เพื่อพัฒนาและต่อยอดโครงการของกิจการมากกว่า
การพิจารณาเพียงอัตราส่วนทางการเงินของกิจการอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ นักลงทุนต้องทำการเปรียบเทียบบริษัทที่ทำการวิเคราะห์กับตัวเลือกการลงทุนอื่น ๆ ที่มีอยู่ด้วย ได้แก่
1.เทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน
โดยมองทั้ง 7 อัตราส่วนทางการเงิน เพื่อดูว่าบริษัทมีข้อดีข้อด้อยในส่วนใด และโดยภาพรวมบริษัทใดน่าจะเป็นตัวเลือกการลงทุนที่ดีที่สุด
2.เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม
นักลงทุนต้องรวมตัวเลขงบการเงินของกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันแล้วนำมาจัดทำอัตราส่วนทางการเงินของกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ใช่การหาอัตราส่วนทางการเงินรายบริษัทในอุตสาหกรรมแล้วนำมาหาค่าเฉลี่ยเนื่องจากจะได้ค่าเฉลี่ยที่ไม่ได้มีการถ่วงน้ำหนักในการคำนวน จากนั้นจึงนำอัตราส่วนทางการเงินของกิจการที่วิเคราะห์มาเปรียบเทียบกับตัวเลขของอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้รู้ว่ากิจการที่วิเคราะห์มีสถานะที่ดีหรือแย่กว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม
สรุป
สำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ IPO อาจเห็นได้ว่าสถิติผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับจากการซื้อหลักทรัพย์ IPO ในตลาดแรก (Primary Market) และขายในวันแรกในตลาดรอง (Secondary Market) ซึ่งเรียกว่าผลตอบแทนวันแรก (First -day Returns) โดยเฉลี่ยแล้วอัตราผลตอบแทนวันแรกจะมีค่าสูงมากเมื่อเทียบกับผลตอบแทนการลงทุนทั่วไป เห็นได้จากการศึกษาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ แต่สำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์แต่ละชนิดย่อมมีความเสี่ยงในการลงทุน เนื่องจากไม่มีหลักประกันใดรับรองว่าการลงทุนในหลักทรัพย์จะให้ผลตอบแทนที่สูงเสมอไป ซึ่งผลตอบแทนที่ได้นั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ มากมาย ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยนักลงทุนวิเคราะห์หลักทรัพย์แต่ละชนิดได้ คือ อัตราส่วนทางการเงินที่คำนวณได้จากงบการเงินของบริษัทนั้น ๆ โดยทั้ง 7 อัตราส่วนทางการเงินในบทความนี้เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่นักลงทุนส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญ เนื่องจากจะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจความหมายและสามารถติดตามข่าวสารต่าง ๆ ได้ โดยมีความเข้าใจมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันนักลงทุนจำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย อีกทั้ง ควรพิจารณาตามความชอบและความพร้อมของแต่ละท่าน ว่าพร้อมที่จะลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด เห็นได้ว่าการลงทุนมีความเสี่ยงแต่นักลงทุนสามารถบริหารความเสี่ยงให้น้อยลงได้ด้วยการศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน
ข้อเสนอแนะ
การลงทุนมีความเสี่ยง แต่สามารถบริหารความเสี่ยงให้น้อยลงได้ด้วยการศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน ทั้งข้อมูลทางการเงิน นโยบายการดำเนินงานของบริษัท โครงการในอนาคตของบริษัท สภาวะทางเศรษฐกิจ คู่แข่ง ผู้ซื้อ ผู้ขาย ข้อกำหนด ข้อบังคับทางกฎหมาย สภาวะทางการเมือง นวัตกรรมและเทคโนโลยี ฯลฯ อีกทั้ง ควรพิจารณาตามความชอบและความพร้อมของนักลงทุนแต่ละท่าน ว่าพร้อมที่จะลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด
บรรณานุกรม
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน). เคล็ดลับการลงทุนในหุ้น IPO. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2564.
จากเว็บไซต์ : https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/initial-public-offering.html
บริษัท คอนเทนท์ เบเกอร์ จำกัด. รู้ได้ยังไงว่า “หุ้น IPO” ตัวนี้ ราคาถูกหรือแพง ?. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2564. จากเว็บไซต์ : https://www.moneybuffalo.in.th/stock
พิมพิศา พรหมมา. (2561). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดราคาหลักทรัพย์ที่เข้าจดทะเบียนครั้งแรกต่ำกว่ามูลค่าของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ของประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต. วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ศูนย์บริการข้อมูลด้านการลงทุน และศูนย์รับเรื่องสำหรับผู้สนใจการลงทุน / นักลงทุน. เคล็ดไม่ลับกับการลงทุนหุ้น IPO มือใหม่ ต้องดูอะไร ก่อนลงทุน “หุ้น IPO". สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2564. จากเว็บไซต์ : https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/171-investhow-6step-ipo
Finn and Hgham. (1988). Analysis on Factors Affecting IPO Underpricing and their Effects on Earnings Persistence. World Review of Business Research, 2(2), 1-15.
Mok and Hui. (1998). The effect of financial ratios, firm size, and cash flow from operating activities in the interim report to the stock return. Chinese Business Review, 8, 44-55.
Ritter. (1991). The long-run performance of initial public offerings. The journal of finance, 46(1), 3-27.