ระบบการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานภาครัฐ

UploadImage
 
UploadImage
 
ระบบการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานภาครัฐ
Internal control system for government agency
                   
ร้อยตรีหญิง สุธิดา เสาวคนธ์
            SECOND LIEUTENANT SUTIDA SAOWAKHON
sutida.sao@spumail.net
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม


บทคัดย่อ

          บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอถึงระบบการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลังว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2561 แนวคิด คำนิยาม วัตถุประสงค์ องค์ประกอบของมาตรฐานการควบคุมภายใน รวมทั้งข้อดี และข้อเสียของระบบการควบคุมภายใน บทความนี้จะช่วยให้ผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานภาครัฐสามารถเข้าใจถึงระบบของการควบคุมภายในของตนเองได้มากยิ่งขึ้น

 

คำสำคัญ : ระบบการควบคุมภายใน, หน่วยงานภาครัฐ, มาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการควบคุมภายใน

Abstract
          This article aims to present the Internal Control System for Government agencies that is consisted of the Ministry of Finance's criteria for Internal Control Standards and Guidelines for Government agencies 2018 and also including the concepts, definitions, objectives, compositions of Internal Control Standards, the advantages and disadvantages of the Internal Control Systems. This article will help people who are Government officers more understand their Internal Control Systems.
 
Keywords : Internal control system, government agency, internal control standards and guidelines

บทนำ

          พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ตามมาตรา 79 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐ จัดให้มีการตรวจสอบภายใน การควบคุมภายใน และการบริการความเสี่ยง ตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด บทความนี้จะกล่าวถึง ระบบการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานภาครัฐ โดยการควบคุมภายใน คือ กระบวนการทำงานที่ ผู้กำกับดูแล หัวหน้าหน่วยงาน ฝ่ายบริหาร และบุคลากรจัดให้มีขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจในระดับที่สมเหตุสมผลว่าการดำเนินงานจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ด้านการดำเนินงาน การรายงาน และด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และทำให้บุคลากรภาครัฐสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล


วัตถุประสงค์
         1. เพื่อให้บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานภาครัฐ

          2. เพื่อให้บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐนำระบบการควบคุมภายในมาใช้ภายในหน่วยงานและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

แนวคิดของมาตรฐานการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานภาครัฐ
          1. เป็นกลไกให้บรรลุวัตถุประสงค์การควบคุมภายในด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลายด้าน ได้แก่
                 1.1 ด้านการดำเนินงาน
                 1.2 ด้านการรายงาน และ
                 1.3 ด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ
          2. การควบคุมภายในจะแทรกอยู่ในการปฏิบัติงานตามปกติของหน่วยงาน ต้องทำเป็นขั้นตอนและปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
          3. การควบคุมภายในจะเกิดขึ้นโดยผู้กำกับดูแล ฝ่ายบริหาร ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ตรวจสอบภายในที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้การควบคุมภายในเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การกำหนดนโยบาย ระบบงาน คู่มือการทำงาน หรือแบบฟอร์มงาน หากแต่ต้องมีการปฏิบัติ
          4. การควบคุมภายในควรกำหนดให้เหมาะสมกับโครงสร้างและภารกิจของหน่วยงานของรัฐ

หลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์การควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานภาครัฐ พ.ศ. 2561
            อาศัยอำนาจตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจัดให้มีการตรวจสอบภายใน การควบคุมภายในและการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยให้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยได้มีการประกาศเมื่อ 19 เมษายน 2561 และมีผลบังคับใช้เมื่อ 20 เมษายน 2561 โดยมีการกำหนดโครงสร้าง ดังนี้

ตารางที่ 1 โครงสร้างของหลักเกณฑ์และมาตรฐานสำของการควบคุมภายใน
หลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ (1) ชื่อหลักเกณฑ์
(2) วันบังคับใช้
(3) ถือปฏิบัติตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติฯ
(4) การไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติฯ
มาตรฐานการควบคุมภายในสำหรับ
หน่วยงานภาครัฐ
(1) แนวคิด
(2) คำนิยาม
(3) ขอบเขตการใช้
(4) วัตถุประสงค์
(5) องค์ประกอบ
หลักเกณฑ์ปฏิบัติการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ (1) คำนิยาม
(2) การจัดวางและการประเมินผลการควบคุมภายใน
(3) รูปแบบและระยะเวลาการส่งรายงาน การจัดวาง และการประเมินผลการควบคุมภายใน
(4) การกำหนดคู่มือ
(5) การชี้แจงข้อมูลต่อกระทรวงการคลัง
(6) การขอตกลงกับกระทรวงการคลัง

หน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 4 แห่ง พระราชบัญญัติวินับการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ได้กำหนดไว้ ดังนี้
          (1) ส่วนราชการ
          (2) รัฐวิสาหกิจ
          (3) หน่วยงานของรัฐสภา ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรอัยการ
          (4) องค์การมหาชน
          (5) ทุนหมุนเวียนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
          (6) องค์กรปกครองท้องถิ่น
          (7) หน่วยงานอื่นของรัฐตามที่กฎหมายกำหนด

คำนิยามของมาตรฐานการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ
          1. ผู้กำกับดูแล คือ บุคคล หรือคณะบุคคลที่รับผิดชอบในการกำกับดูแล หรือบังคับบัญชาของหน่วยงานของรัฐ
          2. ความเสี่ยง คือ ความเป็นไปได้ที่เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งอาจเกิดขึ้น และเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุวัตถุประสงค์
          3. การควบคุมภายใน คือ กระบวนการปฏิบัติงานที่ผู้กำกับดูแล หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ฝ่ายบริหาร และบุคลากรของหน่วยงานของรัฐจัดให้มีขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจอย่างสมเหตุสมผลว่าการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐจะบรรลุวัตถุประสงค์ด้านการดำเนินงาน ด้านการรายงาน และด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ
          4. คณะกรรมการ คือ คณะกรรมการที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการประเมินผลการควบคุมภายในของหน่วยงานของรัฐ

วัตถุประสงค์ของการควบคุมภายใน แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่
          1. วัตถุประสงค์ด้านการดำเนินงาน (Operations Objectives) คือ ความมีประสิทธิผล ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน การบรรลุเป้าหมายการดำเนินงาน การเงิน การใช้ทรัพยากร การดูแลรักษาทรัพย์สิน การป้องกันหรือลดความผิดพลาด ลดความเสียหาย
ลดการรั่วไหล ลดการสิ้นเปลือง และลดการทุจริต
          2.  วัตถุประสงค์ด้านการรายงาน (Reporting Objectives) คือ การรายงานทางการเงิน และที่ไม่ใช่รายงานทางการเงิน ที่ใช้ทั้งภายใน และภายนอกหน่วยงาน รายงานที่เชื่อถือได้ ทันเวลา โปร่งใส หรือข้อกำหนดอื่นของทางราชการ
          3. วัตถุประสงค์ด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ (Compliance Objectives) คือ การปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน และข้อกำหนดอื่นของทางราชการ

องค์ประกอบของการควบคุมภายใน
ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ 17 หลักการ ดังนี้
          องค์ประกอบที่ 1 สภาพแวดล้อมการควบคุม (Control Environment)
              จะส่งผลให้มีการนำระบบการควบคุมภายในไปปฏิบัติทั่วทั้งหน่วยงานของรัฐ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อองค์ประกอบอื่น ๆ ซึ่งผู้ที่กำกับดูแล หรือฝ่ายบริหาร จะต้องสร้างบรรยากาศให้ทุกระดับในองค์กรตระหนักถึงการควบคุมภายใน และการดำเนินงานที่คาดหวังของผู้กำกับดูแล หรือฝ่ายบริหาร ตัวอย่างเช่น ปรัชญาและรูปแบบการทำงานของผู้บริหาร, ความรู้ ทักษะและความสามารถของบุคลากร, ความซื้อสัตย์ และจริยธรรม, โครงสร้างการจัดองค์กร, การมอบอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ และนโยบายและ
วิธีบริหารบุคลากร เป็นต้น
          ประกอบด้วย 5 หลักการ ดังนี้
              (1) หน่วยงานแสดงให้เห็นถึงการยึดมั่นในคุณค่าของความซื้อตรงและจริยธรรม
              (2) ผู้กำกับดูแลของหน่วยงาน แสดงให้เห็นถึงความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร และมีหน้าที่กำกับดูแลให้มีการพัฒนาปรับปรุงการควบคุมภายใน และการดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมภายใน
              (3) หัวหน้าหน่วยงานจัดให้มีโครงสร้างองค์กร สายการบังคับบัญชา อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่เหมาะสมในการบรรลุวัตถุประสงค์ของหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของผู้กำกับดูแล
              (4) หน่วยงานแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างแรงจูงใจ พัฒนาและรักษาบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐ
              (5) หน่วยงานกำหนดให้บุคลากรมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติงานตามระบบการควบคุมภายในเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐ
          องค์ประกอบที่ 2 การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment)
              คือการระบุและวิเคราะห์ความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน โดยการกำหนดวิธีการจัดการความเสี่ยง โดยฝ่ายบริหารควรที่จะคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายนอกและภารกิจภายในทั้งหมดที่มีผลต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของหน่วนงานของรัฐ
          การกำหนดวิธีการจัดการความเสี่ยง ได้แก่
                    การยอมรับความเสี่ยง (Acceptance) คือ ความเสี่ยงที่หน่วยงานสามารถยอมรับได้ภายใต้การควบคุมที่มีอยู่ในปัจจุบัน
                    การควบคุมความเสี่ยง (Reduction) คือ การดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อลดโอกาสที่อาจเกิดขึ้นหรือผลกระทบของความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
                    การกระจายถ่ายโอนความเสี่ยง (Sharing) คือ การแบ่งความรับผิดชอบให้ผู้อื่นร่วมรับ
                    การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Avoidance) คือ การปฏิเสธและหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยง โดยการหยุด ยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงกิจกรรมหรือโครงการที่จะนำไปสู่เหตุการณ์ที่เป็นความเสี่ยง
               ประกอบด้วย 4 หลักการ ดังนี้
                    (6) หน่วยงานระบุวัตถุประสงค์การควบคุมภายในของการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ขององค์กรไว้อย่างชัดเจนและเพียงพอที่จะสามารถระบุและประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์
                    (7) หน่วยงานระบุความเสี่ยงที่มีผลต่อการบรรลุวัตถุประสงค์การควบคุมภายในอย่างครอบคลุมทั้งหน่วยงาน และวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อกำหนดวิธีการจัดการความเสี่ยงนั้น
                    (8) หน่วยงานพิจารณาโอกาสที่อาจเกิดการทุจริต เพื่อประกอบการประเมินความเสี่ยงที่ส่งผลต่อการบรรลุวัตถุประสงค์
                    (9) หน่วยงานระบุและประเมินการเปลี่ยนแปลงที่อาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระบบการควบคุมภายใน
          องค์ประกอบที่ 3 กิจกรรมการควบคุม (Control Activities)
              เป็นการกำหนดนโยบาย และกระบวนการดำเนินงาน โดยนำวิธีการควบคุมต่าง ๆ มาใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อลดและป้องกันความเสี่ยงที่จะทำให้หน่วยงานไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติงาน
โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงาน
           ลักษณะของกิจกรรมการควบคุมภายใน ได้แก่
              เป็นทางการหรือเป็นรูปธรรม (Hard Control) คือ การควบคุมที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือเป็นการกระทำที่เห็นได้ชัดเจน เพื่อการควบคุมกระบวนการปฏิบัติงาน เช่น นโยบาย แผนงาน คำสั่ง คู่มือการปฏิบัติงาน และการใช้รหัสหรือบัตรผ่าน เป็นต้น
              ไม่เป็นทางการหรือเป็นนามธรรม (Soft Control) คือ การควบคุมที่มีหรือสร้างให้เกิดจิตสำนึก การรับรู้ ความรับผิดชอบ ความสามารถของบุคคล โดยการสนับสนุนให้ Hard Control มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลยิ่งขึ้น เช่น ความรู้ ทักษะ จิตสำนึก ความซื่อสัตย์ และภาวะผู้นำ เป็นต้น                 
          รูปแบบของกิจกรรมการควบคุมภายใน ได้แก่ การควบคุมแบบป้องกัน (Preventive Control), การควบคุมแบบค้นหา (Detective Control), การควบคุมแบบแก้ไข (Corrective Control)       
              ประกอบด้วย 3 หลักการ ดังนี้
                    (10) หน่วยงานระบุและพัฒนากิจกรรมการควบคุม เพื่อลดความเสี่ยงในการบรรลุวัตถุประสงค์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
                    (11) หน่วยงานระบุและพัฒนากิจกรรมการควบคุมทั่วไปด้านเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุน
การบรรลุวัตถุประสงค์
                    (12) หน่วยงานจัดให้มีกิจกรรมการควบคุม โดยกำหนดไว้ในนโยบาย ประกอบด้วยผลสำเร็จที่คาดหวังและขั้นตอนการปฏิบัติงาน เพื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติจริง
          องค์ประกอบที่ 4 สารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication)
              จะช่วยให้มีการดำเนินการตามการควบคุมภายในที่กำหนด เพื่อสนับสนุนให้บรรลุวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐ โดยการสื่อสารจะเกิดขึ้นได้ทั้งจากภายในและภายนอกหน่วยงาน เป็นช่องทางให้ทราบถึงสารสนเทศที่สำคัญในการควบคุมการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ และจะช่วยให้บุคลากรในหน่วยงานมีความเข้าใจถึงความรับผิดชอบ และความสำคัญของการควบคุมภายในที่มีต่อการบรรลุวัตถุประสงค์
           ประกอบด้วย 3 หลักการ ดังนี้
                    (13) หน่วยงานจัดทำหรือจัดหาและใช้สารสนเทศที่เกี่ยวข้องและมีคุณภาพ เพื่อสนับสนุนให้ปฏิบัติตามการควบคุมภายในที่กำหนด
                    (14) หน่วยงานมีการสื่อสารภายในเกี่ยวกับสารสนเทศ รวมถึงวัตถุประสงค์และความรับผิดชอบที่มีต่อการควบคุมภายใน ซึ่งจำเป็นในการสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามการควบคุมภายในที่กำหนด
                    (15) หน่วยงานสื่อสารกับบุคคลภายนอกเกี่ยวกับเรื่องที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติตามการควบคุมภายในที่กำหนด
          องค์ประกอบที่ 5 กิจกรรมการติดตามผล (Monitoring Activities)
              คือ การติดตามผลระหว่างการปฏิบัติงาน และประเมินผลเป็นรายครั้ง ได้แก่ การประเมินการควบคุมด้วยตนเอง และการประเมินโดยอิสระหรือผู้ไม่มีส่วนได้เสียกับการปฏิบัติงานที่ถูกประเมินนั้น อาจจะใช้การประเมินในลักษณะใดลักษณะหนึ่งหรือทั้งสองลักษณะร่วมกัน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าได้มีการปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอ ละการควบคุมภายในมีความเพียงพอและเหมาะสม ในกรณีที่ผลการประเมินทำให้เห็นว่า จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยงานของรัฐ จะทำให้รายงานฝ่ายบริหาร หรือผู้กำกับดูแลอย่างทันเวลา
           ประกอบด้วย 2 หลักการ ดังนี้
                    (16) หน่วยงานของรัฐระบุ พัฒนา หรือดำเนินการประเมินผลระหว่างผลเป็นรายครั้งตามที่กำหนด เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าได้มีการปฏิบัติตามองค์ประกอบของการควบคุมภายใน
                    (17) หน่วยงานของรัฐประเมินผลการสื่อสารข้อบกพร่อง หรือจุดอ่อนของการควบคุมภายในอย่างทันเวลาต่อฝ่ายบริหาร และผู้กำกับดูแล เพื่อให้ผู้รับผิดชอบสามารถสั่งการแก้ไขได้อย่างเหมาะสม

ข้อดีหรือประโยชน์ของการควบคุมภายใน มีดังนี้
          1. ช่วยให้การดำเนินงานของกิจการสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ และมีประสิทธิภาพ
          2. ช่วยป้องกันความสูญเสียของทรัพยากร ทำให้การใช้ทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด และคุ้มค่า
          3. ช่วยให้รายงานทางการเงินมีความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์และเชื่อถือได้ ผู้บริหารหรือผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจ
          4. ช่วยให้ผู้บริหารในการกำกับให้การปฏิบัติการด้านต่าง ๆ สอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบที่ใช้บังคับหน่วยงาน

ข้อเสียหรือข้อจำกัดของระบบการควบคุมภายในมีดังนี้ มีดังนี้
          1. การตัดสินใจใช้ดุลยพินิจของฝ่ายบริหารแทนระบบ ในบางครั้งแม้ว่ามีระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสม แต่หากฝ่ายบริหารตัดสินใจโดยใช้ดุลยพินิจที่ไม่ถูกต้องหรือผิดพลาด อันเนื่องจากระบบข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนั้น หรือเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยได้
          2. การก้าวก่ายของฝ่ายบริหาร หรือผู้บริหารอาจสั่งการหรือยกเว้นกฎเกณฑ์ในสิ่งที่ตนสั่งการให้ปฏิบัติ
          3. การไม่ปฏิบัติตามระบบการควบคุมภายในที่องค์กรกำหนดไว้ของผู้ปฏิบัติงานแต่ละคน
          4. การทุจริตในหน่วนงาน หรือพนักงานสมคบกันฉ้อโกงกิจการ หรือหลีกเลี่ยงการควบคุมที่มีอยู่
          5. ผู้ปฏิบัติงานขาดความเข้าใจกลไกของการควบคุมที่จัดขึ้น
          6. ค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีระบบการควบคุมภายในก่อให้เกิดต้นทุนสูงกว่าค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งไม่คุ้มกับประโยชน์ที่ได้รับ

สรุป
          ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การควบคุมภายในประสบความสำเร็จ หน่วยงานจะต้องมีปัจจัยเกื้อหนุน และปัจจัยผลักดัน โดยปัจจัยเกื้อหนุนนั้น ผู้บริหารของหน่วยงานจะต้องเป็นผู้ริเริ่ม ในการจัดให้มีระบบการควบคุมภายในขึ้นในหน่วยงาน และระบบการควบคุมภายในจะต้องได้รับการยอมรับในระดับปฏิบัติ โดยจะต้องมีการประเมินความเสี่ยง และจัดให้มีการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ หน่วยงานภาครัฐจะต้องมีการจัดการเกี่ยวกับทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นระบบและเหมาะสม ซึ่งผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับจะต้องมีความซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน ในส่วนของปัจจัยผลักดัน คือปัจจัยที่ช่วยให้ระบบการควบคุมภายในของหน่วยงานภาครัฐ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน มีการตกลงร่วมกันที่จะปฏิบัติงานตามที่หน่วยงานกำหนดไว้ การบริหารงบประมาณ การจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบุคลากรที่รับผิดชอบ จะต้องลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จริงจัง และสม่ำเสมอ

ข้อเสนอแนะ
          การที่หน่วยงานภาครัฐจะดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือของบุคลกรในหน่วยงาน ตั้งแต่ระดับผู้บริหาร ผู้บังคับบัญชา ไปจนถึงบุคลากรในระดับปฏิบัติการ ในการกำหนดระบบการควบคุมภายในของหน่วยงาน และบุคลากรในทุกระดับ จะต้องมีการลงมือปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง จากการที่ได้กำหนดความเสี่ยง และหาแนวทางหรือกิจกรรมในการควบคุมไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดผลกระทบร่วมกัน ผลลัพธ์ที่ได้จากการมีระบบการควบคุมภายในที่ดี จะส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้

บรรณานุกรม
กรมบัญชีกลาง. การควบคุมภายในภาคราชการ. สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2564. จากเว็บไซต์  https://www.slideshare.net/i_cavalry/ss-22373466
กองตรวจสอบภาครัฐ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง. หลักเกณฑกระทรวงการคลังวาด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2561. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2564. จากเว็บไซต์: http://https://www.dol.go.th/train/eschool/allcourse/contralandrisk/1control.pdf
ค้นหาราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติ วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2564. จากเว็บไซต์: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/027/1.PDF
สำนักงานบัญชีดับเบิ้ลจี. ประโยชน์ และข้อจำกัดของการควบคุมภายใน. สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2564.
จากเว็บไซต์: http://dobunchee.blogspot.com/2009/12/blog-post_10.html