หลักคุณธรรมและจริยธรรมที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของผู้ตรวจสอบภายใน
20
Dec
หลักคุณธรรมและจริยธรรมที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของผู้ตรวจสอบภายใน
ETHICS AND ETHICS THAT AFFECT THE WORK OF INTERNAL AUDITORS
สมจินตนา สุวรรณสิงห์
Somjintana Suwannasingha
Starjoker88@hotmail.com
Starjoker88@hotmail.com
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้เพื่อศึกษาหลักคุณธรรม จริยธรรมที่ส่งผลต่อการทำงานของผู้ตรวจสอบภายใน มุ่งเน้นให้พึงประพฤติปฏิบัติ ประยุกต์หลักการไปใช้จริง และพึงใช้เป็นแนวทางในการประพฤติตนอย่างมีจรรยาบรรณในวิชาชีพการตรวจสอบภายใน จากการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า หลักคุณธรรมและจริยธรรม ประกอบด้วย ความซื่อสัตย์ ความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม ความสามารถในหน้าที่ ความเชี่ยวชาญ การใช้ความระมัดระวังในการประกอบวิชาชีพและการรักษาความลับ ส่งผลกระทบเชิงบวกกับการทำงานของผู้ตรวจสอบภายใน
คำสำคัญ: ความซื่อสัตย์, ความเที่ยงธรรม, การรักษาความลับ
Abstract
The objective of this research to study moral principles Ethics that affect the work of internal auditor. Focus on conduct Applying the principles to practice and should be used as a guideline for ethical behavior in the internal audit profession. From the literature review and related research, it was found that moral and ethical principles consist of honesty. independence fairness competence in duty expertise Profession and Confidentiality positively affect the work of internal auditors
Keywords:
บทนำ
เมื่อกล่าวคำว่า "จริยธรรม" และ "คุณธรรม" ที่หลายคนมักพูดถึง บางครั้งก็เรียกควบกันไปเป็น “คุณธรรมจริยธรรม” และบางครั้งการนำไปใช้ในความหมายที่แยกกันไม่ออก
คุณธรรม (Morality/Virtue) และจริยธรรม (Ethics) เป็นคำศัพท์ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน
ทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตามที่บัญญัติไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ดังนี้
คุณธรรม หมายถึง สภาพคุณงามความดีเป็นสภาพคุณงามความดีทางความประพฤติและจิตใจ ซึ่งสามารถแยกออกเป็น 2 ความหมาย คือ
1. ความประพฤติดีงาม เพื่อประโยชน์สุขแก่ตนและสังคม ซึ่งมีพื้นฐานมาจากหลักศีลธรรมทางศาสนา ค่านิยมทางวัฒนธรรม ประเพณี หลักกฎหมาย จรรยาบรรณวิชาชีพ
2. การรู้จักไตร่ตรองว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ และอาจกล่าวได้ว่า คุณธรรม คือ จริยธรรม แต่ละข้อที่นำมาปฏิบัติจนเป็นนิสัย เช่น เป็นคนซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีความรับผิดชอบ ฯลฯ
นอกจากนี้พระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ได้กำหนดความหมายของ "คุณธรรม" ว่า หมายถึง สิ่งที่มีคุณค่า มีประโยชน์เป็นความดีงาม เป็นมโนธรรม เป็นเครื่องประคับประคองใจให้เกลียดความชั่ว กลัวบาป ใฝ่ความดีเป็นเครื่องกระตุ้นผลักดันให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบเกิดจิตสำนึกที่ดีมีความสงบเย็นภายใน เป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังโดยเฉพาะเพื่อให้เกิดขึ้น และเหมาะสมกับความต้องการในสังคมไทย (กิตติยา โสภณโภไคย)
หลักคุณธรรม คือ คุณงามความดีที่เป็นธรรมชาติ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม สภาพคุณงามความดีทางความประพฤติและจิตใจ ความดีที่เป็นธรรมชาติที่เกิดในจิตใจของคนที่เป็นคุณสมบัติอันดีงาม เป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีประโยชน์ เป็นความดีงาม เป็นมโนธรรม เป็นเครื่องประดับประดองใจให้เกลียดความชั่ว กลัวบาป ใฝ่ความดี เป็นเครื่องกระตุ้นผลักดันให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบ เกิดจิตสำนึกที่ดีมีความสงบเย็นภายใน เป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังโดยเฉพาะเพื่อให้เกิดขึ้นและเหมาะสมกับความต้องการในสังคมไทย (สำนักนายกรัฐมนตรี) นอกจากนี้ยังพบประเด็นเกี่ยวกับความเหมือน ความแตกต่าง และความเกี่ยวพันต่างของคุณธรรม ได้แก่ เป็นลักษณะความรู้สึกนึกคิดทางจิตใจ และเป็นมุมมองแง่หนึ่งของจริยธรรม ซึ่งคำนึงถึงสิ่งที่ถูกและผิด โดยมีหลักใหญ่ 2 ประการ ได้แก่ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในแต่ละบุคคล สภาพคุณความดีหรือคุณลักษณะที่แสดงออกของความดีที่แสดงออกด้วยการปฏิบัติเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป
จริยธรรม คือ ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม ซึ่งก็คือ กฏเกณฑ์ ความประพฤติของมนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นจากธรรมชาติของมนุษย์เอง ความเป็นผู้มีปรีชาญาณ (ปัญญาและเหตุผล) ทำให้มนุษย์มีมโนธรรม รู้จักแยกแยะความถูก ผิด ควร ไม่ควร โดยจริยธรรมมีลักษณะ4 ประการ คือ
1. การตัดสินทางจริยธรรม (Moral Judgement) บุคคลจะมีหลักการของตนเอง เพื่อตัดสินการกระทำของผู้อื่น
2. หลักการของจริยธรรมและการตัดสินตกลงใจเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในตัวบุคคลก่อนที่จะปฏิบัติการต่างๆ ลงไป
3. หลักการทางจริยธรรมเป็นหลักการสากลที่บุคคลใช้ตัดสินใจในการกระทำสิ่งต่างๆ
4. ทัศนะเกี่ยวกับจริยธรรมได้มาจากความคิดของบุคคลหรืออุดมคติของสังคมจนเกิดเป็นทัศนะในการดำรงชีวิตของตน และของสังคมที่ตนอาศัยอยู่
นอกจากนี้คำว่า "จริยธรรม" ยังหมายถึง กรอบหรือแนวทางอันดีงามที่พึงปฏิบัติซึ่งกำหนดไว้สำหรับสังคม เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยงดงาม ความสงบร่มเย็นเป็นสุขความรักสามัคคี ความอบอุ่น มั่นคงและปลอดภัยในการดำรงชีวิต
ผู้ตรวจสอบภายใน หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหาร ในการให้บริการข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ ที่ถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานและระบบการควบคุมภายในขององค์กร โดยมีเป้าหมายคือ องค์กรสามารถนำผลการตรวจสอบและการประเมินผลการควบคุมภายในไปใช้ในการบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นบทบาทของผู้ตรวจสอบภายในจึงมีความสำคัญและจำเป็นที่จะต้องตอบสนองความต้องการของผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน หน่วยรับตรวจต่างๆ ภายในองค์กร โดยกิจกรรมของผู้ตรวจสอบภายในต้องจัดให้มีการเพิ่มมูลค่าและปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กรให้ดีขึ้น มีกิจกรรมการให้หลักประกันและการให้คำปรึกษาอย่างเป็นอิสระและเที่ยงธรรม โดยการปฏิบัติงานที่ต้องอาศัยดุลยพิจนิจนี้ จะต้องมีการนำหลักคุณธรรมและจริยธรรมมาเป็นหลักปฏิบัติ แนวทางในการประพฤติตนอย่างมีจรรยาบรรณ ใช้เป็นกรอบการปฏิบัติงานวิชาชีพของผู้ตรวจสอบภายใน (ฐิติพร พระโพธิ์, 2562)
จากที่กล่าวมาข้างต้น หลักคุณธรรมและจริยธรรมจึงถือเป็นการกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ทำให้มองเห็นภาพเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน สำหรับใช้เป็นกรอบปฏิบัติให้แก่ผู้ตรวจสอบภายใน เพื่อส่งผลให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพียงพอที่จะทำให้การปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบภายในได้รับการยอมรับ ความน่าเชื่อถือจากผู้บริหาร หน่วยรับตรวจ (ฐิติพร พระโพธิ์, 2562)
วัตถุประสงค์
เพื่อศึกษาหลักคุณธรรมและจริยธรรมที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของผู้ตรวจสอบภายใน
แนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
แนวคิด
โสเครตีส (Socrates) มีความเห็นว่า “คุณธรรม” ที่แท้จริง จะมีคุณค่าภายในตัวเอง นั่นหมายถึงทำให้ผู้ครอบครองความดี เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และ "เพลโต" ได้เสนอแนะว่า คุณธรรมจะต้องตั้งอยู่บนความรู้ในสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นคุณธรรม เช่น ความกล้าหาญ ความพอดี ความยุติธรรม และศาสนกิจจะไม่ถือว่าเป็นคุณธรรมแต่อย่างใด สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หากไม่มีความรู้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ สังคมที่คนไม่มีคุณธรรมจริยธรรม ก็จะเป็นสังคมไร้ระเบียบ มีการเบียดเบียนละเมิดและขัดแย้งกัน (กิตติยา โสภณโภไคย)
ลอเรนซ์ โคลเบิร์ก (Lawrence Kohlberg) ได้ศึกษา พัฒนาการทางจริยธรรม ตามทฤษฎีของพีอาเจต์ ต่อมาโคลเบิร์กได้ปรับปรุงวิธีวิจัยใหม่ โดยสร้างสถานการณ์สมมติปัญหาทางจริยธรรมขึ้น โดยทำให้ผู้ตอบากที่จะตัดสินใจได้ว่า คำตอบนั้น "ถูก" "ผิด" "ควรทำ" หรือ "ไม่ควรทำ" ทั้งนี้การตอบขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น วัยของผู้ตอบ ความสำนึกในหน้าที่ ความยุติธรรมหรือหลักการที่ตนยึดถือ หลังจากนั้นโคลเบิร์กให้คำจำกัดความของ "จริยธรรม" ว่า เป็นความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความถูกผิด และเกิดขึ้นจากขบวนการทางความคิดอย่างมีเหตุผล ซึ่งต้องอาศัยวุฒิภาวะทางปัญญา โดยโคลเบิร์ก เชื่อว่า พัฒนาการทางจริยธรรมเป็นผลมาจากพัฒนาการของโครงสร้างทางความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับจริยธรรม (กิตติยา โสภณโภไคย)
ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม
วชิรพันธ์ ชัยนนถี (2554) ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory) ของแบนดูรา (Isom, 1998) อธิบายว่า จริยธรรม คือ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ สำหรับการตัดสินความผิด ถูกของพฤติกรรม หลักการดังกล่าวเกิดขั้นจากการเรียนรู้ โดยที่การเรียนรู้ของมนุษย์ส่วนหนึ่งเกิดจากประสบการณ์ตรงของตนเอง และอีกส่วนหนึ่ง เกิดจากการสังเกตพฤติกรรมของผู้อื่น เป็นการเรียนรู้ด้วยการสังเกต การฟังจากคำบอกเล่า และการอ่านสารบันทึกของผู้อื่น การเรียนรู้ประเภทหลังนี้ ช่วยให้มนุษย์มีความรู้ว่อะไรคืออะไรอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ผลการเรียนรู้อยู่ในรูปของเชื่อว่าอะไรสัมพันธ์กับอะไร โดยเฉพาะความสัมพันธ์ ระหว่างพฤติกรรมกับผลของกรรม ความเชื่อนี้ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง ทั้งนี้เพราะเป็นความสามารถในการสังเกตและคิดของมนุษย์นั้นยังมีข้อบกพร่องอยู่มากและความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมกับผลกรรมที่เกิดขึ้นจริงก็มีความซับซ้อน นอกจากนี้ก็ยังมี ความเชื่ออีกหลายอย่างที่เกิดจากคำบอกเล่าของผู้อื่น โดยเฉพาะคำบอกเล่าที่โน้มน้าวใจและมีความน่าเชื่อสูง คำบอกเล่าเหล่านี้มีอยู่ไม่น้อย ที่ยังไม่ได้ทอดสอบให้เห็นจริง ซึ่งคำสอนทางด้านศาสนาส่วนใหญ่จะอยู่ในประเภทนี้
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
การตรวจสอบภายใน คือ การให้บริการความเชื่อมั่นและการให้คำปรึกษาอย่างอิสระและเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรมเป็น ปรับปรุงการดำเนินงานภายในขององค์กร ช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้วยการประเมินและปรับปรุงประสิทธิผลของกระบวนการบริหารความเสี่ยง การควบคุมและการกำกับดูแล อย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่าให้แก่องค์กร นั้น ในมาตรฐานวิชาชีพได้มีการกำหนดหลักการ เพื่อเป็นการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม โดยจัดทำเป็นประมวลจรรยาบรรณของวิชาชีพการตรวจสอบภายในไว้เป็นกรอบการปฏิบัติ เพื่อให้รับความไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประสิทธิภาพ ในรูปแบบประมวลจรรยาบรรณ เพื่อใช้เป็นหลักการ (Principles) และหลักปฏิบัติ (Rules of Conduct) จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า ได้มีผู้ศึกษาถึงผลของการปฏิบัติตามหลักคุณธรรม จริยธรรมที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของผู้ตรวจสอบภายใน แยกเป็นรายข้อดังนี้
1.ความซื่อสัตย์
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ (2560) ผู้ตรจสอบภายในจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่กำหนด มีความรับผิดชอบต่องานตรวจสอบที่ตนปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความไว้วางใจและทำให้ดุลยพินิจของผู้ตรวจสอบภายในมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับจากบุคคลทั่วไป นอกจากนี้ สิฐสร กระแสร์สุนทร (2562) ยังพบว่า ความซื่อสัตย์ หมายถึง การกระทำหรือการแสดงออกหรือปฏิกิริยาของบุคคลที่แสดงออกมาทั้งภายในจิตใจตนเองหรือแสดงออกมาให้ผู้อื่นเห็นได้ว่าตนเองยึดมั่นในความเป็นผู้มีจิตสำนึกที่ดี มีความซื่อตรง เที่ยงธรรม ตรงไปตรงมา ชื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติตนอยู่ในหลักคุณธรรม ไม่คดโกงโปร่งใสตรวจสอบได้
2.ความเป็นอิสระ
ธารารัตน์ พัฒนา (2550) พบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้วิจาณญาณเชิงจริยธรรมของผู้ตรวจสอบภายในสิ่งสําคัญที่จะทําให้งานของผู้ตรวจสอบบรรลุวัตถุประสงค์การตรวจสอบก็คือ ความมีอิสระในการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นหัวใจสําคัญของผู้ประกอบวิชาชีพตรวจสอบภายใน โดยผู้ตรวจสอบภายในจะต้องมีเสรีภาพในการปฏิบัติงาน ปราศจากอิทธิพลใดๆมาแทรกแซงในขณะที่ปฏิบัติงาน โดยคํานึงถึงเงื่อนไขที่สำคัญ คือ สิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ภายในองค์กร โดยจะต้องได้รับมอบอํานาจที่สามารถเข้าดําเนินการตรวจสอบตามกระบวนตรวจสอบได้อย่างพอเพียง เสรีภาพในการสอบทาน โดยปราศจากอุปสรรคใดๆ หรือถูกขัดขวาง กีดกันหรือปราศจากการแทรกแซงการปฏิบัติงานจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และการถูกจํากัดอํานาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ในขณะที่ ณภัทร คงเมือง (2558) พบว่าผู้ตรวจสอบภายใน เป็นผู้ทำหน้าที่ในการวัดผลและประเมินประสิทธิผลการปฏิบัติงานในกิจกรรมต่างๆ ด้วยวิธีการสอบทานการปฏิบัติงานภายในองค์กรได้อย่างอิสระ และ ประภาพร มาชัยภูมิ (2561) พบว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิผลการปฏิบัติงานการตรวจสอบภายใน นั้น การปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบภายในจะต้องมีความเป็นอิสระ จึงจะทำให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
3.ความเที่ยงธรรม
วโรสริน ภะวะเวช (2547) พบว่าปัจจัยด้านองค์กรที่มีผลกระทบต่อคุณภาพของงานตรวจสอบภายใน ในมุมมองของผู้บริหาร ในการปฏิบัติงานของฝ่ายตรวจสอบภาย ด้านความเที่ยงธรรม พิจารณาจากประเด็นสําคัญได้ 2 ประเด็นคือ การรายงานผลการตรวจสอบเสนอต่อผู้บริหารของ แสดงให้เห็นถึงความเป็นอิสระในความเป็นอิสระในหน้าที่ความรับผิดชอบและการปฏิบัติงานภายในองค์กร และ ธารารัตน์ พัฒนา (2550) พบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้วิจาณญาณเชิงจริยธรรมของผู้ตรวจสอบภายใน ด้านความเที่ยงธรรม เห็นได้จากการรวบรวม ประเมินผล และการสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมหรือกระบวนการที่ได้ทำการตรวจสอบ โดยผู้ตรวจสอบภายในประเมินหลักฐาน ข้อเท็จจริงตลอดจนสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องของกิจกรรมทั้งหมดอย่างเป็นกลาง ยุติธรรม ไม่ลําเอียง ไม่มีอคติ ไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือความสัมพันธ์ที่บั่นทอนหรืออาจบั่นทอนการตรวจสอบ การประเมินผล ไม่รับสิ่งตอบแทนใดๆ รวมไปถึงการกระทําหรือความสัมพันธ์ที่อาจขัดแย้งทางผลประโยชน์ขององค์กร หากมีความจำเป็นที่มีส่วนเกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้น ผู้ตรวจสอบภายในจะต้องเปิดเผยความจริงทั้งหมด หากละเว้นไม่เปิดเผยอาจส่งผลให้รายงานผลการตรวจสอบมีความบิดเบือนไป
4. ความสามารถในหน้าที่วโรสริน ภะวะเวช (2547) พบว่าปัจจัยด้านองค์กรที่มีผลกระทบต่อคุณภาพของงานตรวจสอบภายใน ในมุมมองของผู้บริหาร ในการปฏิบัติงานของฝ่ายตรวจสอบภาย ด้านความเที่ยงธรรม พิจารณาจากประเด็นสําคัญได้ 2 ประเด็นคือ การรายงานผลการตรวจสอบเสนอต่อผู้บริหารของ แสดงให้เห็นถึงความเป็นอิสระในความเป็นอิสระในหน้าที่ความรับผิดชอบและการปฏิบัติงานภายในองค์กร และ ธารารัตน์ พัฒนา (2550) พบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้วิจาณญาณเชิงจริยธรรมของผู้ตรวจสอบภายใน ด้านความเที่ยงธรรม เห็นได้จากการรวบรวม ประเมินผล และการสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมหรือกระบวนการที่ได้ทำการตรวจสอบ โดยผู้ตรวจสอบภายในประเมินหลักฐาน ข้อเท็จจริงตลอดจนสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องของกิจกรรมทั้งหมดอย่างเป็นกลาง ยุติธรรม ไม่ลําเอียง ไม่มีอคติ ไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือความสัมพันธ์ที่บั่นทอนหรืออาจบั่นทอนการตรวจสอบ การประเมินผล ไม่รับสิ่งตอบแทนใดๆ รวมไปถึงการกระทําหรือความสัมพันธ์ที่อาจขัดแย้งทางผลประโยชน์ขององค์กร หากมีความจำเป็นที่มีส่วนเกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้น ผู้ตรวจสอบภายในจะต้องเปิดเผยความจริงทั้งหมด หากละเว้นไม่เปิดเผยอาจส่งผลให้รายงานผลการตรวจสอบมีความบิดเบือนไป
หน่วยตรวจสอบภายในจังหวัดขอนแก่น (2564) ผู้ตรวจสอบภายในจะต้องนำความรู้ทักษะและ ประสบการณ์์ไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้บริการตรวจสอบภายในอย่างเต็มที่ โดย ผู้ตรวจสอบภายในต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรู้ความสามารถ ทักษะ และประสบการณ์ ผู้ตรวจสอบภายในจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักมาตรฐานการตรวจสอบภายใน และผู้ตรวจสอบภายในต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองรวมทั้งพัฒนาประสิทธิผลและคุณภาพของการให้บริการอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
5.ความเชี่ยวชาญ
ประภาพร มาชัยภูมิ (2561) พบว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิผลการปฏิบัติงานการตรวจสอบภายในให้ประสบความสำเร็จนั้น ผู้ตรวจสอบภายในจะต้องมีความรู้ ทักษะ ความสามารถ ความชำนาญในการปฏิบัติงานการตรวจสอบภายในด้วย โดยไม่หยุดที่จะพัฒนาตนเองเพื่อให้เกิดความชำนาญยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลไปยังข้อมูลที่ผู้บริหารได้รับมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้บริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อีกทัั้ง อรพรรณ แสงศิวะเวทย์ (2559) พบว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของงานตรวจสอบภายใน จําเป็นต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ มีการพัฒนาความรู้ในวิชาชีพ ตลอดจนความรอบรู้ในด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งจากปัจจัยภายในและจากปัจจัยภายนอกองค์กร หากสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติ ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และกล้าที่จะรับข้อมูลใหม่ๆ อันเป็นประโยชน์ จะช่วยให้นำความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นและเป็นที่น่าเชื่อถือแก่ผู้บริหารและหน่วยรับตรวจ
6.การใช้ความระมัดระวังในการประกอบวิชาชีพ
ประภาพร มาชัยภูมิ (2561) พบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิผลการปฏิบัติงานการตรวจสอบภายใน ซึ่งบทบาทและหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายในจะต้องอาศัยความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลที่ได้มาจากการปฏิบัติงานและการแสดงความคิดเห็นจากหลักฐานอย่างเพียงพอโดยไม่ละเว้น ปกปิดหรือบิดเบือนจากข้อเท็จจริง และกิรวยา ทิษฎิธาธาร (2562) พบว่า ผู้ตรวจสอบภายในมีบทบาทสำคัญในการเสนอรายงานการปฏิบัติงานต่อผู้บริหาร ดังนั้นจะต้องปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ และรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถและมีประสิทธิภาพที่เพียงพอ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร
7. การรักษาความลับ
หน่วยตรวจสอบภายในเขลางค์นคร (2564) ผู้ตรวจสอบภายในจะต้องเคารพต่อสิทธิ การเข้าถึงการได้มาซึ่งข้อมูลที่ตนได้จากการปฏิบัติงาน และต้องไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเสียก่อน ยกเว้นในกรณีที่มีข้อตกลง สัญญาในแง่ของวิชาชีพและจะต้องเกี่ยวข้องกับกฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่กำหนดเท่านั้น โดยผู้ตรวจสอบภายใน ต้องมีความระมัดระวังรอบคอบในการใช้ข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากการปฏิบัติงานตรวจสอบ และต้องไม่นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง พวกพ้อง และไม่กระทำการใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมายและประโยชน์ขององค์กร
สรุปผลการศึกษา
จากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับ หลักคุณธรรมและจริยธรรมที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของผู้ตรวจสอบภายใน เพื่อเป็นการยกฐานะ และศักดิ์ศรีของวิชาชีพตรวจสอบภายใน ให้ได้รับการยกย่องและยอมรับจากบุคคลทั่วไป รวมทั้งให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ตรวจสอบภายใน จึงต้องพึงประพฤติปฏิบัติตนภายใต้กรอบความประพฤติที่ดีงามในอันที่จะนำมาซึ่งหลักประกันความเชื่อมั่นที่เที่ยงธรรม และปรึกษาที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ หลักปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับผู้ตรวจสอบภายในที่ควรยึดถือและดำรงไว้
หลักคุณธรรมและจริยธรรมที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของผู้ตรวจสอบภายใน ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความอิสระ ความเที่ยงธรรม ความสามารถในหน้าที่ ความเชี่ยวชาญ การใช้ความระมัดระวังในการประกอบวิชาชีพ และการรักษาความลับ ถือเป็นหลักคุณธรรมและจริยธรรมที่ส่งผลต่อการทำงานของผู้ตรวจสอบภายใน ที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงานในวิชาชีพของผู้ตรวจสอบภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะนำไปสู่การเป็นที่ยอมรับจากผู้บริหาร ผู้รับบริการ รวมถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเมื่อผู้ตรวจสอบภายในมีการปฏิบัติงานมีคุณลักษณะที่มีความน่าเชื่อถือ ย่อมส่งผลให้การปฏิบัติงาน สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริหารที่จะสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจ และการบริหารงานต่อได้ ส่งผลให้กระบวนการทำงานต่างๆ มีระบบมากยิ่งขึ้น การควบคุมภายในที่จะนำไปสู่การกำกับดูแลกิจการที่ดีให้แก่องค์กร
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการศึกษาวิจัยนี้ คาดว่าจะช่วยสร้างแรงผลักดันแก่ผู้ตรวจสอบภายในให้เกิดการปรับปรุง การพัฒนาตนเองเพื่อให้ประสบความสําเร็จในการประกอบวิชาชีพมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ตรวจสอบภายในสามารถนำผลการศึกษามาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อยกระดับความสามารถของตนเองให้มีคุณค่าในสายวิชาชีพ ผลที่ได้จากการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพย่อมเกิดการยอมรับ ผู้บริหารสามารถนำผลการปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบภายในมาใช้เป็นแนวทางใน กำหนดทิศทางการบริหาร ส่งผลไปสู่การกํากับดูแลกิจการที่ดี ทำให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ได้ดียิ่งขึ้น
บรรณานุกรม
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์. (2560). กรอบคุณธรรมการปฏิบัติงานตรวจสอบภายใน. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2564, จากเวปไซต์: https://www.cad.go.th/ewtadmin/ewt/inaudit/download/12.pdf
กิตติยา โสภณโภไคย. คุณธรรม จริยธรรมและการดำรงอยู่กับสังคมประชาธิปไตย. สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน. ปีที่ 3 (ฉบับที่ 2), หน้า 113-117.(ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์)
กิรวยา ทิษฎิธาธาร. (2562). อิทธิพลของการตรวจสอบภายในสมัยใหม่ที่มีต่อคุณภาพของรายงานการเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบูรณ์. สารนิพนธ์ปริญญา มหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยศรีปทุม.
ฐิติพร พระโพธิ์. (2562). อิทธิพลของคุณลักษณะบริษัท การกำกับดูแลกิจการที่ดีและการจัดการกำไรที่ส่งผลมูลค่ากิจการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.ปรัชญาดุษฏีบัณฑิต. มหาวิทยาลัยศรีปทุม.
ณภัทร คงเมือง. (2558). ผลกระทบร่วมระหว่างคุณลักษณะของผู้ตรวจสอบภายในและปัจจัยพื้นฐานขององค์กรต่อการประสบความสำเร็จของการตรวจสอบภายใน : องค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดนครราชสีมา. สารนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน.
ธารารัตน์ พัฒนา. (2550). ปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้วิจารณญาณเชิงจริยธรรมของผู้ตรวจสอบภายในของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. วิทยาพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ประภาพร มาชัยภูมิ. (2561). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิผลการปฏิบัติงานตรวจสอบภายในของกองทัพบก. สารนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยศรีปทุม.
พรธิดา สีคำ. (2560). อิทธิพลของกระบวนการตรวจสอบภายใน และการบริหารความเสี่ยงที่มีต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยศรีปทุม.
วชิรพันธ์ ชัยนนถี (2554). การเรียนรู้จริยธรรมนักเรียนและการเรียนรู้ทางสังคม. กระแสวัฒนธรรม. หน้า 23.
วโรสริน ภะวะเวช. (2547). ปัจจัยด้านองค์กรที่มีผลกระทบต่อคุณภาพของงานตรวจสอบภายในในมุมมองของผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา. (2564). ที่ตั้งสถาบันอุดมศึกษา. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2564, จากเวปไซต์: http://www.mua.go.th/university-2.html.
โสรยา อรไทวรรณ. (2562). ความสัมพันธ์ระหว่างการกำกับดูแลกิจการต่อมูลค่าทางการตลาดและอัตราส่วนราคาตลาดต่อราคาบัญชีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทร้พย์แห่งประเทศไทยกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี. สารนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัย
ศรีปทุม.
สิฐสร กระแสร์สุนทร. (2562). การส่งเสริมและพัฒนาการดำเนินงานด้านคุณธรรมจริยธรรมของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร : กรณีศึกษาการส่งเสริมและการพัฒนาการประพฤติปฏิบัติตนของข้าราชการให้สอดคล้องกับค่านิยมองค์กรและพันธะสัญญาด้านการต่อต้านการทุจริต. กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
หน่วยตรวจสอบภายในเขลางค์นคร. (2564). มาตรฐานการตรวจสอบภายใน และจริยธรรมของผู้ตรวจสอบภายใน. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2564, จากเวปไซต์: http://www.kelangnakorn.info/kelangnakorn/detail_news.php?id=855
หน่วยตรวจสอบภายในจังหวัดขอนแก่น (2564). จริยธรรมของผู้ตรวจสอบภายในของส่วนราชการ. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2564, จากเวปไซต์: http://www.khonkaen.go.th/auditor/new-page-2/new-page-3/ethics.php
อรพรรณ แสงศิวะเวทย์. (2559). ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของงานตรวจสอบภายในมุมมองของผู้ตรวจสอบภายใน. สารนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
เอกภาพ เอกวิกรัย. (2561). ผลของการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการเปลี่ยนผู้บริหารสูงสุดต่อผลการดำเนินงานและความเสี่ยงของบริษัท. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.