การบริหารความเสี่ยงองค์กรยุคใหม่ด้วยแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG)
20
Dec
การบริหารความเสี่ยงองค์กรยุคใหม่ด้วยแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG)
Risk Management In Age of Globalization With The Concept Of
Sustainability (ESG)
ปัณณภัสร์ ปัญญากาศ
Pannapat Panyakat
Phannapatt.p@gmail.com
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
บทความนี้มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อศึกษาการบริหารความเสี่ยงองค์กรยุคใหม่ด้วยแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG จากการทบทวนวรรณกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง และความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จากการศึกษาพบว่าการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องครอบคลุมความเสี่ยงในด้าน ESG ด้วย ได้แก่ ความเสี่ยงทางสังคม ความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงในปัจจัยด้านธรรมาภิบาล ทั้งหมดถือเป็นสิ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ ซึ่งไม่เพียงจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร และเพิ่มการยอมรับจากลูกค้าแล้ว ยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายอย่างยั่งยืน
คำสำคัญ : การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน , สิ่งแวดล้อม , สังคม , ธรรมาภิบาล
Abstract
The purpose of this paper was to study organization risk management in the age of globalization with the concept of sustainability and concern of Environmental, Social and Governance (ESG). The study base on review the relevant literature on risk management , Environmental risk , Social risk and Governance risk. The study found that Effective risk management must also covered or including social risks. environment risks and governance risks. All factors are what organizations need to focus on for create a good image of organization and increased acceptance from customers. It is also an important to lead the organization to with sustainable goals.
Keywords : Sustainability , Environmental , Social , Governance
บทนำ
สำหรับการดำเนินงานขององค์กรยุคใหม่ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจหรือภาครัฐ จะต้องเผชิญกับปัจจัยความไม่แน่นอน โดยเฉพาะความเสี่ยงเป็นเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน และส่งผลกระทบหรือสร้างความเสียหายให้กับองค์กร ทั้งทางด้านกลยุทธ์การปฏิบัติงานและการเงิน ทำให้หลายคนไม่สามารถปฏิเสธว่าเหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นความเสี่ยงที่มีผลต่อกระทบต่อการดำเนินงาน การบริหารความเสี่ยงจึงมีบทบาทสนับสนุนกระบวนการบริหารจัดการให้องค์กรสามารถดำเนินงานอย่างต่อเนื่องหรือเกิดผลกระทบที่องค์กรยอมรับได้หากเกิดเหตุการณ์ความเสี่ยง โดยกำหนดแนวทางจัดการและติดตามปัจจัยความเสี่ยงเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานและสามารถดำเนินการขจัดหรือลดปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน ดังนั้นแนวทางบริหารความเสี่ยงที่นำมาประยุกต์ใช้จะต้องสอดคล้องกับโครงสร้าง วัฒนธรรมองค์กร เพื่อใช้กำหนดกลยุทธ์องค์กรที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริหารและสนับสนุนให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย นอกจากนี้การบริหารความเสี่ยงยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจมีความระมัดระวังในการดำเนินงานมากยิ่งขึ้นเพื่อลดหรือบรรเทาความเสียหายจากความเสี่ยงมากที่สุด โดยภายใต้กระบวนการบริหารความเสี่ยง คือ กลไกสำคัญที่ช่วยสะท้อนภาพการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน "แนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน" (Environmental, Social, Governance: ESG) กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งจากบริษัทจดทะเบียนและนักลงทุนทั่วโลก เราจะเห็นได้ว่า ผู้จัดการกองทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนต่างประเทศ ต่างให้ความสำคัญกับการลงทุนในบริษัทที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนทั้งของกิจการและสังคมโดยรวมมากขึ้น เพราะทุก ๆ การตัดสินใจสะท้อนให้เห็นถึง วิสัยทัศน์ของผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ และแสวงหาผลตอบแทนที่ไม่ใช่อยู่ในรูปของผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลของกิจการด้วย
ปัจจุบันธุรกิจต่าง ๆ เริ่มตื่นตัวโดยบูรณาการความเสี่ยงด้าน ESG เข้าไปอยู่ในปัจจัยที่คำนึงถึง
การกำหนดพันธกิจ กลยุทธ์ และการบริหารจัดการความเสี่ยงลักษณะความเสี่ยงในมิติ ESG จึงหมายถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อันเนื่องจากการดำเนินการขององค์กรซึ่งเกิดได้ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกองค์กร จึงเป็นความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบที่คาดเดาได้ยาก ไม่สามารถคาดการณ์ช่วงเวลาที่จะเกิดได้แน่นอน (Timeframe) ทั้งนี้ ก็ยังประเมินผลกระทบในเชิงปริมาณหรือตีเป็นมูลค่าตัวเงินได้ยาก ซึ่งหากไม่มีกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถของบริษัทในการขับเคลื่อนธุรกิจทั้งในระยะกลางและ/หรือระยะยาว รวมถึงการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนด้วย
วัตถุประสงค์
เพื่อศึกษาการบริหารความเสี่ยงองค์กรยุคใหม่ด้วยแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG
เนื้อหาของบทความ
ในภาวะปัจจุบันที่ภาคธุรกิจกำลังเผชิญความยากลำบากจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งธุรกิจจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการอยู่รอดและจัดการความเสี่ยงเฉพาะหน้าเป็นลำดับแรก สำหรับธุรกิจที่มีศักยภาพในการปรับตัว การนำแนวทางการจัดการเพื่อความยั่งยืน ESG ที่มีองค์ประกอบความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม, สังคมและธรรมาภิบาลมาช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพและภาพลักษณ์ขององค์กร ซึ่งจะกลายเป็นข้อได้เปรียบหนึ่งของธุรกิจในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม จากพฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ที่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องราวและแหล่งที่มาของสินค้า รวมถึงผลกระทบจากการบริโภคสินค้าตลอด Life Cycle จากผลสำรวจพบว่า ผู้บริโภคมากกว่า 37% ของกลุ่มตัวอย่างเต็มใจที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของสินค้าจะกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดยุคใหม่ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อและพฤติกรรมผู้บริโภค การปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจที่ยั่งยืนอาจก่อให้เกิดต้นทุนส่วนเพิ่มต่อธุรกิจทั้งต้นทุนการผลิต การวิจัยพัฒนา และการตลาดที่เพิ่มขึ้น แต่น่าจะส่งผลบวกต่อองค์กรในระยะยาวในหลายมิติ โดยเฉพาะภาพลักษณ์ด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เริ่มให้ความสนใจลงทุนในธุรกิจที่มีความยั่งยืนเพิ่มขึ้น ภายใต้บริบทเศรษฐกิจปัจจุบันที่ธุรกิจต้องเผชิญความผันผวนจากปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน เนื่องจากกระแสของผู้บริโภครุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างมาก
ความเสี่ยงด้านความยั่งยืน เป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน “ESG” หรือสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือเรียกว่า “ESG Risk” ซึ่งเป็นความท้าทายที่องค์กรจะต้องหาวิธีการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อสร้าง โอกาส และลดความเสี่ยง ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการสร้างผลกำไร การแข่งขัน ภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และความอยู่รอดขององค์กร
ความหมายของ ESG
ESG คือการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หมายถึง การที่บริษัทประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงการเติบโตของผลกำไร ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ด้าน ได้แก่
1. Environment (การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม): คือการเน้นใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของบริษัท
2. Social (การจัดการด้านสังคม): คือการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ดูแลความปลอดภัยของพนักงาน รวมถึงมี สัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนรอบด้าน
3. Governance (การจัดการด้านธรรมาภิบาล): คือการมีนโยบายกำกับดูแลกิจการที่ดี ต่อต้าน
การทุจริต ดำเนินงานอย่างโปร่งใส และดูแลผลประโยชน์ผู้มีส่วนได้เสีย
แนวคิดนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า การดำเนินธุรกิจเกิดขึ้นบนโลกมนุษย์ มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและสังคม ไม่ได้ตั้งอยู่เดี่ยว ๆ โดยไม่สร้างผลกระทบต่อโลกภายนอก
ตัวอย่างของความเสี่ยงด้าน ESG
ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม | ความเสี่ยงด้านสังคม | ความเสี่ยงด้านบรรษัทภิบาล |
- ผลกระทบจากการเปลี่ยนเปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการ และการจัดหาวัตถุดิบ - ผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ (Water Scarcity) ที่มีต่อกระบวนการผลิตหรือบริการ - ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษีภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Tax) - สถานที่ก่อสร้างที่มีความเสี่ยงเรื่องสิ่งแวดล้อมที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ การเลือกใช้วัสดุที่มีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัย |
- การละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน - การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร - พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป - ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน - คนในชุมชนไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงงานในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงชุมชน - พนักงานไม่สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ จึงเป็นความเสี่ยงทำให้ไม่สามารถสร้างคุณค่าที่ตอบสนองต่อเป้าหมายขององค์กรได้ |
- การที่องค์กรไม่เปิดเผยข้อมูลที่มีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นประเด็นที่เป็นความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย - ความบกพร่องในมาตรการกำกับดูแลภายในองค์กร - ความเสี่ยงจากการเข้าไปลงทุนในประเทศที่มีปัญหาด้านคอรัปชั่น - การไม่ผ่านกฎระเบียบ เช่น การพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) - การเลือกวัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานในการก่อสร้าง ทำให้ไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการ |
ดังนั้นธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและปรับตัวรับความเสี่ยงต่างๆ รวมถึงแสวงหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจจากความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ โดย COSO (The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission) ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของหน่วยงานสำคัญด้านการบัญชีและการตรวจสอบของประเทศสหรัฐอเมริการ่วมมือกับ WBCSD (World Business Council for Sustainable Development) ได้จัดทำร่างการบูรณาการประเด็นด้าน ESG กับการจัดการความเสี่ยงขององค์กร หรือ ERM (Enterprise Risk Management) ตามกรอบการบริหารความเสี่ยง COSO-ERM 2017 ซึ่งประกอบด้วย 7 ขั้นตอน เพื่อเป็นแนวทางให้กับบริษัทต่างๆ ในการทำความเข้าใจถึงประเด็นความเสี่ยงด้าน ESG ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถบริหารจัดการและเปิดเผยผลการบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG
ขั้นตอนที่ 1 : กำหนดโครงสร้างการกำกับดูแล
การกำกับดูแลควรครอบคลุมตั้งแต่ระดับคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการบริหาร ประธานฝ่ายบริหารความเสี่ยง หน่วยงานบริหารความเสี่ยง เจ้าของความเสี่ยงและหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความยั่งยืนควรส่งเสริมให้กรรมการบริษัท
และผู้บริหารระดับสูงตระหนักถึงความเสี่ยงด้าน ESG และสร้างวัฒนธรรมการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีภายในองค์กร
ขั้นตอนที่ 2 : เข้าใจบริบทและกลยุทธ์ธุรกิจ รวมถึงกระบวนการบริหารความเสี่ยง
หน่วยงานด้านความยั่งยืนต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านความเสี่ยงและหน่วยงานด้านกลยุทธ์อย่างใกล้ชิด เพื่อทำความเข้าใจ ติดตามและสื่อสารแนวโน้มที่สำคัญซึ่งเกิดขึ้นในอนาคตที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ (Mega Trends) และประเด็นความเสี่ยงด้าน ESG ที่อาจส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจหรือส่งผลต่อกลยุทธ์ องค์กรทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
ขั้นตอนที่ 3 : ระบุประเด็นความเสี่ยง ESG
ใช้เครื่องมือการบริหารความเสี่ยงขององค์กร เช่น แบบตอบแบบสอบถาม การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การสัมภาษณ์เจ้าของความเสี่ยงและผู้บริหาร เพื่อทำความเข้าใจความเสี่ยงที่มีอยู่เดิมและที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) รวมถึงกำหนดความหมายและขอบเขตของความเสี่ยงให้ชัดเจน
ขั้นตอนที่ 4 : ประเมินและจัดลำดับความสำคัญความเสี่ยง ESG ที่เกี่ยวข้อง
เมื่อบริษัทสามารถกำหนดประเด็นความเสี่ยง ESG ได้จากขั้นตอนที่ 3 แล้วต่อมาต้องทำความเข้าใจ ว่าประเด็นความเสี่ยงนั้นๆ ส่งผลกระทบต่อความสามารถของบริษัทในการดำเนินธุรกิจให้บรรลุเป้าหมายอย่างไร ควรพิจารณา เลือกเกณฑ์จากตารางประเมินความเสี่ยง Risk Matrix ที่เหมาะสม รวมถึงกำหนดตัวแปรและสมมติฐานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งช่วยให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินความรุนแรง ความเสี่ยง ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดและส่งผลกระทบต่อธุรกิจ อย่างไร
ขั้นตอนที่ 5 : ตอบสนองต่อประเด็นความเสี่ยงด้าน ESG
เลือกวิธีตอบสนองต่อความเสี่ยงด้าน ESG โดยพิจารณาจาก 1) บริบทในการดำเนินธุรกิจ 2) ต้นทุนและประโยชน์ 3) ความสอดคล้องกับมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงพันธกิจ วิสัยทัศน์และ ค่านิยมองค์กร 4) ความจำเป็นและเร่งด่วนในการตอบสนองโดยอ้างอิงจากตำแหน่งของความเสี่ยงบนตารางประเมินความเสี่ยง (Risk Metrics) 5) พิจารณาจากระดับความเสี่ยง
ที่องค์กรยอมรับได้ (Risk Appetite) และความรุนแรงของผลกระทบ ทั้งนี้ บริษัทสามารถตอบสนองโดยการยอมรับความเสี่ยง การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง การเปลี่ยนความเสี่ยงให้เป็นโอกาส การลดความรุนแรง
ของความเสี่ยง และการแบ่งปันความเสี่ยง เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 6 : ทบทวนและปรับปรุงประเด็นความเสี่ยงด้าน ESG
ดำเนินการทบทวนขั้นตอนที่ 1 - 5 อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า การบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กรครอบคลุมประเด็นต่างๆ อย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ
ขั้นตอนที่ 7 : สื่อสารและเปิดเผยประเด็นความเสี่ยงด้าน ESG
สื่อสารความเสี่ยงด้าน ESG แนวทางการจัดการและผลการบริหารจัดการให้ ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายใน (คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหารและพนักงาน) และภายนอก (เช่น นักลงทุน ลูกค้า NGOs และชุมชน) รับทราบ เนื่องจากความเสี่ยงถือเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการทำกลยุทธ์ การปฏิบัติงานและการตัดสินใจลงทุน
ประโยชน์ของการจัดทำและการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG
การที่ธุรกิจมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงข้อมูลการดำเนินงานด้านธรรมาภิบาลนั้น จะช่วยทำ ให้องค์กรได้ทบทวนกระบวนการทำงานในช่วงที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการระหว่างการจัดทำ และการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ทำ ให้เกิดการเรียนรู้กระบวนการทำ งานของฝ่ายงานภายในองค์กรอีกทั้งเป็นการแสดงผลการดำเนินงานเชิงคุณภาพให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทราบและเกิดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินธุรกิจ
เหตุใดองค์กรไม่ควรใช้ Balanced Scorecard เพียงอย่างเดียว
เนื่องจากมุมมองในเครื่องมือที่ไม่สามารถรองรับความเป็นไปขององค์กรในปัจจุบัน ทำให้มีข้อจำกัดในการวิเคราะห์และประเมินสถานะของกิจการได้อย่างรอบด้าน ยกตัวอย่าง
- มุมมองด้านการเงิน หรือ Financial การวัดผลการดำเนินงานในบรรทัดสุดท้าย ที่เป็นตัวเลขทางการเงินเพียงอย่างเดียว ดูจะไม่เพียงพอสำหรับผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะผู้ลงทุนที่เป็นสถาบัน ที่ในวันนี้มีความต้องการที่จะล่วงรู้ผลการดำเนินงานในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environmental, Social and Governance) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการดำเนินงานประเภทที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน หรือ Non-Financial ในบรรทัดสุดท้ายด้วย
- ในมุมมองด้านลูกค้า หรือ Customers ความอยู่รอดของกิจการในยุคนี้ มิได้ขึ้นอยู่กับลูกค้าที่กิจการต้องให้การดูแลเอาใจใส่เพียงลำพังเท่านั้น แต่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย หรือ Stakeholders ที่ประกอบไปด้วยพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ผู้ส่งมอบ ชุมชน องค์กรกำกับดูแล ฯลฯ ที่องค์กรต้องเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างถ้วนหน้า แผนที่ยุทธศาสตร์ หรือ Strategy Map ที่องค์กรจัดทำตามมุมมองที่มีอยู่เดิม ไม่สามารถบรรจุยุทธศาสตร์ที่ใช้สำหรับตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่นๆ ได้
- ในมุมมองด้านกระบวนการภายใน หรือ Internal Processes กิจการไม่สามารถบริหารเพียงกระบวนการภายใน โดยมีขอบเขตขององค์กรเป็นเส้นแบ่งได้อีกต่อไป วันนี้ธุรกิจไม่ได้แข่งขันด้วยกิจการหรือบริษัท (Company) ที่ครอบครองอยู่ แต่แข่งขันกันด้วยห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่อาศัยอยู่ การสร้างขีดความสามารถหรือความได้เปรียบทางการแข่งขันในยุคปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับกระบวนการที่อยู่ภายนอกกิจการเป็นองค์ประกอบหลัก และสำคัญไม่แพ้กระบวนการภายในกิจการ
- ในมุมมองด้านการเรียนรู้และการเติบโต หรือ Learning and Growth การเติบโตมิใช่เป้าหมายหนึ่งเดียวที่มีความสำคัญกับธุรกิจ ความยั่งยืนเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ธุรกิจต้องดำเนินการทำให้เกิดควบคู่ไปพร้อมกัน (โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อการเติบโต) ธุรกิจในช่วงที่เติบโต อาจมีปัจจัยนำเข้าแบบหนึ่ง ที่ต่างกับธุรกิจในช่วงที่ต้องรักษาสถานะให้คงตัว สามารถอยู่รอด และยั่งยืน มุมมองการเรียนรู้และการเติบโตในกรณีนี้ จึงไม่เพียงพอต่อการจัดทำแผนที่ยุทธศาสตร์องค์กรที่ครอบคลุมในทุกสภาวการณ์
กำเนิดเครื่องมือ ESG Scorecard
การจัดทำแผนที่ยุทธศาสตร์สำหรับองค์กรในยุคปัจจุบัน จำเป็นที่จะต้องครอบคลุมการดำเนินงานในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG เพื่อปิดช่องโหว่ที่เป็นข้อจำกัดในมุมมองของเครื่องมือ BSC เดิม โดยตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า
1. กลยุทธ์จะต้องส่งมอบคุณค่าที่ไม่จำกัดเฉพาะแต่เพียงผู้ถือหุ้น (Shareholders) แต่ยังคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ (Stakeholders) การที่กลยุทธ์ขององค์กรถูกออกแบบเพื่อตอบสนองคุณค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นเพียงลำพัง อาจไม่เพียงพอต่อการทำให้องค์กรเป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของกิจการ ฉะนั้นการวางน้ำหนักกลยุทธ์ขององค์กร จึงต้องสร้างให้เกิดความสมดุลระหว่างวัตถุประสงค์ด้านการเงินและวัตถุประสงค์นอกเหนือด้านการเงิน อาทิ การเพิ่มความน่าเชื่อถือขององค์กร หรือการลดข้อขัดแย้งและกรณีพิพาทที่ส่งผลกระทบต่อองค์กร
2. กลยุทธ์จะต้องขยายการรับรู้ถึงสิ่งที่ลูกค้าต้องการ (Customer Value Proposition) ไปสู่สิ่งที่สังคมต้องการ (Social Value Proposition) เนื่องจากคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่นอกเหนือจากด้านราคา คุณภาพ หาง่าย เหมาะเจาะ ถูกใจ บริการดี เป็นที่แพร่หลาย และน่าเชื่อถือสำหรับลูกค้าแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสุขภาพ ความปลอดภัย ความลับและความเป็นส่วนตัว สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน การปฏิบัติทางสัญญาที่เป็นธรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมส่วนรวมคาดหวังด้วยการวางกลยุทธ์ขององค์กรจึงต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่สังคมหรือผู้บริโภคโดยรวมต้องการ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสิ่งที่ลูกค้าเฉพาะกลุ่มเป้าหมายต้องการ
3. กลยุทธ์จะต้องสร้างให้เกิดคุณค่าด้วยกระบวนการภายในองค์กร (Internal Processes) และกระบวนการภายนอกองค์กร (External Processes) องค์กรควรมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าด้วยการบริหารการดำเนินงานการผลิตและส่งมอบสินค้าและบริการสู่ลูกค้า การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า การคิดค้นนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ บริการ กระบวนการ และสัมพันธภาพ การปฏิบัติตามกฎระเบียบ และ
ความคาดหวังทางสังคม รวมทั้งการเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น ตลอดจนการริเริ่มดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกับองค์กรของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ และการสื่อสารสู่ภายนอก
4. กลยุทธ์จะต้องส่งเสริมการเรียนรู้และนำไปสู่การเจริญเติบโต (Learning and Growth) ควบคู่กับการใส่ใจส่วนรวมและนำไปสู่ความยั่งยืน (Caring and Sustainability) กิจการจะต้องสร้างสมทุนที่เอื้อต่อการพัฒนาให้เป็นองค์กรที่ “เก่ง” และเป็นองค์กรที่ “ดี” ซึ่งประกอบด้วยทุนหลัก 6 ประเภท ได้แก่ มนุษย์ สารสนเทศ องค์กร คุณธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยที่ทุนเหล่านี้ไม่อาจที่จะแยกวัดมูลค่าหรือประเมินคุณค่าได้โดยอิสระต่อกัน
ประโยชน์ของการจัดทำรายงานความยั่งยืน
1. การพัฒนากระบวนการภายใน
1.1 ช่วยพัฒนาวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน: ผู้บริหารจะเห็นภาพรวมการดำเนินงานขององค์กร นอกเหนือจากผลการดำเนินงานทางการเงินซึ่งบางประเด็นมีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจในเชิงนโยบายที่สามารถนำ มาพัฒนาวิสัยทัศน์ พันธกิจและกลยุทธ์การดำเนินงานรวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย
1.2 เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง: การจัดทำ และเปิดเผยข้อมูลด้านESGจะทำ ให้องค์กรพบประเด็นที่เป็นปัจจัยความเสี่ยงต่อกระบวนการดำ เนินงานที่ครอบคลุมประเด็นทางธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งหากพิจารณาประเด็นเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้องค์กรประเมินและจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
1.3 สร้างแรงจูงใจและรักษาพนักงาน: การสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียเป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการเปิดเผยข้อมูลทำให้องค์กรสามารถสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียได้โดยตรง โดยเฉพาะ “พนักงาน” ที่ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญขององค์กร การที่พนักงานรับรู้ถึงทิศทางองค์กร จะทำ ให้พนักงานรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันกับองค์กรเกิดความไว้วางใจเป็นการช่วยสร้างแรงจูงใจและรักษาพนักงานเอาไว้
1.4 ช่วยให้องค์กรได้ทบทวนกระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง: การเก็บข้อมูลเชิงปริมาณเพื่อวัดผลก่อนและหลังนั้น ทำ ให้เห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจนว่าเรื่องใดที่ต้องปรับปรุงและยังเป็นเครื่องมือในการติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานได้ดียิ่งขึ้น
1.5 เกิดนวัตกรรมใหม่: การเก็บรวบรวมข้อมูลก่อนและหลัง ทำ ให้เห็นสิ่งที่ควรปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงในกระบวนปฏิบัติงานกระตุ้นให้เกิดแนวคิดและเครื่องมือที่สร้างสรรค์รวมถึงวิธีการดำเนินงานใหม่ที่ช่วยให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2 การสร้างโอกาสทางธุรกิจ
2.1 เป็นช่องทางการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้เสียภายนอก: กระบวนการจัดทำ และเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG จะทำให้องค์กรมีช่องทางสื่อสารผลการดำ เนินงานต่อผู้มีส่วนได้เสียภายนอก เช่น ลูกค้า ผู้ถือหุ้น สังคม และชุมชน เป็นต้น
2.2 เกิดความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ: การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส โดยเฉพาะการมีแนวปฏิบัติและกระบวนการจัดการธุรกิจอย่างมีมาตรฐานและประสิทธิภาพจะช่วยสร้างความไว้ใจให้กับผู้มีส่วนได้เสียอันจะนำไปสู่การส่งเสริมภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรได้ดียิ่งขึ้น
2.3 ดึงดูดความสนใจในการลงทุน: ปัจจุบันแนวโน้มของการลงทุนทั่วโลกได้พิจารณาปัจจัยอื่นนอกเหนือจากผลตอบแทนทางการเงินผู้ลงทุนจำ นวนมากเริ่มนำ ประเด็นด้านความยั่งยืนมาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น โดยเชื่อว่าบริษัทที่ให้ความสำคัญด้าน ESG ที่ดีจะสร้างผลตอบแทนได้
ในระยะยาว ดังนั้นรายงานด้าน ESG เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำ ให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อนำไปพิจารณาการลงทุน
2.4 สร้างโอกาสให้กับธุรกิจ: การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนทำ ให้ผู้มีส่วนได้เสียได้เห็นถึง
ความมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์กรในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เช่นการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการ การพัฒนาศักยภาพของพนักงาน การจัดการความเสี่ยงในห่วงโซ่ธุรกิจ เป็นต้น จึงเป็นโอกาสช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง
คำแนะนำสำหรับองค์กรในการจัดทำรายงานความยั่งยืนที่มีประสิทธิภาพ
1. บรรจุความสำคัญของ ESG เข้ากับกลยุทธ์ขององค์กร ต้องกำหนดแนวทางการดำเนินงานตามกรอบของ ESG และระบุตัวชี้วัดที่สามารถนำไปใช้ประเมินผลและสร้างคุณค่าให้กับองค์กรในระยะยาว พร้อมกับสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมให้ความคิดเห็นต่อองค์กร
2. สร้างความตระหนักว่า ESG เป็นความรับผิดชอบของทุกฝ่ายในองค์กร ผู้บริหารระดับสูงต้องร่วมผลักดันธุรกิจในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และ ชุมชนส่วนรวม และสร้างสำนึกรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นกับพนักงาน คู่ค้า นักลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทานขององค์กร
3. มีกระบวนการและมาตรการในการวัดผล ESG ที่ชัดเจน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ข้อมูลด้าน ESG ที่องค์กรเปิดเผยในรายงานความยั่งยืนจะมีความน่าเชื่อถือ และโปร่งใสเช่นเดียวกับรายงานทางการเงิน
4. กำหนดรูปแบบของการใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง ผ่านการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจภายในองค์กร และทำให้รายงานความยั่งยืนยิ่งมีคุณภาพมากขึ้น
5. เลือกบริษัทผู้ทวนสอบที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของการวัดผลและการรายงานด้าน ESG
6. ติดตามผลการดำเนินงานและรายงานผลด้าน ESG อย่างสม่ำเสมอ ESG ไม่ใช่ ‘กระแส’ หรือ ‘เทรนด์’ ที่ได้รับความนิยมเพียงชั่วครั้งชั่วคราว หากแต่เป็นการช่วยให้องค์กรสามารถบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากมิติด้านการกำกับดูแลกิจการ ด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม อย่างเป็นองค์รวม และสามารถวางแผนการรับมือได้อย่างทันท่วงที ฉะนั้น ผู้บริหารจะต้องมีเป้าประสงค์ และมีความยึดมั่นที่จะนำพา
ธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนให้ได้
สรุป
การบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องครอบคลุมความเสี่ยงในด้าน ESG ด้วย ได้แก่ ความเสี่ยงทางสังคม ความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงในปัจจัยด้านธรรมาภิบาล ทั้งหมดถือเป็นเทรนด์ใหม่ของการดูแลธุรกิจ เป็นสิ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ ซึ่งไม่เพียงจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร และเพิ่มความยอมรับจากลูกค้าแล้ว ยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายอย่างยั่งยืน
ข้อเสนอแนะ
1. สำหรับองค์กร : ควรมีการนำแนวคิดการบริหารความเสี่ยง ESG มาใช้ในองค์กร เนื่องจากการดำเนินธุรกิจโดยเน้นความยั่งยืนสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าบริษัทที่ไม่คำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ในระยะยาว เพราะในปัจจุบันกระแสโลกคาดหวังและสนับสนุนองค์กรที่เก่งและดี ไม่ใช่องค์กรแบบเก่าที่มุ่งความเป็นเลิศหรือความเก่งในการสร้างกำไรสูงสุด แต่เอาเปรียบสังคมและทำลายสิ่งแวดล้อม
2. สำหรับนักลงทุน : ควรเลือกลงทุนกับองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน เนื่องจากหุ้น ESG ช่วยลดความเสี่ยงในระยะยาว และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น
บรรณานุกรม
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. เช็คลิสต์ เพื่อธุรกิจยั่งยืน. สืบค้น 1 สิงหาคม 2564, จาก https://www.setsustainability.com/download/fk1cl5hqd9yjbi6
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. ESG RISK. สืบค้น 1 สิงหาคม 2564, จาก https://www. setsustainability.com/page/esg-risk
ไทยโพสต์. (2563). บริหาร ESG เพื่อความยั่งยืน ป้องกันความเสี่ยงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ. สืบค้น 1 สิงหาคม 2564, จาก https://www.thaipost.net/main/detail/72639
โพสต์ทูเดย์. (2561). ทำความรู้จัก ความเสี่ยงด้านความยั่งยืน. สืบค้น 1 สิงหาคม 2564, จาก https://40plus.posttoday.com/personalfinance/25054/
พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์. (2562). ESG Scorecard: เครื่องมือบริหารความยั่งยืนของกิจการ. สืบค้น 1 สิงหาคม2564, จาก https://mbamagazine.net/index.php/intelligent/esg-chapter/item/2030-esg-scorecard
ศุภกร เอกชัยไพบูลย์. (2561). การบริหารความเสี่ยง ภาพสะท้อนความยั่งยืนของธุรกิจ. สืบค้น 1 สิงหาคม 2564, จาก https://www.dir.co.th/en/news/general-news/item/105%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88.html